จากประชาชาติธุรกิจ
"ม.ร.ว .จัตุมงคล โสณกุล" หรือชื่อเล่นที่ใคร ๆ ก็เรียกติดปากว่า"หม่อมเต่า" ทั้งที่ความจริงแล้ว หากเรียกให้ถูก ควรจะเป็น "คุณชายเต่า" มากกว่า เป็นโอรสสุดท้อง ในจำนวน 4 คน ของพลตรีหม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ชีวิตการทำงานของ ม.ร.ว.จัตุมงคล กว่า 30 ปี ที่อยู่ในแวดวงข้าราชการ ได้รับการยอมรับว่าเป็นขุนนาง "ตงฉิน"ที่น่าเกรงขามคนหนึ่ง หาก ม.ร.ว.จัตุมงคลหยุดชีวิตการทำงานแค่การเป็นข้าราชการ ด้วยตำแหน่งสุดท้ายคือปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
หลังชีวิตข้าราชการ แทนที่จะไปเป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาในบริษัทใหญ่ ๆ เหมือนผู้เกษียณที่ทำกันก็คงไม่แปลก แต่ "หม่อมเต่า" กลับผันตัวเองมาเป็น "นักธุรกิจ" ซึ่งป็นที่ฮือฮาไม่ใช่น้อย
เนื่อง จากบุคลิกของ ม.ร.ว.จัตุมงคลเป็นที่รับรู้กันดีว่า "ปากร้าย พูดตรง" และมี วิธีคิด มุมมอง ที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น ๆ จนบางครั้งทำให้คนที่คุยด้วยถึงกับโกรธไม่พูดด้วยก็มี และเป็นภัยแก่ตัวเอง ก็เจอมาแล้ว และล่าสุดได้กลับเข้ามาธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ แต่ไม่ได้ละทิ้งเรื่องธุรกิจ ไปเสียทีเดียว
"ใคร ๆ ว่าผมปากไม่ดี แต่เวลาปากดี ไม่ค่อยมีใครเข้าใจ" นั่นคือประโยคที่ ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวขึ้นมาในขณะให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" แบบ สบาย ๆ ในวันสุดท้ายของการทำงาน ก่อนส่งท้ายปีเก่า 2552 ต้อนรับปีใหม่ 2553 ที่ผ่านมา
ในระหว่างที่กำลังพูดคุยเรื่องต่าง ๆ นานา ทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน และมุมมองเรื่องต่าง ๆ จิปาถะ เมื่อถามถึงเรื่องการแข่งขันของระบบธนาคารพาณิชย์ในไทย ม.ร.ว.จัตุมงคลก็บอกว่า มีการแข่งขันกันมาก แต่เพื่อให้บริการดีกว่า ไม่ใช่แข่งบริการที่ถูกกว่า และชื่นชมว่า ระบบแบงกิ้งของไทยเยี่ยมจริง ๆ ไม่เคยเห็นแบงกิ้งที่ไหนดีเท่าเมืองไทย แต่มันแพง เพราะไปที่ไหนก็มีแบงก์ให้บริการ มันเป็นต้นทุนของแบงก์ที่เขาลงทุนไป
เมื่อ พูดมาถึงตรงนี้ เหมือน ม.ร.ว.จัตุมงคลนึกออกว่า มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นคล้าย ๆ กัน คือกรณีสายการบินในประเทศ ที่ในอดีตมีเพียงสายการบินเดียว คือไทยอินเตอร์ แต่ปัจจุบันมีหลายสายการบิน ซึ่ง ม.ร.ว.จัตุมงคลบอกว่า ที่เกิดขึ้นได้ ก็เพราะความปากร้ายของตัวเอง "ไปถามปลัดมหิดล (มหิดล จันทรางกูร ปลัดกระทรวงคมนาคม) ตอนนั้นท่านเป็นประธานการบินพลเรือน ท่านบอกว่าสายการบินในประเทศเราดีที่สุดในโลก ผมก็บอก ท่านปลัดครับ ท่านรู้ได้อย่างไรว่า คนไทยไม่อยากได้สายการบินที่ถูกที่สุดในโลก ท่านก็โกรธผมมาก ตอนนี้ก็ยังไม่พูดกัน จากนั้นก็เปิดสายการบินสายที่ 2 ใคร ๆ ก็ว่าผมปากไม่ดี แต่เวลาปากดี ไม่ค่อยมีใครเข้าใจ แต่เวลาปากไม่ดี เข้าใจเร็ว เราพูดกระทบ มันเข้าใจเร็ว พูดแค่นั้นแหละ ประโยคเดียว ท่านเข้าใจ ดูซิ ตอนนี้มีกี่สาย ๆ ซึ่งผมเคลมว่า ของผมทั้งนั้นแหละ"
หรือ แม้กระทั่งการเป็นคนพูดตรง ๆ ก็ทำให้หลุดจากตำแหน่งมาแล้วเหมือนกัน ในขณะที่เป็นผู้ว่าการ ธปท. ซึ่ง ม.ร.ว.จัตุมงคลเคยเล่าให้ฟังครั้งหนึ่งแล้ว และในครั้งนี้ก็ย้ำให้ฟังอีกว่า "คุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้สั่งให้ผมปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แต่ผมตอบไปว่า เพิ่งออกคำสั่งบอกแบงก์ว่า ถ้าจะปล่อยสินเชื่อ ต้องเซ็นชื่ออนุมัติ 2 คนนะ ไม่ใช่ปล่อยโดยไม่ดูอะไร เมื่อพูดแบบนี้ ท่านเป็นนักธุรกิจ ก็เข้าใจดี หมายความว่าอะไร" และนี่คือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ เพราะออกกฎขัดแย้งกับที่รัฐบาลต้องการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องอัตราดอกเบี้ย อย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณแต่งขึ้น เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ
ด้วยบุคลิก ดังกล่าว เมื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคลหันมาสวมบทเป็นนักธุรกิจ จึงสร้างความประหลาดใจให้กับหลาย ๆ คน เนื่องด้วยบุคลิกดังกล่าว น่าจะเหมาะกับการเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากกว่าเป็นนักธุรกิจ แต่สำหรับ ม.ร.ว.จัตุมงคล คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคุ้นเคยกับธุรกิจมาพอสมควร จากครอบครัวที่เคยมีร้านอาหารไทยในลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาแล้วสมัยที่เป็นนักเรียนอยู่ที่นั่น
ม.ร.ว.จัตุมงคลเล่าว่า ตอนไปเรียนที่อังกฤษ (Harrow School และ Cambridge University ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์) แม่ผมเปิดร้านอาหารไทย ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยแรกของโลกก็ว่าได้ ชื่อ "Siam rice" ผู้ใหญ่ ทุกคนรู้จัก แต่ไม่ได้เปิดเพื่อไปทำมาหากินเหมือนคนอื่น แต่เพราะลูกมาอยู่ที่นี่หมด ตอนนั้นพ่ออายุมาก เกิน 60 ปีแล้ว แม่บอกว่า กว่าลูกจะเรียนจบ ตายก่อนได้เจอลูก มีทางเดียวจะเจอกัน คือต้องไปอยู่ที่นั่น แต่ด้วยสถานะที่เป็นหม่อมเจ้าพระองค์เจ้า ไปอยู่ที่นั่น คนรู้จักมากมาย ทุกคนต้องส่งลูก ฝากมากินข้าว ถ้าเป็นแบบนี้ตายแน่ ๆ เลย ก็เลยคิดเปิดร้านดีกว่า อย่างน้อยจะได้มีร้านให้มาอุดหนุน แต่ขาดทุนเกือบทุกปี เพราะที่ร้านจะมี ส่วนหนึ่งที่กันไว้สำหรับเลี้ยงข้าวฟรี นอกจากนี้ บาร์แห่งแรกที่หัวหิน แม่ผมก็เป็นคนเปิด คนแรก เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ชื่อ "บาร์ชิดลมชายหาด"
"แม่ ผมชอบทำอาหาร ร้านที่อังกฤษ อยู่ 7 ปี กำไรปีหนึ่ง ก็เลี้ยงกันจนเจ๊ง เปิด 2 ห้องข้างหน้าเป็นร้าน ส่วนข้างหลังเป็นห้องกินฟรี ลูกสาวเรียนจบก็ทิ้งเลย เก็บข้าวเก็บของกลับ ที่อังกฤษขายหมดแล้ว มีเงินอยู่ ก็แบ่งไปแล้ว ไม่เยอะอะไร"
อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.จัตุมงคลปฏิเสธว่า นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจ ไม่เกี่ยวกันเลย แต่เริ่มจากวิธีคิดในการทำธุรกิจ เป็นวิธีเดียวกับที่ผมทำราชการ คือพอเริ่มชีวิตใหม่ เราก็อยากจะเลือกให้คนรู้จักเรา ใครมาชวนทำธุรกิจ ก็ทำหมด เจ๊งบ้าง อะไรบ้าง แต่ได้รู้จักคนที่ต้องเจอเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นคนขายเฟอร์นิเจอร์ คนขายไก่ สักพักหนึ่ง ก็ค่อยเลิก ตอนนี้ ก็ปิดจนจะหมดแล้ว
"ที่ทำ ธุรกิจ ก็เพื่อสร้างคอนเน็กชั่น และทำเพื่อสร้างภาพ ว่าเราทำการค้าไม่งั้นคนไม่เชื่อหรอก คนที่ออกไปเปิดออฟฟิศ มีห้องประชุม มีลูกค้าไม่กี่ราย สัก 2 ปี ก็เจ๊งหมด ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ ก็ไปเป็นกรรมการของบริษัทใหญ่ ซึ่งผมไม่มีเจตนาเช่นนั้น ผมอยากมีสินทรัพย์ อยากเปลี่ยนจากสินทรัพย์ ซึ่งครอบครัวมีที่ดินเยอะ ผมอยากเปลี่ยนจากสินทรัพย์เป็นธุรกิจ"
ทั้งนี้ ธุรกิจที่ ม.ร.ว.จัตุมงคลเข้าไป เป็นหุ้นส่วน มีตั้งแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า และแม้แต่ร้าน ชุดชั้นในผู้หญิง
ระหว่าง การทำธุรกิจกับรับราชการ ม.ร.ว.จัตุมงคลยอมรับว่า การทำธุรกิจยากกว่า ซึ่งที่ผ่านมา พยายามค่อย ๆ เปลี่ยนสินทรัพย์เป็นธุรกิจ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะมันยาก ทำราชการง่ายกว่า แค่มีแนวคิดดี ๆ พูดเก่ง ๆ ขายเสร็จ ตั้งงบประมาณให้คนอื่นทำ ทำแล้วดี ชาติก็เจริญ ทำแล้วไม่ดี ชาติก็เจริญช้า หน่วยงาน ยังไงก็อยู่ได้ เพราะไม่มีเงิน ก็ไปเก็บภาษี มาจ่าย เพียงแต่ภาษีที่เก็บมาจ่าย มันจะคูณต่อสูง หรือคูณต่อต่ำ (การหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ) แต่เอกชน ขนาดดีแล้ว ยังเสียวเลย และเลิกไม่ได้ด้วย ถ้าหาคนมารับแทนไม่ได้ เพราะตอนเลิกแพง
"ธุรกิจ ที่เลิกมาได้ 2-3 อัน ต้องใช้ฝีมือชั้นเชิง ใช้ความหน้าด้านพอสมควร หาคนรับช่วงต่อบ้าง เลิกเลย เฉย ๆ ก็มีบ้าง แต่คอนแทร็กต์ที่ผมทำทุกอย่าง แม้กระทั่งเป็นราชการ ทุกอันจะมี for back และ buffer หรือกันชน อย่างที่ฝรั่งเขาทำ เลยไม่ค่อยเสียหายสักเท่าไร"
แม้ธุรกิจที่ ม.ร.ว.จัตุมงคลเข้าไปจับ จะไม่มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ และหลาย ๆ แห่งก็ปิดกิจการไปแล้ว แต่ ม.ร.ว.จัตุมงคลไม่ได้หยุด หรือเลิกสนใจธุรกิจอยู่แค่นี้ยังคงเล็งหาโอกาสทำธุรกิจต่อไป แต่วิธีการอาจต่างไปจากที่ผ่านมา
"ตอนนี้ผมคิดออกแล้วว่า สินทรัพย์ผมน้อย เวลาเจ๊ง มันมากสำหรับผม และไม่ได้ช่วยพาร์ตเนอร์ เพราะฉะนั้น บอกพาร์ตเนอร์ทุกคน ใครจะมาคุยด้วยผมบอกว่า ผมไม่ลงเงินด้วย แล้วจะให้ ผมเท่าไรก็เอา ซึ่งตอนนี้กำลังดูอยู่ เป็นโครงการที่มีโอกาส ก็ลองดู เป็นภาคธุรกิจไหน ยังไม่ตอบ"
นั่นคือมุมมองด้านธุรกิจของ ม.ร.ว.จัตุมงคล ที่ไม่เหมือนใคร และยากที่จะหาใครเหมือน
ขณะ ที่มุมมองความคิดเห็นเรื่องการทำนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล ก็ยังแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาเหมือนเดิม เมื่อถามถึงเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบ สถาบันการเงิน จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท ที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินไม่ให้ล้มในช่วงวิกฤตปี 2540 มาถึงปีนี้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบถึง 79,000 ล้านบาท ทำให้กระทรวงการคลังอาจมาขอให้ ธปท.ช่วยรับผิดชอบด้วย จะสามารถทำได้หรือไม่ หรือเห็นว่าควร จะช่วยประสานเรื่องนี้ได้หรือไม่
ม.ร.ว. จัตุมงคลตอบว่า "ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาล โดยหลักใหญ่ที่สุดของการแก้ปัญหา คืออย่าไปแก้ปัญหาที่ไม่มีปัญหา ดังสุภาษิตฝรั่งบอกว่า "Don"t let sleeping dogs lie" คือหลีกเลี่ยงการไปปะทุปัญหาเก่า ๆ หรือ "หมามันนอนอยู่ อย่าไปปลุกมันขึ้นมากัดเรา"
"ตอนนี้ ถ้ามีอะไรทำให้ชาติเจริญ ก็น่าจะทำไป เช่นโครงการต่าง ๆ ที่ประชาชนอยากได้ ก็ทำไป ส่วนแก้ปัญหาของเดิมที่มีอยู่แล้ว และรู้ว่ารอไปอีก 20 ปี มันจะแก้ตัวเอง อย่าไปแหย่มัน"
ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทยที่ควรทำเพื่อให้ชาติเจริญ คือ "การเมือง" เพราะเมื่อมีปัญหาการเมือง ทุกอย่างก็วูบหมด ทั้งนักท่องเที่ยว และ คนจะลงทุนก็ไม่กล้าลงทุน
อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามสร้างกระบวนการต่าง ๆ เพื่อทำให้สังคมไทยสงบ มีขื่อมีแป โดยเฉพาะระบบศาลของไทย ซึ่ง ม.ร.ว.จัตุมงคลเห็นว่า เป็นระบบที่ค่อนข้างดี มีอิสระ น่าเชื่อถือได้ ที่สำคัญ สามารถเป็นขื่อเป็นแปให้กับสังคมไทยได้ ซึ่งศาลพยายามทำ
"ผมไม่อยากเชื่อว่าสังคมเราจะมีขื่อมีแปได้หรอก เพราะคนไทยไม่ชอบ คนไทยชอบผู้มีอิทธิพล เพราะเราชอบผู้มีอิทธิพล แต่ก็มีข้อดีที่ว่า ขอมีคนดีแค่ 5-6 คนเอาไว้ชม"
การแสดงความคิด เห็นของม.ร.ว.จัตุมงคลที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นการใช้คำที่แรง ซึ่งแสดงถึงความปากร้ายของ ม.ร.ว.จัตุมงคล แต่เชื่อว่าคง "โดน" ใจ
ใครหลายคนเช่นกัน
ผมเป็นแค่มือปืนรับจ้าง...ทำได้แค่ปรารภ
จากประชาชาติธุรกิจ
การ กลับมาเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ด้วยเหตุผลว่า ท่านผู้ว่าการ (ธาริษา วัฒนเกส) ชวนให้มาช่วยดูเรื่องกฎหมาย เพราะกฎหมายเขียนไว้ครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะตอนนี้ประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพอย่างยิ่ง มีการเมืองที่ขัดแย้งกันอย่างแท้จริง ก็เลยตั้งใจไม่ทำอะไรเลย ให้อยู่อย่างเดิม
"ถ้าแบงก์ชาติปั่นป่วนอีก จะไปที่ไหน ก็อยากให้แบงก์ชาตินิ่ง ๆ แล้วก็ค่อย ๆ ดู ผมใช้วิธีใครออก ใครมาใหม่ในคณะกรรมการที่สำคัญ ก็เชิญไปกินข้าว ได้แต่ชี้นำและฝาก ๆ เขาไป เพราะประธาน กกท. ไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรเกี่ยวกับนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ว่าให้ยกเว้น ดังนั้นอยากเห็นอะไร อยากได้อะไร ก็ทำได้แค่ไปเที่ยวปรารภกับคนใกล้ ๆ ตัว"
หม่อมเต่าเล่าว่า มีเรื่องที่ปรารภเยอะ ก็ยังไม่ค่อยเห็นตามที่ปรารภไว้ เช่น อยากรู้จัง...ระบบการชำระเงินเมืองไทยมีอะไรบ้าง แต่ก็ยังไม่มา หรือกรณีหาคนมานั่งเป็นกรรมการนโยบายการเงิน ผมจะบอกผู้ว่าการฯว่าอยากได้อาจารย์จากต่างจังหวัดมานั่งบ้าง แต่ท่านบอกไม่มีใคร ผมก็ไปตามหาชื่อมาให้ตามประสาคนดื้อ ท่านก็บอกคนนี้ไม่ได้ทำด้านเศรษฐกิจ แต่ทำด้านธรรมาภิบาล ก็เลยไม่ได้ ซึ่งในทางการเมือง ผมอยากได้ คนต่างจังหวัด และคิดว่ามันเป็นหน้าที่อันหนึ่งของผม คือทำให้คนต่างจังหวัดมีโอกาส ไม่ใช่รู้สึกว่าถูกคนกรุงเทพฯทอดทิ้ง และเราก็ไม่รู้เรื่องต่างจังหวัด
"ผมไม่ใช่คนแบงก์ชาติ เป็นคนละพวก เป็นมือปืนรับจ้างต้องแม่น จะมั่วไม่ได้ แต่ถ้าแม่นแล้วไม่ดีก็ตาย"
แม้ แต่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ต้องหารือกับกระทรวงการคลัง ม.ร.ว.จัตุมงคลก็บอกว่า ไม่เห็นและไม่ทราบว่าเขากำหนดและเสนออัตราใด แต่บอกท่านผู้ว่าการฯให้แจ้งเป็นวาจาหน่อยแค่ว่าถึงขั้นตอนอนุมัติแล้วหรือ ยัง เพราะ กกท.มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการ ถ้าใครถามเกี่ยวกับนโยบายการเงินตอบไม่ได้เลย เดี๋ยวจะอายเขาว่านั่งเป็น กกท. แต่ไม่รู้อะไรเลย ส่วนเสนอว่าอะไรไม่อยากรู้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ และก็กลัวว่าถ้ารู้แล้วจะหลุดจากปากผม
นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องการ บริหารทุนสำรอง การใช้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เป็นเครื่องมือวัดค่าเงินบาทเหมาะสมหรือไม่ ที่ ม.ร.ว.จัตุมงคลบอกว่า ก็นั่ง ๆ ดูตัวเลขอยู่ ก็มีประเด็นให้คิดให้ถามก็ได้แต่ปรารภถาม ๆ เขาไป แต่จะได้คำตอบอย่างไรหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ขณะที่เรื่อง สถาบันการเงิน ม.ร.ว.จัตุมงคลก็ปรารภกับคนแบงก์ชาติว่า จริง ๆ ควรจะให้มีฝรั่งมากกว่านี้ ที่ผมดูอยู่คือธนาคารซีไอเอ็มบี ของมาเลเซีย เก่งมาก ไปซื้อแบงก์แต่ละแห่งในภูมิภาคเป็นสาขา และเป็นสาขาเต็มรูปแบบ เขามีลูกค้าทั่วเอเชีย ซึ่งขณะนี้ เราค้าขายกันเองเพิ่มขึ้นมาก แต่แบงก์ไทยก็ไม่มีใครคิด เพราะในปี 2540 ล้มละลายเลยเข็ดกันหมด และมันยาก ผมอยากให้แบงก์ไทยทำแบบนี้ ไม่งั้นจะแพ้ซีไอเอ็มบี... นี่คืออีกปรารภหนึ่ง
ม.ร.ว. จัตุมงคลยังทำหน้าที่ไปช่วยอธิบายเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับแบงก์ชาติด้วย เช่น ไม่จริงหรอกที่ว่าแบงก์ชาติจองหอง แต่เป็นเพราะคนแบงก์ชาติไม่ค่อยได้เจอคนอื่น ไม่เคยเจอใครเลย
"ผม สั่งให้ทำสำรวจว่า คนแบงก์ชาติ 100 คน ไปกินข้าวกับคนอื่นครั้งสุดท้ายเมื่อไร และก็เรียกเจ้าหน้าที่มาถามว่า มีชมรมกับสมาคมอื่นที่ไม่ใช่ของแบงก์ชาติ แล้วมีคนแบงก์ชาติเป็นสมาชิกบ้างไหม ผมกำลังเก็บตัวเลข เก็บข้อมูลก่อน ผมเป็นวิศวะ ต้องวัดพื้นก่อน ก่อนจะสร้างตึก ตอนนี้วัด ๆ อยู่ เพราะต้องเข้าใจปัญหาก่อน"
สมัยที่เป็นผู้ว่าการ ธปท.เคยไปดูว่า คนแบงก์ชาติที่แต่งงานกันเองมีกี่คน ตอนเป็นผู้ว่าการเลยตั้งกฎไว้ว่า ห้ามแต่งงานกับคนที่นั่งข้างซ้ายข้างขวา 4 โต๊ะ
"ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มาถามผมว่าทำไมต้องตั้งกฎแบบนั้น ผมก็บอกว่าคุณจะได้รู้จักคนเกิน 8 คนไง แต่วันดีคืนดี ดร.รุ่งก็เดินมาบอกว่า ฉันแต่งงานกับคนชั้นล่าง"
ม.ร.ว.จัตุมงคลมี ความเชื่อว่า การที่คนแบงก์ชาติไม่เจอคนอื่นเลย ทำให้ไม่เห็นสภาพความเป็นจริง ส่งผลถึงการทำนโยบายด้วย อย่างกรณีที่แบงก์ชาติออกมาตรการ 30% มหัศจรรย์ ผมบอกคนแบงก์ชาติว่าขอบคุณนะ ดีจังเลยไม่ได้จ่ายเงินให้คอนแทรกเตอร์มา 3 เดือนแล้ว เพราะเงินไม่เข้ามา เนื่องจากเงินผมมาจากเมืองนอก เขาไม่กล้าเอาเข้ามาเพราะกลัวถูกหัก 30% แต่คนแบงก์ชาติเขาไม่เชื่อผมจนถึงทุกวันนี้ เพราะเขาไม่เห็นสภาพความเป็นจริง
สำหรับในฐานะเป็นคนกลางที่คุ้น เคยทั้งแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลัง "ผมมีหน้าที่แค่ดูว่าเจอกัน จะฆ่ากันหรือเปล่า หรือพอไปไหว ถ้าไปไหวเป็นเรื่องเป็นราว ท่านก็มีเบอร์โทรศัพท์ผม ถ้าทนไม่ไหวก็โทร.มาฟ้องผม (ทั้งสองฝ่าย) เราไม่มีอำนาจอะไร ทำงานมาเยอะ คุยได้ทั้งสองฝ่าย แต่ความสัมพันธ์ตอนนี้ใช้ได้อยู่"
ส่วนคติประจำใจของ ม.ร.ว.จัตุมงคลบอกว่า ยึดหลักของ "ขงเบ้ง" คือ "เพื่อนไม่เป็นไรอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ศัตรูเอาไว้ใกล้"
เรื่องสุดท้ายนี้ไม่รู้ว่าแค่ปรารภให้ฟังด้วยหรือเปล่านะ