จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ CSR talk
โดย ดร.พรชัย ศรีประไพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อิมพีเรียล เวิลด์
ผม มีโอกาสเดินทางขึ้นไปบนดอยอินทนนท์บ่อยครั้ง ทุกครั้งเมื่อผ่านด่านที่ 2 ผมจะมองไปทางซ้าย เห็นป้ายบอกทางไปอำเภอแม่แจ่ม เห็นหนทางที่น่าสนใจเพราะคดเคี้ยวเลี้ยวลด ดูจะแยกออกไปสู่โลกอีกโลกหนึ่ง ผมบอกกับตัวเองว่าวันหนึ่ง ผมจะต้องไปเยี่ยมอำเภอแม่แจ่มให้ได้
แล้ว โอกาสนั้นก็มาถึง เมื่อ มูลนิธิรักษ์ไทย เชิญผมไปประชุมและดูงานที่อำเภอแม่แจ่ม ได้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนที่คดเคี้ยวงดงามน่าประทับใจ ได้เห็นป่าเขียวชอุ่ม สดใส ดูเป็นธรรมชาติ ได้เห็นทิวเขาสลับซับซ้อน พร้อมด้วยเมฆหมอกที่ปกคลุม ยอดเขายามที่อากาศเย็นยะเยือกปลายเดือนพฤศจิกายนเข้ามาเยี่ยมเยือน
ที่ สำคัญสำหรับผมและคนไทยทุกคนก็คือ อำเภอแม่แจ่ม ที่มีพื้นที่ถึง 4,000 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตป่าต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญของประเทศไทย คือ แม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยา 40% ของลำน้ำปิงมาจากลำธารเล็ก ๆ หลายสายที่ก่อกำเนิดในอำเภอนี้ และ 16% แม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้มาจากลำธารเล็ก ๆ ที่สวยงามเหล่านี้เอง ผมได้ไปพบกับ "ลำน้ำแม่แรก" ที่เป็น 1 ใน 3 แม่น้ำที่มาบรรจบกันที่บ้านสามสบ และไหลไปรวมกับลำธารอื่น ๆ จนกลายเป็นแม่น้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด 90% ของพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอแม่แจ่มเป็นพื้นที่ภูเขา มีที่ราบสำหรับการเพาะปลูกเพียง 10% เท่านั้น แต่เนื่องจากที่บริเวณแถบนี้มีเนื้อดินที่อุดมสมบูรณ์ มีอากาศเย็น มีความชื้นที่เหมาะสม จึงมีความพยายามที่จะบุกเบิกหาที่ดินใหม่ด้วยการถางป่าถางภูเขาเพื่อการปลูก ผักและพืชไร่สารพัดชนิด มีการลงทุนจากนายทุนใหญ่ ๆ ให้ชาวบ้านทำไร่ในลักษณะ contract farming มีการปลูกข้าวโพด ผักเมืองหนาว ฟักทอง กาแฟ และพืชผลเมืองหนาวหลายประเภท เมื่อมีการทำไร่ซ้ำ ๆ ในที่ดินเดิมมากขึ้น ที่ดินเริ่มเสื่อม จึงมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีส่วนเพิ่มผลผลิต แต่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญก็คือเมื่อมีการใช้สารเคมีมากขึ้น ต้นทุนการทำไร่ก็สูงขึ้น ทำให้เกิดการย้ายจากที่เดิมเพื่อหาพื้นที่ใหม่ที่ยังอุดมสมบูรณ์ ทำให้ มีการถางป่า ตัดไม้ทำลายป่ากันอย่าง ต่อเนื่อง
ทั้งหมดมีผลกระทบ อย่างรุนแรงกับป่าต้นน้ำ สารเคมีในดินถูกชำระล้างให้ไหลลงไปในน้ำ ป่าที่ถูกตัดไปมากเป็นต้นเหตุของฤดูกาลที่แปรปรวน ทำให้เกิดฝนแล้ง การเผาเศษและซังข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวทำให้เกิดหมอกควันที่ปกคลุมจังหวัด เชียงใหม่และบางส่วนของภาคเหนือ ปัญหาเหล่านี้รุนแรงขึ้นทุกวัน
เจ้า หน้าที่ของรัฐและกลุ่ม NGOs หลายกลุ่มตระหนักดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงพยายามสร้างโครงการหลายโครงการที่จะบำรุงรักษาและป้องกันป่าต้นน้ำใน อำเภอนี้ไว้ให้ได้ โครงการที่เป็นภาพรวมคือ โครงการจัดระเบียบแนวเขตที่ดินและป่าไม้ โดยจัดสัดส่วนของพื้นที่ใหม่ให้ชัดเจน ทำแผนที่ใหม่โดยแบ่งเขตพื้นที่หลักออกเป็น
1) เขตพื้นที่อยู่อาศัย
2) เขตพื้นที่ทำกิน
3) เขตพื้นที่เกษตรกรรม
4) เขตพื้นที่ป่าใช้สอย
5) เขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์
นอก จากโครงการภาพรวมแล้ว ยังมีโครงการย่อย ๆ อีกมากมาย เช่น โครงการฝายดักตะกอน โครงการปลูกป่า โครงการใช้พลังงานทดแทน โครงการปรับปรุงชุมชน โครงการการสร้างอาชีพ โครงการด้านการศึกษา
โครงการ ที่น่าจะยกตัวอย่าง คือ โครงการ CSR ของบริษัท MERCK ประเทศไทย ที่ทำร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้ชื่อโครงการ CAP (Community Caring and Action Partnership)
ภายใต้โครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 4 โครงการย่อย คือ โครงการอาชีพทางเลือก ที่พยายามไปฝึกสอนอาชีพต่าง ๆ ให้กับชาวบ้าน เช่น การทำสปาสมุนไพรแบบ ชาวบ้าน การนวด การทำโฮมสเตย์ ฯลฯ การทำเกษตรยั่งยืนที่สอดคล้องกับธรรมชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรโดยการรักษา ป่าต้นน้ำ และการปรับปรุงคุณภาพของชีวิต โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งทางด้านการศึกษา ประเด็นสำคัญก็คือโครงการเหล่านี้สร้างทางเลือก สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับชาวบ้าน ทางเลือกและโอกาสเหล่านี้จะสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติไปในเวลา เดียวกัน
แต่โครงการเหล่านี้ยังเป็นโครงการ เล็ก ๆ ที่มีความสามารถที่จะไปพัฒนาได้เฉพาะจุดเท่านั้นเอง พื้นที่ 4,000 ตารางกิโลเมตรยังต้องการการดูแลและการฟื้นฟูอีกมาก ยังมีทางเลือกให้ทำโครงการ CSR กับบริษัทที่สนใจอีกมากมาย คุณเจี๊ยบ (นงลักษณ์ แก้วโภคา) สาวแกร่งแห่งมูลนิธิรักษ์ไทย กับทีมงานของเธอ พาผมขับรถไปลุยตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากเขตอำเภอ ทางที่คดเคี้ยวไปตามไหล่เขาและหุบเขานั้นสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นฤดูหนาวที่มีดอกบัวตองเหลืองสะพรั่งอยู่ข้างทาง ที่จริงแล้วทางผ่านจากอำเภอแม่แจ่มนี้น่าจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่จะไป จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นทางที่งดงาม ขับง่าย แถมระยะทางก็ค่อนข้างจะสั้นกว่าทางเลือกเดิม 2 ทางจากจังหวัดเชียงใหม่
หมู่ บ้านต่าง ๆ ที่คุณเจี๊ยบพาคณะของเราไป เป็นหมู่บ้านบนยอดดอยที่ต้องใช้รถประเภท 4 Wheel ขับขึ้นไป พลเมืองของอำเภอแม่แจ่มประมาณ 72% เป็นชาวเขา ส่วนใหญ่ก็เป็น ชาวปกากะญอ (กะเหรี่ยง) ที่เคยทำไร่หมุนเวียน ปลูกฝิ่น ถากถางป่าไปเรื่อย ๆ โครงการหลวงเข้ามามีส่วนเปลี่ยน แปลงวิถีชีวิตให้ชาวเขาเหล่านี้อยู่เป็นที่ขึ้น ทำมาหากินบนพื้นที่ที่มีการพัฒนามากขึ้น
ที่บ้านยอดไผ่ ตำบลแม่ศึก คุณเจี๊ยบแนะนำเราให้รู้จักกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชื่อ การ์ตูน (แม่ตั้งให้เพราะชอบการ์ตูน ผู้ช่วยอธิบาย) ที่นี่เอง ผมเริ่มเข้าใจลักษณะของป่าที่เรียกว่า "ป่าชุมชน" หรือป่าที่ชุมชนช่วยกันดูแลรักษา ป่าชุมชนยังแยกออกเป็นป่าอนุรักษ์ที่ต้องรักษากันอย่างใกล้ชิด ใครจะมาตัดไม้ทำลายป่าไม่ได้ ป่าใช้สอย คือป่าที่ชุมชนอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ ใช้ไม้สร้างบ้าน ฟืน หรือเก็บหาของป่าได้ แต่ไม่ทำลายเนื้อที่ป่าลง และป่าเดปอ คือป่าแห่งจิตวิญญาณของชาวปกากะญอ ชาวบ้านจะนำรกของเด็กแรกเกิดใส่กระบอกไม้ไผ่ไปแขวนไว้กับต้นไม้ โดยเชื่อว่าจิตวิญญาณเด็กจะอยู่กับต้นไม้นั้นและห้ามตัดต้นไม้ต้นนั้น และป่าช้า สำหรับเอาไว้ฝังสมาชิกของหมู่บ้านที่จากไป
บ้านยอดไผ่มี สมาชิก 21 หลังคาเรือน ชาวเขาเหล่านี้เข้าใจถึงคุณค่าของการรักษาป่าและพร้อมที่จะป้องกันไม่ให้ใคร มาบุกรุกทำลาย ผู้ช่วยการ์ตูนเล่าให้ผมฟังว่า ไม่นานมานี้มีคนเข้ามาจับจองที่แถบดอยใกล้ ๆ ชาวบ้านทั้งหมดพากันไปต่อต้านและสามารถขับไล่ผู้บุกรุกออกไปได้
ผู้ ช่วยยังพาผมไปดูการทำไร่ของเขาแบบ "วนเกษตร" คือการปลูกพืชแซมลงไปในพื้นที่ป่าโดยไม่ต้องถางป่าหรือทำลาย มีการปลูกพืชหมุนเวียนหลายอย่าง เช่น กาแฟ ข้าวโพด แตงและฟักทอง ผู้ช่วยเล่าให้ผมฟังว่า เขาปลูกกาแฟไว้ 700 ต้น ต้นหนึ่งน่าจะได้ผลประมาณ 4 กิโลกรัม ราคากาแฟกิโลกรัมละ 11 บาท ซึ่งเขาก็น่าจะทำรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อการเก็บเกี่ยว แต่เอาจริง ๆ เข้าก็ได้เพียง 5,000 บาท ทั้งนี้เพราะต้นกาแฟที่เขาปลูกขาดการดูแลเอาใจใส่ ต้นจึงไม่สมบูรณ์ได้ผลบ้างไม่ได้บ้าง ผู้ช่วยจึงไม่ฝากความหวังไว้กับกาแฟมากนัก เขาต้องไปใช้ที่ดินเกษตรที่ถางป่าเอาไว้เพื่อปลูกข้าวและฟักทองเป็นอาหารไว้ เลี้ยงชีพครอบครัวของเขา
ที่หมู่บ้านยางส้านที่เป็นบ้านปกากะญอเช่น กัน ผมได้เห็นการทำไร่แบบ "ยั่งยืน" "ไร่ยั่งยืน" ต่างจาก "วนเกษตร" ตรงที่วนเกษตรเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ขณะที่ไร่ยั่งยืนเป็นพื้นที่ฟื้นฟูหลังจากที่ดินได้ถูกถางและทำไร่จนดินหมด คุณค่า ชาวบ้านยางส้านค่อย ๆ ฟื้นฟูที่ดินโดยการปลูกหญ้าและต้นไม้ที่รักษาดินไม่ให้เกิดการพังทลายของ หน้าดิน รวมทั้งต้นไม้ที่เป็นพืชผลการเกษตรสลับกันไป เช่นกันชาวบ้านยางส้านปลูกกาแฟ ฟักทอง ข้าวโพด พืชสวนครัว ฯลฯ บนพื้นที่ไร่ยั่งยืนนี้ พวกเขาได้ผลิตผลที่นำไปขายได้ ขณะเดียวกันก็ฟื้นฟูพื้นดินที่เสีย...วันหนึ่งไร่ยั่งยืนก็จะกลายเป็นวน เกษตร
ผมไปเยี่ยม "หอพัก" เด็ก ๆ ที่มารวมตัวกันที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อจะได้มีโอกาสไปโรงเรียน เด็ก ๆ ชาวเขาเหล่านี้อยู่ตามหมู่บ้านที่ห่างไกลและกระจัดกระจายกัน จึงต้องมีโรงเรียนที่จุดจุดหนึ่ง เด็ก ๆ ไม่สามารถไปเช้าเย็นกลับได้ จึงต้องมีระบบหอพักให้เด็กมาอยู่ร่วมกัน ต้องช่วยเหลือตนเองด้วยการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพื่อมาเป็นอาหาร ต้องดูแลตนเอง เสื้อผ้าและสภาพความเป็นอยู่ มี "อาสาสมัคร" ที่คอยมาดูแลเด็กเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง ช่วงอากาศหนาว พวกเขาขาดเสื้อผ้าและผ้าห่ม ผมไปดู "ห้องสมุด" ของโรงเรียนแล้วก็สะท้อนใจ มีหนังสือเก่า ๆ ขาด ๆ อยู่ไม่ถึง 10 เล่ม เด็กเหล่านี้ยังต้องการความช่วยเหลืออีกหลาย ๆ ด้าน โครงการ CSR ที่สนใจเด็ก สนใจการศึกษาของเด็ก มีโอกาสมากมายที่รอท่านอยู่
ในช่วง เวลาสั้น ๆ ที่มา "รู้จัก" กับอำเภอแม่แจ่ม ผมมองเห็น "โอกาส" ขององค์กรที่จะมาทำโครงการ CSR ที่จะเกิดประโยชน์และมีคุณค่าอย่างแท้จริง โครงการที่มีอยู่ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับ "ความต้องการ" ที่มีอยู่ในท้องที่ บริษัทใหญ่ ๆ ที่ทำการเกษตรอาจจะนำความรู้มาช่วยส่งเสริมผลิตผลอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ด้วยวิธีใช้สารเคมีที่บ่อนทำลาย มาช่วยด้านการศึกษา การสร้างอาชีพ การสร้างฝาย
การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ช่วยด้านการปรับปรุงคุณภาพชีวิต สุขอนามัยและอื่น ๆ อีกมากมาย
ชาว เขาส่วนใหญ่อยู่กับธรรมชาติ รักและหวงแหนธรรมชาติ แต่อิทธิพลของกลุ่มทุนที่มุ่งด้านการค้ามากเกินไป ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายต้นน้ำ กิจกรรม CSR จากองค์กรที่มีธรรมาภิบาลเป็นความหวังใหม่ที่จะจุดประกายชีวิตมาช่วยสนับ สนุน เชื่อมโยงกับโครงการหลวงที่พยายามต่อสู้เพื่อหยุดยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมมา นานนับสิบ ๆ ปี
ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาต้นน้ำอันเป็นรากเหง้าแห่งชีวิตของเราไว้ แล้วเราจะรักษาประเทศของเราไว้ได้อย่างไร