จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ: |
ปลายสัปดาห์ที่ ผ่านมา สถาบันคลังสมองแห่งชาติได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “มองภาพอนาคตประเทศไทย 10 ปีข้างหน้า : ทางรอด-ทางเลือก
ผมเห็นว่า เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง
ก่อนเริ่มประชุมเชิงปฏิบัติการ สถาบันคลังสมองได้เชิญ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ช่วยฉายภาพอนาคตประเทศไทย 10 ปีข้างหน้า
อาจารย์นวลน้อย ได้ยกรายงานสำคัญ 2 ชิ้น ที่บ่งชี้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก อันได้แก่ 1) Global Trends 2025 : A Transformed World (2009) โดย National Intelligence Council และ 2) The World in 2025 : Raising Asia and Socio-Ecological Transition (2009) โดย European Commission
ในมุมมองของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โลกในปี 2025 จะมีจุดเด่นดังนี้
ประการแรก : ศตวรรษของเอเชีย : เอเชียจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มมากขึ้น
1.1) สหรัฐอเมริกามองว่าภายในปี 2025 ขนาดเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะเรียงลำดับดังนี้ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และรัสเซีย อย่างไรก็ดี แม้ว่าขนาดของระบบเศรษฐกิจจีนและอินเดียจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่รายได้ต่อหัวของประชากรยังคงอยู่ในระดับต่ำ
1.2) จะมีการย้ายฐานการผลิตสู่เอเชียเพิ่มมากขึ้น และจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก น่าสังเกตว่า เศรษฐกิจเอเชียมิได้เติบโตจากปัจจัยภายในเพียงลำพัง แต่ได้แรงหนุนจากการย้ายฐานการผลิต สู่เอเชีย
1.3) ถึงแม้ขนาดของระบบเศรษฐกิจและความ มั่งคั่งของประเทศในเอเชียจะเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นไปอย่างปราศจากความเท่าเทียม ปัญหาภายในพร้อมจะปะทุขึ้นมา เนื่องจากความชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นและเรียกร้องเชิงนโยบายเพิ่มขึ้น ขณะที่คนจนยังคงถูกทอดทิ้ง
1.4) จีนและประเทศตะวันออกกลางจะมีบทบาททางการเงินโลกเพิ่มมากขึ้น ผ่านการใช้กองทุนความมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Funds-SWFs)
ประการที่ 2 ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร : พลังงานและน้ำจะกลายเป็นปัญหาสำคัญ
2.1) การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของประชากรจะสร้างแรงกดดันให้ กับอุปทานของพลังงานทั้งในด้านปริมาณการผลิตและปริมาณสำรองเป็นอย่างมาก ซึ่งจะกลายเป็นแรงผลักดันให้โลกเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ พลังงานทางเลือก และทำให้ประเด็นทรัพยากรกลายเป็นประเด็นหลักของยุทธศาสตร์ทางการเมืองใน ระดับนานาชาติ อย่างไรก็ดี พลังงานจากฟอสซิลยังคงเป็นพลังงานหลัก 70-80% ของโลกต่อไป
2.2) จีนจะเป็นประเทศผู้นำเข้าทรัพยากรธรรม ชาติรายใหญ่ที่สุด จึงมีอิทธิพลสูงต่อตลาดทรัพยากรธรรมชาติ (China Effect)
ประการที่ 3 การเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อมจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
3.1) ความพยายามของประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะ เป็นไปอย่างเชื่องช้าและมีแนวโน้มว่า จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์รวม จะมีผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น
3.2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผล อย่างรุนแรงต่อเกษตรกรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศยากจนที่เกษตรกรรมมีสัดส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจและเป็นแหล่ง อาหารเพื่อการดำรงชีพ
การเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อมจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดโรคระบาดมากขึ้น ประชากรสุขภาพเลวร้ายลง พืชผลเกษตรเสียหาย
ประการที่ 4 จำนวนประชากรและสัดส่วนประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้น
4.1) สหประชาชาติประมาณว่า ในปี 2025 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 25% จาก 6,500 ล้านคน ไปสู่ 8,000 ล้านคน ซึ่ง 97% ของประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้จะอยู่ในเอเชียและแอฟริกา นอกจากนั้น 61% ของจำนวนประชากรโลกจะอยู่ในเอเชีย โดยในเอเชียใต้จะเติบโตสูงที่สุด โดยเฉพาะอินเดียที่จะมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับจีน
4.2) สัดส่วนประชากรสูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลให้ค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลง
ประการที่ 5 ความยากจนยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ประชากร 1 ใน 3 ของโลกยังต้องเผชิญกับความ อดอยาก
5.1) ถึงแม้โลกจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การกระจายผลประโยชน์จะเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม ดังนั้นปัญหาความยากจนและขาดแคลนจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญของโลก
5.2) ปัจจัยที่มีผลต่อความอดอยากและยากจนเกี่ยวข้องกัน ราคาอาหารที่สูงขึ้นจากอุปสงค์รวมที่เพิ่มมากขึ้น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเกษตรกรรม ราคาพลังงานและปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการเก็งกำไรที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาอื่นๆ ในมุมมองจากสหรัฐอเมริกา เชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะมีแนวโน้มไปในทางปกป้องและกีดกันทางการค้ามากขึ้น จากการแข่งขันเพื่อเข้าถึงทรัพยากร อาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนั้นมุมมองของสหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญกับการก่อการร้ายที่อาจเลว ร้ายลงได้ ภายใต้ภาพฉายดังกล่าว สถานการณ์ประเทศไทยจะมีประเด็นดังนี้
-ไทยสามารถรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง เนื่องจากขาดการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาที่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตหรือยกระดับประสิทธิภาพการผลิตได้อย่าง มีนัยสำคัญ ไทยยังสามารถเกาะกระแส Out Sourcing รองรับการย้ายฐานการผลิตมาในเอเชีย แต่ยังขาดการพัฒนาแบรนด์ของตนเอง จึงไม่อาจสร้างตลาดเอง
-การผลิตทางด้านเกษตรจะเผชิญปัญหาความเสื่อมลงของทรัพยากรที่ดิน การขาดแคลนน้ำ และขาดการพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม
-การพัฒนาภาคเศรษฐกิจใหม่ (Creative Economy) มีแต่นโยบาย แต่ขาดทิศทางและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน รวมถึงขาดการลงทุน
-ภาคเกษตรมีสัดส่วนราว 10% ของ GDP ขณะที่มีแรงงานกระจุกตัวอยู่ถึง 40% และแรงงานกลุ่มนี้เริ่มเข้าสูภาวะสูงวัย
-การพึ่งพิงการส่งออกอยู่ในระดับสูงราว 70% ของ GDP ทำให้ผลกระทบในตลาดโลกที่มีความผันผวนถี่ขึ้น จะส่งผลต่อไทยได้ง่ายและรวดเร็ว
-สินค้าส่งออกยังเป็นสินค้าในกลุ่มที่ต้องการ ใช้แรงงานราคาถูก จึงต้องมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
-ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จาก
- ครัวเรือนรวยที่สุด 20% มีทรัพย์สินมากกว่าครัวเรือนที่จนที่สุด 20% ถึง 69 เท่า
- การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินอยู่ในระดับสูง ประมาณ 18.2% ของครัวเรือนเกษตรไม่มีที่ดิน และ 23.94% มีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ (กลุ่มนี้ยังคงมีที่ดินไม่เพียงพออยู่ดี)
- การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีอย่างต่อเนื่อง แต่การกระจายรายได้ไม่ดีขึ้น
- โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนเข้าสู่สังคม ผู้สูงวัย สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดว่า ในปี 2568 สัดส่วนประชากรสูงอายุจะสูงถึง 20%
- ความเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วของทรัพยากรธรรมชาติก่อให้เกิดปัญหาความ ขัดแย้งเพื่อการแย่งชิงทรัพยากรมากขึ้น เช่น ประมงพื้นบ้าน ป่าชุมชน
- ปัญหาความไม่สามารถจัดการกับอุตสาหกรรม ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดปัญหาความ ขัดแย้ง เช่น กรณีมาบตาพุด
- ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าความขัดแย้งจะคลี่คลายในระยะเวลาอันสั้น
- ความอ่อนแอของระบบราชการและการเมือง และการคอร์รัปชันที่ยังอยู่ในระดับสูง
อาจารย์นวลน้อยยังตบท้ายด้วยการเสนอทางเลือกดังนี้
-การสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง
-การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
-ลดการพึ่งพิงอุตสาหกรรมมลพิษ
-สร้างความมั่นคงทางอาหาร
-สร้างพลังงานทางเลือก ลดการพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากฟอสซิล
-ขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
-เพิ่มความสามารถทางด้านพัฒนาเทคโนโลยีให้มากขึ้น ผ่านการวิจัยและพัฒนา
-ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
-ปรับโครงสร้างภาษี ต้องเพิ่มความสำคัญและสัดส่วนของภาษีรายได้และภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น
-ปรับปรุงสวัสดิการพื้นฐานที่ชัดเจน ครอบคลุม และมีคุณภาพ
-ลดการผูกขาดอย่างจริงจังในภาคเศรษฐกิจ ต่างๆ