จากประชาชาติธุรกิจ
นับ จากวิกฤต "ดูไบ เวิลด์" ความคิดเห็นหนึ่งที่พรั่งพรู อยู่ในบทวิเคราะห์ต่างประเทศพุ่งเป้าไปที่ประเด็น "ที่ใดจะเกิดวิกฤตเป็นรายต่อไป"
แจ็ค แมคคาบี นักวิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์อิสระ และประธานบริษัท แมคคาบี รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติง ในฟลอริดา ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของดูไบ เวิลด์ ทำให้โลกได้รับรู้ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลกระทบรุนแรง ขนาดไหนต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
แมคคาบีเตือนว่า วิกฤตดูไบเป็นสัญญาณเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตฟองสบู่อสังหาริม ทรัพย์ครั้งใหม่ อันเนื่องมาจากการก่อหนี้ต้นทุนถูก เพื่อนำมาสนับสนุนการก่อสร้างสำนักงานและพื้นที่สำหรับร้านค้าปลีก ประมาณ 7.5 แสนล้านดอลลาร์ ถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ จะ ครบกำหนดชำระภายใน 3 ปีข้างหน้า
นักวิเคราะห์รายนี้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ดูไบจะเป็นตลาดที่มีการก่อสร้างมากเกินความต้องการมากที่สุดในโลก แต่ปัญหาในลักษณะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ดูไบเท่านั้น หากพิจารณาจากลักษณะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก จะพบว่าปัญหาในตะวันออกกลางอาจเกิดขึ้นซ้ำได้ ในลอนดอน ซิดนีย์ ปราก หรือแม้กระทั่ง บาร์เซโลนา
การปล่อยกู้ให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก และนั่นหมายความว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในขนาดที่มหาศาล มาก
แต่นอกจากความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกแล้ว ยังพบจุดอ่อน ของเศรษฐกิจโลกที่ครอบคลุมความเสี่ยงรายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง
ในเอเชียพบว่านับ จากธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่องลง 5.44% เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมกับลดช่วงการเคลื่อนไหวขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเหลือสูงสุด-ต่ำสุด (trading band) ไม่เกิน 3% จากเดิมที่จำกัดเพดานสูงสุด-ต่ำสุดไว้ที่ 5% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายนเป็นต้นไป พร้อมกันนี้ยังได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจาก 7% เป็น 8% ด้วย
ส่ง ผลให้ราคาหุ้นในตลาดร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากการลดค่าเงิน และผลกระทบลูกโซ่จากวิกฤตดูไบ เวิลด์ ที่ปกคลุมทั่วตลาดเกิดใหม่ทุกแห่ง
นอกจากผลกระทบแบบทันทีทันใดต่อตลาดการเงินในประเทศ การลดค่าเงินมาพร้อมความเสี่ยงทั้งระยะสั้นและระยะยาว
มา ร์ค โมเบียส ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท จัดการกองทุน แทมเพิลตัน แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ เตือนว่า ค่าเงิน ด่องอาจลดลงต่อเนื่องอีก 10% ในตลาดมืด เนื่องจากการลดค่าเงินเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ฉุดความเชื่อมั่นต่อค่าเงิน ดังกล่าวให้เสื่อมถอยลง เห็นได้จากการปรับฐานลงแรงที่สุด เมื่อเทียบกับ ตลาดอื่น ๆ ในเอเชียด้วยกัน
โม เบียสเตือนว่า ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในขณะนี้ โดยมีแนวโน้มที่ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามอาจดิ่งลงมากถึง 15% ใน 3-4 เดือนข้างหน้า จากผลกระทบของความสับสนและความไม่แน่นอน จากการดำเนินนโยบายของทางการเวียดนามเอง โดยทางหนึ่ง รัฐบาลดำเนินการลดค่าเงิน แต่อีกทางหนึ่ง พวกเขากำลังเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ควบคู่ไปกับการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นด้วย
ในระยะยาว ความเสี่ยงของเวียดนามยังครอบคลุมตั้งแต่ภัยคุกคามจากเงินเฟ้อ ซึ่งพุ่งทะยานสูงสุด เป็นเลข 2 หลัก เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ที่ 4.4% แต่บาร์เคลย์ส แคปิตอล ในสิงคโปร์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้ออาจขยับเร็วเป็น 6 หรือ 7% ภายในสิ้นปีนี้
ยิ่งกว่านั้น แม้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเวียดนามจะมีอัตราการขยายตัวที่ 5.5% ในปีนี้ เทียบกับ 6.2% ในปี 2551 แม้เวียดนามยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้สำเร็จ อาทิ หนี้ต่างประเทศ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับราว 40% ของจีดีพี เช่นเดียวกับปัญหาขาดดุลแฝง ที่เวียดนามกำลังเผชิญ โดยจากข้อมูลของกระทรวงการคลังเวียดนาม พบว่าตัวเลขขาดดุล งบประมาณของเวียดนามอยู่ที่ 6.9% ขณะที่ยอดขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น 1.75 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนตุลาคม
อีกทั้งการแทรกแซงตลาด ด้วยการขายดอลลาร์ เพื่อพยุงค่าเงินวอน ได้ส่งผลให้ระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงเหลือ 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงต้นปี 2552
ถัดจากเวียดนาม อีกหนึ่งประเทศเสี่ยง ที่มีการกล่าวอ้างถึงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่วิกฤตดูไบ เวิลด์ ถล่มตลาดหุ้นโลก คือกรีซ
กรีซ จะเกิดปัญหาเป็นรายถัดไป ต่อจากดูไบหรือไม่ เว็บไซต์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ได้นำเสนอสถิติและตัวเลขที่สะท้อนจุดอ่อน ของกรีซในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การขาดดุลงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 12.7% ของจีดีพี ในปี 2552 ขณะที่ดอยช์ แบงก์ ธนาคารชั้นนำของเยอรมนี ประเมินว่า หนี้สาธารณะของกรีซกำลังเข้าใกล้ 135% ของจีดีพี โดยที่ยอดรวมหนี้ต่างประเทศ ทั้งหนี้ภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ระดับ 149.2% ณ สิ้นปีที่แล้ว และที่สำคัญ นับจากปี 2549 อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของเงินสกุล ท้องถิ่นกรีซได้อ่อนค่าลง 17%
แต่ จอร์จ ปาปาคอนสแตนตินู รัฐมนตรีคลังกรีซ ยืนยันว่า กรีซสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลาอย่างแน่นอน และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการตามแผน เพื่อลดปัญหาขาดดุลงบประมาณ ลงมาต่ำกว่า 3% ได้ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป
เช่นเดียวกับ ไบรอัน เลนิฮัน รัฐมนตรีคลังไอร์แลนด์ ที่มีชื่อติดโผประเทศเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศของเขากำลังจะเอาชนะปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะไอร์แลนด์ได้รับการพิจารณาจากยุโรปว่าดำเนินมาตรการที่ได้ผลในการควบ คุมฐานะการเงินของประเทศ โดยเขาคาดการณ์ว่าไอร์แลนด์จะสามารถดึงตัวเลขขาดดุลงบประมาณลงมาต่ำกว่า 12% ซึ่งสูงกว่า 12.5% ที่ประมาณการไว้ครั้งก่อน อันเป็นผลมาจากการลดงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาลลง 2% ของจีดีพี
เวียดนาม กรีซ และไอร์แลนด์ เป็น 3 ประเทศแรก ที่นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตถึงมากที่สุด ในเรื่องความเสี่ยงของปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่นอกจาก 3 ประเทศนี้แล้ว ประเทศอันดับรอง ๆ ลงมา ที่ถูกจับตามองว่าเป็นประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งอาจมีปัญหาในชำระ หนี้ไม่ได้ทันตามกำหนด ได้แก่ฮังการี ตุรกี บัลแกเรีย บราซิล เม็กซิโก และรัสเซีย