จากประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์ ′บัณฑูร ล่ำซำ′ เปิดปมเมืองไทย เศรษฐกิจย่ำอยู่กับที่ทั้งที่เต็มไปด้วยศักภาพและความอุดมสมบูรณ์ เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และความไม่แน่นอนของการเมือง
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 มูลนิธิกสิกรไทยได้เดินทางไปมอบ ′ห้องสมุด′ ให้กับโรงเรียนบ้านน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน โดยมีนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ล่าสุดได้ซื้อโรงแรมน่านฟ้า ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่เป็นไม้ทั้งหลังอยู่ใจกลางเมืองน่าน กำลังจะปรับปรุงตกแต่งใหม่ในราว ๆ ต้นปีหน้า แต่จะคงสภาพ ′ไม้′ เอาไว้ทั้งหลัง และคาดว่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงแรมภูผาน่านฟ้า พร้อมกับเล่าว่า ปีนี้มาเมืองน่านหลายครั้ง ชอบเพราะเป็นเมืองที่สงบ แต่ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ รถไฟยังไม่มาถึงน่านเลย ทั้ง ๆ ที่รถไฟเป็นการขนส่งมวลชนหลักควรจะไปถึงทุกที่ ส่วนการพัฒนาเมืองน่าน เถ้าแก่ต้องลุกขึ้นมาคิดโจทย์ ว่าจะทำอะไร การให้สินเชื่อไม่ใช่ปัญหา และเจ้าเมืองต้องคิดโจทย์ดี ๆ ′บัณฑูร′ กล่าวถึงประเทศไทยว่าไม่ค่อยมีการวางแผนระยะยาว พร้อมกับกล่าวแบบตลก ๆ ว่ายาวที่สุดคือ 2 อาทิตย์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้คิดยาว ลำพังเรื่องเฉพาะหน้าก็วุ่นอยู่ น่าเสียดายประเทศไทยที่เต็มไปด้วยศักยภาพ ความอุดมสมบูรณ์ที่หาใครเสมอเหมือนไม่มี ปัญหาอยู่ที่การจัดการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การจัดการที่ฉาบฉวย
@ ต้องพึ่งการเมืองแค่ไหน เอกชนทำเองได้ไหม ไม่มีทาง ทุกประเทศต้องพึ่งการเมือง การเมืองเท่านั้นที่จะจัดการอะไรได้ หรือการเมืองเท่านั้นที่ทำให้ไม่มีการจัดการ อะไรได้ อย่างประเทศจีนใครสั่ง...พรรคซึ่งไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นระบบที่มีการนวดกันมาหลายทศวรรษแล้ว เราต้องจัดการกันแบบนี้ มีวิธีการคัดเฟ้นคนที่จะมาบริหาร ของไทยพอไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็ย้ายพรรค เมืองจีนไม่มี มีพรรคเดียว ทุกคนต้องอยู่ในระบบนี้ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง
@ ไทยควรถอยกลับไปแบบนั้นไหม ของเราถอยไม่ได้ มันเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ แป๊กอยู่ตรงกลาง...
@ ตอนนี้ทุกคนบอกว่าการเมืองแย่กว่าเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดีตามสภาพ ไม่เด่นอะไรมาก แล้วแต่ใครทำมาหากิน อุตสาหกรรมแบงก์ไม่มีปัญหา ไปได้เรื่อย ๆ เพราะแบงก์สะท้อนสภาพเศรษฐกิจโดยรวม เศรษฐกิจกลาง ๆ แบงก์กลาง ๆ แต่ตอนนี้มีการแย่งลูกค้ากันมาก ทุกคนต้องการการแข่งขัน เพื่อจะบริการให้ดีขึ้น เช่นจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ แต่ความกดดันของการแข่งขันเกิดการแย่งลูกค้า ดีสำหรับผู้บริโภค
@ ที่บอกว่าการเมืองเดินหน้าไม่ได้ แล้วธุรกิจจะเดินหน้ากันอย่างไรในปีหน้า ธุรกิจมันเดินหน้ากันได้อยู่แล้ว ถ้าธุรกิจเดินหน้าไม่ได้ก็มีประเด็นเดียวต่อเมื่อมีการทะเลาะออกมาบนถนน การเมืองที่จะสะดุดคือการลุกขึ้นมาตีกัน ทำท่าจะตีกัน ถ้าอย่างนั้นธุรกิจก็จะไปของมันอย่างนั้น แต่โครงสร้างพื้นฐานไม่ถูกสร้าง ไม่มีการคิดสร้าง ถนน รถไฟ โทรคมนาคม การศึกษา กฎหมายไม่ได้แก้ไข ถ้ามันไม่มีการแก้ไขเหมือนกับว่าฐานไม่แน่น ถ้าฐานไม่แน่นมันเหมือนเหยียบไม่ขึ้น อย่างของจีนมันแน่น มีท่าเรือ มีรถไฟ มีถนน การศึกษา ใครจะมาลงทุนก็ลงทุนด้วยความมั่นใจว่าระบบมันดี มันเหยียบขึ้น แต่เมืองไทยมันเหยียบแล้วมันยุ่ย มันได้อยู่ระดับหนึ่ง เมืองไทยมันดีอยู่อย่างหนึ่งคือคนอยากมา นี่คือเสน่ห์ของเมืองไทย ที่มี ไม่กี่ประเทศที่มี
@ แต่วันหนึ่งมันจะไร้เสน่ห์ไหม ถ้าการเมืองยังเป็นอย่างนี้ เมืองไทยก็จะค่อย ๆ ถอยหลังไปทีละนิด แต่เมืองไทยก็เหนียวมากนะ มันก็แปลกที่มีทางออก ก็อก ๆ แก็ก ๆ ไป ไม่เจอทางตันเสียที แค่เฉียด ๆ ไป
@ ปีนี้กลุ่มแบงก์เป็นอย่างไร ก็ได้ตามเป้า แต่ลูกค้ารายใหญ่ ๆ ที่กู้ไว้ ยังใช้เงินไม่หมดเลย ถามว่ามีการขยายการกู้ไหม คำตอบคือไม่ เพราะเขายังหาออร์เดอร์ไม่เต็มเลย กำลังการผลิตของเดิมยังใช้ไม่หมด จะให้แบงก์ทำอะไร ต้องลงไปหาธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อบ้าน แบงก์ไม่ใช่จะเติบโตหวือหวาหรือตื่นเต้น แต่โตไปเรื่อย ๆ มันคงจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน เพราะเมืองไทยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง อย่ามาหวังการกระตุ้นการ เจริญเติบโต การส่งออกช่วยได้ขั้นหนึ่ง กระตุ้นโดยรัฐบาลก็ช่วยได้ขั้นหนึ่ง การบริโภคก็ได้ขั้นหนึ่ง เศรษฐกิจก็ไม่ได้สร้างงานอะไร ก็วนกันอยู่ในที่ต่ำ ๆ ยังดีไม่เข้าเกียร์ว่าง ก็ลาก ๆ กันไป ปีหน้าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ โดยสภาพโดยรวมพอเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะมีกำลังฉุด แต่โลกเป็นโลกที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะรบกัน ความไม่ชัดเจนทางการเมืองไทยสูงมาก ไม่เข้าใจว่ามันจะออกรูปแบบไหน เป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ราคาหุ้นไทยต่ำ ดูเหมือนว่าจะดีแต่ไม่ดี แต่ถ้าเศรษฐกิจ ไม่โตแบงก์แป๊กไปด้วย โอกาสที่แบงก์จะโตพรวดพราดไม่มี กสิกรไทยก็เกาะ ๆ กลุ่มไป ทุกคนต่างติดกันอยู่ในระบบแบบนี้ คงไม่มีใครลุยปล่อยสินเชื่อสูง ๆ เกินกำลังเศรษฐกิจที่จะรับได้ ถ้าทำก็ตกเหวกันไป อย่างดูไบ ลูกโป่งแตก วิกฤตดูไบ คนที่เป็นเจ้าหนี้ก็สลบ ไม่มีการเตือนมาก่อน แต่ไทยไม่เกี่ยว ไม่มีฟองสบู่
@ ความผันผวนมีมากขึ้น แน่นอน หากบริหารความเสี่ยงไม่ดีก็จะบานปลาย แต่ภาคธุรกิจก็ยังมีการวางแผนระยะ 3 ปี 5 ปีอยู่ แบงก์จะสะดุดกรณีเดียวคือมีหนี้เสีย มันเขย่าประสาท ทุกคนหยุดหมด ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณ หากไม่มีหนี้ก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ แบงก์ชาติเขาทำหน้าที่ได้ดี ทำให้แบงก์ไม่ได้ปล่อยกู้แบบผาดโผน การที่แบงก์ทำอะไรที่ไม่ผาดโผน กำไรน้อย ไทยใช้นโยบาย ′ปอด′ ไว้ก่อน ตราสารหนี้ใหม่ ๆ ออกมาก็บอกว่าอย่าไปทำมันเลย ก็รอดตัวไป เพราะความเจ็บปวดคราวที่แล้วมันมหาศาล