รายงานโดย :ร้อยตะวันพันดาว:
|
เชียงใหม่ต้นฤดู หนาวดูอบอุ่นขึ้นมาอย่างประหลาด เมื่อผู้คนหลั่งไหลมาเดินชมงาน Northern Eco & Adventure Travel Mart 2009 ณ สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ กันอุ่นหนา ฝาคั่ง
งานนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แม่งานยิ้มแก้มแทบปริ หมายมั่นว่างานจะช่วยเปิดมุมมองการผจญภัยในภาคเหนือที่อุดมไปด้วยป่าเขา ลำธาร ซึ่งเป็นทำเลเหมาะนักสำหรับการท่องเที่ยวลักษณะนี้ งานผ่านพ้นไปด้วยดี แต่สำหรับพวกเราแล้ว ยังมีโปรแกรมยาวเหยียดต้องผจญภัยร่วมกันในเชียงใหม่กับมุมเล็กๆ ที่ช่วยปรับจูนสายตาให้มองเห็นถึงความงดงามน่ารักในดีกรีฉบับล้านนา...ที่ ซึ่งทำให้รู้ว่าสายลมหนาวเย็นฉ่ำผิวกายก็จริง แต่สิ่งที่ฉ่ำเย็นในหัวใจคือสายลมแห่งความเคลื่อนไหวของชีวิตเล็กๆ ที่นับวันมีเสน่ห์เหลือร้ายฉุดใจนักเดินทางให้ใหลหลง
แม่แจ่ม...แจ่มจิตแจ่มใจ
ซิ่น ตีนจกในตู้เก่าเก็บที่เจ้าของบอกว่า “ไม่ขาย” สะท้อนตำนานแห่งแม่แจ่มให้ผู้มาเยือนอย่างฉันซาบซึ้งถึงความงดงามในวิถีของ คนรุ่นก่อน...ริ้วลายที่ปรากฏลงบนผืนผ้าในแต่ละเส้นด้ายที่ถักทอประสานกัน ขึ้นมาล้วนมีรายละเอียดและบอกเล่าถึงตัวตนได้อย่างสวยงามน่าทึ่ง
นานแล้วที่ตีนจกแม่แจ่มได้รับการขับขานและยกย่องว่าเป็นผืนผ้างดงามที่ เกิดจากการทออันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งมีฝีมือที่หาตัวจับได้ยากนัก จนทุกวันนี้ซิ่นเก่าหนึ่งผืนมีราคาเกินกว่าที่มนุษย์เงินเดือนธรรมดาอย่าง เราจะซื้อไหว แต่เพียงแค่ได้หยุดและยืนมองนิ่งนานในห้วงเวลาสั้นๆ เรื่องราวบนผืนผ้าซิ่นเหมือนจะพาเราย้อนกลับไปสู่ความรุ่งเรืองในยุควันวาน ของผืนนาและวิถีชีวิตของคนแม่แจ่มได้เป็นอย่างดี
แม่แจ่มหรือเมืองแจ่ม ในอดีตคือเมืองเก่าแก่ในอาณัติล้านนาแห่งเชียงใหม่ คนแม่แจ่มสืบสานวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงความเรียบง่ายที่งดงามมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะงานหัตถกรรมทอผ้าฝ้ายของคนแม่แจ่มนั้นถือว่าไม่เป็นสองรองใคร
ณ บ้านหลังเล็กๆ เสมือนเป็นโชว์รูมของกลุ่มทอผ้าฝ้ายเปลือกไม้ (บ้านต่อเรือ) นอกจากทำให้เราได้เห็นลวดลายของตีนจกแม่แจ่มของแท้ที่มากมายไปด้วยสีสันสดใส ยังเป็นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอธรรมชาติ ทุกชิ้นย้อมสีธรรมชาติโดยการใช้ “คราม” มาเป็นตัวชูโรงของงานฝีมือชิ้นนี้ แม้ราคาแพงระยับ (สำหรับฉัน) จนแทบจับไม่ติด แต่ก็ต้องชมเชยในรายละเอียดอันประณีตของผลงานทุกชิ้น ฝ้ายทุกผืนที่นำมาแปรรูปเป็นเสื้อ กางเกง ล้วนเดินลายด้วยมือ แต่ละแบบไม่ซ้ำกันสักชิ้นเดียว พูดว่าเป็นชิ้นเดียวในโลกก็คงไม่ผิดนัก
จากผลงานหัตถกรรมคราวนี้มาดื่มด่ำวัดเก่าของแม่แจ่มกันบ้าง วัดน่าสนใจ ได้แก่ วัดพุทธเอิ้น เป็นวัดที่มีศิลปะการสร้างพระอุโบสถกลางน้ำเพียงแห่งเดียวในเชียงใหม่ ไฮไลต์อยู่ที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกวันนี้คนแม่แจ่มก็ยังขนขวดน้ำมารอง น้ำจากบ่อน้ำไปดื่มกินเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้อีกวัดที่พวกเราได้ไปชมคือวัดป่าแดด เลิศล้ำด้วยจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างไทยใหญ่ แดดเที่ยงวันร้อนแรงสาดแสงลงมาบนตัวพระอุโบสถ ภายนอกเกิดเป็นเงาทาบลงบนบานหน้าต่างประดับลวดลายซื่อๆ บนผนังสีขาว พวกเราเดินชมกันจนอิ่มใจก็ถึงคราวโบกมือลาแม่แจ่ม...ที่วันนี้ยังแจ่มอยู่ใน ใจเสมอ
ขุนวางกับเรื่องราวของวานิลลา
ปี ปีหนึ่งประเทศไทยต้องนำเข้าวานิลลา...พืชมหัศจรรย์ที่ให้กลิ่นรสชาติหอมหวาน เป็นมูลค่ามหาศาล ด้วยราคาวานิลลาอบแห้งนั้นสูงหลายพันบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเจ้ากล้วยไม้สกุลวานิลลานี้ มาดากัสการ์จัดเป็นประเทศที่เป็นผู้ผลิตวานิลลารายใหญ่ที่สุดในโลก
เพื่อพยายามสร้างทางเลือกให้คนไทยได้เต็มที่กับกลิ่นอันหอมหวานของกล้วย ไม้ชนิดนี้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่ จึงได้นำพันธุ์วานิลลาจากอินโดนีเซียมาทดลองปลูกและผลิตเป็นวานิลลาอบแห้ง และเพิ่งได้ผลผลิตชัดเจนในปีที่ผ่านมานี้เอง
การทดลองปลูกและผลิตวานิลลาของศูนย์ แห่งนี้ดำเนินงานค่อยเป็นค่อยไป ในโรงเรือนที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในระดับพอเหมาะ ต้นวานิลลาที่เลื้อยไปตามเสากำลังพากันอวดฝักเขียวสดของมันกันเต็มที่ ฝักที่สุกแล้วถูกนำมาลวกด้วยน้ำอุ่น จากนั้นนำมาผึ่งแดดให้แห้ง ใช้มือคนคอยบีบนวดเพื่อกระตุ้นอโรมาในวานิลลา แล้วค่อยห่อผ้าดำเก็บลงในถัง นำวานิลลาเหล่านี้ออกมานวดทุกวัน จนครบ 4 เดือนถึงนำออกมาจำหน่าย เจ้าหน้าที่บอกว่าฝักวานิลลาสด 100 กิโลกรัม นำมาทำเป็นวานิลลาอบแห้งได้เพียง 20 กิโลกรัมเท่านั้น อีกทั้งยังได้มาตรฐานวานิลลาไม่แพ้เมืองนอก ซึ่งไม่เพียงแค่ยืนยันด้วยถ้อยคำเท่านั้น เธอหยิบวานิลลาแห้งสีดำออกมาให้พวกเราได้พิสูจน์กลิ่น
แม้วานิลลาเป็นพืชตัวเอกของศูนย์ ซึ่งในเมืองไทยมีการทดลองวิจัยปลูกเป็นเรื่องเป็นราวเพียงที่นี่เท่านั้น หากบรรยากาศสงบงามของศูนย์ก็ตรึงตราผู้มาเยือนเช่นพวกเราท่ามกลางไอหนาวที่ ลอยพัดมาทักทายระลอกแล้วระลอกเล่า เราต่างเบิกบานกับแปลงปลูกเยอบีร่าสีม่วงอ่อน สีขาว เริงร่ากับแปลงปลูกองุ่นไร้เมล็ดที่กำลังผลิช่อออกผล สนุกกับการชมพันธุ์ไม้เมืองหนาวนานาชนิด ตื่นตากับใยแมงมุมนับร้อยที่เกาะค้างบนใบสนจนดูคล้ายถูกห่มด้วยปุยนุ่น สุดท้ายยังได้เรียนรู้บางมุมในวิถีชีวิตของชาวม้งบ้านขุนวางที่ต้อนรับพวก เราด้วยบทเพลงเรียบง่ายจากแคนม้ง ก่อนพาเราไปชมกรรมวิธีการทำ “ข้าวปุก” ข้าวเหนียวที่นึ่งจนสุกแล้วนำมาทุบจนกลายเป็นแป้งข้าวเหนียว ปั้นเป็นก้อนแล้วนำไปจี่หรือย่างไฟ ข้าวปุกเป็นอาหารที่ชาวม้งทำในวันสำคัญ โดยปีใหม่ของชาวม้งขุนวางจะมีราวๆ กลางเดือนก.พ. ของทุกปี
ฝันกลางทุ่ง (ข้าว)...แม่กลางหลวง
วันนี้บ้านแม่กลางหลวงไม่ใช่สถานที่ที่น้อยคนนักไม่รู้จักอีกต่อไป
ที่แห่งนี้คือสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ “หนึ่งใจเดียวกัน” ที่เนรมิตบ้านเพียงหลวง ฉากหลักของเรื่องให้กลายเป็นสถานที่ในฝันด้วยนาข้าวขั้นบันได และแม่กลางหลวงก็คือสถานที่เติมเต็มฝันนั้นให้กลายเป็นความจริง
เราเดินลัดเลาะไปตามราวป่าจากอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มุ่งหน้าสู่เส้นทางน้ำตกผาดอกเสี้ยว ปลายฤดูสายน้ำในน้ำตกยังคงแรงกล้า ละอองน้ำฟุ้งกระจายในยามที่มันไหลซัดโขดหินเบื้องล่าง ทางเดินเส้นนี้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่กลางหลวงทำ ขึ้นไว้อย่างดีเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่อยากซึมซับป่าเขาให้ลึกซึ้งยิ่ง ขึ้น หวาดเสียวตอนต้องไต่สะพานไม้ไผ่ตัดสายน้ำตกไปนี่แหละ...ได้ใจดีแท้
เลยจากสะพานไม้ไผ่ไปไม่นาน สองตาพลันลุกวาวด้วยฉากนาข้าวขั้นบันไดสีทองอร่ามยามต้องแสงแดดตอนเย็นย่ำ สะท้อนความงดงามอย่างยากบรรยายเข้าสู่ประสาทตาและส่งภาพนั้นไปสู่สมองที่ สั่งให้ปากร้องออกมาเพียง “ว้าว” เราเดินเข้าไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของนาข้าว ไล่เลาะไปตามคันนาสู่ทางเดินเข้าหมู่บ้านแม่กลางหลวง และได้รับการต้อนรับอย่างดีด้วยกาแฟสดๆ จากไร่
แว่วเสียงดังขึ้นว่ามาถึงแม่กลางหลวงแล้วไม่ได้ชิมกาแฟถือว่ามาไม่ถึง ...กาแฟที่นี่ปลูก คั่ว และบดตามวิถีของกะเหรี่ยงที่ยังคงใช้ชีวิตเวียนว่ายในความเรียบง่าย “กาแฟรสชาติดีไม่ดีอยู่ที่เครื่องชง” สมศักดิ์ คีรีภูมิทอง หยิบหม้อต้มกาแฟกะทัดรัดที่เขาบอกว่าเป็นของอิตาลี นำมาวางบนพื้น เทกาแฟบดลงไปในนั้น เติมน้ำแล้วจุดไฟต้มจนเดือด ก่อนรินลงในแก้วใบเล็กๆ ให้ทุกคนชิม ทุกอณูของเมล็ดกาแฟถูกไอน้ำกลั่นดันออกมากลายเป็นกาแฟเข้มเต็มรสแบบฉบับแม่ กลางหลวงที่น่าจะถูกใจคอกาแฟทั้งหลาย
แล้วพี่สมศักดิ์ก็ขายกาแฟบดได้เป็นเทน้ำเทท่าในวันนั้น...
บ้าน แม่กลางหลวงเหมาะสำหรับคนที่อยากพักผ่อนในบรรยากาศโฮมสเตย์ ใช้ชีวิตอยู่ในชายคาเดียวกับกะเหรี่ยง ดื่มด่ำความเรียบง่ายของพวกเขาเช่นเดียวกับทัศนียภาพรอบๆ กลางอ้อมกอดของนาขั้นบันได ยามลมหนาวโบกสะบัดทิวข้าวพลิ้วไสว แทบแยกไม่ออกเลยล่ะว่าภาพตรงนั้นคือความฝันหรือความจริง m
ข้อมูลเพิ่มเติม
ชมผลิตภัณฑ์และการสาธิตการย้อมผ้าฝ้ายด้วยเปลือกไม้ ที่กลุ่มทอผ้าฝ้ายเปลือกไม้ (บ้านต่อเรือ) อ.แม่แจ่ม โทร. 089-432-1890, 053-828-006
ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ มีบริการบ้านพักให้นักท่องเที่ยว สอบถามโทร. 053-939-102
สนใจพักโฮมสเตย์ที่บ้านแม่กลางหลวง ติดต่อ คุณสมศักดิ์ คีรีภูมิทอง โทร. 081-960-8856