จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ศิรารัตน์ อรุณจิตต์: |
Consumer confidence หรือความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นการประมาณความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมและสถานการณ์ เศรษฐกิจส่วนตน
ซึ่งผู้ เขียนเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงคุ้นเคยหรือมักได้ยินการรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีออกมาเสมอ นะคะ โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคนี้ได้ถูกใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งคงจำกันได้นะคะว่า ในการคิดคำนวณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP นั้น จะประกอบด้วยภาคการบริโภค (C) ภาคการลงทุน (I) การใช้จ่ายภาครัฐ (G) และการนำเข้าส่งออกสุทธิ (XM) ซึ่งภาคการบริโภคเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จัดว่าเป็นสัดส่วนสำคัญ คิดเป็นประมาณร้อยละ 55 ของ GDP
ดัง นั้น เมื่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงขึ้น ผู้บริโภคจะมีการบริโภคมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่หากความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำลง ผู้บริโภคจะประหยัดกิจกรรมใช้จ่ายของตนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเช่นกัน
สำหรับในประเทศไทยได้มีศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้สำรวจและรายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดังกล่าวเป็นประจำ ทุกเดือน โดยการสำรวจดังกล่าวได้ดําเนินการโดยออกแบบสอบถามตัวอย่างจากประชาชนทั่ว ประเทศ ซึ่งในรายงานตัวเลขดัชนีประจำเดือนพ.ย. มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามจํานวนทั้งสิ้น 2,242 คน แยกเป็นกลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 40.3 และต่างจังหวัดร้อยละ 59.7 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายและเพศหญิงประมาณร้อยละ 49.8 และ 50.2 ตามลําดับ
ทั้งนี้ ส่วนประกอบของผลสรุปดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer confidence Index : CCI) จะมาจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดที่รายงานออกมาเมื่อต้นเดือนธ.ค. ที่ผ่านมานั้น ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ได้ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 76.5 จากระดับ 75.4 ในเดือนต.ค. โดยเฉพาะการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในอนาคต เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีความหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจปรับตัวแย่ลงเพราะปัญหาทาง การเมือง ภาวะค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงในสายตาผู้บริโภค และปัญหาการระงับการลงทุนใน มาบตาพุด ทั้งนี้การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำ กว่าระดับ 100 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 65 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง
ดังกราฟประกอบ แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของดัชนี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มในช่วงต่อไปคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะมีทิศทางที่ ปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้จากความหวังของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ รัฐบาล จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องกระตุ้นสิ่งต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น เพื่อผู้บริโภคจะได้มั่นใจต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานต่อไป
จากจิตวิทยาในส่วนนี้ ได้ส่งผลเชื่อมโยงถึงการลงทุนในตลาดการเงิน ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ โดยทั้งสองตลาดนี้มีความเกี่ยวข้องกันค่อนข้างสูง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อนักลงทุนมีความมั่นใจต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ มั่นใจต่อเสถียรภาพของรายได้ของตน จึงกล้าที่จะตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จึงค่อนข้างคึกคัก แต่ในทางกลับกันหากนักลงทุนหรือผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจแล้ว ก็ไม่กล้าที่จะใช้จ่ายเงินหรือกล้าที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง จึงมีการโยกย้ายเงินจากสินทรัพย์เสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ที่ปลอดภัยสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออกมาจะส่งผลต่อการ เคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ โดยหากรายงานออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือลดลงจากเดือนก่อนหน้า จะส่งผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุนอย่างรวดเร็วในการ โยกย้ายเงินกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงก่อน เพื่อชะลอการลงทุนและรอความมั่นใจกลับคืนมา เมื่อความต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนสูงขึ้น จึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงของรายงานดัชนีทางเศรษฐกิจ กับการเคลื่อนไหวของการลงทุนในตลาดต่างๆ มีค่อนข้างสูง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็เป็นหนึ่งในปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีความ สำคัญต่อการลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน