สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สำรวจประเทศเสี่ยงทั่วโลก ค้นหา Weakest Links ปี 2553

จากประชาชาติธุรกิจ
นับ จากวิกฤต "ดูไบ เวิลด์" ความคิดเห็นหนึ่งที่พรั่งพรู อยู่ในบทวิเคราะห์ต่างประเทศพุ่งเป้าไปที่ประเด็น "ที่ใดจะเกิดวิกฤตเป็นรายต่อไป"

แจ็ค แมคคาบี นักวิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์อิสระ และประธานบริษัท แมคคาบี รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติง ในฟลอริดา ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของดูไบ เวิลด์ ทำให้โลกได้รับรู้ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลกระทบรุนแรง ขนาดไหนต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

แมคคาบีเตือนว่า วิกฤตดูไบเป็นสัญญาณเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตฟองสบู่อสังหาริม ทรัพย์ครั้งใหม่ อันเนื่องมาจากการก่อหนี้ต้นทุนถูก เพื่อนำมาสนับสนุนการก่อสร้างสำนักงานและพื้นที่สำหรับร้านค้าปลีก ประมาณ 7.5 แสนล้านดอลลาร์ ถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ จะ ครบกำหนดชำระภายใน 3 ปีข้างหน้า

นักวิเคราะห์รายนี้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ดูไบจะเป็นตลาดที่มีการก่อสร้างมากเกินความต้องการมากที่สุดในโลก แต่ปัญหาในลักษณะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ดูไบเท่านั้น หากพิจารณาจากลักษณะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก จะพบว่าปัญหาในตะวันออกกลางอาจเกิดขึ้นซ้ำได้ ในลอนดอน ซิดนีย์ ปราก หรือแม้กระทั่ง บาร์เซโลนา

การปล่อยกู้ให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก และนั่นหมายความว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในขนาดที่มหาศาล มาก

แต่นอกจากความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกแล้ว ยังพบจุดอ่อน ของเศรษฐกิจโลกที่ครอบคลุมความเสี่ยงรายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง

ในเอเชียพบว่านับ จากธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่องลง 5.44% เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมกับลดช่วงการเคลื่อนไหวขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเหลือสูงสุด-ต่ำสุด (trading band) ไม่เกิน 3% จากเดิมที่จำกัดเพดานสูงสุด-ต่ำสุดไว้ที่ 5% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายนเป็นต้นไป พร้อมกันนี้ยังได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจาก 7% เป็น 8% ด้วย

ส่ง ผลให้ราคาหุ้นในตลาดร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากการลดค่าเงิน และผลกระทบลูกโซ่จากวิกฤตดูไบ เวิลด์ ที่ปกคลุมทั่วตลาดเกิดใหม่ทุกแห่ง

นอกจากผลกระทบแบบทันทีทันใดต่อตลาดการเงินในประเทศ การลดค่าเงินมาพร้อมความเสี่ยงทั้งระยะสั้นและระยะยาว

มา ร์ค โมเบียส ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท จัดการกองทุน แทมเพิลตัน แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ เตือนว่า ค่าเงิน ด่องอาจลดลงต่อเนื่องอีก 10% ในตลาดมืด เนื่องจากการลดค่าเงินเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ฉุดความเชื่อมั่นต่อค่าเงิน ดังกล่าวให้เสื่อมถอยลง เห็นได้จากการปรับฐานลงแรงที่สุด เมื่อเทียบกับ ตลาดอื่น ๆ ในเอเชียด้วยกัน

โม เบียสเตือนว่า ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในขณะนี้ โดยมีแนวโน้มที่ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามอาจดิ่งลงมากถึง 15% ใน 3-4 เดือนข้างหน้า จากผลกระทบของความสับสนและความไม่แน่นอน จากการดำเนินนโยบายของทางการเวียดนามเอง โดยทางหนึ่ง รัฐบาลดำเนินการลดค่าเงิน แต่อีกทางหนึ่ง พวกเขากำลังเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ควบคู่ไปกับการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นด้วย

ในระยะยาว ความเสี่ยงของเวียดนามยังครอบคลุมตั้งแต่ภัยคุกคามจากเงินเฟ้อ ซึ่งพุ่งทะยานสูงสุด เป็นเลข 2 หลัก เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ที่ 4.4% แต่บาร์เคลย์ส แคปิตอล ในสิงคโปร์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้ออาจขยับเร็วเป็น 6 หรือ 7% ภายในสิ้นปีนี้

ยิ่งกว่านั้น แม้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเวียดนามจะมีอัตราการขยายตัวที่ 5.5% ในปีนี้ เทียบกับ 6.2% ในปี 2551 แม้เวียดนามยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้สำเร็จ อาทิ หนี้ต่างประเทศ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับราว 40% ของจีดีพี เช่นเดียวกับปัญหาขาดดุลแฝง ที่เวียดนามกำลังเผชิญ โดยจากข้อมูลของกระทรวงการคลังเวียดนาม พบว่าตัวเลขขาดดุล งบประมาณของเวียดนามอยู่ที่ 6.9% ขณะที่ยอดขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น 1.75 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนตุลาคม

อีกทั้งการแทรกแซงตลาด ด้วยการขายดอลลาร์ เพื่อพยุงค่าเงินวอน ได้ส่งผลให้ระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงเหลือ 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงต้นปี 2552

ถัดจากเวียดนาม อีกหนึ่งประเทศเสี่ยง ที่มีการกล่าวอ้างถึงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่วิกฤตดูไบ เวิลด์ ถล่มตลาดหุ้นโลก คือกรีซ

กรีซ จะเกิดปัญหาเป็นรายถัดไป ต่อจากดูไบหรือไม่ เว็บไซต์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ได้นำเสนอสถิติและตัวเลขที่สะท้อนจุดอ่อน ของกรีซในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การขาดดุลงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 12.7% ของจีดีพี ในปี 2552 ขณะที่ดอยช์ แบงก์ ธนาคารชั้นนำของเยอรมนี ประเมินว่า หนี้สาธารณะของกรีซกำลังเข้าใกล้ 135% ของจีดีพี โดยที่ยอดรวมหนี้ต่างประเทศ ทั้งหนี้ภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ระดับ 149.2% ณ สิ้นปีที่แล้ว และที่สำคัญ นับจากปี 2549 อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของเงินสกุล ท้องถิ่นกรีซได้อ่อนค่าลง 17%

แต่ จอร์จ ปาปาคอนสแตนตินู รัฐมนตรีคลังกรีซ ยืนยันว่า กรีซสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลาอย่างแน่นอน และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการตามแผน เพื่อลดปัญหาขาดดุลงบประมาณ ลงมาต่ำกว่า 3% ได้ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป

เช่นเดียวกับ ไบรอัน เลนิฮัน รัฐมนตรีคลังไอร์แลนด์ ที่มีชื่อติดโผประเทศเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศของเขากำลังจะเอาชนะปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะไอร์แลนด์ได้รับการพิจารณาจากยุโรปว่าดำเนินมาตรการที่ได้ผลในการควบ คุมฐานะการเงินของประเทศ โดยเขาคาดการณ์ว่าไอร์แลนด์จะสามารถดึงตัวเลขขาดดุลงบประมาณลงมาต่ำกว่า 12% ซึ่งสูงกว่า 12.5% ที่ประมาณการไว้ครั้งก่อน อันเป็นผลมาจากการลดงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาลลง 2% ของจีดีพี

เวียดนาม กรีซ และไอร์แลนด์ เป็น 3 ประเทศแรก ที่นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตถึงมากที่สุด ในเรื่องความเสี่ยงของปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่นอกจาก 3 ประเทศนี้แล้ว ประเทศอันดับรอง ๆ ลงมา ที่ถูกจับตามองว่าเป็นประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งอาจมีปัญหาในชำระ หนี้ไม่ได้ทันตามกำหนด ได้แก่ฮังการี ตุรกี บัลแกเรีย บราซิล เม็กซิโก และรัสเซีย

view