รายงานโดย :บุตตี เบลลี:
|
ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เกือบทุกแห่งในโลกสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ทัดเทียมกัน
ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ไม่ใช่เน้นการพัฒนาเมืองในเชิงท่องเที่ยวแต่เพียงด้านเดียว
แต่ต้องเป็นเมืองที่มีพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นแหล่งที่รวมนักคิดและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ที่มาประกอบกิจการและก่อให้เกิดการสร้างงาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจของเมืองและประเทศ
แนวคิดดังกล่าวได้เป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลไทยหยิบยกขึ้นมาใช้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจเมืองสร้างสรรค์ (Creative Economy) เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วนำมาใช้ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ การจ้างงาน และการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถแข่งขันและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจของเมืองและประเทศ
ทั้งนี้ ได้ให้กลุ่มวิจัยเมืองสร้างสรรค์ หน่วยวิจัยเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำรวจสินทรัพย์ของเมือง เริ่มจากกรุงเทพมหานคร โดยได้สำรวจออกมา 6 ทำเลหลักที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเมืองสร้างสรรค์ ประกอบด้วยย่านจตุจักร ทองหล่อ สยามสแควร์ ทาวน์อินทาวน์ อาร์ซีเอ และสุขุมวิท
โดยใช้การเก็บข้อมูลแบบบันทึก สังเกต แบบสอบถาม และสัมภาษณ์เป็นระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างมิ.ย.-ก.ย. 2552 ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ให้ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี เป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว
การสำรวจวิจัยจะพบว่า ในหลายพื้นที่ล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ที่ต่างกัน อย่างพื้นที่จตุจักร ถือเป็นตลาดนัดวันหยุดชื่อดัง จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและตลาดนัดระดับสากล ที่มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากที่ผลิตผลงานสร้างสรรค์ ทั้งการออกแบบ การผลิตเพื่อจำหน่ายภายในร้าน และเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับผู้ผลิตงานสร้างสรรค์จากทั่วประเทศภายในตลาด
ย่านทาวน์อินทาวน์ บริเวณดังกล่าวอยู่บริเวณลาดพร้าวเชื่อมต่อรามคำแหง เป็นแหล่งรวบรวมบริษัท ที่ทำงานทางด้านวงการบันเทิง ตัดต่อภาพยนตร์ และเพลง
ส่วนในย่านทองหล่อ เป็นบริเวณที่รวบรวมบริษัทรับออกแบบและออกแบบสถาปัตยกรรมจำนวนมาก และเป็นพื้นที่ที่ขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านจำนวนมาก และยังเป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนทางความคิด เพราะมีคอมมูนิตี มอลล์ เกิดขึ้นจำนวนมาก และเชื่อมต่อบริเวณถนนเพชรบุรีและสุขุมวิท เป็นต้น
งานวิจัยฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาจำนวนมากที่ได้หยิบยกศักยภาพของแต่ ละพื้นที่ 6 ทำเล มาทำวิจัย นัยว่ามีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ประเด็นที่ถูกละเลยออกไปนั้นคือจะสานต่อการวิจัย หรือการนำงานวิจัยเหล่านั้นให้สามารถนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม กลับไม่ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจัง
อย่างเมื่อรู้ว่า ย่านทาวน์อินทาวน์ เป็นพื้นที่ที่มีคนที่ทำงานทางด้านการตัดต่อด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ด้านภาพยนตร์หรือด้านเสียง
ส่วนบริเวณทองหล่อ เป็นพื้นที่ของคนที่ทำงานด้านออกแบบสถาปัตยกรรม และการค้าขายร้านเฟอร์นิเจอร์และตกแต่ง รัฐบาลจะมีการสนับสนุนหรือสานต่องานวิจัยดังกล่าวได้อย่างเมื่อรู้ว่าบริเวณ ใดมีศักยภาพ
ที่ผ่านมาเราจะพบว่า งานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมา เมื่อนำเสนอแล้ว กลับไม่ได้ได้รับการต่อยอด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติ หรือการนำไปใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม อย่างงานวิจัยชิ้นนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องรอเวลาในการผลักดันผ่านต่อไปยังกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน
หากรู้ว่าในบริเวณดังมีศักยภาพแล้ว รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนอย่างไรต่อไป อาจจะสนับสนุนในรูปเงินทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้น หรือจะสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้นตามไปด้วย
และควรจะต้องไปศึกษาพื้นที่บริเวณอื่นที่อาจจะสร้างรายได้ได้มาก เช่น ยกตัวอย่างเล่นๆ บริเวณบางโพ ที่เป็นแหล่งรวบรวมของไม้ และเฟอร์นิเจอร์ไม้จำนวนมาก และเป็นย่านเก่าแก่ที่สามารถจะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มาก แต่กลับไม่ได้รับการหยิบยกมาพูดถึงกันมากนัก รวมไปถึงพื้นที่ในต่างจังหวัดที่จะสามารถหยิบยกความสำคัญในพื้นที่ออกมาเป็น จุดขายเพื่อสร้างรายได้จากแนวคิดเมืองสร้างสรรค์
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันแนวคิดเมืองสร้างสรรค์อย่างจริงจังและ สามารถต่อยอดเพื่อนำไปใช้งานได้จริง และเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนกว่านี้