จากประชาชาติธุรกิจ
กระทรวงสาธารณสุข เผยการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในสุกรอยู่ในความคาดหมายของนักวิชาการ พร้อมเฝ้าระวังเจ้าหน้าที่ประจำสถานีวิจัยทับกวาง และนักศึกษาฝึกงานรวม 132 คนที่สัมผัสกับสุกรที่ยืนยันติดเชื้อเป็นเวลา 15 วัน ขณะนี้ผ่านไป 6 วันทุกคนยังปกติดี พร้อมออกคำแนะนำกลุ่มเกษตรกรผู้เสี้ยงสุกร และสัตว์เลี้ยง หากป่วยเป็นไข้หวัดห้ามเข้าไปในฟาร์มหรือสัมผัสสุกรอย่างเด็ดขาด และให้แยกเลี้ยงสัตว์ปีกไม่ให้ปะปนกับสุกร ลดโอกาสเกิดการรวมพันธุกรรมระหว่างไข้หวัดนกกับไข้หวัดหมู
วันนี้ (17 ธันวาคม 2552) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวร่วมกับนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กรณีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสุกรที่สถานีวิจัยทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 (ไข้หวัดใหญ่ 2009) เมื่อ 14 ธันวาคม 2552 ซึ่งสถานีวิจัยดังกล่าวเป็นสถานีปรับปรุงพันธุ์สุกร และเป็นที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาสัตวบาล ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นาย แพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในสุกรครั้งนี้ เป็นไปตามที่นักวิชาการทั้งกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงสาธารณสุข ได้คาดคะเนไว้ว่าอาจเกิดขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ และเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดทั้งในคนและสัตว์ควบคู่กัน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในคน ล่าสุดมีคนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ไปแล้วกว่า 8.5 ล้านคน อย่างไรก็ตามหลังพบสุกรติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนควบคุมโรคจากสำนักระบาดวิทยา ลงควบคุมการแพร่ระบาดและสอบสวนโรค ร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2552 พบผู้สัมผัสทั้งหมด 132 คน ประกอบด้วย กลุ่มเจ้าหน้าที่ประจำสถานีวิจัย 37 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักงานและเจ้าหน้าที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ 30 คน ผู้เลี้ยงสุกรในฟาร์ม 7 คน และกลุ่มนิสิต นักศึกษา เจ้าหน้าที่ที่มาฝึกงานในฟาร์ม 95 คน ทุกรายมีชื่อที่อยู่ชัดเจน ติดต่อได้ โดยเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 15 วัน เพื่อดูว่าจะมีการติดเชื้อจากสุกรที่ป่วยไปสู่คนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีรายงานคนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จากสัตว์
นาย แพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผลการเฝ้าระวังจนถึงวันนี้รวม 6 วัน ทุกคนสบายดี จะเฝ้าระวังไปจนถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2552 หากพบรายใดมีอาการป่วย เป็นไข้หวัด เช่นมีอาการไอ มีน้ำมูก หรือเจ็บคอ จะรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้ ในส่วนสถานการณ์ไข้หวัด 2009 ของจังหวัดสระบุรี จากการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ยังไม่พบสถานการณ์ผิดปกติ ด้านผลการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบดื้อยา และเชื้อไม่มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม โดยผู้ป่วยทุกรายที่รักษาด้วยยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้ผลดี ยอดสะสมตั้งแต่พฤษภาคม-13 ธันวาคม 2552 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 29,741 ราย เสียชีวิต 190 ราย
ทาง ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีการติดต่อไข้หวัดใหญ่ 2009 ระหว่างสัตว์กับคนในต่างประเทศ ถึงแม้มีรายงานการติดเชื้อของสัตว์หลายชนิดจากคนก็ตาม แต่ยังไม่พบการติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คน อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท ในวันนี้ กรมควบคุมโรค ได้ออกคำแนะนำการป้องกันการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ระหว่างคนและสัตว์เลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยงเชื้อกลายพันธุ์ สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ปฏิบัติตัวดังนี้
1.ให้หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น เป็ด ห่าน ไก่ นก ในบริเวณเดียวกับที่เลี้ยงสุกร เพื่อลดโอกาสที่เชื้อจะรวมพันธุกรรมระหว่างไข้หวัดนกกับไข้หวัดในสุกร 2.ห้ามผู้ที่มีอาการไข้หวัด เข้าไปในสถานที่เลี้ยงสุกร หรือสัมผัสสุกรโดยเด็ดขาด 3. หากสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น ไอ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ถ้ามีอาการน้อยให้หยุดงานอยู่ที่บ้านประมาณ 7 วัน ถ้าอาการมากหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจป่วยหนัก เช่น มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเลือด หรือกำลังตั้งครรภ์ ต้องรีบไปโรงพยาบาล ห้ามเข้าฟาร์มหรือคอกสัตว์
นอก จากนี้ยังมีคำแนะนำสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อน เช่น แมว สุนัข หากพบสัตว์เหล่านี้ป่วยเป็นไข้หวัดมีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เบื่ออาหาร ซึม หรือมีเยื่อตาอักเสบบวมแดง หากจะสัมผัสสัตว์ต้องสวมถุงมือ อย่าสัมผัสด้วยมือเปล่า และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ และรีบพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจอาการและให้การรักษา ควรให้สัตว์เลี้ยงที่ป่วยอยู่ในกรง ตะกร้า หรือกล่อง เพื่อลดการอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ และระหว่างการเดินทางควรใช้เจลแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ไม่ใช้มือแคะจมูก ปาก หรือจับใบหน้า ประการสำคัญหากผู้เลี้ยงมีไข้ไอเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ซึ่งอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ จะต้องไม่อยู่ใกล้ชิดหรือดูแลสัตว์เลี้ยงใด ๆ ทั้งสิ้น
จากประชาชาติธุรกิจ
รมว.เกษตรฯ เผยสุ่มตรวจฟาร์มหมู สระบุรี ติดไข้หวัดใหญ่ 2009 พบเชื้อเอช1 เอ็น1 วอนอย่าตระหนก
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุกรณีพบหมูในฟาร์มที่ จ.สระบุรี ติดไข้หวัดใหญ่ 2009 จากคน เป็นการตรวจหาเชื้อจาก 80 ตัวอย่างเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ก่อนผลแล็บเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบเพียง 1 ตัวอย่างที่มีเชื้อเอช1 เอ็น1 โดยขณะนี้หมูตัวดังกล่าวหายจากโรคดังกล่าวแล้ว เผยตั้งแต่มีการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ก.เกษตรฯ ได้เฝ้าระวังเชิงรุกตลอด โดยที่ผ่านมาสุ่มตรวจหาเชื้อแล้วกว่า 26,000 ตัวอย่าง วอนประชาชนอย่าตระหนกกับกรณีดังกล่าว หากปรุงให้สุกก็สามารถบริโภคได้ปลอดภัย ทั้งนี้จากรายงานหลายประเทศยังไม่มีการพบเชื้อจากหมูติดสู่คน ยืนยันกรมปศุสัตว์เฝ้าระวังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด
จากประชาชาติธุรกิจ
สธ.ยืนยันหมูตัดหวัดใหญ่จากคน ส่งเชื้อไวรัสให้จุฬาตรวจสอบดีเอ็นเอหวัดหมู นักวิชาการยืนยันหวัดใหญ่ในหมูไม่น่าห่วง
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพบหมูติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่าเกิดขึ้นที่สถานีปรับปรุงพันธ์สุกรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมีติดเชื้อเพียง 1 ตัว ได้รับเชื้อจากนักศึกษาสัตว์บาลที่เข้าไปฝึกงานในพื้นที่ ซึ่งได้ติดหวัดแต่ไม่แสดงอาการชัดเจน จึงไม่มีการเฝ้าระวัง และไปคลุกคลีกับหมูตัวดังกล่าว ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งเฝ้าระวังเจ้าหน้าที่ในฟาร์มและประชาชนข้าง เคียงรวม 132 คน เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งไม่พบผู้ใดล้มป่วย สำหรับหมูที่ติดเชื้อขณะนี้รักษาหายแล้ว ส่วนโอกาสเชื้อกลับสู่คนนั้นจากข้อมูลทั่วโลกจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงาน แต่เพื่อความไม่ประมาทขอให้ยึดหลักล้างมือให้สะอาด หากล้มป่วยไม่ควรเข้าไปคลุกคลีกับสัตว์ ขณะที่เนื้อหมูยังสามารถบริโภคได้ แต่ควรปรุงให้สุกซึ่งเชื้อจะตายที่อุณหภูมิตั้งแต่ 60 องศา ขึ้นไป
ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า กระทรวงเกษตรได้ส่งตัวอย่างเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ที่ตรวจพบจากลูกสุกรวัยอนุบาลในฟาร์มสถานีวิจัยทับกวาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.สระบุรี ไปให้ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการตรวจสอบดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสดังกล่าว รวมทั้งติดตามตรวจสอบว่า เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 หรือไม่ คาดว่าจะได้ผลสรุปในเร็วๆนี้ ส่วนกรมปศุสัตว์ได้สั่ง กักหมูทุกตัวในฟาร์ม และเข้าไปตรวจสอบทุกๆ 3 วัน เพื่อทำลายเชื้อโรคในฟาร์มหมู ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ และยานพาหนะเข้าออกฟาร์ม พร้อมเฝ้าระวังโรคในเขตพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร รอบๆ ฟาร์ม รวมถึงการเข้มงวดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายหมูในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และส่งตัวอย่างเชื้อไปให้
ขณะที่ รศ.นสพ.กิจจา อุไรวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกร คณะสัตว์แพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงกรณีการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A H1N1 ในลูกสุกรวัยอนุบาลนั้น ไม่ใช่ปัญหารุนแรง เพราะในทางวิชาการ เมื่อสุกรเกิดอาการป่วย จะสามารถหายป่วยได้เองภายใน 5-7 วัน ขณะเดียวกันองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( FAO ) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ( OIE ) ยืนยันว่า สุกรที่หายป่วยจากโรคดังกล่าว สามารถส่งเข้าโรงฆ่าสุกรเพื่อบริโภคได้ตามปกติ