สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โบรกเกอร์มีอำนาจเหนือตลาดสูงลิ่ว

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :พนิตศรณ์ หวังจงชัยชนะ:


ตลาดหุ้นไทยจะมี พื้นที่ยืนบนเวทีโลกมากน้อยเพียงใดเป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว โดยภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการมีความเห็นว่าอนาคตของบ้านเราจะยิ่งเล็กลงไป เรื่อยๆ ในแผนที่ลงทุนโลก

เพราะ เหตุของความไม่พร้อมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขัน ต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงต้นทุนในการเข้าจดทะเบียน และความไม่พร้อมจะเปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจหลัก ทรัพย์ แต่หากเป็นข้อมูลจากฝ่ายกำกับและดูแลก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ของผู้ประกอบการ

สำหรับมุมมองของนักวิชาการอิสระอย่าง “สฤณี อาชวานันทกุล” ตามหัวข้อ “ผลตอบแทนส่วนเกินในเศรษฐกิจไทย : การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทยอำนาจเหนือตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ และการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร” มองว่าบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ได้รับผลตอบแทนส่วนเกินจากอำนาจเหนือ ตลาด และผลตอบแทนส่วนเกินจากอำนาจเหนือองค์กรอยู่แล้ว

ในแง่ของผลตอบแทนส่วนเกินจากอำนาจเหนือตลาด อย่างเช่น ผลตอบแทนส่วนเกินจากกฎระเบียบ (Rule-Based Rent) จากการที่มีกฎหมายผูกขาดจำนวนบริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ การกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียมซื้อขาย (คอมมิชชัน) ขั้นต่ำ รวมถึงการผลักภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานบางส่วนของโบรกเกอร์ให้กับตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

 

ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์คอมมิชชันขั้นต่ำ 0.25% แม้ว่าเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอาจไม่สูงนัก แต่ต้องยอมรับว่าต้นทุนตรงของผู้ลงทุนในการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างสูง

นอกจากต้นทุนทางตรงที่ผู้ลงทุนต้องจ่ายสำหรับคอมมิชชันและค่าอากร แสตมป์รวมกัน 0.26% แล้ว ผู้ลงทุนยังมีต้นทุนทางอ้อม(Bid-Ask Sprade) อีก 0.68% รวมแล้วเกือบ 1% นับว่าสูงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน เช่น ฮ่องกงอยู่ที่ 0.43% สิงคโปร์ 0.92%

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้โบรกเกอร์ไทยมีอัตรากำไรสุทธิ ในปี 2551 สูงถึง 17% เทียบกับค่าเฉลี่ยของโบรกเกอร์ทั่วโลกจะอยู่ที่ระดับ 10% เท่านั้น

จากโครงสร้างที่ตลท.เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายด้านการตลาดแทน โบรกเกอร์ พบว่าผลประกอบการของตลาดหลักทรัพย์ในปี 2550 มีต้นทุนในส่วนนี้ 7% เมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพยอื่นๆ ในโลก มีสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีค่าใช้จ่ายในการบริการ และการผลิตสื่อเพิ่มเข้ามาในสัดส่วนอีก 6% นับว่าเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งเดียวในโลกที่มีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง

ต้นทุนที่สูงของตลาดหลักทรัพย์สะท้อนถึงประสิทธิภาพการดำเนิน งานอยู่ในระดับต่ำมาก โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ซึ่งไม่นับรวมรายได้จากการลงทุนจะอยู่ใน ระดับ 1.44 เท่า เรียกได้ว่ามีผลประกอบการขาดทุน แต่ถึงแม้จะนำกำไรจากการลงทุนเข้ามาคำนวณรวมด้วยสัดส่วนตรงนี้ลดลงเหลือ เพียง 0.95 เท่า หรือมีกำไรสุทธิในอัตรา 0.05% เรียกได้ว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค เช่น เกาหลี มีอัตราส่วนค่าใช้จ่าย ต่อรายได้อยู่ที่ 0.64 เท่า โตเกียว 0.59 เท่า และมาเลเซีย 0.49 เท่า เท่านั้น

“พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอำนาจเหนือตลาดของโบรกเกอร์นั้นสร้างผลตอบ แทนให้กับโบรกเกอร์ในระดับสูง แต่ทำให้ประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์ลดลงอย่างไร” น.ส.สฤณี กล่าว

 

ผลตอบแทนเหนือตลาดอีกประการหนึ่งของโบรกเกอร์ก็คือการมีพอร์ตลงทุนของตัว เอง โดยในปี 2551 พบว่าพอร์ตโบรกเกอร์(Proprietary Trading) มีมูลค่า 783 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งตลาด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามีจำนวน 626 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งตลาด สาเหตุที่สร้างความกังวลให้กับผู้คนในตลาดทุน เพราะพอร์ตโบรกเกอร์ในต่างประเทศมักใช้กลยุทธ์ “ทำราคาแล้วเทขาย” (Pump-And-Dump)

ข้อสังเกตที่ทำให้เกิดความคิดดังกล่าวคือ ในวันที่ราคาหุ้นอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่จะมาจากโบรกเกอร์ที่ซื้อขายหุ้นในพอร์ตลงทุนของตัว เองไปมาระหว่างกัน แต่ในวันที่ราคาหุ้นอยู่ในระดับค่อนข้างสูง มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่จะมาจากนักลงทุนทั่วไป ไม่ใช่พอร์ตลงทุนของโบรกเกอร์ และยังพบว่าแบบแผนการ ซื้อขายหุ้นในพอร์ตลงทุนของโบรกเกอร์มีอำนาจค่อนข้างสูงในการ พยากรณ์ผลตอบแทนในอนาคต

น.ส.สฤณี กล่าวว่า ผลตอบแทนเหนือตลาดของบริษัทหลักทรัพย์อีกข้อคือ โบรกเกอร์อาจกระตุ้นให้ลูกค้าส่งคำสั่งถี่ผิดปกติ พิจารณาได้จากข้อมูลความเร็วในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Turnover Velocity) ในตลาดเอเชีย ไทยติดอันดับที่ 5 หรือ 169% รองจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ตลาดหุ้นเสิ่นเจิ้น ตลาดหุ้นโตเกียว และยังสูงกว่า ค่าเฉลี่ยของเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ 117% อีกด้วย

ตัวเลขดังกล่าวไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ลงทุนเพียง 5 แสนบัญชี และมีการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอเพียง 1.1 แสนบัญชี และตัวเลขเหล่านี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540

“ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนไทยมีการซื้อขายถี่สูงมาก หรือมีการเล่นหลายรอบ และทางมาร์เก็ตติงเองพยายามกระตุ้นให้ลูกค้ามีการซื้อขายหรือไม่”

ข้อมูลข้างต้นคืออำนาจเหนือตลาดของโบรกเกอร์ และยังมีอำนาจของโบรกเกอร์เหนือองค์กร นั่นก็คือกรณีที่โครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ในจำนวน 11 คน กำหนดไว้ว่าจะต้องมีกรรมการที่เป็นตัวแทนจากโบรกเกอร์ 3 คน และบริษัทจดทะเบียน 2 คน ที่เหลือจะเป็นกรรมการที่แต่งตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกรรมการเหล่านี้ทำหน้าที่กำกับดูแลโบรกเกอร์อีกทอดหนึ่ง

ตบท้าย น.ส.สฤณี ได้เสนอวิธีลดหรือกำจัดผลตอบแทนส่วนเกินของโบรกเกอร์ นั่นก็คือเดินตามทางแผนพัฒนาตลาดทุน 2553-2557 ซึ่งในแผนระบุให้ตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน และกระจายหุ้นเสนอขายให้กับประชาชน (ไอพีไอ) ในที่สุด นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาตลาดหลักทรัพย์ เพราะเดิมไม่มีผู้ถือหุ้น ดังนั้นขาดความเป็นเจ้าของ แต่เมื่อมีผู้ถือหุ้นชัดเจน การจะดำเนินการใดย่อมคำนึงถึงผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ

และอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขคือ การเปิดเสรีคอมมิชชัน ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการเปิดเสรีคอมมิชชันแบบขั้นบันไดในต้นปี 2553


แฉบล.ใหญ่คับตลาดหุ้น

จาก โพสต์ทูเดย์
นักวิชาการแฉโบรกเกอร์ยิ่งใหญ่ มีอำนาจเหนือตลาดหลายด้าน โกยกำไรมหาศาล ผลักต้นทุนให้ลูกค้า-ตลาดหลักทรัพย์
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ เปิดเผยในงานสัมมนาหัวข้อ “ผลตอบแทนส่วนเกินในเศรษฐกิจไทย : การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทย อำนาจเหนือตลาดของบริษัทหลักทรัพย์และการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) มีอิทธิพลเหนือตลาดมาก อาศัยกฎหมาย มีอำนาจผูกขาดให้กับตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยและอุตสาห กรรมหลักทรัพย์

ผู้ บริหารบริษัทหลักทรัพย์เป็นกลุ่มที่กำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียม (คอมมิชชัน) ขั้นต่ำ 0.25% และในการทำธุรกิจยังมีการโอนภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานบางส่วนให้กับตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้นักลงทุนมีต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์สูงมาก และตลาดหลักทรัพย์กลับมีประสิทธิภาพการดำเนินงานอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อ เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียด้วยกัน

นอกจากนี้ โบรกเกอร์ยังมีอำนาจเหนือตลาดในการซื้อขายหุ้นในพอร์ตลงทุนของตัวเองมากขึ้น เรื่อยๆ ทำให้มีอำนาจค่อนข้างสูงในการพยากรณ์ผลตอบแทนในอนาคต รวมถึงกระตุ้นให้นักลงทุนส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นถี่ผิดปกติ

“โบรกเกอร์มีอำนาจเหนือตลาดทำให้ได้รับผลตอบแทนสูงมาก โดยปี 2551 มีอัตรากำไรสุทธิถึง 17% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโบรกเกอร์ในโลกนี้ซึ่งอยู่ที่ระดับ 10% เท่านั้น” น.ส.สฤณี กล่าว

น.ส.สฤณี ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ว่า การเปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์แบบขั้นบันได ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2553 น่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาอำนาจเหนือตลาดของโบรกเกอร์ได้ รวมถึงการเดินตามแผนพัฒนาตลาดทุน 2553-2557 และการผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน และจดทะเบียนเพื่อกระจายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) เพื่อให้มีเจ้าของเข้ามาดูแลผลประโยชน์อย่างเต็มที่

 

view