จากประชาชาติธุรกิจ
ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์ เอริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งการลงทุนของบริษัทอเมริกันในภาคเหนือ มุมมองต่อ Creative Economy บทบาทของรัฐบาลโอบาม่า ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พร้อมวิพากษ์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบไทยๆ ที่ดูเหมือนว่าจะช้าไปเสียทุกเรื่อง
... เอริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับไทยและอา เซียน ก่อนจะมารับตำแหน่งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน เขาเคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ปี 2548-2550 เป็นหัวหน้าคณะเจรจาเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯและอาเซียนในปี 2549 ล่าสุด เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์นักข่าวกลุ่มเล็กๆที่เชียงใหม่ พูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ และความมุ่งหวังของสหรัฐในภูมิภาคนี้ ก่อนจะครบ 60 ปีความสัมพันธ์สหรัฐกับภาคเหนือของไทยในปีที่กำลังจะมาถึง " ประเด็นที่สำคัญมากบนความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรา คือความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ถ้ามองถอยหลังไปไม่มาก ระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ไทยกับสหรัฐพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจระหว่างกันไปมาก สหรัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย การค้าระหว่าง 2 ประเทศมีมูลค่าถึง 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐลงทุนในไทย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภาคเอกชนก็เป็นกลุ่มนักลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับสองในไทย ลงทุนรวมกันกว่า 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จ้างงานกว่า 2.5 แสนคน ผมเชื่อว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจะเป็นแรงกระตุ้นหลักให้ความสัมพันธ์ด้าน อื่นๆ ที่เรามีต่อกันแน่นแฟ้นขึ้น แผนงานหลักของเราคือ จะร่วมกับภาคเอกชนสหรัฐ กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นต่อเนื่องนับจากนี้ "
@บทบาทการค้าการลงทุนของสหรัฐในภาคเหนือของไทย "ปัจจุบันสหรัฐยังลงทุนในภาคนี้ไม่มากเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯและเมืองอื่น แต่ก็มีที่ลงทุนจริงจังหลายรายแล้ว เช่น กลุ่มมอนซานโต้ ที่ผลิตข้าวโพดที่ให้ผลผลิตสูงที่พิษณุโลก ป้อนตลาดในไทยและไปไกลจนถึงอเมริกาใต้ จ้างงาน 500 คนและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 1 หมื่นคน กลุ่มเป๊บซี่โค ฟริโตเลย์ ผลิตของขบเคี้ยวที่ลำพูน มีคนงานกว่า 1 พันคนและสร้างงานให้เกษตรกรกว่า 2 พันครัวเรือน นอกจากนั้นยังมีกลุ่มบริษัทครีเอทีฟคิงด้อม ที่ประสบความสำเร็จมากในธุรกิจผลิตดิจิตัลคอนเทนท์ มีสำนักงานที่เชียงใหม่และกำลังลงทุนเพิ่ม จ้างเทคนิคเชี่ยนรุ่นใหม่ไว้กว่า 300 คน ที่ภาคเหนือเราเชื่อว่าเป็นฐานของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy)ได้ เราให้ความสำคัญกับที่นี่ เพราะสัมพันธ์แน่นกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และยังเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เรามีกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุนต่อเนื่อง ปีที่แล้วเราจัดสัมมนาใหญ่ที่เชียงใหม่เรื่องการจัดการโลจิสติกส์ในอนุ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปีหน้าในเดือน ก.พ. จะจัดสัมมนาใหญ่อีกครั้งที่นี่ในหัวข้อ Creative Economy เน้นเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ เราเชื่อว่าเชียงใหม่มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางด้านนี้ ประเด็นที่ต้องร่วมกันพัฒนาต่อไปคือการศึกษาเพื่อผลิตแรงงานฝีมือขึ้นรอง รับ สหรัฐจะร่วมพัฒนาเรื่องเหล่านี้ต่อไป เพื่อขยายความสามารถของแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ ที่ยังคงมีความต้องการอีกมาก
@ แต่นักลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภาคเหนือของไทย พบว่าสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านนี้ยังคงเป็นอุปสรรคหลักต่อการลงทุน ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย และยังมีอีกหลายเรื่องที่ท้าทาย เช่นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ทำอย่างไรให้สิทธิทางปัญญาได้รับการคุ้มครอง เพื่อจะได้เป็นส่วนผลักดัน Creative Economy ให้มีบทบาทมากขึ้นต่อไป ซึ่งประสิทธิภาพสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านไอทีของไทย ยังเชื่อมเข้ากับระดับนานาชาติน้อยมาก ไม่ว่าระบบ 2G, 3G หรือที่เป็น 4G เทียบกับต่างชาติแล้วไทยช้ามาก ในระยะปีสองปีมานี้ ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเฉพาะการตัดสินใจภาครัฐ นี่ทำให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ยาก นอกจากนั้นยังมีเรื่องการศึกษาที่จะผลิตแรงงานป้อน Creative Economy เราเห็นช่องว่างที่ต้องพัฒนาอีกมาก เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ จะพบว่าเขาไปได้ไกลกว่า แต่ผมก็เริ่มเห็นความพยายามนี้บ้างแล้วในเมืองไทย และแน่นอนว่า ไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขอุปสรรคทั้งหมดก่อนเราถึงจะเข้ามา สามารถปรับกันไปเป็นขั้นตอนได้ เราเข้ามาแล้วช่วยกันแก้ไขได้
@ บทบาทของสหรัฐในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ บรรลุข้อตกลงในการประชุมทวิภาคีระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ภูเก็ต ก่อตั้งความริเริ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ( Lower Mekong Initiative) ซึ่งจะก่อประโยชน์ต่อประเทศในอนุภูมิภาคนี้ ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เราให้ความสนใจเรื่องการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนแม่น้ำสาย นี้ เพราะจะมีผลมากต่อวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ซึ่งจำนวนไม่น้อย
@ ทำไมสหรัฐเข้ามามีบทบาทในอนุภูมิภาคนี้ช้ากว่าประเทศอื่น เช่น จีนและญี่ปุ่นเข้ามาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแล้ว สหรัฐในฐานะมหาอำนาจหนึ่งของโลก มักถูกดึงให้ไปสนใจประเด็นหลากหลาย หลายปีที่ท่านมาเราให้ความสนใจกับปัญหาในอิรัก อัฟกานิสถาน มุ่งกับการแก้ปัญหานี้หลายปี ที่จริงเราไม่เน้นว่าใครมาก่อนมาหลัง ในที่สุดทุกคนก็มาแล้ว และจะเดินหน้าไปอย่างไรต่างหาก
@ นอกจากด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว สหรัฐจะเพิ่มบทบาทในด้านใดอีกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหรืออาเซียน การค้าในภูมิภาคเป็นสิ่งที่เราให้ความสนใจมาก เศรษฐกิจจะทำให้ทุกอย่างหมุนไปได้ เรามองอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ และในระหว่างประเทศอาเซียนหรือประเทศในอนุภูมิภาคนี้ ไทยดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่า แต่ไทยก็มีประเด็นที่ต้องแก้ไขอุปสรรคที่เป็นกำแพงกั้นการเติบโตด้านนี้ ประเด็นหนึ่งที่เราเห็นว่าเป็นอุปสรรค คือต้นทุนโลจิสติกส์ที่ปัจจุบันยังสูงมาก และยังต้องพัฒนาอีกมาก ทุกวันนี้ค่าขนส่งจากเวียงจันท์มากรุงเทพฯ พอๆกับค่าขนส่งจากกรุงเทพฯไปลอสแองเจลิส ทั้งภาษี ค่าใช้จ่ายระหว่างทาง ขณะที่สิงคโปร์เขาทำได้ดี ใครมาที่สิงคโปร์ก็สามารถเชื่อมต่อกับทั้งโลกได้ อยากให้นักลงทุนได้เห็นว่าถ้ามากรุงเทพฯหรือเชียงใหม่แล้วเชื่อมต่อกับโลก ได้ทันทีบ้าง
@ แม้จะพยายามลดอุปสรรคปูทางให้นักลงทุนสหรัฐ แต่พวกเขาพร้อมแล้วหรือในเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเองก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เราไม่ได้คิดว่าต้องเห็นผลปีหน้า คงใช้เวลาหลายปี แต่ต้องเริ่ม และค่อยๆรอดูผล ไม่เร่งร้อนที่จะเห็นผลในระยะอันใกล้ สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ เราพ้นช่วงต่ำสุดแล้วและอยู่ระหว่างฟื้นตัว ระหว่างนี้นักลงทุนของสหรัฐก็ยังคงขยายงานหรือลงทุนไปข้างหน้า ตัวอย่างเช่นกลุ่ม Creative Kingdom ที่ยังคงทุนเพิ่มที่เชียงใหม่และในอีกหลายประเทศ
@ ท่านเคยทำหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจาระหว่างสหรัฐ-อาเซียน และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนหนึ่ง มองความสัมพันธ์ในกรอบอาเซียนอย่างไร คืบหน้าไปอย่างที่มุ่งหวังหรือไม่ ก้าวหน้าไปมาก ท่าทีของทุกฝ่ายเป็นบวก เรามีความสัมพันธ์ในกรอบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง มีการประชุมสุดยอดอาเซียนกับสหรัฐ มี Asean Regional Forum ที่เข้มแข็งจริงจัง สหรัฐเป็นประเทศแรกที่มีเอกอัคราชทูตประจำอาเซียน เรามีทูตประจำที่จากาตาร์ ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ อาเซียนได้รับเชิญให้เป็นผู้สังเกตการณ์ในกรอบเจรจาG20 ผมว่าความสัมพันธ์ทุกด้านเป็นไปอย่างดี ก้าวต่อไปของอาเซียนคือการค้าการลงทุน ต้องกระตุ้นให้โลกมองอาเซียนในฐานะตลาดเสรีที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ ขณะเดียวกันต้องช่วยกันลดอุปสรรคที่มีต่อการค้าการลงทุนให้มากที่สุด รัฐบาลท่านประธานาธิบดีโอบามา ให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเพิ่มกิจกรรมในพื้นที่นี้มากขึ้น ในระดับผู้นำเรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัน ผู้ทั้งสองประเทศได้พบปะกันสม่ำเสมอ ทั้งในการประชุม G20 ที่พิตสเบอร์ก อเมริกา การประชุมG20ที่สิงคโปร์ การประชุมในกรอบเอเปค และยังมีกรอบอาเซียน-สหรัฐที่เพิ่งผ่านไปล่าสุด แต่ละกรอบพยายามกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมกิจกรรมระหว่างสหรัฐกับ ภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งรัฐมนตรีคลินตันของสหรัฐ และรัฐมนตรีกษิตของไทย ก็ติดต่อประสานงานกันทั้งการเจรจาโดยตรงและทางโทรศัพท์ ผมเห็นอนาคตที่สดใส ว่าความสัมพันธ์ของเราสองประเทศคืบหน้า แม้จะมีประเด็นสถานการณ์การเมืองในประเทศของไทย แต่สถานะของไทยในเวทีสากลยังไม่มีอะไรกระทบกระเทือน ต่างประเทศรวมทั้งสหรัฐไม่ได้ตระหนกตกใจ " ผมเชื่อมั่นมาก ว่าความสัมพันธ์ทุกด้านของเราจะคืบหน้า"