สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิชาการวิพากษ์ แก้หนี้นอกระบบ ไร้ประสิทธิผล-ปัญหาหนี้เรื้อรังน่าห่วง

จากประชาชาติธุรกิจ



นโยบาย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หรือโครงการสินเชื่อเพื่อปลดหนี้นอกระบบของรัฐบาล ด้วยการโอนหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบโดยผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลผลักดัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบสถาบันการเงิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ จะได้มีเงินสำหรับใช้จ่ายที่จำเป็น รวมทั้งช่วยกระตุ้นประชาชนให้มีการออมเงินเพื่อรักษาวินัยการเงิน และจะช่วยฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง

หากทำได้ตาม วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คงต้องให้คะแนนเต็มกับรัฐบาล แต่ในมุมมองที่แตกต่างของนักวิชาการกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล หรือ Policy watch ของทีมคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินว่า นโยบายนี้ไม่สามารถ แก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง และในที่สุดเมื่อปัญหาหนี้ยังอยู่ประชาชนก็จะหันกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ของ หนี้นอกระบบอีก รวมทั้งประเมินว่าที่รัฐบาลเลือกทำนโยบายแก้หนี้นอกระบบ เพราะทำได้ง่ายกว่าแก้หนี้ในระบบที่มีจำนวนมากและตรงใจประชาชนที่กังวลต่อ หนี้นอกระบบ

นางปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล ฟังธงว่า จากการวิเคราะห์ของกลุ่มประเมินว่า ประสิทธิผลของโครงการนี้ ไม่น่าแก้ปัญหาได้จริง เพราะเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ชาวบ้านหรือลูกหนี้นอกระบบที่ถูกโอนเข้า สู่ระบบจะกลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก และคิดว่าโครงการสินเชื่อเพื่อปลดหนี้นอกระบบไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาหนี้สิน ที่แท้จริง เนื่องจากชาวบ้านมียอดหนี้โดยรวมสูงมากอาจเกินกำลังการชำระคืน แม้อัตราดอกเบี้ยจะลดลงมาและขยายระยะเวลาชำระเมื่อโอนหนี้เข้าระบบแล้ว แต่เมื่อหนี้ในระบบเต็มวงเงินก็อาจมีการหมุนหนี้กลับมาพึ่งหนี้นอกระบบเพื่อ หมุนเงินมาจ่ายหนี้ในระบบเพื่อรักษาสภาพการเป็นลูกหนี้ที่ดีของหนี้ในระบบ โดยกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาลได้คำนวณภาระหนี้ต่อคนจากจำนวนผู้มาขึ้นทะเบียน ที่มีข้อมูลล่าสุด วันที่ 1-13 ธันวาคมที่ผ่านมา มีลูกหนี้นอกระบบขึ้นทะเบียน 264,192 คน คิดเป็นยอดหนี้ 29,094 ล้านบาท โดยขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส.จำนวน 119,505 คน พบว่า มีภาระหนี้เฉลี่ยคนละ 114,909 บาท และธนาคารออมสิน 144,687 คน พบว่า มีภาระหนี้เฉลี่ยคนละ 106,173 บาท

นางปัทมาวดีบอกว่า ตัวเลขภาระหนี้เฉลี่ยต่อคนที่คำนวณได้ถือว่าค่อนข้างสูง แม้จะอยู่ในกรอบวงเงินรายละไม่เกิน 200,000 บาทก็ตาม และเมื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานล่าสุดเกี่ยวกับ หนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 พบว่า ครัวเรือนมีหนี้สินสูงถึง 6.3 เท่าต่อรายได้ กล่าวคือ มีรายได้ 1 บาท แต่มีหนี้ 6.3 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากจนอาจไม่มีศักยภาพในการชำระคืนหนี้โดยเฉพาะเกษตรกร

"หนี้สิน ของครัวเรือนที่สูงถึง 6.3 เท่าของรายได้ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะถือว่าสูงเกินความสามารถที่จะจ่ายคืนแล้ว จึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ลูกหนี้หรือชาวบ้านจะกลับไปกู้นอกระบบอีก ในทางเศรษฐศาสตร์การให้สินเชื่อ 2 เท่าของรายได้ก็ถือว่ามากแล้ว"

เมื่อ ครัวเรือนมีหนี้ต่อรายได้สูง การที่รัฐบาลจะใช้โครงการ สินเชื่อเพื่อปลดหนี้นอกระบบ อาจเป็นการเพิ่มหนี้ให้ครัวเรือนมากกว่าลดหนี้ ทางกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล มีความเห็นว่า โครงการสินเชื่อเพื่อปลดหนี้นอกระบบอาจเป็นนโยบายที่ไม่ถูกทิศทาง กล่าวคือ การให้สินเชื่อในระบบอาจช่วยตอบสนองความต้องการสินเชื่อราคาถูก แต่ไม่ได้แก้ปัญหาหนี้สินโดยรวม เพราะยอดหนี้ต่อครัวเรือนมากจนไม่แน่ใจว่าครัวเรือนจะมีศักยภาพชำระหนี้หรือ ไม่

ที่สำคัญจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่รายงานหนี้ในระบบและนอกระบบในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 พบว่า หนี้ในระบบมีมากกว่าหนี้นอกระบบ โดยสัดส่วนครัวเรือนมีหนี้ในระบบอย่างเดียวสูงถึง 82.9% ของครัวเรือนทั้งหมด และครัวเรือนที่หนี้นอกระบบอย่างเดียวมีสัดส่วน 7.4% ส่วนครัวเรือนที่มีทั้งหนี้ในและนอกระบบมีสัดส่วน 9.7% ของครัวเรือนทั้งหมด

ดังนั้น การแก้หนี้นอกระบบเป็นการแก้ปัญหาหนี้ระยะสั้นเท่านั้น โดยมีข้อดีในแง่ช่วยลดหรือชะลอภาระหนี้ บรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาหนี้สินโดยรวมอย่างแท้จริง

ส่วนการวัดความสำเร็จ ในการแก้ปัญหาหนี้ไม่ควรวัดจากความสามารถชำระหนี้ในระบบได้ตามกำหนด เพราะชาวบ้านอาจกู้หนี้นอกระบบมาใช้หนี้ในระบบเพื่อรักษาเครดิต จึงควรดูที่ภาพรวม นั่นคือยอดหนี้ต่อรายได้ครัวเรือน รัฐบาลจึงควรตั้งโจทย์ที่ลดหนี้ต่อครัวเรือนจากปัจจุบันที่สูงถึง 6.3 เท่าให้เหลือน้อยที่สุด

"ปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้านไม่ได้อยู่ที่ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ แต่ปัญหาคือไม่มีการวางแผนการออมลดค่าใช้จ่าย และต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเรื้อรัง รัฐบาลต้องตั้งหลักว่า ปัญหาหนี้สินเรื้อรังใหญ่กว่าปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อหรือไม่" นางปัทมาวดีกล่าว

กลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล จึงเสนอทางออกการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังว่า ต้องมี "ชุดนโยบาย" ที่มองเป็นองค์รวม โดยเรื่องเร่งด่วนจำเป็นอันดับหนึ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ต้องให้ผู้เข้าร่วมโครงการหนี้นอกระบบต้องวางแผนการออมเพื่อชำระหนี้ด้วยการ เน้นส่งเสริมการออมและลดรายจ่ายครัวเรือน ให้มีการวางแผนการใช้จ่ายและการออมเพื่อปลดหนี้ ซึ่งชาวบ้านอาจไม่ชอบแต่จำเป็นต้องสร้างวินัย

"ถึงเวลาแล้วที่เรา ต้องเปลี่ยนสมการการออมเงิน จากเดิมรายได้ลดรายจ่าย เหลือเท่าไรเป็นเงินออม มาเป็นรายได้ลบเงินออม เหลือเท่าไรจึงนำไปใช้จ่าย ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเน้นสร้างรายได้ให้กับประชาชน แต่การสร้างทำได้ค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยตลาด ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รายได้ไม่แน่นอน ดังนั้นการส่งเสริมการออมน่าจะทำได้ง่ายกว่า" นางปัทมาวดีกล่าว

นอก จากนั้น ต้องมีมาตรการปรับแผนการผลิต เพิ่มศักยภาพการจัดการการผลิตและการตลาดควบคู่กันไป โดยสนับสนุนการรวมกลุ่ม ทั้งหมดดังกล่าวต้องมีพี่เลี้ยงคือ กลุ่มพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร่วมกับ ธ.ก.ส. ออมสิน และองค์กรชาวบ้าน ต้องทำงานผนึกกำลังร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าต่างคนต่างทำงาน ที่สำคัญควรบรรจุในแผนชุมชนที่รัฐสนับสนุนงบประมาณ แนวทางนี้น่าจะทำได้ง่ายในภาคเกษตรซึ่งมีรูปแบบให้เห็นบ้าง แต่ภาคชุมชนเมืองยังไม่เห็นอาจทำได้ยากกว่าภาคเกษตร

ซึ่งแนวทาง สนับสนุนการออมและลดรายจ่ายในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ นางปัทมาวดียืนยันว่าไม่ได้สวนทางกับรัฐบาล และเห็นด้วยที่รัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ควรเอาเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจกับคนที่ไม่มีศักยภาพหรือคนที่มีปัญหา รัฐบาลควรเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ทำให้เกิดการใช้จ่ายตามมา

"ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มภาระหนี้ให้กับชาวบ้านมาใช้จ่ายเพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรเพิ่มการใช้จ่ายด้านอื่นซึ่งยังมีช่องให้ทำได้โดยเฉพาะด้านการลง ทุนโครงสร้างพื้นฐานที่พูดกันมานานแล้ว" นางปัทมาวดีกล่าว

นอกจากนี้ ยังเสนออีกว่า อัตราดอกเบี้ยในโครงการนี้น่าจะปรับขึ้นมาเป็น 15% ต่อปี จากที่กำหนด 12% ต่อปี เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการโครงการลดหนี้จะได้ไม่เป็นภาระต่อธนาคารของรัฐ และช่วยลดภาระงบประมาณ รวมถึงเสนอให้แก้กฎหมายการคิดอัตรา ดอกเบี้ยนอกระบบปรับเพิ่มเป็น 20-24% ต่อปี จากที่กำหนดไว้ ไม่เกิน 15% ต่อปี เพื่อสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งถ้าไปดูสหกรณ์ชุมชน หรือกลุ่มสัจจะฯ ที่องค์กรชุมชนชาวบ้านให้กู้ยืมกันเองในกลุ่มจะคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 24-36% ต่อปี หรือกรณีเกาหลีใต้แก้ปัญหาหนี้ก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 20% เช่นกัน

และภายใต้ความต้องการสินเชื่อสูงแทนที่จะกำหนดดอกเบี้ย 15% ต่อปีอาจต่ำไป และการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจะช่วยให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการกู้ยืม มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มเป็น 20-24% ต่อปีอาจดูเพิ่มขึ้นมากแต่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยนอกระบบที่คิด 20-30% ต่อเดือนหรือต่อวัน

"การกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 15% ไม่สอดคล้องกับ ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ควรแก้ไขไม่เช่นนั้นกฎหมายที่กำหนดไว้จะไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกฎหมายหลาย ฉบับที่เขียนไว้แต่ทำไม่ได้ และการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกวาดล้างหนี้นอกระบบที่ปล่อยกู้ผิดกฎหมาย เชื่อว่าไม่สามารถปราบปรามได้หมด ดังนั้นควรหันมาเน้นการกำกับภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่สามารถทำได้จริงน่าจะดี กว่า" นางปัทมาวดีระบุ

view