จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :สุธน สุขพิศิษฐ์: |
เมื่อวันเสาร์ นึกอยากกินปลากระบอกต้มส้ม ร้านมัจฉานุ เจ้าประจำขึ้นมา ที่ผมชอบร้านนี้เพราะว่าเป็นร้านเดียวที่ติดกับทะเลจริงๆ และใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด
และที่สำคัญอร่อย ใช้ได้ ออกจากบ้าน ถนนรถโล่งดีทั้งๆ ที่เป็นวันหยุดธรรมดา ฉะนั้นที่ว่าคนกรุงเทพฯ คงออกไปกินเที่ยวนอกกรุงเทพฯ คงจะไม่ผิดนัก ไม่ต้องอะไรก็ตัวเราเองนี่เอง แค่นึกอยากกินปลากระบอกต้มส้ม ยังอุตส่าห์ออกจากบ้านมาจนได้
ทุก ครั้งจะเข้าทางวัดโคกขาม ซึ่งเลี้ยวหลายเลี้ยวอยู่ แถมถนนบางช่วงก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ครั้งนี้จะลองเข้าเส้นทะเลบางขุนเทียน ที่เห็นว่าทำใหม่เอี่ยมอ่อง แต่ปรากฏว่าเข้าผิดทาง ไปเข้าเอาถนนท่าข้าม ซึ่งเข้าเร็วไปนิด ยังไม่ถึงถนนเส้นทะเลบางขุนเทียน ถนนท่าข้ามผ่านวัดหัวกระบือ ทำให้นึกถึงสมัยหนึ่งที่มาวัดนี้หลายครั้ง มาคุยกับท่านเจ้าอาวาส แต่ไม่ได้มาสนทนาธรรม กลับสนทนาเรื่องทำ (รถ) คือเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วผมเล่นรถเบนซ์คลาสสิกและอยู่ในชมรมรถเบนซ์คลาสสิก แล้วเผอิญท่านเจ้าอาวาสก็เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ชมรมนี้ด้วย ก็เลยมาหาท่าน ท่านก็นั่งบนอาสนะสงฆ์ เทศน์ว่าด้วยเรื่องรุ่นรถกับอะไหล่รถ สนุกสนานไป นี่พอผ่านวัดนี้ทำให้นึกถึงท่านกับรถเก่าขึ้นมา
ที่ถนนท่าข้ามมีทางทะลุไปยังถนนทะเลบางขุนเทียนได้ ถนนทะเลบางขุนเทียนที่ผมวิ่งในวันเสาร์นั้นต่างจากที่ผมเคยมาวิ่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อนลิบลับ สมัยก่อนโขยกเขยกกว่าจะถึงคลองสรรพสามิตได้ใช้เวลาเกือบชั่งโมง แต่ขนาดถนนไม่ค่อยดีกลับมีร้านอาหารทะเลเรียงรายเป็นตับนับไม่ถ้วน รู้สึกว่าจะเป็นย่านที่คนกรุงเทพฯ อยากกินอาหารทะเลต้องมาแถบนี้
วันที่ผมวิ่งอยู่นั้นรู้สึกว่าร้านอาหารจะน้อยลงกว่าเดิม แต่จะมีหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น กับจะมีร้านที่เป็นกลุ่มเพิงขายอาหารทะเลสดอยู่หลายกลุ่ม ชะโงกดูเห็นมีหอยแครง หอยแมลงภู่ ปูทะเล และกุ้งน้ำจืดเลี้ยง ซึ่งหอยแครง ปูทะเลนั้นเป็นของพื้นที่แน่ แต่หอยแมลงภู่กับกุ้งน้ำจืดเลี้ยงนั้นเป็นการนำมาจากที่อื่นเอามาเสริมขาย ถนนเส้นนี้เรียบขับสบาย บางช่วงบางตอนเห็นวังหรือบ่อเลี้ยงหอยแครงกับเลี้ยงกุ้ง มีทิวต้นโกงกางสวยดี วิ่งมาถึงโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ก็เลี้ยวขวา วิ่งไปเรื่อยๆ ไม่กี่กิโล มีสะพานข้ามคลองสรรพสามิตซ้ายมือ ซึ่งก่อนจะถึงสะพานมีป้ายเขียนว่าทางไปจุดชมปลาโลมา ข้ามไปแล้วก็วิ่งตรงไปอีก จนชนกับสามแยก ซ้ายไปหมู่บ้านประมง แต่ต้องเลี้ยวขวาไปอีกพักเดี๋ยวก็ถึงทางเข้าศาลเจ้ามัจฉานุ ซึ่งร้านที่ผมจะมานั้นก็อยู่ติดกับศาลเจ้านั่นเอง
ทางที่มานั้นเมื่อเทียบกับอีกทางหนึ่งซึ่งเคยมาจะต้องผ่านโรงเรียนพันท้ายนรสิงห์นั้น ทางถนนเส้นทะเลบางขุนเทียนสะดวกกว่ามาก
ร้าน มัจฉานุนี้ ตอนที่ผมมากินครั้งแรกๆ ยังเป็นเพิงเตี้ยๆ ติดกับศาลเจ้า มีโต๊ะแค่สองสามโต๊ะ เดี๋ยวนี้เป็นร้านสูงกว้างขวาง อาหารก็มีมากกว่าเดิม และอาหารสดส่วนใหญ่นั้นก็มาจากวังหรือบ่อเลี้ยงของเขาเองที่เลี้ยงหอยแครง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปู ซึ่งเขาใช้ระบบดึงน้ำทะเลเข้ามาโดยมีท่ออยู่ข้างร้านนั่นแหละ น้ำทะเลที่เข้ามาก็จะมีพวกกุ้ง ปู ปลา เข้ามาด้วยแล้วมันก็เติบโตเองตามระบบธรรมชาติ แต่เมื่อเวลาที่น้ำทะเลขึ้นผ่านทางท่อมานั้น พวกปลาที่อยู่ในวังมันจะว่ายมาออที่ปากท่อ อันเป็นธรรมชาติของปลาที่จะว่ายทวนน้ำ เขาก็ช้อนปลาทุกอย่างเอาขึ้น ที่ช้อนขึ้นนั้นเพื่อกำจัดมันไม่ให้มันไปกินกุ้ง เขาเลือกกุ้งมากกว่าปลา เพราะกุ้งราคามันดีกว่า การกำจัดปลาจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าเป็นปลาที่เอามาขายได้ก็เป็นผลพลอยได้ ผมเคยไปนั่งดูเขาช้อนปลา พอได้ปลากระบอกก็สั่งเอาไปต้มส้มมาให้กินเลย ก็ปลามันสดดิ้นกระแด่วๆ แล้วฝีมือต้มส้มเขาก็ดีด้วย ก็นี่เป็นเหตุจูงใจว่าอยากกินปลากระบอกต้มส้มจึงต้องมาที่นี่นี่แหละ วันเสาร์นั้นผมสั่งหอยแมลงภู่ลวก สั่งปลาดุกทะเลผัดฉ่า ซึ่งปลาดุกผัดฉ่าเกิดมีไข่กลมๆ กระจายมาเยอะพอสมควร อร่อยดี แต่ใจจริงแล้วไม่อยากกินไข่ปลา เพราะไข่ปลาพวกนั้นแหละมันจะเป็นตัวปลาในอนาคต ไม่อยากกินตัดตอนชีวิตของปลาเสียก่อน
ผมเข้าไปที่มัจฉานุแล้วชอบหารู้เรื่องทะเลกับเรื่องแหล่งอาหารทะเล ชายทะเลแถบมัจฉานุนี่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ทำไส้กรอกทรายป้องกันการซัดเซาะทะเลชายฝั่งเป็นโครงการของกรมเจ้าท่า ไส้กรอกทรายที่ว่านี้เป็นพลาสติกหนาขนาดใหญ่อัดทรายไว้ภายในแล้ววางเป็นแนว ยาวห่างจากฝั่งประมาณ 50 เมตร วางเป็นชุดๆ ไส้กรอกทราย 4 อัน เว้น 2 ช่อง แล้ววางอีก 4 อัน ซึ่งเมื่อมีคลื่นลมแรงก็จะอาศัยไส้กรอกทรายนี้เป็นตัวรับแรงปะทะแทนชายฝั่ง แต่พอผ่านไป 2 ปี ปรากฏว่าหลังแนวไส้กรอกทรายมายังชายฝั่งนั้นมีตะกอนทับถมเกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากที่เวลาคลื่นลมทะเลแรงมันพาตะกอนมาด้วย มันจะข้ามไส้กรอกทรายเข้ามาแล้วจะถูกขังไม่ออกตามน้ำทะเลไปก็เกิดการทับถม ชาวบ้านบอกว่าตะกอนในปัจจุบันนี้สูงถึง 1 เมตรแล้ว และมีผลดีตามมาคือตรงตะกอนนี้หอยแครงเกิดขึ้นมากและโตเร็ว เวลาฤดูน้ำลดชาวบ้านต่างถิ่นที่ส่วนมากเป็นชาวอีสานกับพม่ามางมหอยกัน เอาขนาดใส่ถุงปุ๋ยไปกันเลย ชาวบ้านพื้นถิ่นจริงๆ เคยขอร้องว่าอย่าเอาตัวเล็กเอาตัวโตๆ ไปกินเถอะ แต่ห้ามไม่ค่อยได้ เพราะใครๆ ก็อยากได้เยอะๆ และอีกอย่างเป็นเขตทะเลสาธารณะไม่ใช่ที่เอกชนจึงห้ามไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร เพราะหอยเองก็มีระยะฟักตัวจากหน้าลมแรงน้ำล้นที่ใครๆ ลงไปงมไม่ได้
ไส้กรอกทรายกลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านพื้นถิ่นชอบ เพราะมันเป็นแหล่งกำเนิดสัตว์น้ำจากทะเลเพิ่มขึ้น แต่ก็มีความคิดแตกแยกไปบ้างว่า ทางเขตพันท้ายนรสิงห์นี้ยินดีกับไส้กรอกทรายแต่ทางเขตคลองโคกขามอยากได้แนว ไม้ไผ่ปักป้องกันชายฝั่งมากกว่า ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ทางพันท้ายนรสิงห์ว่าที่มีข่าวว่ามันแตกง่ายและทางด้านคลองโคกขามเอาไปอ้าง นั้น ที่มันแตกง่ายนั้นมันแตกเพราะฝีมือคนต่างถิ่นก็คนอีสาน พม่า เจ้าเก่าที่เอามีดมาแซะหอยนางรมที่เกาะติดอยู่กับตัวไส้กรอกทรายจนพลาสติก แตก ไม่ใช่แตกเอง
แล้วทางเขตพันท้ายนรสิงห์ยังบอกว่าเมื่อทางคลองโคกขามอยากได้แนว ไม้ไผ่ก็อยากได้ไปก็ไม่ว่าอะไรเป็นเรื่องของเขา แต่ตะกอนจะเกิดเร็วเหมือนทางแนวไส้กรอกทรายนั้นคงไม่มีทางหรืออาจจะช้ากว่า
นี่เป็นการไปนั่งหาเรื่องรู้กับเรื่องทะเลครับ แต่แปลกใจอยู่อย่างหนึ่งว่ายังไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้าไปเก็บสถิติกับปริมาณสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นจากตะกอนว่า มีอะไรเพิ่มขึ้น ระยะการเติบโต ความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ จะมีแต่เจ้าของไส้กรอกทรายนี่แหละที่ไปดูการทรุดตัวของไส้กรอกทรายเท่านั้น อยากให้มีหน่วยงานอื่นๆ เข้าไปเก็บข้อมูลเชิงสถิติ แล้วทำเป็นแผนเทิร์นคีย์ การป้องกันชายฝั่งถูกซัดเซาะควบคู่ไปกับแผนพัฒนาฟื้นฟูการกำเนิดสัตว์น้ำ ก็นี่เป็นอีกวันหนึ่งที่ไปที่มัจฉานุแล้วอร่อยปาก อร่อยใจที่ยังมีหวังในอนาคตว่าทะเลแถบนี้ยังมีของให้กินไปได้อีก อย่างน้อยมีปลากระบอกต้มส้มครับ