งานวิจัยชี้ อีก 10 ปี สื่ออินเทอร์เน็ต จะเป็นสาธารณูปโภคขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ
จากประชาชาติธุรกิจ
วันนี้ ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า จากการได้เข้าฟังงานสัมมนาสาธารณะ ที่มีการนำเสนอผลงานศึกษาเรื่อง "อินเทอร์เน็ต ในทศวรรษหน้า" ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมบางกอกชฎา มีการทำนายทิศทางอนาคตของสื่ออินเทอร์เน็ตในประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจ
ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาฉากทัศน์จำลองใน 10 ประเด็นใหญ่ คลอบคลุมหัวข้อด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม รวมไปถึงชีวิตส่วนตัว โดยทีมวิจัยได้แบ่งวิธีการเก็บข้อมูลออกเป็น 2 ระบบ คือใช้แบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งระบบนี้ได้มีการแบ่งผู้ตอบแบบสอบถามออกเป็นอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มผู้สนใจทั่วไป อีกระบบหนึ่ง คือการเสวนากลุ่ม
ผลการศึกษาพบว่า ในอนาคต ประเด็นเรื่อง วงการทรัพย์สินทางปัญญาจะถูกปฏิรูปให้เหมาะกับยุคอินเทอร์เน็ต มีคนเห็นด้วยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 87.13 (ได้จากการร้อยละของทั้งสองกลุ่มมารวมกันแล้วหารสอง) ประเด็นเรื่อง อุปกรณ์พกพาจะเป็นช่องทางหลักในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มีคนเห็นด้วยรองลงมา คิดเป็นร้อยละ 82.43 ขณะที่อันดับที่ 3 เป็นเรื่อง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะกลายเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่ว ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 80.69
ขณะที่ประเด็นที่เหลือรองลงมาเรียงตามลำดับจากผู้ที่เห็นด้วยมากไปหาน้อย ได้แก่ ทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตจะเป็นทักษะที่จำเป็น ร้อยละ 79.46 อินเทอร์เน็ตจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ78.22 อินเทอร์เน็ตจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนมากขึ้น ร้อยละ 77.23 สื่ออินเทอร์เน็ตจะได้รับความนิยมแซงหน้าสื่อมวลชนแบบดั้งเดิม ร้อยละ 72.03 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะยอมรับเส้นแบ่งที่ลดลงระหว่างชีวิตการงานกับชีวิตส่วน ตัว ร้อยละ 69.06 ช่องว่างระหว่างผู้ใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษจะลดลง ร้อยละ 60.89 การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตจะมีลักษณะแบบรวมศูนย์มากขึ้น ร้อยละ 54.21
จากผลการศึกษาดังกล่าว ก็ได้นำไปสู่บทสรุปว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า อินเทอร์เน็ตจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ทั้งในแง่ความเร็วและการใช้งาน พื้นที่การให้บริการ รวมถึงการขยายตัวออกไปสู่อุปกรณ์พกพาชนิดใหม่ๆ มากขึ้น และอินเทอร์เน็ตในฐานะสาธารณูปโภคจะได้รับความสนใจมากขึ้นจนกลายเป็นปัจจัย สำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตจะมีฐานะเป็นตัวทวีคูณ จุดเด่นของบางอุตสาหกรรมจะได้รับการขยายผลแบบทวีคูณผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น อัตราการเข้าถึงหรืออัตราการส่งข้อมูลของอุตสาหกรรมสื่อ แต่ในทางกลับกันก็อาจเกิดผลเสียที่รุนแรงมากขึ้น เช่นปัญหาอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต
ด้านบทบาทของรัฐไทยจะมีผลอย่างมากต่อพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตในทศวรรษหน้า กระแสโลกาภิวัฒน์ที่ถูกเร่งขึ้นจากอินเทอร์เน็ตจะเป็นปัจจัยกดดันภาครัฐไทย ให้ต้องปรับตัวตามกระแสโลก ซึ่งภาครัฐไทยก็มีความจำเป็นต้องพัฒนาอินเทอร์เน็ตให้เท่าทันกับนานาชาติ เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ที่สุดแล้วอินเทอร์เน็ตจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อรูปแบบการใช้ ชีวิตแบบเดิมๆ เพราะอินเทอร์เน็ตจะช่วยสร้างบริการรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาแข่งขันกับบริการดั้งเดิม ทำให้เกิดการปรับตัวของโครงสร้างสังคมต่างๆ ในบางโครงสร้างอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในปี 2563 หลักๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมสื่อมวลชน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ต้องพึ่งพิงทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงการมีสวนร่วมทางการเมือง
หนังสือพิมพ์ ตายแล้ว !!! เจาะลึก "แหล่งข่าว"exclusive
จากประชาชาติธุรกิจ
นักวิชาชีพและผู้เกี่ยวข้อง ทำนายว่า หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร กำลังจะตาย อีกไม่เกิน 10 ปี เพราะคนเลิกอ่านสื่อกระดาษ อะไรทำให้ อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ ใกล้อัศดง ต้องอ่าน บทสัมภาษณ์ลึกๆ ตรงๆ ของคนทำสื่อและคนเสพสื่อที่มีต่อกระดาษเปื้อนหมึก
ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ เปิดงานวิจัย จินตนาการปฎิรูปสื่อ 2010-2020 : สื่อสิ่งพิมพ์เชิงวารสาร ของ อาจารย์พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ใหาวิทยาลัย จุดที่น่าสนใจของงานวิจัยส่วนหนึ่งคือ บทสัมภาษณ์และบทสนทนา ในหัวข้อปัญหาและความท้าทายของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยผู้ให้ข้อมูล ที่เป็นทั้งคนทำสื่อ และคนในวงการ
ต่อไปนี้คือ บทสัมภาษณ์ ที่ทำนายอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์ในอีก 10 ปีข้างหน้าได้อย่างดีที่สุด
สำหรับคนทำสื่อ อาจเจ็บปวด แต่นี่คือ ความจริง ทีไม่อาจปฎิเสธ ....
"เราหยิบหนังสือพิมพ์มาฉบับเดียว มันแทบเท่ากับว่าอ่านทุกฉบับแล้วล่ะ"
"แต่เรื่องเลวร้ายที่ทำให้คนไม่ค่อยซื้อหนังสือพิมพ์นอกเหนือจากอุดมการณ์ ทางการเมืองกับเศรษฐกิจ ก็คือการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ที่ข่าวไม่ว่าจะฉบับไหน เนื้อหาข่าวมันก็เหมือน ๆ กันหมด... ไม่มีอะไรแหวกแนวเลย ข้อนี้แหละทำให้คนอ่านรู้สึกว่าหนังสือพิมพ์ตกต่ำลง เพราะว่ามันไม่มีความลึกเหมือนแต่ก่อน ไม่ได้มีความแตกต่าง จนกระทั่งเราจะซื้อได้หลาย ๆ ฉบับ ทุกวันนี้เราอาจจะตัดสินใจซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับที่ถูกที่สุด หรือเนื้อหาเยอะที่สุดเพื่อให้มันคุ้มตังค์"
......บล็อกเกอร์
"สมัยนั้นเราจะได้ยินคนมาพูดปาดหูกันว่า เดี๋ยวไปเจอกันบนแผง คือมันเป็นการเยาะเย้ยกันว่า ได้ข่าวซีฟ (exclusive = ข่าวเดี่ยว, ผู้วิจัย) มาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มี เมื่อก่อนเราจะต้องไปหยิบฉบับนึงมาเพื่อดูว่า ของเพื่อนมีอะไรแล้ววันนี้เราไม่มีอะไร ฉะนั้น คุณไม่สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวได้ คุณต้องอ่านหนังสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับเพื่อดูว่ามันมีเรื่องอะไร แต่ว่าขณะนี้ เราหยิบหนังสือพิมพ์มาฉบับเดียว มันแทบเท่ากับว่าอ่านทุกฉบับแล้วล่ะ มันไม่มีความต่างจากนี้หรอก"
......นักรณรงค์ด้านสิทธิผู้บริโภค
"ลักษณะของสื่อหนังสือพิมพ์เนี่ย คือจะเล่นเรื่องอะไรที่เป็นกระแส ไม่อ่านมันสัก 10 วัน มันก็ไม่ตกข่าว... บางครั้งการอ่านหนังสือพิมพ์คือการกวาดสายตาบนแผงหนังสือพิมพ์ เสร็จแล้วก็คงไปติดตาม คือติดตามในรูปแบบที่ตนเองสนใจเฉพาะเรื่องนั้น แต่ว่าไอ้ประเภทภักดีต่อเล่มนั้น ๆ ประเภทอ่านแล้วเชื่อถือในข้อมูลเนี่ย พี่ว่ามันหมด มันหมดจริง ๆ"
.......บรรณาธิการนิตยสาร
"มันกลายเป็น template น่ะให้นักข่าวสายอื่น ๆ ทำตามด้วย เช่น นักข่าวการเมืองเนี่ย มันก็ต้องหาเรื่องเชิงบันเทิงมาลง เช่น คนทะเลาะกัน... คือวิธีการมันกลายเป็นบันเทิง...
...หนึ่งมันก็ต้องโทษคุณภาพของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ด้วยล่ะ แต่สองก็คือว่า มันสะท้อนเหมือนกันนะว่า การที่คุณภาพของคนทำหนังสือพิมพ์มันตกต่ำลง ของนักข่าวต่ำลง มันสะท้อนว่าคุณภาพของสังคมไทยมันตกต่ำด้วยเหมือนกัน เพราะมันดันชอบข่าวแบบนี้"
.......บรรณาธิการนิตยสาร
"แล้วคุณก็ไม่สามารถทำข่าวที่ฉีกออก เพราะคุณทำข่าวที่เป็นกลุ่ม เป็นสายสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพราะว่าออฟฟิศต้องการข่าวเร็ว ออฟฟิศก็เน้นข่าวปรากฏการณ์ ความเร็ว ขายข่าว บีบนักข่าว เอามาเร็ว ๆ เด็กก็ คือไม่ได้คิดอะไรเพราะแต่ละวันก็เหนื่อยอยู่แล้ว เจอออฟฟิศสั่งการอยู่ ก็เลยไม่ได้อะไรเกิดขึ้น ก็เลยเป็นแค่ผู้ส่งข่าว ไม่ใช่ผู้สื่อข่าว"
........ผู้สื่อข่าวรุ่นกลาง
"หน้าที่ในการให้รายละเอียด ให้ความรอบด้าน ให้แง่มุมต่าง ๆ ในข่าว ๆ หนึ่งที่วิทยุทีวีขาดไป เพราะฉะนั้นหน้าที่นี้เนี่ย ถ้าหนังสือพิมพ์ขาดหน้าที่นี้ไป ความโดดเด่นก็จะไม่มี แถมยังช้าอีก...
...ค่ำ ๆ เราก็ไปคุยกับแหล่งข่าว บางทีข่าวที่ได้ก็มาจากวงข้าว ตีสามตีสี่กลับบ้าน ไม่ต้องตื่นเช้ามาก เที่ยงไปทำงาน มันก็วนอยู่อย่างนี้ คือมันมีเวลาได้ประมวลข้อมูล ได้ไปถาม ได้ไปซอกแซกที่เขาไม่ได้แถลง แต่เดี๋ยวนี้มันต้อง real time ...เพราะว่ามันต้องเข้าไปสู่อุตสาหกรรมการส่งข่าวแบบทุกทาง"
.........ผู้สื่อข่าวรุ่นกลาง
"ตอนนี้เขาติด trap นะ เขาถูกดักอยู่กับข่าวเฉพาะหน้า real time จะใช้คำว่าอะไรก็ตาม แต่เขาไม่สามารถที่จะย่อยสิ่งที่เขาได้มา เขาไม่สามารถจะต่อยอด เขาไม่มีเวลา มันเหนื่อยเกินไปกว่าที่จะมาวิเคราะห์หรือแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ๆ ...แต่เราบางครั้งละเลยปัญหาพื้นฐาน การพัฒนาศักยภาพพื้นฐานของการเป็นนักข่าวที่ดี อันนี้เป็นหัวใจสำคัญของอาชีพนี้ไม่ว่ายูจะผ่านช่องทางสื่ออะไรก็ตาม"
.........นักวิชาชีพอาวุโส
"ข่าวที่รายงานออกมามันก็ไม่ได้ถูกรายงานออกมาจากคนที่มีเข้าใจใน issue นั้น เพราะฉะนั้นโอกาสที่ information มันถูก distort หรือถูก present ออกมาในมุมที่ควรจะเป็นมันก็ยาก"
........ผู้บริหารสถาบันพัฒนาวิชาชีพวารสารศาสตร์
"ตอนสมัยที่ตัวเองเป็นนักข่าวเนี่ย เนื่องจากนักข่าวถูกให้สถานะที่สูง และที่สำคัญ เราอยู่ท่ามกลางศูนย์กลางของอำนาจ ทำให้เราไม่กลัวอำนาจ ทำให้เราไม่กลัวอำนาจ เราร่วมใช้อำนาจไปกับเขาด้วย...
...ไม่ ว่าจะเป็นกรณีของ ปตท.เอย หรือว่าย้อนกลับไปในช่วงการปั่นหุ้นปิคนิค นักข่าวกระทรวงคมนาคมได้รับหุ้นจากรัฐมนตรี รัฐมนตรีเนี่ยชักชวนให้นักข่าวมาซื้อ พอหุ้นมันล้มเนี่ยคนอื่นเจ๊งกันถ้วนหน้าเลย นักข่าวได้รับเงินคืนจากรัฐมนตรี ไม่มีใครพูดเรื่องนี้เลย"
........นักรณรงค์ด้านสิทธิผู้บริโภค
"เหมือนเป็นกระบอกเสียงนะบางที เพราะมันก็ใกล้ชิดไง แล้วการวางตัวก็ลำบาก คุณจะต้องอยู่กับเค้าเนี่ย คือต้องให้เค้าไว้ใจ ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องกล้าตรวจสอบเค้า ซึ่งมันยากมากนะฮะ จริง ๆ มันยากมาก เหมือนเราเป็นคนตอแหลหรือเปล่า หรือเราเป็นคนกะล่อนหรือเปล่า ซึ่งมันเป็นศิลปะ ซึ่งทำได้นี่มันจะเจ๋งมาก แต่ว่ามันยากแล้วโอกาสที่จะไหลไปพร้อมกับเขานี่ มันง่าย"
........ผู้สื่อข่าวรุ่นกลาง
"หลายออฟฟิศที่ผมเคยเจอหรือเคยสัมผัสอยู่ ห้ามเขียนเลยอะไรที่กระทบกับ...เสี่ยงต่อการฟ้องร้อง ซึ่งจริง ๆ ก็ ถ้าสื่อไม่ตรวจสอบก็ไม่ต้องไปพูดถึงอะไรเลย เขียนแต่เรื่อง human interest ราคาถูก ป้องกันความเสี่ยง เพราะถ้าเกิดคุณโดนฟ้อง คุณเสียทันทีแล้วค่าทนายสองแสนห้า ไม่ว่าเราจะเขียนข่าว จะถูกแต่คือสองแสนห้าคือคุณโดน มันก็ทำให้เราต้องเซนเซอร์ตัวเองในระดับหนึ่ง"
........ผู้สื่อข่าวรุ่นกลาง
"พอเศรษฐกิจโรยพวกเราก็ตายกันไปหมดเลย ตายกันไปทั้งวิชาชีพทั้งจรรยาบรรณ"
"โฆษณาที่จะลงทุนซื้อหน้าสื่อในสื่อรายเดือนนี่นะฮะ ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนก็คือ หลายปีที่ผ่านมาแล้วก็คงเป็นแนวโน้มทวีความเข้มข้นเรื่อย ๆ ขึ้นไปในอนาคตก็คือว่า มันจะไม่ได้จบหน้าโฆษณาในหน้าโฆษณาของมัน... แต่มันจะถูกเรียกร้องจากทั้งเจ้าของสินค้าทั้งเอเจนซี่ที่จะพยายามทำให้ content กับ ad มันถูกทำให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันหรือที่เราเรียกว่า advertorial มันก็จะกินพื้นที่มากขึ้นไปเรื่อย ๆ พูดง่ายๆ ว่า ผมเรียกมันว่าความ aggressive ของโฆษณาแหละ มันจะยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ"
........บรรณาธิการนิตยสาร
"อย่างที่เห็น เราเลยต้องควบคู่กันไป ถามว่าเรารู้สึกอึดอัดมั้ย เค้าก็รู้ว่าเราอึดอัด เค้าก็จะให้เราตอบคำถามเราเองโดยการที่เค้าตั้งคำถามว่า หนึ่ง ก่อนที่เราจะช่วยคนอื่นได้ เราก็ต้องเอาตัวเรารอด เพราะฉะนั้นตัวเราซึ่งหมายถึงคนทั้งบริษัทอาจจะพันกว่าคนเนี่ย ก็ต้องมีชีวิตอยู่รอดโดยที่ไม่ต้องถูกไล่ออก ไม่ต้องถูกปลดออก ไม่ต้องถูกรีไทร์ออกก่อน เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพราะฉะนั้น ไอ้ conflict of interest ในเชิง marketing มันถึงเข้ามา... โดยรวมแล้ว สื่อติดขัดปัญหาเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจ พอเศรษฐกิจโรยพวกเราก็ตายกันไปหมดเลย ตายกันไปทั้งวิชาชีพทั้งจรรยาบรรณ แต่เมื่อไรที่เศรษฐกิจเติบโต บางทีเราก็ฟุ้งเหมือนกัน
.......บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์และออนไลน์
นี่คือ ปัญหาและความท้าทายของสื่อสิ่งพิมพ์ ในวันที่โรยรา เต็มที.