จากประชาชาติธุรกิจ
"...ความ เห็นแก่ตัวอย่างเดียวที่สร้างปัญหาขึ้นในโลก ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวอย่างเดียว เราก็ไม่ต้องมีกฎหมาย ตำรวจ และการปกครอง และเลิกศาสนาไปเลยก็ได้ ซึ่ง นักหนังสือพิมพ์ช่วยกำจัดความเห็นแก่ตัวได้ หนังสือพิมพ์ช่วยได้มากกว่าคนธรรมดา ถ้ามุ่งหมายจะกำจัดความเห็นแก่ตัว เห็นประโยชน์และอานิสงส์ของความไม่เห็นแก่ตัว..."
นั่นเป็นข้อความ บางตอนในปาฐกถาธรรมหัวข้อ "เขาหาว่าพุทธทาสบ้า...ที่จะทำสื่อมวลชนให้เป็นปูชนียบุคคล" โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ที่ได้ค้นพบและนำมาจัดทำเป็นปาฐกถาเกียรติยศจัดฉายในงานปาฐกถาประจำปี 2552 ของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 พ.ย. ภายใต้ชื่องาน "สื่อมวลชน เพื่อนร่วมสร้างโลก"
งานปาฐกถา ประจำปีของหอจดหมายเหตุพุทธทาสปีนี้ เลือกที่จะยกวาระเกี่ยวกับสื่อมวลชนขึ้นมาเป็นประเด็นของงานประจำปีของหอ จดหมายเหตุพุทธทาส เพื่อสะท้อนบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของสื่อมวลชน โดยเฉพาะยุคสมัยที่บ้านเมืองกำลังแตกแยกภายใต้โครงสร้างสังคมที่ซับซ้อน
นอก จากปาฐกถาเกียรติยศของท่านพุทธทาสแล้ว ในงาน "สื่อมวลชน เพื่อนร่วมสร้างโลก" ยังมีการจัดนิทรรศการต่าง ๆ การเปิดตัวหนังสือ "สื่อมวลชนบนวิถีศีลธรรม : ตามทัศนะ ของพุทธทาส" ซึ่งเป็นการรวมธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสที่เพิ่งค้นพบและยังไม่เคยเปิดเผยมา ก่อน รวมถึงการจัดเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมะ และสื่อมวลชน
"สื่อ มวลชน...ผู้ทำได้ดีกว่าใคร ๆ" คือหนึ่งในเวทีเสวนาที่เป็นมุมมองของทั้งคนในและนอกวงการสื่อมวลชน ที่มองเห็นความเป็นไปของสื่อ อะไรคือจุดที่ต้อง แก้ไขเพื่อให้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนและไม่สื่ออย่างอวิชา
ผู้ ร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และนายเทพชัย หย่อง วิทยากรแต่ละท่านแม้จะมีบทบาทหน้าที่ในสังคมที่แตกต่างกัน แต่เมื่อมาร่วมเวทีสัมมนาในหัวข้อนี้ ต่างก็ให้แง่คิดที่สื่อมวลชนรวมถึงผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ จะนำไปขบคิดเพื่อหาทางออกให้ปัญหาสังคมที่กำลังเกิดขึ้น
ศ.เกียรติคุณ น.พ.ประเวศ วะสี
"สื่อต้องรู้ทางที่จะกลั่นกรอง
วจีสุจริตไปสู่สังคม"
น.พ.ประเวศ เปิดประเด็นให้เห็นความสำคัญของสื่อมวลชนว่า เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมใช้อำนาจ ที่ต้องแก้คือต้องเปลี่ยนสังคมให้เป็นสังคมใช้ความรู้ ดังนั้นการสื่อสารให้คนรู้ความจริงอย่างทั่วถึง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
การสื่อสารที่ดีนั้นต้องสื่อวจีสุจริต คือ คำพูดที่เป็นความจริง น่าฟัง พูดถูกกาลเทศะ และพูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือการผิดศีลข้อ 4 พูดเท็จกันเต็มไปหมด และปัญหาคือสื่อให้ความสนใจนักการเมืองมากเกินไป เนื่องจากระบบสังคมเป็นระบบการใช้อำนาจ และนักการเมืองก็อยู่ในอำนาจ ดังนั้นสื่อต้องรู้ทางที่จะสื่อวจีสุจริตไปสู่สังคม
ความดีงามมีใน สังคมแต่ไม่สื่อ เพราะเราอยู่ในระบบของอำนาจ ซึ่งทุกประเทศก็มี แต่ในสังคมที่ซับซ้อน สื่อต้องมีความรู้จริงในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยสังคม ดังนั้นการวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เรียนแค่เทคนิคไม่พอ ต้องรู้การคิดเชิงการเมือง วิทยาศาสตร์ ต้องรู้จริงเพื่อไปคุยกับใครต่อแล้วจะช่วยต่อความรู้จริงให้ ขยายออกไป
"ถ้า สื่อทำได้ดี นักการเมืองก็จะดีขึ้น เพราะมีนักข่าวที่มีความรู้คอยควบคุม ไม่เช่นนั้นก็จะตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง เอาข้อความไปสื่อทำให้สังคมโง่ลงและแตกแยกกันมากขึ้น"
น.พ.ประเวศ เปรียบเทียบว่า ร่างกายมนุษย์ถือเป็นตัวอย่างการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบที่ซับซ้อนให้เกิด เอกภาพได้ สังคมก็เช่นเดียวกันจะสื่อสารให้เกิดเอกภาพได้จะต้องมียุทธศาสตร์ของการสื่อ สาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องวางยุทธศาสตร์ให้เกิดการสื่อสารที่ถูกต้อง ทั่วถึงทุกส่วนของสังคม
"ต้องระวัง เพราะในประวัติศาสตร์ที่คนล้มตายกัน มันไม่ใช่เรื่องระหว่างประชาชนกับประชาชน แต่มาจากนักการเมืองพาไป ดูตัวอย่างประเทศศรีลังกาที่ขัดแย้งกันแรงมาก ก็ไม่ใช่เรื่องระหว่างประชาชนกับประชาชน แต่ก็เพราะนักการเมืองอยากหาเสียง เวลามีปัญหานักการเมืองก็จะเอาคนมารวมและสู้กัน"
น.พ.ประเวศให้ข้อ คิดทิ้งท้ายว่า ที่สุดแล้วสิ่งที่จะรวมอำนาจทั้งรัฐ ธุรกิจ รวมถึงสื่อมวลชนให้เดินไปในทางที่ถูกคือภาคสังคมที่เข้มแข็ง จึงต้องทำให้สังคม เข้มแข็ง มีการรวมตัวเพื่อคิดและลงมือทำทุก ๆ จุดในสังคม
บัณฑูร ล่ำซำ :
"สื่อต้องไม่เอาประโยชน์จากความอ่อนแอของสังคม"
ใน มุมมองของ "บัณฑูร" สื่อมวลชนคือผู้ที่ต้องรักษาความสมดุลระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคมกับ ธุรกิจของสื่อเอง เขาเห็นว่าสื่อมวลชนถือเป็นหนึ่งในสถาบันที่มีอำนาจมากในสังคมเช่นเดียวกับ สถาบันการเมืองซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศ เนื่องจากสื่อมวลชนคือสถาบันที่ประชาชนต้องสัมผัสตลอดเวลา จึงมีอำนาจต่อความคิดและอารมณ์ของคนตามแต่จะสื่อออกมา จึงสำคัญมากว่าสื่อจะต้องไม่ใช้อำนาจไปในทางที่เป็นประโยชน์ส่วนตัว
"สื่อ มีอำนาจมาก เพราะไม่ว่าจะโดยรู้หรือไม่รู้ตัว คนที่บริโภคสื่อเชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่งว่าที่สื่อพูดเป็นความจริง สามารถทำให้คนมีความคิด ความรู้สึกไปทางใดทางหนึ่ง นำไปสู่การกระทำบางอย่างในสังคม เมื่อมีอำนาจแล้วจะเป็นปูชนียบุคคลได้ สื่อต้องไม่นำไปสู่ความแตกสลายของบ้านเมือง แต่ทุกวันนี้มันไปทางนั้น เรากำลังไปสู่ ความแตกแยก เพราะมีการสุมไฟเข้าไปในความแตกแยก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะสังคมมนุษย์บริโภคอารมณ์เข้าไปเยอะ สัมผัสสื่อทุกวันนี้นำไปสู่อารมณ์ที่แล้วแต่สื่อจะใส่เข้าไป และเทคโนโลยีก็ยิ่งทำให้เกิดอารมณ์มากขึ้น จริง ๆ จะยกเลิกความมีอารมณ์ไปจากสื่อก็ไม่ได้ เพราะสื่ออยู่ในโลกธุรกิจการตลาด ซึ่งตลาดของสื่อก็คือสังคมคนอ่านที่อยากบริโภคอารมณ์ สิ่งที่ น่าคิดจึงอยู่ที่ว่าความพอดีอยู่ตรงไหน สื่อก็ต้องต่อสู้ให้อยู่ได้ในสังคมทุนนิยม อยู่ในกติกาที่ต้องอยู่รอด ยิ่งเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีกของผู้บริหารธุรกิจสื่อว่าจะสนองความต้องการ ผู้บริโภคสื่ออย่างไร แต่ไม่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม"
"บัณฑูร" กล่าวว่า ผู้ที่มีอำนาจทั้งนักการเมืองและสื่อมวลชน ต้องตรวจสอบจิตใจของตัวเองตลอดว่า ที่กำลังเดินอยู่นำไปสู่ทางที่สร้างสรรค์สังคมให้เจริญก้าวหน้าหรือไม่ ซึ่งระหว่างทางมีลูกเล่นทางธุรกิจได้แต่ต้องไม่พลาดเป้าหมายใหญ่ นั่นคือสื่อต้องทำใน 2 ประเด็น ซึ่งไม่ว่าจะต้องต่อสู้กับอะไรต้องไม่ลืม 2 ข้อนี้ คือ 1.ถ้าเกิดประเด็นในสังคม เช่น การคอร์รัปชั่น ต้องกัดไม่ปล่อย เพื่อให้สังคมเห็น ไม่ให้คนทำผิดชะล่าใจ 2.เมื่อมีความเห็นที่แตกต่างในสังคม จะต้องนำเสนอไปในทางที่มองเห็นทางออกและประชาชนอยู่ร่วมกันได้
บัณฑูร ได้ให้มุมมองต่อปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม และเตือนสติสถาบันที่มีอำนาจในสังคมว่า เมื่อสังคมกำลังอ่อนแอ ยืนไม่ขึ้น ผู้ที่มีบทบาทในการประคองสังคมได้ในขั้นแรกคือผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือสื่อมวลชน ที่ต้องไม่เอาประโยชน์จากความอ่อนแอของสังคม เพื่อให้สังคมตรวจสอบอำนาจในยุคต่อ ๆ ไป
เทพชัย หย่อง
"สื่อกับการก้าวข้ามภาวะปัจจุบัน
เราจมปรักกับภาวะนี้มากเกินไป"
สำหรับ "เทพชัย" ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อมาหลายทศวรรษและเห็นการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคสมัย เขาเห็นว่าด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์ในอดีต ทำให้หนังสือพิมพ์คือตัวแทนของประชาชนและเป็นที่ยอมรับของสังคมและหากอ่าน หนังสือ "สื่อมวลชนบนวิถีศีลธรรม : ตามทัศนะของพุทธทาส" จะรู้ว่าสังคมคาดหวังกับสื่อมวลชนมาแต่ไหนแต่ไร แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป สื่อก็เปลี่ยน มีสื่อใหม่เกิดขึ้นหลายประเภท และสื่อที่เข้ามาอย่างมีอุดมการณ์ก็น้อยลงทุกที
เขาเห็นว่า สังคมซับซ้อนมากขึ้น สื่อต้องมีความรู้มากขึ้น แต่ตอนนี้สื่อให้ความสนใจกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และรายงานให้ความสะใจ รายงานแต่ปรากฏการณ์ แต่สังคมมีสิทธิที่จะคาดหวังว่าสื่อจะทำประโยชน์อะไรให้สังคม
"สื่อมีส่วนอย่างมากในการก้าวข้ามภาวะปัจจุบัน เราจมปลักกับภาวะนี้มากเกินไป สื่อต้องทำให้ประชาชนมองข้ามความ ขัดแย้งที่มีอยู่ และตั้งคำถามว่าเราอยากเห็นอนาคต 10 ปีข้างหน้าของสังคมไทยเป็นอย่างไร เราให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์มากกว่าประเด็นที่เป็นหัวใจ เพราะเราถูกตัวละครไม่กี่ตัวกำหนด"
เกี่ยวกับความรู้ของสื่อมวลชน เทพชัยมองว่า ทุกวันนี้นักข่าวมีความรู้น้อยกว่าแหล่งข่าวที่อยู่ในแต่ละวงการ ซึ่งสื่อต้องถามตัวเองว่าควรหรือไม่ที่ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาช่วยจับ ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่คำถามสำคัญคือสื่อมวลชนเคยมองตัวเองมากน้อยเพียงใด เก่งการวิจารณ์แต่ก็ต้องเปิดตัวเองเพื่อรับเสียงวิจารณ์จากภายนอกด้วย เพราะกลไกกำกับสื่อมวลชนที่สำคัญที่สุดคือสังคม โดยในบางประเทศภาคสังคมแข็งแกร่งขนาดที่ต่อรองกับสื่อมวลชนได้
ประเด็นที่เทพชัยทิ้งท้ายคือเรื่องของสื่อกับจริยธรรมที่แยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นมากตั้งแต่ในหลักสูตรการเรียนที่ต้องย้ำเรื่องจริยธรรม และต้องเชื่อว่าข่าวดีก็สามารถขายได้ โดยเฉพาะตอนนี้ที่สังคมกำลังโหยหาข่าวดี อ่านแล้วรู้สึกดีและมีแรงบันดาลใจ
"สิ่งดี ๆ มันมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า เพียงแต่ว่าเราได้ใช้ความพยายามในการไปหามันเพื่อมารายงานหรือไม่"