จาก โพสต์ทูเดย์ โดย :ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย: |
การทำงานแล้วเกิดความสุขผุดโพลงขึ้นมาในใจ ปุถุชนอย่างเราท่านทั้งหลายนี้ นานๆ ทีที่จะเจออย่างนั้น โดยมากเวลาคิดงานมันมีแต่ตื้อตลอด ไม่เคยสว่างโล่งเลย แล้วทำอย่างไรจึงจะให้มันโล่ง
ปรัชญาที่ว่า “งานของเราคือการทำให้เขามีความสุข” นั้นคือ การทำงานที่มุ่งให้ผู้อื่นมีความสุข แต่ก่อนที่เราจะไปทำให้ผู้อื่นมีความสุขได้นั้น เราต้องทำให้ตัวเองมีความสุขให้ได้ก่อน หลักการสร้างความสุขด้วยตัวเอง มีทั้งหมด 5 วิธี
สุขสัมผัส ไม่ยั่งยืน
1.ความสุขจากกามสุข สุขในระดับการสนองประสาทสัมผัส พูดอีกอย่างหนึ่งว่า สุขจากการที่อยากแล้วได้สมอยาก มนุษย์ทุกคนอยู่ได้ด้วยความสุขระดับนี้ กามสุข สุขที่เกิดจากการที่เรามีความอยากแล้วพอสนองสมอยากปุ๊บ มันก็สุขเสียเต็มที่ แต่สุขชนิดนี้ไม่ยั่นยืน อาตมาก็ทดลองหลายครั้ง อยากได้หนังสือ อยากได้มากๆ พอไปซื้อมาเรียบร้อยแล้ว วางไว้หน้าห้องเดินผ่านไปผ่านมา ถ้าหนังสือมันพูดได้มันคงน้อยใจเหมือนกัน ก็ไหนว่าอยากได้ไง ทำเป็นอยากได้นักอยากได้หนา ให้คนนั้นไปตามให้คนนี้ไปซื้อ พอได้มาครอบครอง สุขตอนที่เอามือไปจับ ในที่สุดฉันก็ได้ล่ะ แล้วมันก็หายไป สุขชนิดนี้คือกามสุข สุขที่เกิดจากการอยากแล้วได้สมอยาก มันก็สุข แต่มันไม่ยั่งยืน
นักธุรกิจคนหนึ่งที่ขณะนี้หันมาสนใจธรรมะ เล่าให้ฟังว่า ทำธุรกิจเกี่ยวกับสัมปทาน เวลาได้งานมาแต่ละครั้ง โปรเจกต์หนึ่งก็ราวๆ 300-400 ล้านบาท พอได้เซ็นสัญญาสำเร็จแล้วรู้สึกว่ามีความสุขมากๆ พาลูกน้องไปเลี้ยง กลับมาถึงสำนักงาน ก็คิดว่าโปรเจกต์หน้าทำยังไงต่อ แกบอกว่าความสุขมันมีอยู่แค่ 3-4 นาที ก็เลยถามตัวเองว่าชีวิตมันน่าจะสุขมากกว่านี้ได้ไหม พอตั้งคำถามแล้วก็เลยมุ่งแสวงหาความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
ฉะนั้น กามสุขซึ่งหมายถึงสุขที่เกิดจากการที่เราอยากแล้วได้สมอยาก มันก็เป็นความสุขระดับหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนสามารถแสวงหามาเติมเต็มให้กับ ชีวิตตัวเองได้ ความอยากนั้นเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น ตามันอยาก สมมติว่า วันเสาร์นี้มีอะคาเดมี แฟนเทเชีย รอบสุดท้าย ตามันอยาก ต้องพาตาไปดู ดูโทรทัศน์ก็ไม่ได้อารมณ์เท่าที่ควร โน้นต้องไปอิมแพ็คเมืองทองธานี ไกลแค่ไหนก็จะไป พอไปถึงดูแล้วสมอยาก สนุกมากๆ เลย กลับขึ้นรถเกิดทะเลาะกับแฟน ที่สุขทางตามาเมื่อครู่นี้ก็หายไปแล้ว นี่แหละความไม่ยั่งยืนของสุขที่เกิดจากการสนองความอยาก
หู มันอยากฟังเพลงเพราะๆ ช่วงนี้ฟังเพลงอะไรดี ถ้าได้ฟังเพลงเพราะๆ ก็จะมีความสุขมาก บางทีก็ไม่ใช่เพลงเพราะเท่านั้น อาจเป็นเสียงของคนที่เราชอบ ทำงานอยู่เปิดฟังคนเดียวใส่หูฟังก็ยิ้มอยู่คนเดียว ฟังแล้วชื่นอกชื่นใจ เมื่อหูมันอยากฟังต้องให้มันได้ฟัง
จมูก อยากจะดมกลิ่นหอม ห้องทำงานต้องมีดอกไม้ ต้องมีมะลิ ต้องมีกุหลาบ ต้องมีแจกันปัก หอมกรุ่น อาบน้ำเสร็จแล้วก็ฉีดน้ำหอม ห้องส่วนตัวก็มีน้ำหอม จุดเทียนโรแมนติก พรมน้ำหอมวันดีคืนดีไฟไหม้บ้าน หรือบางคนบอกกลิ่นหอมของดอกไม้มันดูธรรมดา ก็ไปติดใจกลิ่นหอมของเพศตรงข้าม บางคนเสพติดกลิ่นหอมเพศตรงข้ามไม่พอ เอาไม้ไปสอยขโมยเอาชุดชั้นในมาหอม เห็นเป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์ อันนี้อยากทางจมูก หรือบางคนไม่ติดใจกลิ่นหอมอะไร แต่ติดใจกลิ่นหอมของยาเสพติด ก็ไปแสวงหามาดม ยารูปแบบชนิดนั้นรูปแบบชนิดนี้ เห็นแล้วก็ติดใจ นี่เรียกว่าอยากทางจมูกต้องสนองให้สมความอยาก
ถ้าไม่มีสติที่ที่เราอยากนั่นแหละคือนรก ฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าพูดถึงนรก มีคนไปถามว่านรกอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าบอกว่า นรกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือเมื่อไรก็ตามที่เราสนองความอยากแล้วขาดสติ ตรงนั้นแหละคือทุกข์
ลิ้น อยาก จะลิ้มรสอร่อย พอได้ลิ้มแล้ว ก็จดจำรสอร่อยนั้นไว้ ครั้นกิเลสกระตุ้นขึ้นมาอีก ก็ต้องกระวนกระวายไปหาของอร่อยมาเติมให้ลิ้นได้กำซาบรสอร่อยนั้น บางคนต้องเสียเวลาเดินทางไกลไปตามร้านอาหารต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ต่างประเทศ เพื่อให้ได้ลิ้มรสอร่อยของอาหารเลิศรส บางทีเพื่อที่จะสนองความต้องการของลิ้นเพียงอย่างเดียว ก็ถึงกับต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียอารมณ์ไปกับการแสวงหาสิ่งอร่อยมาปรนเปรอลิ้น บางคนเห็นแก่กิน จึงไปหาของอร่อยๆ แปลกๆ มาปรุงกินเองโดยที่ไม่มีความรู้ พลั้งพลาดขึ้นมาถึงขั้นเสียชีวิตเพราะกินอาหารเจือพิษ (เช่น เห็ดพิษ เป็นต้น) ลิ้นจึงเป็นประสาทสัมผัสที่วางใจไม่ได้ พระพุทธองค์จึงทรงเตือนว่า ก่อนจะบริโภคให้รู้จัก “โภชเน มัตตัญญุตา” คือ รู้จักประมาณในการบริโภค ซึ่งก็คือ จงบริโภคอย่างมีสติ
กาย เวลากายมันอยาก หลายท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะกายมันอยากยังไง ท้องมันหิวขึ้นมามันส่งสัญญาณหรือเปล่า ท้องมันไม่มีปาก แต่พอหิวมันก็ส่งเสียงร้องดังออกมา อยากเข้าห้องน้ำ อยากล้างหน้า อยากแปรงฟัน ปากมันอยากพูด กายมันอยากเดิน อยากเปลี่ยนอิริยาบถ กายมันก็อยากของมันเหมือนกัน อยากจะได้รับสัมผัส อยากจะให้ผู้อื่นมากอด และอยากจะกอดผู้อื่น เมื่อเราไปทำตามที่อยาก มันก็สุข สุขมากๆ แต่พอว่างจากการสัมผัส เราก็มานั่งนึกถึงมันอีก ไม่รู้จักจบสิ้น
ต่อไปก็ ใจ ใจของเราถ้าอยากมากๆ เราก็ต้องตอบสนองมัน แล้วในบรรดาความอยากทางประสาทสัมผัสทั้งหมด คือทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ถึงที่สุดแล้วตัวอยากจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งเหล่านั้นเลย แต่อยู่ที่ใจตัวเดียว จิตจึงเป็นนาย กายจึงเป็นบ่าว ถ้าใจมันอยากแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ต้องเป็นทาสรับใช้ของใจ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ถ้าเราควบคุมใจของเราได้ เราก็ไม่ต้องไปรักษาศีล 227 ข้อ รักษาใจข้อเดียวจบ เพราะที่มันแสดงอาการทุรนทุรายออกไปนั้นเป็นเรื่องของจิตหรือใจตัวเดียว ทีนี้เมื่อใจมันอยากขึ้นมา ก็จะอยากในหลายลักษณะ อยากสิ่งที่ดีๆ ก็เรียกว่าเกิดกุศลจิต ถ้าอยากสิ่งที่ไม่ดีก็เรียกว่าเกิดอกุศลจิต ไม่ว่าจะอยากทางกุศลจิตหรืออยากทางอกุศลจิต พอเราไปสนองความอยาก ใจมันก็เกิดความสุข ก็ต้องตอบสนองความอยากกันเรื่อยไป
อาตมายังจำได้ตอนที่ไปเรียนวิปัสสนากรรมฐาน อาจารย์ท่านไม่ให้อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ให้พูดกับใคร ท่านเขียนไว้ชัดเลย ปิดวาจา โทรศัพท์ไม่มี ถึงมีก็ใช้ไม่ได้เพราะอยู่ในหุบเขา มันไม่มีคลื่น แต่ละวันแทบไม่ได้เจอมนุษย์ เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ปิดหมดเลย เหลือจุดเดียวคือใจเปิดไว้ อาตมานั่งในกลดทรมานแทบล้มประดาตาย เพราะใจนี่มันเหมือนปลาที่เคยอยู่แต่ในน้ำ พอเอามาวางบนบกใจมันก็เต้นอยากจะกระโจนลงไปในน้ำ มันนึกปรุงแต่งสารพัด เวลาคิดถึงใครขึ้นมา คนนั้นจะฉายมาเป็นภาพให้ดูต่อหน้า นึกถึงหน้าใครก็มายืนให้เห็น ใจมันสร้างภาพได้ถึงขนาดนั้น กว่าอาตมาจะตบหัวใจของตัวเองให้มันอ่อนน้อมถ่อมตนลงมาได้ก็ย่างเข้าสัปดาห์ ที่สอง กว่าใจมันจะฟังเรา เพราะฉะนั้นความสุขทางใจ ความทุกข์ทางใจ เวลามันอยาก ถ้าเราตามมันไปโดยไม่มีสติ อาจถึงตายได้โดยไม่รู้ตัว
เคยได้ยินคำว่าตามใจไหม ในที่นี้คือตามใจแบบคนโง่ คือใจมันอยากอะไรยอมตามใจมันไปหมดเลย สมมติว่าวันนี้เสร็จงานจากตรงนี้ พอเลิกงานใจมันบอกว่าอยากกินเย็นตาโฟอุ่นๆ ทีนี้มีขายที่ไหนก็พาใจไปกิน อยากดูภาพยนตร์สักเรื่องดีกว่า ก็ไปดู ใจมันอยากทั้งนั้น เพราะฉะนั้นความอยากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราได้สนองแล้วก่อให้เกิดความสุข เรียกว่าสุขจากการได้สมอยาก มนุษย์ส่วนใหญ่มักติดอยู่ในความสุขขั้นนี้ทั้งนั้น พอเกิดความอยากแล้วก็ต้องรีบสนองความอยาก พอสมอยากแล้วก็สุขใจ
แต่ในทางพระพุทธศาสนา ท่านบอกว่า มนุษย์ไม่ได้มีความสุขเฉพาะการที่อยากแล้วสมอยาก สุขที่สุดของมนุษย์ในทัศนะของพระพุทธศาสนาคือ สุขจากการเป็นอิสระจากความอยาก สังเกตให้ดีตะวันตกพัฒนาไปได้อย่างดีที่สุดแค่มีความสุขจากการได้สนองความ อยาก หรือมีอิสระที่จะอยาก คืออยากอะไรแล้วมีอิสระที่จะสนองไปตามที่อยากได้แทบทั้งหมด
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มนุษย์สุขที่สุดจากการเป็นอิสระจากความอยาก ตะวันตกบอกว่าจงอิสระที่จะอยาก ต่างกัน เพราะฉะนั้นทางตะวันตกจึงยกย่องเสรีภาพมาก พุทธศาสนาบอกว่า อิสระจากความอยากสิจึงเป็นความสุขกว่า นี่เป็นคำที่สำคัญมาก คนที่ถือปรัชญาอิสระที่จะอยาก ชีวิตนี้เขาจะต้องสนองความอยากไม่จบไม่สิ้น ส่วนคนที่ถือปรัชญามีอิสระจากความอยาก ก็จะมีความสุขที่เที่ยงแท้ถาวรอย่างยาวนานตลอดกาล ไม่ต้องมาเติมความอยากซ้ำซากซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกต่อไป
ฉะนั้น กามสุขจึงเป็นความสุขที่ทุกคนเรียกร้องต้องการ และหาได้ง่ายเพราะอยู่ใกล้มือ แต่ข้อเสียของมันก็คือทันทีที่สนองความอยากพอมีความสุขแล้วมันก็อันตรธานไป อายุของกามสุขนั้นสั้นมาก พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าแค่กามสุขยังไม่พอ มนุษย์ต้องก้าวขึ้นไปหาความสุขอีกระดับหนึ่ง
ล้อมกรอบ บทความชิ้นนี้มาจากหนังสือ งานสัมฤทธิ์ ชีวิตรื่นรมย์ ของ ว.วชิรเมธี ซึ่งในหัวข้อ “วิธีการสร้างความสุขอย่างง่ายๆ 5 ประการ” จะนำมาลงจนครบทั้ง 5 ข้อ นับตั้งแต่ฉบับนี้เป็นฉบับแรก หรือสนใจหนังสือ หาซื้อได้ในราคาพิเศษเพียง 49 บาท มีจำหน่ายเฉพาะที่ร้านบุ๊คสไมล์ และที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา (รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างวัดป่าชานเมือง)
2.ความ สุขจากการมีคุณธรรม อาจจะเรียกเป็นศัพท์ง่ายๆ ว่า กุศลกรรมสุขก็ได้ สุขจากการได้ทำกุศลกรรม คือ เราได้ทำคุณงามความดีอะไรแล้ว ตอนที่ทำก็สุข ตอนที่นึกถึงก็สุข เช่น เราอยากจะให้อะไรใครสักคนหนึ่ง สมมติว่าลูกชายอยากซื้อเสื้อผ้าให้พ่อให้แม่ ตั้งอกตั้งใจมาก ทำงานได้เงินเดือนเดือนแรกก็รวบรวมเงินซื้อเสื้อผ้ากลับไปให้พ่อให้แม่ที่ บ้านเกิด กราบลงที่ตัก พ่อครับเงินเดือนจากเดือนแรกของลูกซื้อเสื้อผ้าให้พ่อให้แม่ใส่ ที่เหลือให้พ่อแม่ไว้ใช้นะครับ พอเวลาผ่านไปหวนมาระลึกนึกถึง เออครั้งแรกที่เราได้ทำงานเอาเงินไปให้พ่อให้แม่ แม้ผ่านไปแล้วสัก 10 ปี ก็ยังมีความสุข นี่คือสุขจากการที่เราได้ประกอบกุศลกรรม มันอยู่ในใจของเรายาวนาน
สุขจากการประกอบกุศลกรรม แค่คิดก็สุข ยิ่งทำก็ยิ่งสุข ทำเสร็จแล้วย้อนหวนรำลึกถึงความหลัง ความสุขนั้นก็มาสนองผลซ้ำๆ อีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นเราทุกคนนั้นมีความสุขทางประสาทสัมผัส แต่มันก็ไม่ยั่งยืน ความสุขจากการทำคุณงามความดี พาตัวเองไปนั่งสมาธิ พาตัวเองไปเป็นอาสาสมัคร พาตัวเองไปอ่านหนังสือให้คนหูหนวกตาบอดฟัง จูงคนแก่ข้ามถนนบ้าง เสียสละบริจาคทานบ้าง ใส่ซองผ้าป่าซองกฐินบ้าง เสื้อผ้าใช้แล้วมีเยอะๆ ส่งไปบริจาคบ้าง ทำงานอาสาสมัครให้สังคมบ้าง ทำสิ่งดีๆ เหล่านี้ แล้วมันจะอยู่ในจิตในใจของเราไปตราบนานเท่านาน
ท่านพุทธทาส บอกว่า ถ้าเรามีขนมอร่อยๆ อยู่ในมือชิ้นหนึ่ง เรากินคนเดียวเราก็อิ่มเพียงคนเดียว แต่ถ้าแบ่งขนมนั้นให้เพื่อนๆ กินอิ่ม เราก็จะอยู่ในใจเพื่อนไปตลอดชีวิต คิดดูสิ ความสุขจากการที่เราได้ทำคุณงามความดีมันลึกซึ้งขนาดนี้ ถ้าใครได้ทำคุณงามความดีแล้วก็จะรู้สึกเอิบอิ่มเบิกบาน แล้วมันก็จะมีผลต่อสุขภาพกายสุขภาพจิตของเราด้วย บางทีมีอำนาจมากถึงขนาดทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายขาดได้
ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรเป็นโรคลมจุกเสียดแน่นท้อง ถึงขั้นล้มตัวลงนอน เป็นโรคประจำตัว พระโมคคัลลานะรู้ว่าพระสารีบุตรป่วย และทุกครั้งที่ท่านปวดท้องก็จะหายได้ด้วยการฉันข้าวมธุปายาสที่ปรุงด้วยน้ำ นมสด เทวดาก็รู้ความข้อนี้ กลัวว่าเวลาพระโมคคัลลานะไปบิณฑบาต โยมจะไม่ตักบาตรด้วยข้าวมธุปายาส จึงไปสิงลูกของโยมในตระกูลอุปัฏฐากของพระสารีบุตร เมื่อลูกดิ้นพลาดๆ พ่อแม่ก็ถามว่าเป็นอะไรลูก เทวดาก็พูดบอกว่า เธอต้องเอาข้าวมธุปายาสตักบาตร ถ้าไม่เอาข้าวมธุปายาสตักบาตรลูกของเธอตาย ฝ่ายญาติโยมตระกูลอุปัฏฐากก็รีบปรุงข้าวมธุปายาสผสมด้วยน้ำนมสด ถวายพระโมคคัลลานะในขณะที่มาบิณฑบาต ท่านก็เอาข้าวมธุปายาสนั้นกลับไปถวายพระสารีบุตร
พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์มีทิพยจักษุ ถามพระโมคคัลลานะว่า อาหารบิณฑบาตนี้ท่านได้แต่ใดมา พระโมคคัลลานะก็บอกว่า โยมอุปัฏฐากของท่านถวาย พระสารีบุตรก็ถามต่อว่า โยมรู้ได้ยังไงว่าผมป่วย พระโมคคัลลานะก็พูดว่า เออ นั่นสิผมไม่ได้คิดประเด็นนี้ ท่านก็นั่งลงกำหนดจิตดู ก็เห็นว่าเทวดาองค์หนึ่งไปเข้าสิงลูกของโยมอุปัฏฐาก พระสารีบุตรก็บอกพระโมคคัลลานะว่า ท่านเอาข้าวนี่ไปทิ้งเสีย ผมฉันไม่ได้หรอก อาหารได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ ไม่ได้เกิดจากการตักบาตรตามวิธีธรรมชาติ เป็นการตักบาตรในลักษณะจัดสรร ฉะนั้นผมไม่ฉัน ผมยินดีตาย พระโมคคัลลานะก็ทำตามพระสารีบุตรบอกด้วยการเอาอาหารบิณฑบาตนั้นไปเททิ้ง
พอพระโมคคัลลานะเดินออกไป พระสารีบุตรก็นั่งลงอธิษฐานจิต เดชะด้วยเดชแห่งศีลที่ข้าพเจ้ารักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต ขอให้เดชแห่งศีลนี้ช่วยมาบำบัดโรคให้ด้วย ท่านก็เกิดความปีติภาคภูมิใจในความสุขของท่านที่ได้กระทำ ถึงแม้จะล้มป่วยแทบตาย แต่ท่านไม่ได้ละเมิดศีล ท่านยินดีตายดีกว่าที่ละเมิดศีล เพราะอาหารที่ได้มานั้นเป็นบิณฑบาตที่ไม่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม โยมเขาไม่ได้ศรัทธามาแต่ต้น แต่เทวดาเข้าไปบีบคั้นโยม ท่านก็บอกว่าผมตายดีกว่า ดีกว่าที่จะฉันอาหารที่ได้มาโดยมิชอบ
พออธิษฐานว่าข้าพเจ้ายินดีตายดีกว่าปล่อยให้ศีลขาดเท่านั้นเอง เดชานุภาพแห่งศีลของท่านก็ขับไล่ลมพิษในท้องท่านออก หายลงไปในดิน ตั้งแต่นั้นมาท่านไม่ป่วยด้วยโรคนี้อีก ท่านก็มีความสุขมาก มีความสุขจากการที่ตัวเองยอมตายแต่ไม่ยอมละเมิดศีล ไม่แต่เพียงขับไล่โรคของท่านออกไปได้เท่านั้น ท่านกลับได้รับความสุขเอิบอาบเกิดปีติท่วมท้นกายของท่านตั้งแต่หัวจรดเท้า นี้คือความสุขอีกประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า ความสุขแบบนิรามิสสุข คือความสุขที่ไม่ขึ้นกับเงื่อนไขภายนอก เป็นความสุขเกิดจากใจที่ได้รับจากการสัมผัสคุณงามความดีล้วนๆ
เราทุกคนคงเคยประกอบกุศลกรรม คือ คุณงามความดีที่เป็นต้นธารและต้นทางของความสุขเช่นนี้ ลองคิดดู ความสุขเช่นนี้เรามีไหม ความสุขชนิดนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่มีเลยเราก็จะลำบากในตอนที่เราใกล้ตาย
มนุษย์เรานั้นตอนใกล้ตายจะมีกรรมชนิดหนึ่งเข้ามาใกล้ๆ เขาเรียกว่า อาสันนกรรม แปลว่า กรรมใกล้ตาย กรรมใกล้ตายนี้จะเป็นกรรมที่ตัดสินอนาคต ว่าเราจะได้ไปเกิดในสุคติภูมิหรืออบายภูมิ ถ้าใช้ภาษาวัยรุ่นก็จะถูกโหวตออกหรือจะเป็นแชมป์ก็ตอนนี้ กรรมของเราจะเป็นตัวกำหนดหรือจัดสรร
ถ้าเราทำคุณงามความดีเอาไว้แล้ว เมื่อเข้มข้นพอมันก็จะมาเป็นอารมณ์ของจิต เรานึกถึงภาพอะไรปุ๊บ จิตดวงสุดท้ายซึ่งเรียกว่า จุติจิต จะพลิกเป็นปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตนี่แหละที่จะนำไปเกิดในภพใหม่ หากจิตดวงสุดท้ายของเราไปนึกถึงคุณงามความดีที่เราทำเอาไว้ปุ๊บ เราก็ได้วีซ่าไปสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา หรือเป็นพรหม ทีนี้ในนาทีที่เจียนอยู่เจียนไปนั่นเอง ถ้าเราเกิดไปนึกถึงกรรมชั่ว เพราะเคยทำไว้เข้มข้นมากเลยนึกถึงเป็นฉากๆ เราก็ต้องตีตั๋วลงอบายภูมิ
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า เมื่อมีความสุขจากการสนองความอยากแล้ว ต้องหาความสุขจากการทำคุณงามความดีด้วย เพราะการทำคุณงามความดีนั้นแค่คิดก็มีความสุข ขณะลงมือทำก็มีความสุข ทำแล้วเมื่อหวนระลึกถึงก็เกิดความสุขอีก และก่อนตายก็จะย้อนกลับมากำหนดอนาคตของเราในภพหน้าอีกครั้งหนึ่ง นี่เรียกว่าเป็นความสุขที่เกิดจากการประกอบกุศลกรรมเป็นความสุขที่สูงขึ้นมา อีกขั้นหนึ่ง
เมื่อทำความดีแล้วมีความสุขแค่นั้นยังไม่พอ เพราะในความดีนั้นก็ยังมีความทุกข์ บางคนทำความดีแล้วชอบคิดว่าไม่มีใครเห็นความดีของฉันเลย แล้วฉันจะทำไปทำไม เกิดความทุกข์อีก บางทีทำความดีแล้วคนอื่นประเมินความดีของเราต่ำไป เราน่าจะได้คำชมเต็มสิบ แต่ชมมาแค่ห้า ทำความดีแท้ๆ ก็ยังทุกข์
บางคนทำความดีแล้วยึดติดในความดี เห็นคนอื่นดีไม่เท่าตัว ไปดูถูกคนอื่น พอถูกคนอื่นเล่นงานกลับ ก็ทุกข์เพราะความดีที่ตัวเองยึดไว้ เห็นโทษของความสุขที่เกิดจากการทำดีหรือยัง พุทธเจ้าจึงบอกว่าไม่พอหรอกทำความดี แม้จะมีความสุขแต่ก็ยังไม่พอ เพราะบางคนไปยึดติดความดี ไปแบกความดีเอาไว้ ถ้าจะให้ดีต้องก้าวขึ้นไปหาความสุขที่สูงกว่านั้น
ล้อมกรอบ
บทความชิ้นนี้มาจากหนังสือ งานสัมฤทธิ์ ชีวิตรื่นรมย์ ของท่าน ว.วชิรเมธี สนใจหนังสือหาซื้อได้ในราคาพิเศษเพียง 49 บาท มีจำหน่ายเฉพาะที่ร้านบุ๊คสไมล์ และที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา (รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างวัดป่าชานเมือง)
3.ความสุขจากการรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต เราอยู่ในโลกเราก็เหมือนนักกีฬาที่เตะฟุตบอลอยู่ในสนามกีฬาของชีวิต นักฟุตบอลที่จะประสบความสำเร็จในสนามกีฬาแห่งชีวิต ก็ต้องเรียนรู้กติกา ถ้าเราเป็นนักฟุตบอลที่ไม่เคารพกติกา เก่งแค่ไหนวันหนึ่งเราก็จะถูกปรับออกหรืออาจจะถูกให้ใบแดงเป็นนักกีฬาที่ล้ม เหลวในสนาม ในสนามกีฬาแห่งชีวิตนี่ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จเราก็ต้องรู้เท่าทันกฎ กติกามารยาทในการดำเนินชีวิต ซึ่งถ้าเรารู้แล้ว เราจะไม่ทุกข์ พอมันไม่ทุกข์ มันก็เป็นสุข
อะไรคือกฎกติกามารยาทในการดำเนินชีวิตที่เราจะต้องรู้เท่าทัน ชีวิตของเรานี่มันเป็นทุกข์ แต่ถ้าเรารู้เท่าทันมันก็เป็นสุข เช่น เราเกิดมานี้เราก็จะแก่ เราก็จะเจ็บ เราก็จะตาย เราก็จะพลัดพรากจากของรัก เรามีกรรมเป็นของของตน อันนี้มันเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ธรรมดาจะต้องเจอความทุกข์อย่างนี้ ความทุกข์อย่างนี้เรียกว่าเป็นความทุกข์ภายนอก แต่ถ้าเรารู้ไม่ทันเราจะเอาทุกข์ภายนอกมาเป็นทุกข์ภายใน
ทุกข์ภายนอก หมายความว่า บางทีกายมันทุกข์ แต่พอเราไม่รู้เท่าทัน ทุกข์ทางกายเราก็ปรุงแต่งข้างใน จึงเอาทุกข์ข้างนอกมาเป็นทุกข์ข้างใน พูดง่ายๆ ว่าเอาทุกข์ตามธรรมชาติมาเป็นทุกขเวทนาในใจ ยกตัวอย่างเช่น เราประสบอุบัติเหตุ อาจจะขาหัก เรามีสิทธิที่จะประสบอุบัติเหตุกันทุกคน แล้วพอขาหัก เราก็ทุกข์ นี่เรียกว่าเป็นทุกข์ภายนอก แต่คนที่คิดไม่เป็น เวลาประสบอุบัติเหตุมักจะคิดว่า โอ...ตายแล้ว ต่อไปนี้จะมีใครมาสนใจคนขาหักอย่างฉัน เดี๋ยวแฟนคงต้องเลิกแน่ๆ เลย ผู้หญิงขาหักใครจะมอง ฉันไม่ไปแล้วงานสังคม มันไม่สง่างาม คนขาหักไปอยู่ตรงไหนก็ดูไม่ดี ก็เลยกลายเป็นว่าเอาทุกข์ภายนอกมาเป็นทุกข์ภายใน ปรุงซ้ำเข้าไปอีก
ปุถุชนส่วนใหญ่ไม่รู้จักความทุกข์ ไม่รู้จักธรรมดาของโลกและชีวิต จึงมักจะเอาทุกข์ซึ่งเป็นธรรมดาของโลกและชีวิตมาเป็นทุกข์ในจิตในใจเรา
ชีวิตไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่แท้
นอกจากนั้น กติกาของการเกิดมาเป็นคนซึ่งเราจะต้องรู้เอาไว้เพื่อที่เวลามันเกิดขึ้นจะ ได้ไม่ทุกข์คือ จะต้องรู้เท่าทันไตรลักษณ์ หรือลักษณะ 3 ประการ คือ
ลักษณะที่หนึ่ง คือ ไม่เที่ยง
ลักษณะที่สอง คือ เป็นทุกข์
ลักษณะที่สาม คือ ไม่มีตัวตนสมบูรณ์แบบ
ในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงสักอย่าง ขนาดนาฬิกาบางทีถึงเวลา 12 นาฬิกา มันก็ยังไม่เที่ยง บางวันมันก็เดินไม่ตรง ที่วัดเก่าของอาตมามีพระรูปหนึ่ง ท่านชื่อบุญเที่ยง แต่ท่านไม่ค่อยเที่ยงหรอก เพราะท่านเดินตัวเอียงตลอด
คำว่า ไม่เที่ยง หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในตัวเรามีเซลล์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงสม่ำเสมอ ภายใน 7 ปีเราจะไม่ใช่ตัวเราคนเดิม แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นดำเนินไปในลักษณะต่อเนื่อง เราจึงมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แท้ที่จริงทุกๆ 7 ปี เราจะลอกคราบครั้งหนึ่งจะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป แต่มนุษย์ส่วนมากก็มักคิดว่านี่คือตัวฉัน นี่แหละตัวฉัน คิดกันอย่างนี้ตลอด แท้ที่จริงแล้วร่างกายเรามันไม่เที่ยงตลอดเวลา สรรพสิ่งก็ไม่เที่ยง
ฉะนั้น ถ้าเราไปเจอเหตุการณ์อะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งมันแสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็น เราก็จะปล่อยได้ แล้วก็จะวางได้ เช่น เคยมีคนรัก วันหนึ่งเขาเปลี่ยนไป ไม่รักเราเท่าเดิม เราก็บอกว่าอ๋อพระบอกแล้วว่าไม่เที่ยง เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปเจอความไม่เที่ยงตรงไหน ความทุกข์ตามมาตรงนั้น และอนัตตาก็ตามมาตรงนั้นทันที มันจะมาด้วยกันเป็นพรวน เรียกว่ามาเป็นเเพ็กเกจ เกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งแล้วจะเห็นครบทั้ง 3 ข้อ เคยเรียนรู้ไหมว่าชีวิตมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มันไม่มีตัวตนสมบูรณ์แบบ ถ้าจำง่ายๆ ก็ท่องเป็นสูตรไว้ ไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่แท้ 3 คำนี้จำให้มั่นน้ำตาจะไม่ไหล เจออะไรที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ก็ให้บอกตัวเองว่า อ๋อไม่เที่ยง ทำไมมันไม่เที่ยง ก็เพราะมันไม่ทน ทำไมมันไม่ทน ก็เพราะมันไม่แท้
เพราะฉะนั้น คนไม่ชอบธรรมะเวลาที่เจออะไรอย่างนี้จะทุกข์ วันหนึ่งความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตามาเตือน ก็รู้ไม่เท่าทัน พอรู้ไม่เท่าทันก็ทุกข์ แต่คนที่รู้ทันก็จะเป็นสุข นี้เป็นกฎเกณฑ์กติกาของชีวิตที่ต้องรู้ไว้ ถ้าเรารู้ทันแล้วพอถึงจุดที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็ อ๋อ...มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง รู้มาตั้งนานแล้ว ก็ไม่ทุกข์ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ รับได้สบายๆ เราจะมีภูมิคุ้มกันความทุกข์ ซึ่งอาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเรามีกันชนความทุกข์ ความทุกข์มันวิ่งชนเรา มันไม่ถึงตัวเรา เรารู้แล้วว่ามันจะเป็นอย่างนี้
โลกธรรม ธรรมประจำโลก
กติกาต่อมาคือ โลกธรรม โลกธรรมหมายความว่า ธรรมที่มีประจำโลก ทุกคนที่เกิดมาในโลกเจอเหมือนกันหมด แต่ถ้าเราไม่รู้เท่าทันโลกธรรม เราจะถูกโลกกระทำ มีรายละเอียดดังนี้
ได้ลาภแล้วจะเสื่อมลาภ ถ้าเราไม่รู้เท่าทันว่าได้ลาภแล้วมันจะต้องเสื่อมลาภ วันที่มันเสื่อมลาภเราก็จะรับไม่ได้ พอรับไม่ได้แล้วมันก็ทุกข์
นักธุรกิจบางคนมีเงินเป็น 100 ล้าน ขาดทุนไป 50 ล้าน เอาปืนยิงตัวตาย ก็ที่คุณยังเหลืออีก 50 ล้านล่ะ ชาวบ้านธรรมดาๆ เขาไม่มีเลยสักล้าน เขายังไม่ฆ่าตัวตาย นี่คุณมีตั้ง 50 ล้าน ขาดไป 50 ล้านยิงตัวตายเสียแล้ว นี่เรียกว่าไม่เข้าใจกฎข้อที่หนึ่ง คือ ได้ลาภแล้ววันหนึ่งต้องเสื่อมลาภ แต่ถ้าเราเข้าใจ ถ้าเรามีลาภแล้ววันหนึ่งมันเสื่อมลาภ เราก็ อ๋อเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง รับได้
ต่อมา มียศจะเสื่อมยศ ยศคือตำแหน่งหรืออำนาจ เพราะฉะนั้นถ้ามียศแล้วเข้าใจโลกธรรมก็จะไม่หลงยศ ถ้ามีอำนาจแล้วจะไม่บ้าอำนาจ แต่ถ้าไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ข้อนี้ มีอำนาจก็บ้าอำนาจ เขาเรียกว่า Absolute Power, Absolute Corruption แปลว่าอำนาจเบ็ดเสร็จก็จะคอร์รัปชันแบบเบ็ดเสร็จ คนที่มียศไม่รู้จักด้านตรงข้ามของยศ ก็จะตายเพราะยศ ตายเพราะอำนาจ
ต่อมาก็คือ มีสุขที่ไหน ก็มีทุกข์ที่นั่น ในมุมตรงกันข้ามเราก็มองได้ว่าถ้ามันทุกข์ที่ไหน สุขก็อยู่ที่นั่นด้วย ฉะนั้นเวลาเรามีความสุขเราประมาทไหม ไม่ควรประมาทเพราะเรารู้ว่าความสุขพลิกเป็นความทุกข์ได้ สสารเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ พลังงานก็เปลี่ยนเป็นสสารได้ ทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นสุข สุขก็เปลี่ยนเป็นทุกข์ได้ เช่น ชายหนุ่มหญิงสาวรักกันมากๆ กินข้าวด้วยกัน ดื่มน้ำเปล่าๆ อยู่แบบพอเพียงก็มีความสุขแล้ว พอทะเลาะกันเอาไวน์แก้วละแสนเอามาราดกัน ก็ไม่ก่อให้เกิดความสุขเลย
ฉะนั้น สุขและทุกข์นี้ก็มาด้วยกันตลอดเวลา เขาแสดงตัวชัด สมมติว่าเรากำลังนั่งอยู่ เรานั่งถูกอิริยาบถ มันก็สุข แต่ถ้านั่งไปนานๆ มันปวด สุดท้ายมันทุกข์ อาหารที่เราชอบที่สุดถ้าเราได้กินแล้วนี่ก็สุข ถ้าเรากินจนแน่นแล้วจากที่สุขอยู่ก็กลายเป็นทุกข์ได้ คนที่เรารักมากที่สุด นอนกอดกัน 7 วันไม่ปล่อยมือเลย ทุกข์ไหม ทุกข์ ความจริงทั้งนั้นเขาปกปิดเราไหม เขาไม่ได้ปกปิดเลย เขาเปิดเผยตลอด สุขที่ไหนทุกข์ที่นั่น ทุกข์ที่ไหนสุขก็อยู่ที่นั่น
แต่คนที่มีความรักมักจะเถียงพระพุทธเจ้า ความรักเป็นสีชมพู มีรักแล้วเป็นสุข แต่สุขตอนที่มีความรักนั้น แท้ที่จริงคือความทุกข์ที่รอเวลาอยู่ พอรักกันจีบกันสำเร็จ ต้องคิดถึงเรื่องแต่งงาน แล้วแต่งงานจะเอาเงินที่ไหนมาแต่ง แต่งงานไปสักพักมีลูก เจอลูกโง่ ลูกเกเรแล้วก็ดื้อ โบราณบอกว่าลูกเกเรรับได้ ลูกดื้อรับได้ ลูกตายรับได้ แต่ลูกโง่นี่รับไม่ได้ เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะถ้าโง่แล้วเป็นเรื่องยาวนาน พ่อแม่ต้องแบกภาระมาเป็นเจ้ากรรมนายเวรให้ตลอดเวลา เห็นหรือยังว่าความสุขที่เกิดจากความรัก แท้จริงแล้วก็คือความทุกข์ที่รอเวลาแสดงตัว
ฉะนั้น ถ้าเรารักแล้วเกิดความสุขให้รู้ไว้เลยว่ามันคือผลไม้แห่งความทุกข์ที่รอหล่น จากขั้ว หรือเป็นผลไม้แห่งความสุขที่รอหล่นลงจากขั้วมาเป็นความทุกข์ ถ้าเรารู้เท่าทันแล้ว อ๋อทุกข์ที่ไหนก็สุขที่นั่น สุขที่ไหนก็ทุกข์ที่นั่น พอมันเปลี่ยนคุณสมบัติ เราก็บอกว่าพระท่านเตือนไว้แล้ว ไม่เป็นไรรับได้ สุดท้ายเราจะกลายเป็นผู้ที่รับได้กับทุกๆ เรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ต่อมาก็คือ สรรเสริญคู่กับนินทา สรรเสริญมีที่ไหนนินทามักมีอยู่ที่นั่น มีคนจำนวนมากที่ออกจากวงการการเมืองไทย เพราะตอนเป็นนักธุรกิจเจอแต่คำชม พอมาเล่นการเมืองแล้วถูกซักฟอก ถูกเปิดอภิปราย รับไม่ได้ หน้าบางก็ลาออกไป แต่ถ้าเข้าใจธรรมะก็เห็นว่าสรรเสริญคู่นินทาก็จะรับได้ ก็จะทน ฉะนั้น มีสรรเสริญที่ไหนให้ระวังไว้ก่อนเลยว่าจะต้องมีนินทาอยู่ตรงนั้น ยิ่งใครถูกสรรเสริญมากๆ ยิ่งต้องระวังให้ดี เวลาที่มันพลิกเป็นนินทานี่มันก็จะหนักพอๆ กัน ถ้าเรารู้เท่าทันแล้วก็ไม่มีอะไร สรรเสริญก็คู่นินทา นินทามันก็คู่สรรเสริญมันก็เป็นอย่างนั้นเอง
ฉะนั้น กฎกติกามารยาทของชีวิตข้อที่ 2 ถ้าเรารู้ทัน เราก็พ้น เราไม่มีวันที่จะทุกข์ เวลาได้ลาภมันก็ไม่ทำให้เราทุกข์ เวลาได้อำนาจมันก็ไม่ทำให้เราหลง เวลาได้สุขก็ไม่ทำให้เราทุกข์ เวลาได้สรรเสริญเราก็ไม่กลัวนินทา เพราะเรารู้ทันเสียแล้ว ว่ามันเป็นของมันอย่างนั้นเอง นี่กฎกติกามารยาทของการดำเนินชีวิตหลักที่ 2
แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก มีกรรม คือเรื่องธรรมดา
กฎกติกามารยาทของชีวิตหลักที่ 3 ซึ่งต้องรู้ให้เท่าทัน เวลามันเกิดขึ้นเราก็จะไม่ทุกข์ คือ
1.คนทุกคนเกิดมาแล้วแก่ ไม่มีใครล่วงพ้นความแก่ไปได้
2.คนทุกคนเกิดมาแล้วเจ็บ ไม่มีใครล่วงพ้นความเจ็บไปได้
3.คนทุกคนเกิดมาแล้วตาย ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้
4.คนทุกคนเกิดมาแล้วพลัดพราก ไม่มีใครล่วงพ้นความพลัดพรากไปได้
5.คนทุกคนเกิดมาแล้วล้วนมีกรรมเป็นสมบัติของตัวเอง ทำดีทำชั่วไว้ที่ไหนเราจะเป็นทายาทรับผลแห่งกรรมนั้นด้วยตัวเอง
เมื่อรู้กฎ 5 ข้อนี่แล้ว ความแก่ เวลาเราแก่ เราทุกข์ไหม ไม่ทุกข์ พระท่านบอกแล้วว่ามันจะแก่ ในที่สุด สิ่งที่พระพูดมันก็เป็นความจริงให้ฉันเห็นด้วยตาตัวเอง นี่คือความจริง ชีวิตของเราก็จะมีกฎ 5 ข้อที่ว่านี้ คอยดูแลคอยเข้ามาแทรกซึม ถ้าเรารู้เท่าทันเวลา แก่เราก็ไม่ทุกข์ เจ็บก็ไม่ทุกข์ ตายก็ไม่ทุกข์ พลัดพรากก็ไม่ทุกข์ กฎแห่งกรรมตามสนองก็ไม่ทุกข์ ก็มีแต่รู้เท่ารู้ทัน แล้วก็ปล่อยวางไปโดยดุษณี นี้เรียกว่าเป็นวิธีฝึกใจไว้ให้เป็นสุข
บทความชิ้นนี้มาจากหนังสือ งานสัมฤทธิ์ ชีวิตรื่นรมย์ ของ ว.วชิรเมธี สนใจหนังสือ หาซื้อได้ในราคาพิเศษเพียง 49 บาท มีจำหน่ายเฉพาะที่ ร้านบุ๊คสไมล์ และที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา (รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างวัดป่าชานเมือง)
4.ความสุขจากการรู้จักปรุงแต่งใจให้เป็นสุข ปรุง แต่งใจให้เป็นสุขก็คือ มีโยนิโสมนสิการ หมายความว่า เมื่อเราดำเนินชีวิตไปๆ ชีวิตเราจะเจอทั้งด้านดีและด้านร้าย สารพัดจะเจอ เรื่องนั้นก็เจอเรื่องนี้ก็เจอ แต่ถ้าเราปรุงแต่งใจไม่เป็น เราจะทุกข์ เช่นเราทำงานเจอเจ้านายที่เคี่ยวมากๆ ตั้งแต่ทำงานมาไม่เคยเจอใครที่คุณย่าละเมียด คุณแม่ละไม คุณนายละเอียดขนาดนายคนนี้ มันเป็นกรรมอะไรหนอ ถ้าเราคิดในแง่ลบแล้วเราไปปรุงต่อที่บ้าน ไปเล่าให้เพื่อนฟัง ที่ออฟฟิศโน้นมีหรือเปล่าเจ้านายที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรกับลูกน้อง นี่คือปรุงไม่เป็น แต่ถ้าปรุงเป็นก็จะคิดว่า โอ้...เราแสวงหามานานกว่าจะพบนายที่ Perfectionist นายระดับนี้ถ้าเราอยู่กับเขา หนึ่งปีเราก็จะเก่ง เพราะเราจะซึมซับคุณสมบัติของนายมาได้ทั้งหมด เห็นหรือยัง คู่ต่อสู้ยิ่งเก่งยิ่งเข้มแข็ง เราก็ยิ่งแกร่ง ยิ่งได้วิชา พอมองแบบนี้ปุ๊บ โอ้มันน่าขอบคุณนายจริงๆ
เมื่อครั้งที่อาตมาเดินทางบรรยายธรรมที่อเมริกา ขากลับอาตมาซื้อตุ๊กตารางวัลออสการ์มาฝากลูกศิษย์สาขา Best Secretary สุดยอดเลขาฯ เพราะอาตมารู้ดีว่าอาตมาใช้งานเขาหนักมากๆ ถ้านายเป็นนายที่อึดจริงๆ เลขาฯ ก็ต้องอึดกว่านายหลายเท่า เราไปถามเลขาฯ ว่าเป็นอย่างไรนายอย่างนี้ดีไหม เลขาฯ ก็บอกสุดยอด พอผ่านวันเวลาที่หนักหนาสาหัสที่สุดไป ผ่าน 5 ปีแรกไปแล้วทุกอย่างที่เราถ่ายทอด ก็ไปอยู่ที่เขาทั้งหมด เขาได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างจากเรา
มองในแง่ดีกลายเป็นว่าการที่เราได้อยู่กับคนที่เคี่ยวที่สุด นั้นคือได้อยู่กับครูที่ดีที่สุด ถ้ามองเป็นจะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้ามองไม่เป็น เราไปเจอคนที่เก่งที่สุดเคี่ยวที่สุดเราก็จะไปมองว่า โอ้ย ฉันไปทำกรรมอะไรไว้ นรกชังหรือสวรรค์แกล้งก็ไม่รู้ให้ต้องมาเจอะมาเจอคนคนนี้ พอคิดอย่างนี้แล้วก็จะทุกข์หนักหนาสาหัส
ตัวอย่างคลาสสิกมากของคนที่ปรุงแต่งใจให้เป็นสุข คือ โทมัส อัลวา เอดิสัน ทดลองผลิตไส้หลอดไฟไปถึงครั้งที่ 600 เพื่อนร่วมงานลาออก เพื่อนบอกว่าผมไม่สู้แล้ว ถอยดีกว่า เรามีแต่ล้มเหลวจะทดลองไปทำไม เอดิสันบอก “ผมไม่คิดว่าล้มเหลว แต่ผมกำลังเรียนรู้ต่างหาก” ประโยคนี้ก็เป็นวรรคทองในประวัติศาสตร์ คือพวกลูกน้องมองความผิดพลาดในการทดลอง 600 ครั้งว่าเป็นความล้มเหลว แต่เอดิสันมองว่ามันคือการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ว่า 600 กว่าวิธีนั้นคือวิธีที่จะไม่นำไปสู่ความสำเร็จ ทำให้รู้ว่า 600 วิธีนั้นคือความล้มเหลวทั้งหมด ก็เลยพากันลาออก
ต่อมาเขาก็ทดลองใหม่อีก 9,999 ครั้ง เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่สาระสำคัญอยู่ตรงที่ทำไมเขาไม่ท้อ รู้ไหมว่า คนส่วนใหญ่กลัวอุปสรรค แต่อุปสรรคกลัวคนที่ไม่ท้อ จำไว้ คนส่วนใหญ่เมื่อเจออุปสรรค หวาดกลัวตัวสั่น หารู้ไม่ว่าถ้าเราไปถามนายอุปสรรคว่าคุณกลัวอะไร อุปสรรคมันก็จะบอกว่าฉันเองก็กลัวเหมือนกัน กลัวคนที่ไม่ท้อ ฉะนั้น ถ้าเราทำงานแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จสักที ทำไมความสำเร็จมันเดินทางมาถึงตัวเองช้าเหลือเกินก็ให้บอกตัวเองว่า ตอนที่เรายังไม่ประสบความสำเร็จนี่แหละ เรากำลังเรียนรู้ที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน คนที่จะเป็นมหาบุรุษเขาต้องใช้เวลามากหน่อย อธิบายกับตัวเองอย่างนี้แล้วเราก็จะรู้สึกว่า เรามีน้ำอดน้ำทนในการสู้กับความทุกข์ได้มากขึ้น นี้เป็นวิธีปรุงแต่งใจให้เป็นสุข คือการมีโลกทัศน์เชิงบวกกับทุกสิ่งทุกอย่าง
เคยมีดาราคนหนึ่ง คลอดลูกคนแรกแล้วตายภายในสามวัน ในงานเผาศพลูกเธอร้องห่มร้องไห้ ไม่สามารถขึ้นเมรุเผาลูกได้ พระรูปหนึ่งที่เป็นเจ้าอาวาสสงสาร เดินมาบอกว่า โยมทำไมไม่ขึ้นไปเผาลูก ดาราคนนั้นก็บอกหลวงพ่อหนูลุกไม่ขึ้น คิดถึงลูก ทุกข์ใจแสนสาหัส หลวงพ่อบอกว่า ชีวิตมนุษย์เกิดมามีสองบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ หนึ่ง เราต้องเรียนรู้บทเรียนที่ยาก และสอง บทเรียนที่ง่าย ลูกโยมตายเป็นบทเรียนที่ยาก ถ้าโยมไม่ยอมเรียนบทเรียนนี้ วันหนึ่งพ่อโยมตายแม่โยมตาย โยมจะทรงตัวอยู่ได้ไหม ทำไมไม่เรียนบทเรียนที่ยากๆ ก่อน ทำไมจึงเลือกจะเรียนแต่บทเรียนที่ง่ายที่สุดล่ะ เมื่อไหร่โยมจะเข้มแข็ง หลวงพ่อพูดแค่นี้แล้วเดินกลับกุฏิ ดาราคนนี้ฟังแล้วลุกขึ้นปาดน้ำตาขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์งานศพลูก เสร็จแล้วเข้าไปห้องครัวล้างถ้วยล้างจาน วันรุ่งขึ้นก็ขับรถไปทำงานเหมือนเดิม ถือเป็นคติชีวิตเลยว่ามนุษย์ต้องเรียนบทเรียนทั้งยากและง่าย
ฉะนั้น ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นในชีวิต ถ้าเราปรุงแต่งใจของเราว่าชีวิตจะต้องเรียนบทเรียนทั้งยากและง่าย ถ้าเราเลือกจะเรียนบทเรียนที่ง่ายๆ เราก็ไม่เข้มแข็งต่อชีวิต เราไม่มีภูมิคุ้มกันชีวิต แต่ถ้าบทเรียนที่ยากๆ ผ่านมาถึงแล้วเราก้มหน้าก้มตาเรียนมันอย่างดีที่สุด วันหนึ่งเมื่อเราผ่านไปได้ ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัวอีกสำหรับชีวิตนี้ ถ้าเราปรุงแต่งใจให้เป็นสุขได้ ก็จะกลายเป็นว่าเราได้กำไรจากทุกเรื่องที่ประเดประดังถังโถมเข้ามาทั้งหมด
อาตมาเคยมีลูกศิษย์ที่เป็นนายพลอยู่คนหนึ่ง ตั้งแต่รับราชการเป็นนายร้อยตำรวจจนกระทั่งเป็นพลตำรวจโท ท่านบอกว่าท่านอาจารย์ครับ ผมถูกย้ายมาทั่วประเทศไทยแล้วครับ จนของขวัญชิ้นล่าสุดที่ภรรยาซื้อให้ก็คือหัวโขน หัวโขนจากโรงละครแห่งหนึ่ง ตอนแรกที่ได้รับท่านนายพลก็ตกใจมากว่าภรรยาซื้ออะไรแปลกๆ ให้ พอภรรยาอธิบายว่า พี่ หนูย้ายตามพี่มาทั่วทุกภาคของประเทศไทยล่ะ วันนี้จึงซื้อหัวโขนมาให้พี่ ให้พี่รู้เอาไว้ว่าตำแหน่งของพี่มันแค่หัวโขน สวมเสร็จแล้วถอดเสียบ้าง โอ้โห พออธิบายอย่างนี้ ท่านนายพลดีใจมากเลยที่ภรรยาเข้าใจ เพราะกำลังทำงานดีๆ คำสั่งย้ายมาอีกแล้ว ย้ายกันจนชิน ก็เลยเข้าใจว่าชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหละ แล้วท่านนายพลบอกว่า ท่านอาจารย์รู้ไหมครับ ถ้าเกษียณเมื่อไหร่ ผมจะเป็นนักเขียน เพราะผมคิดว่าผมนี่ได้อยู่ครบทุกภาคของประเทศไทยเลย มันคือวัตถุดิบชั้นยอด นั่นคือมองไปในแง่ดี ถ้าปรุงแต่งใจให้เป็นสุขคือคิดเป็นเมื่อไหร่ ถ้าคิดเป็นก็สุขเป็น ถ้าคิดไม่เป็นก็ทุกข์ล้วนๆ
ฉะนั้น วิธีสร้างความสุขประการที่ 4 ก็สำคัญมาก ถ้าเราปรุงแต่งใจให้เป็นสุข เราก็สุขได้เหมือนกัน
ล้อมกรอบ
บทความชิ้นนี้มาจากหนังสือ งานสัมฤทธิ์ ชีวิตรื่นรมย์ ของ ว.วชิรเมธี สนใจหนังสือ หาซื้อได้ในราคาพิเศษเพียง 49 บาท มีจำหน่ายเฉพาะที่ร้านบุ๊คสไมล์ และที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา (รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างวัดป่าชานเมือง)