จากประชาชาติธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เชิญผู้แทนของเว็บท่า (portal web) ที่นำข่าวและภาพข่าวจากเว็บไซต์ของสมาชิกชมรมฯ ที่เป็นสื่อกระแสหลัก ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยส่วนใหญ่เป็นเว็บในกลุ่ม 20 อันดับแรกตามการจัดอันดับของทรูฮิตส์ ร่วมประชุมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมกับชี้แจงเกี่ยวกับการทำบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู เรื่อง การอนุญาตให้ใช้ข่าวและภาพข่าวจากเว็บไซต์ในสังกัดของชมรมผู้ผลิตข่าวออ นไลน์ โดยมี ตัวแทนเว็บท่าต่างๆ ร่วมประชุม ประมาณ 10 เว็บไซต์ อาทิ www.sanook.com, www.kapook.com, www.Mthai.com, www.ryt9.com, www.siamha.com, www.postjung.com, www.majorcineplex.com, www.pukpik.com www.thaiza.com
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเว็บท่าหลายแห่ง ได้นำข่าวและภาพจากเว็บไซต์ของสมาชิกชมรมฯ จนกระทั่งเกิดปัญหาด้านกฎหมายและจริยธรรม กรณีที่นำเสนอข่าวมีข้อผิดพลาดและประเด็นคลาดเคลื่อน แต่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการนำข้อมูล ข่าวสารไปใช้ ไม่มีการขออนุญาต หรือทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้ที่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาทั้งในแง่ของการละเมิดลิขสิทธิ์ กรณี ใช้ข่าว ภาพข่าว บทความ รายงานพิเศษ ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่เว็บไซต์สมาชิกสร้างสรรค์ขึ้นมาเองโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางด้านจริยธรรมและกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นข่าวที่มีการคัดลอกนำไปเสนอเกิดความผิดพลาด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขตามต้นฉบับ จากเว็บไซต์สมาชิก ซึ่งได้ทำการแก้ไขเนื้อหานั้นแล้ว ดังนั้น หากเว็บท่าต่างๆ มีความประสงค์จะใช้ข่าวและภาพข่าวจากเว็บไซต์สมาชิกชมรมฯ ก็จะต้องมีการลงนามในบันทึกความใจ เพื่อรับทราบกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขการใช้ข่าวและภาพข่าวระหว่างเว็บท่าและเว็บไซต์สมาชิกให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกต่อไป สาระสำคัญของเอ็มโอยูที่เว็บไซต์สมาชิก เตรียมให้เว็บท่ามาร่วมลงนามนั้น เว็บไซต์สมาชิกจะอนุญาตให้เว็บท่าหรือ ผู้ขออนุญาต ใช้ข่าวและภาพข่าวจากเว็บไซต์สมาชิกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ แบ่งประเภทการใช้งานในเชิงเทคนิคออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.RSS Feed ประกอบด้วย หัวข้อข่าว โปรยข่าว ภาพประกอบข่าว และต้องเชื่อมโยงลิงก์กลับมาหาเว็บไซต์ผู้ให้อนุญาตเท่านั้น รวมสามารถนำเสนอเนื้อหา เผยแพร่ได้ในระยะเวลาเพียง 3 วัน โดยไม่สามารถสืบค้นย้อนหลังบนเว็บไซต์ของเว็บท่าได้ลักษณะที่ 2 ให้ใช้โดย embedded แบบ frame หัวข้อข่าว โปรยข่าว รูปภาพพร้อมลายน้ำ (url ของภาพ) และต้องดำเนินตาม API ที่ทางเว็บไซต์สมาชิกฯ กำหนด โดยอนุญาตให้ใช้เผยแพร่ได้เพียง 3 วัน และไม่สามารถสืบค้นย้อนหลังบนเว็บไซต์ของผู้ขออนุญาตได้เช่นกัน
เว็บไซต์สมาชิกจะไม่ทำการ feed ภาพข่าวต่างประเทศหรือภาพข่าวใดๆ ที่มาจากสำนักข่าวต่างๆ อาทิ AP, AFP, Reuters หากปรากฏว่าผู้ขออนุญาตนำภาพข่าวที่ไม่ได้รับอนุญาตไปใช้จนก่อให้เกิดความ เสียหายแก่เว็บไซต์และ/หรือบุคคลภายนอก ผู้ขออนุญาตจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตไม่สามารถเก็บชิ้นข่าว และ/หรือภาพข่าวของสมาชิกชมรมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในระบบฐานข้อมูล หรือไม่ว่าการจัดเก็บใดๆ นานเกิน 3 วัน และผู้ขออนุญาตไม่มีสิทธิในการนำข่าวที่ได้รับไปทำการดัดแปลงแก้ไข ทำซ้ำ เปลี่ยนแปลง เรียบเรียงใหม่ หรือไม่ว่าการกระทำโดยวิธีการใดอันทำให้ผิดไปจากต้นฉบับที่ได้รับจาก เว็บไซต์สมาชิก ปธ.ชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวด้วยว่า เอ็มโอยู ที่กำหนดขึ้น เป็นเงื่อนไขร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของสมาชิกชมรมฯ อย่างไรก็ตาม การลงนามในเอ็มโอยูดังกล่าว ให้เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ขออนุญาตกับเว็บไซต์สมาชิกเป็นรายๆ ไป ไม่ถือเป็นการกระทำระหว่างผู้ขออนุญาตกับ ชมรมฯ และทางชมรมฯ ไม่ได้สงวนสิทธิ์ หากเว็บท่าบางแห่งจะทำข้อตกลงหรือสัญญาพิเศษแตกต่างไปจากเอ็มโอยูดังกล่าว กับเว็บไซต์สมาชิกเป็นรายๆ ไป
ด้านนายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้บริหารเว็บไซต์กระปุกดอทคอท (kapook.com) กล่าวว่า โดยนัยของเอ็มโอยูดังกล่าว เท่ากับว่า เว็บไซต์สมาชิกชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ไม่อนุญาตให้นำข่าวและภาพข่าวไปใช้โดยพลการ ซึ่งทางเว็บกะปุก ขอยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวโดยไม่โต้แย้ง อย่างไรก็ตาม ในการนำข่าวและภาพข่าวไปใช้นั้น หากเป็นรูปแบบ RSS จะเหมาะสำหรับเว็บที่ต้องการนำเสนอข่าวสารแต่เพียงอย่างเดียว และอาจไม่เหมาะสำหรับเว็บกะปุก ซึ่งไม่ใช่เว็บที่นำข่าวสารเท่านั้น แต่นำข่าวสารไปประกอบกับเรื่องราวอื่นๆ ดังนั้น หากจะมีการนำข่าวหรือภาพจากเว็บสมาชิกชมรมฯ ไปใช้ แต่ละเว็บอาจไปทำข้อตกลงพิเศษกับแต่ละเว็บเอาเอง ซึ่งตัวแทนจากเว็บ sanook.com ก็มีความเห็นสอดคล้องกัน รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ภายหลังประชุมร่วมกับตัวแทนเว็บท่าแล้ว กรรมการชมรมฯ ได้หารือกันอีกครั้ง โดยมีข้อสรุปว่า จะทำหนังสือแจ้งไปยังเว็บท่าต่างๆ เพื่อให้เว็บไซต์เหล่านั้นแจ้งความจำนงว่าต้องการจะใช้ข่าวและภาพข่าวจาก เว็บไซต์สมาชิกรายใดบ้าง หลังจากนั้นจะนัดวันมาลงนามในเอ็มโอยูในช่วงเดือนม.ค.2553 อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมกับเว็บท่าครั้งนี้ ปรากฏว่ามีเว็บท่าหลายแห่งซึ่งได้ใช้ข่าวและภาพข่าวของเว็บไซต์สมาชิกมาโดย ตลอด และเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้ชมมากเป็นอันดับต้นๆ แต่เว็บไซต์เหล่านี้ ไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุม คณะกรรมการชมรมฯ จึงมีมติว่าจะทำการรวบรวมข้อมูลการใช้ข่าวและภาพข่าวของเว็บไซต์เหล่านี้ไว้ หากไม่มาร่วมลงนามใน เอ็มโอยูและยังคงมีการใช้ข่าวและภาพข่าวของเว็บไซต์สมาชิกฯ อยู่ ก็จะพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รวมตัวก่อตั้งขึ้นเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของ ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนผู้รับข้อมูลข่าวสารออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตระหนักในคุณค่าของงานสร้างสรรค์ที่ผ่านกระบวนการทางวารสารศาสตร์ และสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตข่าวสารแต่ละราย โดยตรง และส่งเสริมให้มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกกับผู้ประกอบการเว็บไซต์ ที่ต้องการนำข่าวสารจากเว็บไซต์สมาชิกไปเผยแพร่ต่อในเชิงพาณิชย์ โดยยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและ จริยธรรมทางธุรกิจ และประโยชน์ที่ผู้ผลิตข่าวออนไลน์จะได้รับด้วย