สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเด็นหลักใน ความตกลงโคเปนเฮเกน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์



       บีบีซีนิวส์ - ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากหลายประเทศโดยเฉพาะพวกชาติกำลังพัฒนารายเล็กๆ แต่ในที่สุด “ความตกลงโคเปนเฮเกน” (Copenhagen Accord) ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยสหรัฐฯ ก็ได้กลายเป็นแกนหลักของสิ่งที่ได้จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกนไปแล้ว สาระสำคัญโดยสังเขปของความตกลงดังกล่าวมีดังนี้
       
       สถานภาพทางกฎหมาย
       
       ความตกลงฉบับนี้เป็นการตกลงกันระหว่างสหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ โดยไม่มีอ้างอิงถึงข้อผูกพันทางกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศและนักรณรงค์ด้านการ เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
       
        แม้ว่าบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ จะกล่าวว่าความตกลงฉบับนี้จะต้องยกระดับขึ้นเป็นสนธิสัญญาที่มีข้อผูกพันทาง กฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีการระบุกำหนดเส้นตายในการปรับเปลี่ยนดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งความตกลงฉบับนี้ยังเป็นเพียงสิ่งที่บรรดา 193 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดโคเปนเฮเกนทั้งหมด “ยอมรับ” เท่านั้น ไม่ใช่ “ให้การรับรอง” โดยที่ “การรับรอง” จะต้องอยู่ในรูปที่ทุกประเทศสนับสนุนอย่างเป็นฉันทามติ นอกจากนั้นยังไม่มีความชัดเจนด้วยซ้ำว่า ความตกลงฉบับนี้จะถือเป็นข้อตกลงของสหประชาชาติอย่างเป็นทางการหรือไม่ด้วย
       
       การเพิ่มอุณหภูมิ
       
       ความตกลงฉบับนี้ยอมรับว่าจะต้องจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนที่โลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม
       
        ทว่าภาษาที่เขียนเอาไว้กลับไม่ได้ระบุว่า 2 องศาเซลเซียสนี้คือเป้าหมายอย่างเป็นทางการ หากแต่ว่าทางกลุ่ม “ยอมรับความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า” การเพิ่มอุณหภูมิควรอยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขนี้
       
       นอกจากนั้น ความตกลงฉบับนี้ยังไม่ได้ระบุว่า จะกำหนดให้ปีใดเป็นปีที่จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุด ทั้งนี้ประเด็นนี้ถูกประเทศกำลังพัฒนาซึ่งค่อนข้างร่ำรวยบางประเทศคัดค้าน ไม่ให้บรรจุลงไป
       ความตกลงฉบับนี้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ แจ้งรายละเอียดภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีหน้า ในเรื่องคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในปี 2020 แต่ไม่ได้มีการระบุบทลงโทษใดๆ แก่ประเทศที่ไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาดังกล่าวได้
       
       ความช่วยเหลือทางการเงิน
       
       ความตกลงฉบับนี้สัญญาว่าจะให้เงินช่วยเหลือ 30,000 ล้านดอลลาร์แก่ประเทศกำลังพัฒนาในช่วงสามปีจากนี้ไป แล้วยังยวางกรอบเป้าหมายว่าจะจัดสรรเงินให้ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2020 เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
       
        ทั้งนี้ ประเทศร่ำรวยจะร่วมกันระดมเงินจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์จากหลายแหล่งด้วยกัน “ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้งแหล่งเงินทางเลือกอื่นๆ”
       
        นอกจากนั้น จะมีการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ซึ่งจะสนับสนุนโครงการต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตลอดจนการปรับตัว “การสร้างศักยภาพ” และการถ่ายโอนเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนภูมิอากาศ
       
       ความโปร่งใสเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
       
        ประเทศร่ำรวยให้คำมั่นที่จะสำรวจตรวจสอบ “อย่างเข้มงวด จริงจัง และโปร่งใส” ภายใต้กรอบ ที่ประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change – UNFCCC)
       
        ส่วนประเทศกำลังพัฒนานั้น ความตกลงฉบับนี้บอกว่าชาติเหล่านี้จะเสนอรายงานของประเทศในเรื่องการปฏิบัติ ตามคำมั่นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้วิธีการ “ที่จะมั่นใจได้ว่ามีการเคารพอำนาจอธิปไตยของประเทศต่างๆ”
       
        คำมั่นสัญญาในเรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งต้องได้รับความสนับสนุนระหว่างประเทศ จะมีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ
       
       การทบทวนความก้าวหน้า
       
       ความตกลงโคเปนเฮเกนมีการปฏิบัติตามมากน้อยแค่ไหน จะมีการทบทวนความก้าวหน้ากันในปี 2015 หลังจากที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change - IPCC) ทำการประเมินสภาพภูมิอากาศโลกทางวิทยาศาสตร์ครั้งต่อไปแล้วราวหนึ่งปีครึ่ง
       
       อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์หลายรายชี้ว่า หากรอไปถึงปี 2015 แล้วผู้แทนของประเทศต่างๆ จึงแสดงความต้องการกำหนดเป้าหมายลดอุณหภูมิโลกให้ต่ำลงกว่าเดิม เช่น ให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 2 องศาเซลเซียส ถึงตอนนั้นก็คงสายเกินการณ์เสียแล้ว

view