สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การให้

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :พงษ์ธร วราศัย:


การให้ของขวัญตามโอกาสและเทศกาลต่างๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ว่าชนชาติใดในโลกปฏิบัติกันมาช้านาน
ของขวัญเป็นเสมือนสื่อสัญญาณจากผู้ให้ไปสู่ผู้รับว่า ผู้ให้คิดและระลึกถึงผู้รับ ผู้ให้มีความห่วงใยและปรารถนาดีต่อผู้รับ ความยากง่าย ความถูกแพงในเรื่องของต้นทุนการหาของขวัญที่ตอบสนองต่อเป้าประสงค์ข้างต้น ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลของผู้รับ ความสัมพันธ์ของผู้ให้กับผู้รับ การหาและเลือกของขวัญให้กับผู้รับที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตนเองและมีข้อ จำกัดหรือโอกาสในการไปเสาะแสวงหา

การที่ผู้ให้พยายามเลือกสรรของขวัญชิ้นหนึ่งให้กับผู้รับ ผู้ให้น่าจะมีความคาดหวังลึกๆ ว่า มูลค่าหรือคุณค่าที่ผู้รับประเมินจะคุ้มค่าหรือสูงกว่าเงินที่ผู้ให้จ่ายออก ไป แต่บ่อยครั้งไม่บรรลุเป้าหมาย

แน่นอนว่าผู้ให้อยากจะหาของขวัญที่เมื่อผู้รับเปิดห่อของขวัญแล้ว มีรอยยิ้มปรากฏและมีความปีติดีใจที่ได้รับ และผู้รับเองถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะได้สิ่งของที่ตรงกับรสนิยม ความต้องการ และได้รับอรรถประโยชน์จากของขวัญชิ้นนั้น หากผู้ให้ให้ของขวัญที่โดนใจผู้รับ กิจกรรมหรือธุรกรรมดังกล่าวก็จัดเป็นธุรกรรมที่ก่อให้เกิดความสุขแก่ทั้งสอง ฝ่าย

หากเป็นกรณีที่ไม่พึงปรารถนา ธุรกรรมดังกล่าวจัดเป็นธุรกรรมที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทรัพยากร กล่าวคือ ในส่วนผู้ให้เขาเสียทั้งเงิน เวลา ตลอดจนค่าโสหุ้ยต่างๆ อาจเรียกรวมกันว่าเป็นต้นทุนธุรกรรมการหา

ในส่วนของผู้รับ เขาจะไม่ได้อรรถประโยชน์จากของชิ้นนั้นอย่างน้อยเท่ากับต้นทุนที่ผู้ให้ต้องจ่ายไป

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น การซื้อของให้ตัวเองกับการซื้อของขวัญให้ผู้อื่นนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ อย่างมีนัยสำคัญ หากซื้อของให้กับตัวเอง มนุษย์ตัดสินใจการเลือกบริโภคของเขาด้วยตัวของเขาเอง โดยมีข้อสมมติพื้นฐานว่า มนุษย์ผู้นั้นรู้ถึงรสนิยมและความต้องการของตนเอง รู้ว่าตนมีเป้าหมายอะไร และสามารถตัดสินใจที่จะนำพาตนเองไปสู่ เป้าหมายนั้นได้ เช่น ต้องการแสวงหาความพึงพอใจสูงสุดจากการบริโภคภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่าง จำกัด

ตัวอย่างเช่น มานะตัดสินใจซื้อของสักชิ้นราคา 1,000 บาท ให้กับตัวเขาเอง เงินที่เขาเต็มใจจ่ายออกไปจะเป็นเครื่องวัดมูลค่าหรือความ พึงพอใจที่มานะประเมินว่าเขาจะได้รับจากของชิ้นนั้น สำหรับการซื้อของขวัญให้ผู้อื่นนั้น การเลือกบริโภคสินค้าของบุคคลหนึ่งๆ ถูกตัดสินใจหรือถูกกำหนดโดยบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตนเอง นัยที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ ของชิ้นนั้นที่เลือกโดยผู้ให้อาจไม่ตรงหรือสอดคล้องกับรสนิยมของผู้รับ เนื่องจากผู้ให้ต้องตัดสินใจภายใต้สภาวะแห่งความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับผู้รับ เช่น ผู้รับมีรสนิยมเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร มีของประเภทหรือชนิดนั้นๆ หรือที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กันแล้วหรือยัง

ในปีพ.ศ. 2536 Joel Waldfogel แห่ง Wharton School มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย ได้วิจัยถึงความสูญเสียทรัพยากรจากการให้ของขวัญในช่วงคริสต์มาส โดยตีพิมพ์ในวารสาร The American Economic Review พบว่า ผู้รับตีค่าของขวัญที่ได้รับต่ำกว่าราคาที่ผู้ให้จ่ายไป

จากการสำรวจโดยเฉลี่ย ผู้รับประเมินมูลค่าของขวัญที่ตนได้รับ เท่ากับ 90 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ผู้ให้จ่ายไป พูดอีกอย่างได้ว่า ของขวัญชิ้นหนึ่งๆ จะมีมูลค่าลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถึงมือผู้รับ

นักเศรษฐศาสตร์เรียกมูลค่า 10 เปอร์เซ็นต์ ที่หายไปนี้ว่า ผลประโยชน์สาบสูญ ซึ่ง ก็คือทรัพยากรก้อนหนึ่งๆ ที่สูญหายไปเสียเฉยๆ อันเนื่องมาจากการประกอบกิจกรรมหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่หากไม่เกิดการสูญเสียดังกล่าว ทรัพยากรจำนวนนั้นสามารถเอาไปใช้ทำให้คนอย่างน้อยหนึ่งคนมีความสุขมากขึ้น

พูดได้อีกอย่างว่า หากเปลี่ยนเป็นว่า มานะให้เงินจำนวน 1,000 บาท แก่มานีแทนการให้ของขวัญ มานีสามารถนำเงินดังกล่าวไปซื้อสิ่งที่เธอปรารถนา และทำให้เธอได้รับความพึงพอใจมากกว่าความพึงพอใจจากของขวัญ โดยที่ไม่ได้เสียต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

หากใช้ตัวเลขจากงานวิจัยข้างต้นมาประมาณการความสูญเสียทรัพยากรใน ช่วงเทศกาลคริสต์มาสในกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้คนใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญในเทศกาลดังกล่าว คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณปีละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะพบว่าประโยชน์บางส่วนอันพึงจะเกิดแต่ไม่เกิด เพราะสาบสูญไป มีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

มาถึงตรงนี้ หากถามต่อไปว่า แล้วของขวัญอะไรที่ก่อให้เกิดประโยชน์สาบสูญน้อยที่สุดตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ข้างต้น

คำตอบคือ ของขวัญที่ให้กันระหว่างเพื่อนสนิท หรือที่ให้กันระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว ที่อย่างน้อยผู้ให้ก็พอจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับอยู่พอสมควร เป็นต้นว่า ผู้รับชอบหรือไม่ชอบอะไร มีของประเภทนั้นๆ แล้วหรือยัง หรือต้องอยากได้อะไร

ส่วนของขวัญที่ให้กันระหว่างคนที่ไม่ค่อยไปมาหาสู่กัน หรือไม่ได้สนิทกันมากเท่าที่ควร หรือว่าผู้ให้และผู้รับมีช่องว่างด้านอายุที่ห่างกันมากๆ เช่น คุณยายซื้อของขวัญให้หลานวัย 18 ปี มีแนวโน้มที่จะเกิดประโยชน์สาบสูญมากกว่า ยิ่งผู้ให้เผชิญกับความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตัวผู้รับมาก เท่าไร ประโยชน์สาบสูญก็จะมีมูลค่าสูงขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งให้ข้อเสนอแนะว่า การให้เป็นเงินดีกว่าการให้เป็นของ หรือกล่าวได้ว่า การให้เป็นของสร้างมูลค่าหรือความพึงพอใจแก่ผู้รับสู้การให้เป็นเงินไม่ได้

เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาก็คือ การให้เป็นของนั้นมีข้อจำกัดหรือเป็นการให้โดยผูกเงื่อนไขเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้รับในการแสวงหาอรรถประโยชน์จากการให้ดัง กล่าว และการที่ผู้บริโภคมีทางเลือกที่มากขึ้น โดยทั่วไปมักไม่เคยก่อผลเสียหายแก่เขาผู้นั้น

ยิ่งไปกว่านั้น โดยทั่วไปไม่มีใครจะรู้ดีไปกว่าตัวของเขาเองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา

มีเสียงสะท้อนกลับว่า ข้อเสนอดังกล่าวดูจะเป็นทางออกที่ขัดต่อวัฒนธรรมของการให้ ไร้ซึ่งมารยาท และเหมือนจะใช้สำหรับคนสิ้นคิด

ถึงที่สุดแล้วหากพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ราคาหรือมูลค่าของที่เป็นตัวเงินแต่เพียงอย่างเดียว ใจที่บรรจุใส่ลงไปของผู้ให้ในความพยายามที่จะเลือกสรรสิ่งดีๆ ให้กับอีกคนหนึ่งก็น่าจะทำให้ผู้รับ แม้ว่าจะได้ของขวัญที่ไม่ได้ถูกใจมากนักในแง่ประโยชน์ใช้สอย

แต่ของขวัญชิ้นนั้นก็มีคุณค่าทางจิตใจเมื่อระลึกถึงความตั้งใจที่ผู้ให้ใส่ลงไปในการเลือก

view