จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดร. ธาริษา วัฒนเกส
ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
สิ่งที่อยากเห็น สำหรับอนาคตประเทศไทย วันข้างนั้น คือ "ความอยู่ดีกินดีของประชาชน" ซึ่งจะสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ
นั่นคือ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ดี และเอื้ออำนวย
ในภาคเศรษฐกิจระดับมหภาคที่มีเสถียรภาพ ทั้งการเงินและการคลัง ที่สำคัญ มีการกระจายรายได้ที่ดี คนจนมีไม่มาก สถาบันการเงินแข็งแกร่ง สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงสินเชื่อ
ส่วนภาคสังคม ก็ควรเป็นไปตามกรอบ "จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน" ที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ วางเอาไว้ ตามรูปแบบที่รัฐควรเข้ามาดูแลบริการพื้นฐานแก่ประชาชน ตั้งแต่อยู่ในท้อง ซึ่งหมายถึง การมีระบบสวัสดิการที่ดี และสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ รวมถึงการเข้าถึงการบริการทางสังคม และสาธารณสุขการศึกษา ที่ดีแก่ประชาชน
ส่วนการเมืองนั้นทุกฝ่ายอยากเห็นความมีเสถียรภาพด้านการเมือง สามารถให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนได้ อีกทั้งกลไก หรือองค์กรรัฐสามารถดูแลความปลอดภัย เพราะหากการเมืองมีความเข้มแข็ง ก็จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศมีการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้น ส่งเสริมให้สังคมที่มีความเป็นธรรม มีคุณธรรมและจริยธรรม
โปร่งใส สงบ ไม่มีคอร์รัปชัน น่าจะถือว่าเป็นความมุ่งหวังของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อการเมืองมีเสถียรภาพ ก็จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ดังนั้น ต้องเร่งที่จะทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีกลไกการตรวจสอบ ที่สำคัญ ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น การประท้วงไม่เสียหาย เพราะการแตกต่างความคิดจะนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ แต่การประท้วงต้องมีกติกา ที่ชัดเจน
"จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายอย่างไร"
เมื่อรู้ตัวเราเองว่าเป็นอย่างไร มีจุดอ่อน จุดแข็ง อุปสรรค ความท้าทาย และโอกาสของประเทศแล้ว ก็สามารถที่วางเป้าหมายข้างหน้าได้เป็นอย่างดี แน่นอนต้องเริ่มจากการวางเป้าหมายในเชิงมหภาคที่ไม่เน้นเฉพาะระยะสั้น แต่เป็นการวางเป้าหมายที่มองในอนาคต ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างทางสังคม ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐาน
โดยเฉพาะระบบขนส่ง ซึ่งปัจจุบันมีการพึ่งพาน้ำมันสูงการใช้จ่ายคิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงสุดในเอเชีย ดังนั้น ต่อไปในอนาคตต้องคิดถึงการใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ อาทิเช่น พลังงานน้ำ ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ที่เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของชาติ
ส่วนโจทย์ใหญ่ที่มีความท้าทายในเชิงมหภาค แม้ว่าในแง่ของ "ขนาด" ยากที่จะลดการพึ่งพาการส่งออก แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องเริ่มวางแผน เพื่อป้องกันไม่ให้ความอ่อนไหวของเศรษฐกิจโลก กลับมากระทบต่อเศรษฐกิจไทยอีก ซึ่งในแง่ส่งออก การรวมกลุ่มในภูมิภาค ลดการพึ่งตลาดในสหรัฐและยุโรป ยิ่งไทยเป็น "ประตูสู่อินโดจีน" และอาเซียนมีประชากร 500 ล้านคน ก็น่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดได้อย่างดี
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาทางด้านการลงทุน จะเห็นว่ายังมี "ช่องว่าง" ให้เพิ่มการลงทุนได้อีกมาก เพราะอัตราการลงทุนยังต่ำเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤติปี 2540 นั้น หมายความว่า การลงทุนยังไม่ได้เพิ่มศักยภาพเต็มที่ ซึ่งในระยะต่อไปก็คำนึงถึงการผลิตที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น การยกระดับฝีมือแรงงาน เพิ่มคุณภาพการศึกษา ที่สำคัญ แรงขับเคลื่อนที่ต้องมาจากภาคเอกชน โดยมีภาครัฐกำกับดูแลที่ดี
ด้านการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต ธปท.ยังคงเน้นด้านเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งเชื่อว่าจะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่นเดียวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยน ที่เห็นว่าระบบ "ลอยตัว" ยังมีความจำเป็นและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะเป็นระบบที่สามารถรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ
ขณะที่แนวทางลดโอกาสการเกิดวิกฤติในอนาคตนั้น ในส่วนนโยบายการเงิน ธปท.ยึดมั่นใน 3 หลักการ ได้แก่ ความรอบคอบ (Prudence) ความคล่องตัว (Flexibility) และ การมองไปข้างหน้า (Forward)