จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เมื่อจะประเมินประเทศไทยในอนาคตนั้น ก่อนอื่นต้องสำรวจดูก่อนว่า "จุดแข็ง" ของเรามีอะไรบ้าง แน่นอนต้องประเมินที่เสถียรภาพเศรษฐกิจ
ทั้ง จากภายนอกและภายในประเทศ โดยความแข็งแกร่งจากภายนอกนั้นวัดฐานะ "ในเชิงเปรียบเทียบกับต่างประเทศ" และดัชนีที่ประเมินได้ดีที่สุด คือ ได้จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ 1.36 แสนล้านดอลลาร์
ส่วนความแข็งแกร่งด้านภายใน สะท้อนผ่านเสถียรภาพด้านราคา การจ้างงาน เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤติสำคัญกี่ครั้งปัญหาว่างงานของไทยไม่ได้สูงมาก
ขณะเดียวกัน ภาคสถาบันการเงินแข็งแกร่งมากขึ้น อัตราเงินกองทุนอยู่ระดับสูง ระดับ 15.9% เมื่อสิ้นไตรมาสสองปี 2552 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net NPL) อยู่ระดับเพียง 3% ส่วนหนึ่งเพราะสถาบันการเงินไทยได้เรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
การที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติซับไพร์ม มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยงที่มีสูงขึ้นมาก ภายหลังจากประสบการณ์วิกฤติการเงินเอเชียเมื่อสิบกว่าปีก่อน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิรูประบบการกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของ ธปท.
ด้าน "จุดอ่อน" การเมือง ถือเป็นปัจจัยน่าวิตกและอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา ขาดเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลเชื่อมโยงต่อการลงทุนของภาคเอกชน ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยตรง ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านและจีน
นอกจากนั้น ยังพบจุดอ่อนด้านความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นหัวใจในการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของประเทศ ต่อเนื่องต่อการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน เพราะนั่นคือจะช่วยลดการพึ่งพาการส่งออก และเน้นอุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในภาคเอกชนยังการขาดการทำวิจัยและการพัฒนา หรือ R&D ในการพัฒนาคุณภาพและการให้บริการสินค้า ซึ่งจะมีความเสียเปรียบในการแข่งขันกับตลาดโลกในระยะต่อไป
ส่วน "โอกาส" วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน น่าจะสามารถ "ฉกฉวยโอกาส" ในการปรับโครงสร้างประเทศไปพร้อมกับการแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยในส่วนภาคสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งอยู่มากพอแล้ว ดังนั้น จำเป็นต้องหาช่องทางที่จะทำให้ภาคสถาบันการเงิน สินเชื่อขยายไปสู่รากหญ้ามากขึ้น
ขณะเดียวกัน ไทยมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมเป็นประตูสู่อินโดจีน ถือเป็นโอกาสอย่างดี โดยเฉพาะการรวมกลุ่มในประเทศเอเชีย เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันมากขึ้น
ด้าน "อุปสรรค" คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะปัจจุบันแม้ว่าเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว แต่ก็ยังมีความเปราะบางอยู่ เพราะไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดโลก และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยเป็นสำคัญ
อุปสรรคการเคลื่อนย้ายทุน เป็นอีกอุปสรรคสำคัญ ที่จะทำให้ตลาดเงินมีความผันผวน ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่แข็งค่าขึ้นเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา ทั้งที่การส่งออกไม่ดี แต่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและเครื่องจักรหดหายไปมาก จากผลพวงเศรษฐกิจที่ซบเซา ความต้องการลงทุนน้อยลง ประกอบกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้นเป็นปกติ ซึ่งยังไม่พบการเก็งกำไร ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ถ้าเทียบกับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง ถือว่าเกาะกลุ่มในทิศทางเดียวกับภูมิภาค
ความไม่ยั่งยืนของฐานะการคลัง ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างฐานของรายรับ ที่พึ่งภาษีทางอ้อมในอัตราที่สูง ซึ่งต้องปรับให้หันมาเน้นรายได้จากทางตรงมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เสียภาษี เพียง 9 ล้านคน คิดเป็น 24% ของฐานกำลังแรงงาน ซึ่งจะโยงใยไปถึงในอนาคต สังคมไทยจะเผชิญคน "วัยชรา" มากขึ้น ถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ ที่จะกระทบกับฐานะการคลัง
"อุปสรรคด้านการเมือง ดูเหมือนจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพราะการเมืองกับนโยบายเศรษฐกิจต้องไปด้วยกัน แน่นอนแม้การเมืองจะไร้เสถียรภาพ สามารถกระตุ้นหรือออกมาตรการด้านเศรษฐกิจระยะสั้นได้ แต่ไม่อาจวางแผนระยะยาวได้ โดยเฉพาะด้านการลงทุน ภาคเอกชนต้องการความมั่นใจจากภาคการเมือง เป็นปัจจัยในการลงทุนหรือทำธุรกิจ"
(พรุ่งนี้ติดตามข้อเสนอแนะสำหรับอนาคตของประเทศ)