จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์: |
หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำคัญต่อธุรกิจครอบครัวหรือไม่
ดังนั้น การที่จะให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำรงอยู่และเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนหรือ ไม่นั้น บทบาทของคณะกรรมการและของผู้ถือหุ้นของบริษัทธุรกิจครอบครัวจึงมีความสำคัญ อย่างยิ่ง เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยทั่วๆ ไป แต่สำหรับบริษัทธุรกิจครอบครัวนอกจากจะต้องดูโครงสร้างทางกฎหมายแล้ว ความสัมพันธ์หรือการสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกันของสมาชิกในครอบครัว ก็จะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะหากมีการสื่อสารกันมากขึ้น สมาชิกในครอบครัวก็มีความเข้าใจกันมากขึ้น ความขัดแย้งก็จะลดน้อยลงเป็นเงาตามตัว การบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวก็จะพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปได้
ที่สำคัญคือ มีงานวิจัยทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยพบว่า หากมีกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดีย่อมช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการจริง (ดู สัญญา ขันธวิทย์ บรรณาธิการ การกำกับดูแลเพื่อสร้างมูลค่ากิจการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (2552) หน้า 63-66) นอกจากนี้ ธนาคารโลก โดย International Finance Corporation ยังได้มีการรายงาน IFC Family Business Governance Handbook เมื่อปี 2008 ที่ยอมรับถึงความสำคัญของธุรกิจครอบครัวในโลก ผมก็อยากให้ผู้ที่สนใจได้ไปหาอ่านดูครับเพราะมีแค่ 62 หน้า อ่านง่าย จะได้เข้าใจถึงกระบวนการบริหารจัดการได้อย่างดี
หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือ Good Corporate Governance หรือที่เรียกว่า “บรรษัทภิบาล” หรือ “ธรรมาภิบาล” สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะสามารถนำมาใช้ได้กับธุรกิจครอบครัวได้หรือไม่นั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า บทบาทของธุรกิจครอบครัวกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Good Corporate Governance มีความสำคัญต่อกันอย่างยิ่งและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจ เพราะหากว่าการที่ธุรกิจครอบครัวสามารถบริหารจัดการตามหลักการกำกับดูแล กิจการที่ดีได้เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ผมเชื่อว่าบริษัทธุรกิจครอบครัวก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ในอนาคตและสามารถ พัฒนาได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังจะลดข้อพิพาทระหว่างสมาชิกในครอบครัวลงได้อีกด้วยเพราะจะทำธุรกิจ ได้อย่างโปร่งใส
ดังนั้น บทความฉบับนี้ผมจึงอยากจะนำให้เจ้าของธุรกิจครอบครัวได้รู้จักว่า หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นกฎของตลาดหลักทรัพย์ได้จะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อการบริหารจัดการ บริษัทธุรกิจของครอบครัว
แนวคิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจครอบครัวจากนักวิชาการต่างประเทศ
ผมอยากจะให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับแนวคิดของการกำกับดูแลกิจการที่ ดีของธุรกิจครอบครัวเสียก่อนว่า แนวคิดของธุรกิจครอบครัวในเรื่องของการกำกับดูแลกิจการหรือโครงสร้างของ บริษัทหรือที่เรียกว่า “Corporate Governance” นั้น มาจากสาเหตุใด
ผมได้อ่านจากหนังสือที่ชื่อว่า “The Family Business–Its Governance for Sustainability” โดยนักวิชาการของธุรกิจครอบครัว 2 ท่าน คือ Fred Neubauer and Alden G. Lank (ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะมุ่งเขียนเฉพาะเรื่องโครงสร้างและการกำกับดูแลกิจการ ที่ดีของบริษัทครอบครัวโดยรวม) ในหนังสือดังกล่าวได้ให้ความหมายของ Corporate Governance ได้หลายแบบด้วยกัน แต่กล่าวโดยสรุป Corporate Governance ในหนังสือดังกล่าว ให้หมายถึงระบบหรือโครงสร้างของธุรกิจครอบครัวที่มีกระบวนการที่จะชี้นำ (Direct) หรือควบคุม (Control) บริษัทและรวมทั้งการรับผิดชอบ (Accounting for) ต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย (ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นที่เป็นสมาชิกในครอบครัว พนักงาน ลูกจ้างและคู่ค้า) นั่นเอง
ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า โครงสร้างของ Corporate Governance หรือโครงสร้างของธุรกิจครอบครัวจะต้องประกอบด้วย
1.การชี้นำ (Directing) ของบริษัท ซึ่งจะต้องไม่ได้หมายถึงการที่ปฏิบัติงานหรือการบริหารงานประจำวัน แต่การชี้แนะหรือการให้แนวทางในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารงานดังนี้
1.1 คณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้วางกลยุทธ์แนวทางในการดำเนินการของบริษัทในระยะยาว
1.2 ความเกี่ยวข้องของผู้ถือหุ้นหรือกรรมการในการตัดสินใจเรื่องที่มีผลกระทบหรือมีเรื่องที่สลับซับซ้อน
1.3 ความเกี่ยวข้องในการจัดหาทุนโดยรวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนหรือทุนทาง บุคลากร และรวมทั้งการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจบริษัทครอบครัว
1.4 การเกี่ยวข้องในการที่จะเป็นตัวการในการตัดสินใจที่จะเป็นตัวอย่าง ทำให้เป็นตัวอย่างและแนวทางหรือที่จะไม่สามารถถูกปรับเปลี่ยนได้
2.บริษัทครอบครัวยังจะต้องมีการควบคุม (Controlling) ในแง่ของการควบคุมผลงานของฝ่ายบริหารและการกำกับถึงความก้าวหน้าของ วัตถุประสงค์ของบริษัท
3.การที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งใดๆ (Accounting for) ที่ทำขึ้นในบริษัทในฐานะเป็นบริษัทต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือที่เรียกว่า “Stakeholders” ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้เกี่ยวข้อง เช่น พนักงาน ลูกค้า โดยธุรกิจครอบครัวจะต้องมีประเด็นในเรื่องการดูแลผู้ถือหุ้นที่เป็นสมาชิกใน ครอบครัวอย่างเป็นธรรม
ที่สำคัญก็คือว่า การที่จะจัดโครงสร้างในธุรกิจครอบครัวเพื่อให้มีการกำกับดูแลกิจการนั้น นักวิชาการ 2 ท่านนี้ได้แนะนำว่า การกำหนดข้อบังคับหรือที่เป็นข้อพึงปฏิบัติของบริษัทหรือที่เป็นข้อบัญญัติ ต่างๆ ของบริษัทครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นธรรมนูญครอบครัว วิสัยทัศน์ หลักการ ข้อพึงปฏิบัติ คุณค่าของครอบครัวหรือข้อปฏิบัติของสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะในรูปของข้อบังคับหรือมิใช่ข้อบังคับที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ก็ตาม จะมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อที่จะกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการให้เป็นไป ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว