จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ประเสริฐ บุญสัมพันธ์
สำหรับด้าน ปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและในหลาย ประเทศ นั่นคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน
และ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาลในหลายประเทศ
หากมองเฉพาะประเทศไทย ผลสำรวจของ World Economic Forum (WEF) พบปัจจัยที่จะก่อปัญหาและอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ ด้วยความมั่นคงของรัฐบาลและความเสี่ยงของการมีรัฐประหาร ความไม่มั่นคงของนโยบายรัฐ ระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ การมีคอร์รัปชัน และปัญหาเงินเฟ้อ
ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนากลยุทธ์จากการใช้จุดแข็งในการขยายโอกาส และการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการนำประเทศไทยสู่อนาคตที่สดใส คือ การเร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ความเชื่อมั่นในรัฐบาล และแนวนโยบายที่มั่นคงที่มุ่งเน้นการทำงานที่โปร่งใส เน้นหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงภาคพลังงาน
ในส่วนของภาคพลังงานนั้น เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ อดีตถึงปัจจุบัน ดังนั้น การสร้างความมั่นคงในการจัดหาพลังงานในราคาเป็นธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ
โดยเฉพาะในอนาคตต้องมุ่งเน้นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน สำหรับประเทศไทยนับว่าโชคดีที่ยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติ และได้มีการพัฒนานำมาใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ประเทศสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่ คือ น้ำมันกว่า 90% ในอดีต จนในปัจจุบันการพึ่งพาการนำเข้าอยู่ในระดับ 58% แต่ก็มีมูลค่าสูง โดยในปี 2551 มีมูลค่าถึง 1.16 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 13% ของ GDP
นอกจากนี้ มีการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย มาพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยทดแทนการนำเข้า และส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจนับเป็นมูลค่ากว่าปีละ 3.6 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานมาโดยตลอด จนทำให้ประเทศมีความมั่นคงในการจัดหาพลังงานในราคาเป็นธรรม โดยจะเห็นได้ว่าราคาพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติของไทยต่ำกว่าหลายประเทศในโลก
สำหรับบทบาทของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคตนั้น มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากภายหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ย่อมหมายถึง ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากความเป็นอยู่และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และจำนวนประชากรที่ยังคงเพิ่มขึ้น
ในขณะที่การสำรวจและผลิตพลังงานมีอัตราการจัดหาที่ลดลงและมีต้นทุนที่สูง ขึ้น จึงเป็นที่คาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญพลังงานว่าหากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่าง รวดเร็ว ราคาพลังงานก็จะเพิ่มขึ้น และอาจหมายถึงจะได้เห็นราคาน้ำมันกลับมาอยู่ในระดับสูงเหมือนเช่นวิกฤติราคา พลังงานในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551
ดังนั้น ประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ จะต้องมีความมั่นคงทางพลังงานในราคาเป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต ในส่วนของ ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีครบวงจรมากว่า 30 ปี ได้มีการดำเนินการในสิ่งเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายๆ ด้าน
(พรุ่งนี้มาติดตามรายละเอียดกันต่อว่า ประเทศไทยในวันพรุ่งต้องทำอย่างไร)