สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การผูกขาดกับความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



งานวิจัยชิ้นนี้ พบบริษัทไทยขนาดใหญ่ประกอบกิจการในภาคเศรษฐกิจที่ไม่มีการค้าขายส/คหรือ บริการข้ามประเทศโครงสร้างธุรกิจกระจุก เสี่ยงต่อการผูกขาด

การ ผูกขาดถือเป็นช่องทางในการแสวงหากำไร "ทางลัด" ของธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาดสามารถสร้างกำไรได้อย่างง่ายดาย โดยการขึ้นราคาสินค้าหรือค่าบริการโดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้เหนือคู่แข่ง นอกจากนี้แล้ว ธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาดในตลาดดังกล่าวยังสามารถเอาเปรียบหรือกลั่นแกล้งคู่ แข่งเพื่อที่จะครอบครองตลาด การผูกขาดจึงเป็นการถ่ายโอนทรัพย์สินจากผู้บริโภคหรือจากธุรกิจขนาดย่อมที่ มักเป็นผู้ถูกกลั่นแกล้งไปยังธุรกิจที่ผูกขาด หากภาครัฐไม่เข้ามาป้องกันและปราบปรามพฤติกรรมที่เป็นการผูกขาดในภาคธุรกิจ แล้ว การถ่ายโอนกำไรดังกล่าวอย่างต่อเนื่องย่อมนำไปสู่การสะสมทุนของกลุ่มธุรกิจ ขนาดใหญ่ ซึ่งนับวันจะยิ่งทรงพลังทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเมื่อกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้สามารถเข้ามาครอบงำกลไกของภาครัฐได้ โดยการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่นักการเมืองซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือแก่เจ้า หน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกฎ กติกา ผู้บริโภคและธุรกิจขนาดย่อมก็จะไร้ที่พึ่งพาเมื่อรัฐกลายเป็นผู้ปกป้องผล ประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่ มิใช่ผู้พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของสาธารณะดังที่ควรจะเป็น 

พัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศที่การบริหารประเทศถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนผูก ขาดขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยถ่างมากขึ้น  เนื่องจากนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านการส่งเสริม และในด้านการกำกับควบคุมธุรกิจต่างมุ่งเน้นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์แก่ ธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าธุรกิจขนาดย่อมซึ่งเป็นแหล่งการจ้างงานและเป็นแหล่ง กำเนิดแห่งองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ  นอกจากนี้แล้ว ความเหลื่อมล้ำของรายได้ในภาคธุรกิจก็จะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เมื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของประชากรจำนวนมากไม่มี “พื้นที่ทำกิน”

การศึกษาข้อมูลรายได้ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงปี พ.ศ. 2547-2551 และข้อมูลรายได้ของบริษัทที่จดทะเบียนทั่วไปในช่วงปี พ.ศ. 2548-2550 พบว่า ในกรณีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น  การกระจายตัวของรายได้ในภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้มที่เลวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง ปี พ.ศ. 2547-2551 โดยรายได้รวมของกลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 77 บริษัท (Top 20%) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 81.02 เป็นร้อยละ 86.28 ในขณะที่สัดส่วนรายได้ของบริษัทที่มีรายได้น้อยสุด 77 บริษัท (Bottom 20%) กลับลดลงจากร้อยละ 0.93 เหลือเพียงร้อยละ 0.53 ทำให้ในปี พ.ศ. 2551 รายได้รวมของบริษัทในกลุ่ม Top 20% คิดเป็น 162 เท่าของรายได้รวมของบริษัทในกลุ่ม Bottom 20% ซึ่งได้เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 87 เท่าในปี พ.ศ. 2547

การกระจายตัวของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์มากกว่าสองแสนรายมีลักษณะที่ กระจุกตัวสูงกว่ากลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มาก โดยบริษัทประมาณสองหมื่นรายที่มีรายได้สูงสุด (Top 10%) มีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 89.06 ในปี พ.ศ. 2550 ในขณะที่บริษัทสองหมื่นรายที่มีรายได้น้อยสุด (Bottom 10%) กลับมีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.007 ของรายได้รวมของบริษัททั้งหมด การกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดจึงมีแนวโน้มที่เลวลง เช่นเดียวกับในกรณีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

การที่ส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นสืบเนื่องมา จากบริษัทกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวของรายได้ที่สูงกว่ากลุ่มอื่น  ในช่วงปี พ.ศ. 2547-2551 กลุ่มบริษัทดังกล่าวมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ในทุกปี ยกเว้นปี พ.ศ. 2550 ที่ลดลงเหลือร้อยละ 9.31 แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ของกลุ่ม บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก การที่รายได้ของบริษัทกลุ่มนี้สูงมากสืบเนื่องมาจากการขยายธุรกิจอย่างรวด เร็วของ บมจ. ปตท. และบริษัทลูกซึ่งมีรายได้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 45 ของรายได้รวมของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด แม้ราคาน้ำมันโลกที่ถีบตัวสูงขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จะมีส่วนทำให้รายได้ของบริษัทในกลุ่มพลังงานสูงขึ้นบ้าง แต่การขยายตัวของเครือ ปตท. ซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่องนั้นเกิดจากการขยายตัวของความต้องการพลังงานในประเทศ ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้ผูกขาดอยู่เกือบทุกภาคส่วน  

การศึกษานี้พบว่า บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ส่วนมากประกอบกิจการในภาคเศรษฐกิจที่ไม่มีการค้าขาย สินค้าหรือบริการข้ามประเทศ (non traded sector) เช่น ธุรกิจพลังงาน โทรคมนาคม การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง การธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต่างจากลักษณะของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในประเทศไต้หวัน ซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อป้อนตลาดโลกมากกว่าตลาด ในประเทศ เช่น บริษัท Acer Evergreen และบริษัทในธุรกิจคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอีกจำนวนมาก การที่บริษัทไทยขนาดใหญ่ประกอบธุรกิจในภาคเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันน้อย  และยิ่งบางรายเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่คงอำนาจผูกขาด ทำให้โครงสร้างธุรกิจที่กระจุกตัวมีความเสี่ยงต่อการผูกขาดสูง

ลักษณะที่โดดเด่นของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์อีกประการคือ การเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ประกอบกิจกรรมที่หลากหลาย (conglomerate) และประกอบธุรกิจแบบครบวงจร ประสบการณ์ของประเทศเกาหลีใต้ พบว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศที่เรียกกันว่า “แชโบล (chaebol)” มีแนวโน้มที่จะผูกขาดการแข่งขันในตลาดซึ่งบั่นทอนประสิทธิภาพและขีดความ สามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจของประเทศ จึงได้มีการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าขึ้นมาเพื่อกำกับควบคุม พฤติกรรมการค้าของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้ และได้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังทั้งกับบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ และในต่างประเทศ เช่น ไมโครซอฟท์ 

คณะผู้วิจัยได้ย้ำว่า การมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่ดี มิใช่สิ่งที่ไม่ดี บริษัทขนาดใหญ่ที่เติบโตมาจากความสามารถของตนเอง ย่อมเป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งเราควรจะภาคภูมิใจและให้การส่งเสริม ในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเช่น การวิจัยและพัฒนา ซึ่งบริษัทขนาดย่อมไม่สามารถทำได้ แต่หากบริษัทขนาดใหญ่เติบโตโดยการพึ่งพากฎ กติกาของรัฐที่เอื้อต่อการผูกขาด (ทำธุรกิจทางลัด) การขยายตัวของบริษัทเหล่านี้ย่อมเป็นการบั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นการปิดกั้นโอกาสในการทำธุรกิจของธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางอีก ด้วย

เพื่อที่จะส่งเสริมความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันในภาคธุรกิจ ภาครัฐมีบทบาทและหน้าที่สำคัญสองประการ ประการแรก ภาครัฐจะต้องคอยดูแลมิให้ นโยบาย กฎหมาย หรือระเบียบที่กำหนดขึ้นเป็นการให้อำนาจผูกขาดแก่กลุ่มธุรกิจหนึ่งใดเป็น พิเศษ การให้การคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศเป็นสิ่งที่รับได้ แต่การให้การคุ้มครองบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยอ้างการคุ้มครองอุตสาหกรรมใน ประเทศเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ประการที่สอง รัฐต้องมีกฎ กติกาในการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อคุ้มครองธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองน้อยจาก การถูกกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบทางการค้า

การศึกษานี้พบว่า นโยบาย กฎ กติกาของภาครัฐจำนวนมากเป็นต้นตอแห่งการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจผูกขาดแก่รัฐวิสาหกิจในการประกอบธุรกิจในเชิง พาณิชย์ การให้สัมปทานผูกขาด หรือการกำหนด กฎ กติกาในการออกใบอนุญาตที่เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ให้สามารถเข้า มาในตลาดได้ นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังไม่มีกลไกใดๆ ที่จะควบคุมพฤติกรรมการผูกขาดของธุรกิจขนาดใหญ่ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ ตราขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ก็ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง กรณีร้องเรียนพฤติกรรมที่เป็นการจำกัด กีดกันการแข่งขันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต่างไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาแต่อย่างใด
เส้นทางที่จะสลาย อำนาจทางตลาดของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผูกขาดเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและ ให้ความเป็นธรรมแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคนานับ ประการ

ประการแรก ธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นรัฐวิสาหกิจมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐซึ่งมี บทบาทสำคัญทั้งในด้านนโยบายและด้านกฎหมายไปนั่งเป็นกรรมการจำนวนมาก คณะผู้วิจัยไม่แน่ใจว่าท่านกรรมการเหล่านี้ซึ่งได้รับเบี้ยประชุมเป็นเงิน หลายเท่าของเงินเดือนนั้นจะต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือ จะต้องรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ

ประการที่สอง รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ยังได้รับการยกเว้นจากข้อบังคับของกฎหมายแข่งขันทางการ ค้าอีกด้วย แม้จะได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนที่มีเป้าหมายในการแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ ผู้ถือหุ้นแล้ว แต่การได้รับข้อยกเว้นดังกล่าวอาจไม่มีความหมายมากนักในทางปฏิบัติ เพราะอย่างไรกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีการบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นกับธุรกิจเอกชนหรือกับธุรกิจของรัฐ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีตัวแทนของสมาคมธุรกิจซึ่งเสนอโดยสภาหอการค้าและ สภาอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งอยู่ในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ตัวแทนของภาคธุรกิจส่วนมากจะเป็นผู้ที่มีตำแหน่งในสมาคม ซึ่งก็มักจะเป็นผู้บริหารที่มาจากบริษัทขนาดใหญ่

โดยสรุปแล้ว โครงสร้างธุรกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวมากขึ้น หากภาครัฐไม่มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแนวนโยบายในการบริหารจัดการรัฐ วิสาหกิจ ในการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า รวมทั้งการปรับปรุงกฎ กติกาในการกำกับดูแลภาคธุรกิจให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ในสภาพปัจจุบัน ธุรกิจขนาดเล็กแม้จะสามารถเกิดได้แต่เมื่อเติบโตมาถึงจุดที่กลายเป็น ”คู่แข่ง” ที่สำคัญในตลาดแล้ว เส้นทางในการประกอบธุรกิจอาจถูกปิดกั้นโดยคู่แข่งรายเดิมในตลาด ข้อมูลรายได้ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แสดงว่า กลุ่มบริษัทขนาดกลางมีอัตราการขยายตัวของรายได้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่ม ที่มีรายได้สูงสุดและกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดในทุกปียกเว้นปี พ.ศ. 2549

การที่รัฐบาลที่ผ่านมาทุกรัฐบาลพยายามสรรหาแนวทางใหม่ๆ ในการส่งเสริม SME นั้นเป็นสิ่งที่ดี หากแต่รัฐบาลจะต้องช่วยให้บริษัทเหล่านี้มีโอกาสที่จะเติบโตจนกลายเป็น บริษัทชั้นนำในระดับโลกได้ โดยการให้การรับรองว่าพวกเขาจะมีพื้นที่ในการทำธุรกิจที่เขามีศักยภาพ และเขาจะได้รับความเป็นธรรมในเวทีการแข่งขันที่ต้องต่อกรกับบริษัทขนาดใหญ่ มิฉะนั้นแล้ว ความพยายามในการผลักดัน SME ที่ทุ่มเทมาทั้งหมดก็จะไร้ความหมาย หากสุดท้ายแล้วธุรกิจเหล่านี้ต้องล้มหายตายจากท่ามกลางสภาพตลาดที่ยึดหลัก การ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว การกระจุกตัวของภาคธุรกิจจะนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองดังเช่นที่เห็นอยู่กันทุกวันนี้

-----------------------------

***บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2552 เรื่อง “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม”(Economic Reforms for Social Justice) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2552 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิล์ด

view