จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ใครที่ขับรถผ่านสะพานพระราม 9 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงบนตึกสำนักงานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นคือการต่อเติมตัวตึกเพิ่มในส่วนหลังคา พร้อมกับจับโลโก้ "วงกลมสีแดงล้อมรอบต้นข้าว" จากที่เคยวางราบกับหลังคาให้ตั้งขึ้น เสี่ยปั้นทำทำไม?...อยากรู้ศาสตร์แห่งฮวงจุ้ย คลิกอ่านโดยพลัน
หลังจากใช้เวลาเลือกฤกษ์งามยามดีอยู่พอสมควร "บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ก็ได้ตกลงเลือกค่ำคืนวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เชิญเพื่อนพ้องสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจเข้าเยี่ยมชมผลงานเมกะโปรเจ็กต์ของเค แบงก์ ซึ่งถือเป็นการเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ 2553 ไปในตัว
แต่จะพบปะสังสรรค์เพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่วิสัยปกติของนายแบงก์ฝีปาก กล้าผู้นี้ นอกจากจะพูดถึงการปรับฮวงจุ้ยครั้งใหญ่แล้ว เขายังถือโอกาสนี้ฝากวลีที่ไปสะกิดต่อมบรรดาธนาคารพาณิชย์ให้หันกลับมามอง บทบาทของตัวเองที่มีต่อระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง พร้อมกับตบท้ายด้วยประเด็นทางการเมืองพอหอมปากหอมคอ
"ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" จึงถือโอกาสนำข้อความของ "บัณฑูร" มาถ่ายทอดยังท่านผู้อ่าน ณ บัดนี้
@ แก้ฮวงจุ้ยแล้วงานเข้ารูปเข้ารอย
งาน วันนี้ไม่ใช่งานขึ้นบ้านใหม่ แต่ต่อเติมบ้านเลยให้เพื่อน ๆ มาสังสรรค์งานต่อเติมบ้าน ตรงที่เรายืนอยู่ (ห้องรับรองชั้น 38) แต่เดิมเป็นอากาศ แต่ต่อเติมส่วนที่มันลาดลงมา ซึ่งต่อเติมแล้วทำให้ได้คือ 1.พื้นที่ใช้สอยมากขึ้น เช่นห้องนี้ก็สามารถวางโต๊ะจีนได้ 10 โต๊ะ รับแขกได้โดยไม่ต้องออกไปกลางแจ้งก็ได้ 2.แก้ไขโครงสร้างทางวิศวกรรมที่แต่เดิมมีการรั่วของน้ำ เพราะพอมันลาดลงมันทำให้เกิดรอยแยก 3.ตราบริษัทที่เป็นวงกลมสีแดง แต่เดิมไม่มีที่ตั้งดี ๆ เพราะหลังคามันลาด พอเอาตราไปวางมองมาจากไกล ๆ มันก็เป็นรี ๆ มันไม่เต็ม ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดูดีนักสำหรับธุรกิจที่มีตราที่อยากให้คนเห็น ซึ่งตรงตราสัญลักษณ์ยังได้ใช้เทคโนโลยีไฟฟ้าอันใหม่ ที่ทำให้ไฟแรงกว่าของเดิม 20% ดังนั้นมองมาจากที่ไกลจะเห็นตราบนตึกชัดเจนมาก
คือถ้าจะไม่พูดให้เป็นฮวงจุ้ยเลย เดี๋ยวจะไม่สนใจกัน จึงต้องบอกว่าของเดิมที่มันลาด ๆ ก็เหมือนทรัพย์สินเงินทองอะไรก็ไหลลงน้ำหมด ก็เลยทำซะไม่ให้ลาดมันไหลไป แต่มันจะไหลต่อไปก็ไม่รู้ แต่ก็รู้สึกดีที่ได้ทำ ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือเปล่า เพราะระหว่างการก่อสร้าง 1 ปีที่ผ่านมา อะไรในธนาคารก็ดีไปหมด คนข้างนอกอาจจะไม่เห็นชัด แต่จากการทำงานของคนภายในเอง อะไรมันก็ดูเข้ารูปเข้ารอยเข้ามาเยอะ ถึงไม่ออกมาเป็นผลกำไรมากมาย แต่คนทำงานข้างในก็รู้สึกว่าความเข้าใจในโจทย์ร่วมกันเข้าทางกันมากขึ้น ราคาหุ้นก็ขึ้นมาระดับหนึ่ง เช็กตัวเลขปิดตลาดวันนี้ (12 ม.ค.) ปิดตลาดที่ 88 บาท/หุ้น ตัวเลขอะไรมันจะมงคลขนาดนั้น ครั้งสุดท้ายที่ราคาหุ้นธนาคารกสิกรไทย 88 บาท คือตอนที่ผมไปเพิ่มทุนคือปี 2541 หลังจากนั้นมันรูดมาตลอดเลย ผ่านไปแล้ว 10 กว่าปีถึงได้กลับมา ก็เป็นตัวเลขมงคล มีเลข 8 2 ตัว
ห้องรับรองนี้ก็เหมือนห้องอื่น ๆ ในตึกสำนักงานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย ที่มีชื่อเป็นชื่อดอกไม้ ห้องนี้ผมตั้งชื่อเอง "ห้องชมพูภูคา" มาจากชื่อต้นชมพูภูคา ซึ่งอยู่บนดอยภูคา จ.น่าน ทั้งจังหวัดมีอยู่ต้นเดียว ใครที่เคยผ่านไปแถวนั้นจะเห็นว่าเขาทำรั้วล้อมรอบ และเขียนบรรยายว่าใกล้สูญพันธุ์ ทั้งจังหวัดน่านมีอยู่ต้นเดียว และดอกชมพูภูคาสีชมพูสวย จะออกสิ้นเดือน ก.พ. กะว่าจะไปอีกสักหนไปดูเหมือนกัน
@ สร้างธนาคารต้องดึงดูดคนเก่ง
สำหรับ เครือธนาคารกสิกรไทย คุณจะเห็นว่าตอนนี้ทั้งแบงก์เต็มไปด้วยพลังของความเป็นหนุ่มสาว ผู้บริหารของเครือธนาคารกสิกรไทยเป็นคนหนุ่มคนสาว ยกเว้นผมและ ดร.ประสาร (ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย) เพื่อนร่วมงานที่อายุเยอะกว่าผมตอนนี้ก็เหลืออยู่คนเดียวคือ ดร.ประสาร ซึ่งแก่กว่าผมครึ่งปี ที่เหลือเป็นรุ่นหนุ่มสาวและกุมบังเหียนนั่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจจัดการ
เป็นภาพสะท้อนขององค์กรซึ่งมีพลัง ซึ่งมีวัฒนธรรมที่เอื้อให้คนเก่งมาชุมนุมกัน ธุรกิจที่ดีต้องมีโครงสร้างแบบนี้ เป็นธุรกิจที่ให้คนมีฝีมือได้แสดงฝีมือ เหมือนม้าแข่งที่ต้องมีสนามวิ่ง สนามเล็กไปก็ไม่ดี เขาก็ไปหาสนามที่ใหญ่กว่า สนามที่เลี้ยงไม่ดี ม้าก็ไม่เก่ง สนามที่มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่ถึงจะมีม้าแข่งจำนวนมากเช่นเดียวกับธนาคารกสิกร ไทยมี ผมให้เขาคำนวณเชิงสถิติพบว่าอายุเฉลี่ยของผู้บริหารระดับสูงอยู่ที่ 45 ปี ถ้าเอา 57 ปีของผมกับ ดร.ประสารไปเฉลี่ยด้วย ก็แสดงว่ามันมีคนอายุน้อยกว่า 40 ปีรวมอยู่ด้วย ก็เป็นลักษณะขององค์กรที่มีองค์ประกอบพื้นฐานที่จะทำหน้าที่ของธุรกิจได้ดี
@ แบงก์ต้องมีความพอดีระหว่างความกล้าทำธุรกิจกับรักษาระบบการเงินไม่ให้พัง
ที่ บอกว่าทำหน้าที่ของธุรกิจได้ดี เพราะสถาบันการเงินโดยตัวมันเองก็เป็นธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นที่รวมของทรัพยากรทางการเงิน เป็นที่รวมเงินออมของประชาชน ดังนั้นประเทศจะเจริญเติบโตดี ระบบสถาบันการเงินต้องทำได้ดี คือการเอาเงินออมผันออกไปในภาคการค้าการลงทุน และไปทำแล้วไม่เสีย เพราะถ้าเสียหรือทรัพย์ของประเทศเสียไปด้วย เหมือนที่มันเคยเสียเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งความเสียหายนั้นยังอยู่ในภาษีที่ลูกหลานต้องจ่ายต่อไปในอนาคต ซึ่งต้องใช้ไปอีกหนึ่งชั่วคนหรือเปล่าอันนี้ไม่รู้ ดังนั้นคนที่บริหารประเทศและบริหารสถาบันการเงินต้องใช้ความระมัดระวังในการ หมุนเงินออมไปให้เกิดผลงอกเงย ไม่ใช่ไปตกเหวตายในวันข้างหน้า ซึ่งเกือบเป็นปกติของโลกมนุษย์ที่ทุก ๆ 15-20 ปีที่จะต้องเกิดอะไรแบบนี้ เพียงแต่รอบนี้ไม่ได้เกิดที่ทวีปเอเชีย แต่เกิดจากการกระทำที่ฝรั่งเคยมาสอนเราว่าอย่าทำ แต่ตัวเองก็ไปทำในดีกรีที่สูงกว่าที่ภาคเอเชียทำเป็น 10 เท่า
อย่างไรก็ตามการล่มสลายของการเงินซึ่งมันเกิดขึ้นง่ายมาก เพราะสถาบันการเงินมันเป็นธุรกิจที่มีความกดดันที่ต้องทำกำไร ที่มันพังทั้งที่นี่และที่อื่นในโลกนี้ก็เพราะความกดดันอันนี้ ทำให้ฝ่ายจัดการทำในสิ่งที่เสี่ยงเกินกว่าที่ตลาดจะรับได้ แต่ก่อนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เมืองไทยก็เสี่ยง เสี่ยงลงทุนในหุ้นและที่ดิน มันก็ดีในตอนต้นและก็พาทั้งระบบ
แต่ในระบบการเงินที่ดีต้องมีความเสี่ยงในระดับต่าง ๆ และมีระบบบริหารที่จัดการได้เหมาะสม ที่โดยรวมแล้วทำให้เงินที่ปล่อยสินเชื่อไปสู่เศรษฐกิจ เพราะถ้าไม่ปล่อยเอสเอ็มอีเลย ไม่ปล่อยรายย่อยเลย เงินก็ไม่หมุน เพราะคู่ค้ารายเล็กรายน้อยก็จะไม่ได้เงินไปหมุน แต่ถ้าปล่อยมากไปก็จะก่อให้เกิดผลเสีย สถาบันการเงินมันยากตรงนี้ เพราะมันยากที่จะบอกว่าความพอดีอยู่ที่ไหน และความพอดีในวันนี้ อีกวันหนึ่งข้างหน้ามันอาจจะไม่พอดีก็ได้ เพราะเงินปล่อยไปแล้วมันเอาคืนไม่ได้ การจะดูใครว่าบริหารสถาบันการเงินเก่งหรือเปล่าต้องดูให้ครบ 1 วัฏจักร เพราะแค่ทำกำไรปีปีหนึ่ง ใครก็ทำได้ ปั๊มเงินกู้เข้าไป เสี่ยงโน่นเสี่ยงนี่ เดี๋ยวก็ออกมาดูดี เหมือนปี 2540 ตอนนั้นดูดีทั้งนั้นรวมถึงธนาคารกสิกรไทยด้วย ปีปีหนึ่งปล่อยกู้กัน 10-20% แต่ถ้าเก่งจริงต้องอยู่ให้รอด 1 วัฏจักร ซึ่งต้องกินเวลา 15-20 ปี ถึงจะถือว่าเก่ง ซึ่งเก่งด้วยครึ่งหนึ่งต้องโชคดีด้วย
ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงดูเข้มมากกับการที่จะดูแลธุรกิจธนาคารว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ไปซ้ำรอย ประวัติศาสตร์เดิมอีก ซึ่งความกดดันก็จะผ่านมาทางกรรมการธนาคารที่ต้องมากำกับฝ่ายจัดการอีกทีว่า ต้องมั่นใจว่าไม่ไปลงทุน หรือปล่อยอะไรเกินตัว ไปออกอนุพันธ์ประหลาด ๆ
ซึ่งก็สร้างความตึงเครียดให้กับฝ่ายบริหารว่าปล่อยมากไม่ได้กำไรก็ ไม่พอ มันก็จะมีความกดดันโดยธรรมชาติและความกดดันนี้ก็จะมีตลอดไป ซึ่งระบบที่ดีต้องมีความกดดันนี้ ต้องดึงกันระหว่างฝ่ายที่ต้องทำกำไรกับฝ่ายที่คอยดูว่าเราต้องไม่ไปทำอะไร เกินตัว เศรษฐกิจที่ดีนั้นต้องมีความสมดุลระหว่างมีความกล้าในการทำธุรกิจแต่ก็มี ความเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้กำลังพาทุกคนไปเสียทั้งระบบ นี่คือความยากของการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะในภาวะที่มีความผันผวนทั้งโลก ดังนั้นโจทย์มันจึงมากกว่าที่ว่าสถาบันการเงินเอาเงินมาแล้วปล่อยเงินกิน ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นเสือนอนกิน มันเลยโลกแบบนั้นมานานแล้ว
@ แบงก์มีส่วนสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจได้อย่างไร
อยาก ให้ผู้สื่อข่าวถามแบงก์ว่า ต่อไปนี้จะโตอย่างไรให้มีคุณภาพ จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ของธุรกิจสถาบันการเงินอย่างไร ที่พอไปแล้วไปตลอดรอดฝั่งและเป็นสถาบันการเงินที่เจริญงอกงาม ในขณะที่ทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตอย่างมีคุณภาพ มีการค้าขายด้วย
ดังนั้นการจะให้สินเชื่อโตเป็น 20% ตรงนั้นไม่เห็น ถ้ามีตัวเลขนั้นขึ้นมามันอันตราย อย่างที่บอกว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโต 3-3.5% ภาคการเงินปล่อยสินเชื่อได้อย่างมากก็ 7-8% ธนาคารกสิกรไทยก็จะโต 7-9% และธนาคารขนาดใหญ่แห่งอื่นก็จะอยู่ประมาณนี้ จริง ๆ 7-9% นี่ถือว่าตึงด้วยซ้ำ เพราะถ้ามีระบบควบคุมความเสี่ยงปล่อยแบบไม่สะเพร่า การจะหาสินเชื่อให้อยู่ในเงื่อนไขและโต 7-9% จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ปีที่แล้วธนาคารพาณิชย์ก็โต 3-4% ก็ยากแล้ว
ธปท.ก็มีการตรวจสอบว่าสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อที่มีเหตุมีผล ที่ประเทศไทยไม่มีฟองสบู่ในช่วงที่ผ่านมาก็เพราะเกณฑ์การคุมอันนี้ ประเทศไทยก็โชคดีที่ไม่มีฟองสบู่จากสภาพคล่องในประเทศเองหรือจากสภาพคล่อง จากข้างนอกที่เข้ามาปั่น เหมือนกับบางที่ในโลกนี้ที่มีฟองสบู่และมีการแตกไป เช่นที่ดูไบ ที่ใดที่มีสภาพคล่องหมุนมากไป ราคาสินทรัพย์จะถูกดันขึ้นไปและในที่สุดมันก็จะพัง แต่ผมไม่คิดว่าเหตุการณ์แบบนั้นจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เพราะว่าบทเรียนอันเจ็บปวดในอดีต การปรับความคิดของภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งของ ธปท. และการปรับการจัดการของสถาบันการเงิน ดังนั้นจึงเบาใจได้ว่ารอบนี้สถาบันการเงินไม่เป็นประเด็น
@ แก้โจทย์การเมืองคือความท้าทายของคนไทยและไม่มีอัศวินม้าขาวมาช่วย
แต่ ที่เป็นประเด็นคือสภาพแวดล้อมการเมืองที่ไม่เป็นปกติ คือมีเรื่องยื้อกันไม่สามารถเข้าไปจัดการกับเรื่องที่จะนำมาพัฒนาประเทศ ไม่มีเวลามาคิดว่าจะปรับโครงสร้างพื้นฐานการศึกษา ระบบโทรคมนาคมว่าจะทำอย่างไร รถไฟมีมาแล้ว 100 ปี อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ระบบไม่เอื้อให้ใครสามารถเข้ามาจัดการให้ต่อเนื่อง มันวุ่นวายทะเลาะกันอยู่ทุกวัน นี่น่าจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะความท้าทายของภาคการเมืองอย่างเดียว แม้ภาคการเมืองจะเป็นตัวชูโรง แต่เป็นความท้าทายของคนไทย
ทั้งที่ประเทศนี้มีความพร้อมทางทรัพยากร มีความเหมาะสมในที่ตั้งภูมิศาสตร์ ภัยธรรมชาติไม่ค่อยโดนเราสบายที่สุด แต่มีเงื่อนไขที่ทำให้จัดการไม่ได้เต็มที่ เหมือนมันวิ่งไม่ได้เต็มสูบ เข้าเกียร์ไม่ได้เต็มที่ ขามาพันกันอยู่ ปีนี้ขาก็ยังพันกันอยู่ อันนี้เป็นโจทย์ที่ไม่ใช่ผมคนเดียวที่พูด คนอื่นก็พูด ก็น่าติดตาม ซึ่งมันก็ไม่มีแม้กระทั่งรูปแบบของคำตอบ มีคนถามผมว่าจะมีใครมาช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศไทยไหม แล้วกลับไปจินตนาการฟุ้งเฟ้อเดิม ๆ ว่าจะมีอัศวินม้าขาวมาแก้ปัญหา ผมบอกว่าไม่มี ถ้าจะมีก็คนไทยด้วยกันนี่แหละ ที่แต่ละคนจะต้องหาทางออกโดยที่สามารถพัฒนาร่วมกันได้
มีคนถามว่าที่ต่อตึกขึ้นไปนี่ถือว่าเป็นการปรับฮวงจุ้ยไหม ผมบอกว่าใช่ ปรับฮวงจุ้ยนี่มันปรับง่ายเพราะใครมีเงินก็ปรับได้ แต่ที่ยากกว่าคือปรับความเข้าใจ เพราะมีเงินก็ปรับไม่ได้ เพราะถ้าใจไม่เอาด้วยกันแล้วมันก็ปรับไม่ได้ ก็ไม่มีคำตอบเรื่องนี้ มีแต่คำบ่น แต่อย่างน้อยก็เห็นว่านี่คือสภาพแวดล้อมของคนทั้งประเทศไทย
@ โจทย์ของกสิกรไทยเพิ่มศักยภาพชีวิตการเงินทั้งบุคคลและธุรกิจ
ธนาคาร กสิกรไทยเองก็มีโจทย์ของตัวเองว่าเราจะสนองความต้องการของตลาด ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนง่าย ๆ คือในส่วนของลูกค้าบุคคล เราอยากให้ชีวิตทางการเงินของเขาเป็นชีวิตที่เอกเขนก มีความสะดวกในการใช้ธุรกรรมทางการเงินในการออม การลงทุน จัดการการเงินของตัวเอง ขณะที่ลูกค้าธุรกิจ เราอยากให้เขาทำธุรกิจได้เต็มศักยภาพของเขา ทำให้ชีวิตธุรกิจเติบโตไม่หยุดยั้ง
นี่คือหน้าที่ของสถาบันการเงิน เราต้องตั้งปณิธานว่าเมื่อเป็นสถาบันการเงินใหญ่ขนาดนี้ก็อยากทำ 2 หน้าที่นี้ คือทำให้ชีวิตส่วนตัวเป็นชีวิตที่มีประสิทธิภาพ มีความงอกเงยทางการเงิน ขณะธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างที่คิด เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต เป็นส่วนหนึ่งของการจ้างงาน ธุรกิจเติบโตก็ทำให้คนมีงานทำ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ ธุรกิจที่ดีที่สุดคือธุรกิจที่สร้างงานได้ นี่คือหน้าที่ของสถาบันการเงินและเป็นปณิธานของธนาคารกสิกรไทย
@ จัดโครงสร้างความรับผิดชอบเติมเต็มความต้องการของลูกค้า
แต่ ในการทำงานเราต้องแบ่งกันทำ ก็มีการแบ่งภายกลุ่มทั้งลูกค้าบุคคล เอสเอ็มอี และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ แบ่งเพื่อความชัดเจนกระชับในการจัดการ สนองความต้องการทางการเงินของลูกค้า ฉะนั้นถ้าจะคุยกับธนาคารกสิกรไทยในตอนนี้คือต้องถามว่าในแต่ละกลุ่มลูกค้า เราทำอะไรไปบ้าง เพราะนี่คือภาษาที่เราใช้ในธนาคารกสิกรไทยว่าใน 7 กลุ่มลูกค้านี้ เรามีความคืบหน้าอย่างไร เรามองกันเป็นลูกค้าเป็นคนเลยว่า ไม่ว่าเขาจะอยู่ในกลุ่มไหนก็ตาม เราได้รวบรวมสรรพกำลังให้ออกมาเป็นรูปแบบบริการการเงินที่ครบถ้วนหรือยัง ภาษานี้เป็นภาษายุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทย และผู้บริหารทุกคนคุ้นเคยเพราะเราพูดภาษานี้ทุกวันในการจัดการธุรกิจ
แทนที่จะไปพูดว่าปล่อยกู้เท่าไหร่ ระดมเงินฝากเท่าไหร่ นั่นเป็นมิติเล็ก ๆ มิติใหญ่คือเราเพิ่มบริการให้ลูกค้ากลุ่มนั้น ๆ ได้ในระดับที่เขาพอใจหรือยัง จนกระทั่งเขาไม่หนีออกไป ดังนั้นใน 7 กลุ่มลูกค้าก็มีผู้บริหารอยู่ทั้งในธนาคารและบริษัทในเครืออีก 6 แห่ง ที่แยกออกไปตามใบอนุญาตประกอบธุรกิจ บนกระดาษเราแยก แต่บนจิตวิญญาณการทำงานเราไม่แยก ผู้บริหารสวมหมวกสองใบคือการเป็นผู้บริหารของบริษัทนั้น ๆ และหมวกของผู้บริหารของเครือธนาคารกสิกรไทย แล้วพร้อมจะทำงานร่วมกันกับผู้บริหารคนอื่น ๆ ในสายงานเหมือนทีมเดียวกัน ซึ่งในโครงสร้างจะบอกชัดว่าใครคือผู้ประสานงานของลูกค้าแต่ละกลุ่ม คนเหล่านี้ต้องตอบได้ 2 มิติ คือในความชำนาญเฉพาะของเขา และต้องตอบได้ในภาพรวมว่าเครือธนาคารกสิกรไทยเราทำอะไรเพื่อสนองความต้องการ ของลูกค้า นี่คือโจทย์ที่เราตั้งให้ผู้บริหาร ไม่ใช่แยกสายงานใครสายงานมัน เพราะการแยกมันอยู่บนกระดาษ แต่สิ่งที่อยู่ในหัวใจคือฉันเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานเครือธนาคารกสิกรไทย ฉันมีหน้าที่ทำให้ลูกค้าได้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และฉันเข้าใจโจทย์ว่าฉันเป็นอะไร และฉันเป็นอะไรในการแก้โจทย์ให้ลูกค้า
หลังจากได้ฉายแนวทางการทำธุรกิจของธนาคารแล้ว บัณฑูรได้เปิดโอกาสให้ซักถามในหัวข้อที่สงสัย ซึ่งมีการตั้งคำถามดังต่อไปนี้
@ การครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 3 ถือเป็นเป้าหมายสำคัญหรือไม่
ดู ในประวัติศาสตร์สถาบันการเงินไทยจะเห็นว่าส่วนแบ่งตลาดนี่มันขยับยากมาก อยู่กันมาอย่างนี้ 20 ปีมาแล้วก็ยันกันอยู่อย่างนี้ ครั้งสุดท้ายที่มีการขยับผมว่ามัน 20 ปีมาแล้ว ตอนที่มีการโตอย่างรุนแรง กระทั่งเจอวิกฤตบางแห่งก็ล้มหายไป จากนั้นผมก็ไม่เห็นมีใครได้ส่วนแบ่งเพิ่มมันยากจริง ๆ
@ การเข้าไปถือหุ้นในเมืองไทยโฮลดิ้งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมาร์เก็ตแชร์หรือไม่
การ เข้าไปถือหุ้นในเมืองไทยโฮลดิ้งมีความน่าตื่นเต้น คือการทำให้ความสามารถในการสนองความต้องการของตลาดของเราครบ เพราะตลาดมันต้องการทั้งเงินกู้ การลงทุน และการป้องกันความเสี่ยง มันเป็นตลาดเดียวกัน เพราะการที่มนุษย์จะจัดการกับทรัพยากรการเงินของตัวเอง การมารวมกันก็ทำให้มีความพร้อม
มันไม่ได้เพิ่มส่วนแบ่งตลาดในเรื่องเงินกู้ เพราะมันเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง แต่เดิมคนไทยชอบเสี่ยงไม่ซื้อประกัน ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ธุรกิจประกันโตช้ามาก แต่ธนาคารโตเร็วไปพร้อมกับเศรษฐกิจ แต่เพิ่งไม่นานมานี้ที่ทั้งสองธุรกิจมีอัตราการเจริญเติบโตใกล้กัน
ที่น่าตื่นเต้นอีกเรื่องคือมันเป็นการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของ 2 บริษัทที่เคยเกิดขึ้นมาพร้อมกัน ตั้งอยู่ที่ตึกเสือป่า ตอนนั้นตั้งอยู่ 4 บริษัท มีธนาคารกสิกรไทย เมืองไทยประกันชีวิต ล่ำซำประกันภัยซึ่งต่อมาเป็นภัทรประกันภัยและรวมเข้ากับเมืองไทยประกันภัย กับล็อกซเล่ย์ ซึ่งก็เหมือนกับสถาบันการเงินที่เคยอยู่ด้วยกันกลับมารวมกันอีกครั้ง ตอนนี้ถือว่าครบสถาบันการเงินทุกประเภท มีอันเดียวที่ไม่มีคือโรงรับจำนำ มีแต่ล็อกซเล่ย์เท่านั้นที่แยกไปทำหวยออนไลน์ จึงไม่สามารถรับเข้ามาอยู่ในเครือธนาคารกสิกรไทยได้เพราะมันอันตราย
@ การกลับเข้ามารวมกันอีกครั้งของธุรกิจของ "ล่ำซำ" มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ธุรกิจของตระกูลขึ้นเป็นอันดับหนึ่งหรือไม่
นี่ถือเป็นสมมติฐานที่ผิด เพราะกลุ่มล่ำซำถือในธนาคารกสิกรไทยน้อย มีแต่เมืองไทยประกันชีวิตที่ถือกันมากอยู่ แต่ตอนนี้ก็กระจายเป็น 3 กองแล้ว คือกลุ่มเดิมคือตระกูลล่ำซำ กลุ่มหนึ่งแบ่งให้โฟร์ทิส กองหนึ่งก็เป็นธนาคารกสิกรไทยซึ่งก็ไม่ใช่ล่ำซำ แต่เผอิญมันติดที่ว่าคนบริหารรุ่นนี้เป็นกสิกรไทย แต่ถ้าดูตัวคนตอนนี้ก็มีเพียงผมกับคุณกฤษฎา (ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการ) เท่านั้นที่เป็นล่ำซำ ที่เหลือก็เป็นผู้บริหารที่มีศักยภาพคนอื่น เมืองไทยประกันชีวิตเคยเป็นล่ำซำ จริง ๆ พ่อผมก็เริ่มชีวิตการทำงานที่เมืองไทยประกันชีวิต กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงผู้ใหญ่ทางแบงก์เสียชีวิตไปจึงได้เข้ามาบริหาร ธนาคาร แต่สักพักเมืองไทยประกันชีวิตก็จะไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวเพราะต้องมีโจทย์การ จัดการที่สูงขึ้น
@ ธนาคารกสิกรไทยจะไปในภูมิภาคหรือไม่
นอก จากธนาคารกรุงเทพแล้วยาก ผมดูแล้วธนาคารพาณิชย์ไทยศักยภาพที่จะไปภูมิภาคยาก ธนาคารกรุงเทพเองมีฐานจากการเติบโตมาแบบนั้น อย่างธนาคารกสิกรไทยเองที่ไปที่เดียวคือเมืองจีน ก็ไปเริ่มเล็ก ๆ ได้แค่นี้ ที่อื่นไม่มีกำลังไป หนึ่งไม่มีกำลังของขนาดที่จะไป เห็นใหญ่ตรงนี้ไปมาตรฐานโลกแล้วเล็กนิดเดียว อย่างที่สองคือไม่มีกำลังการจัดการ มันต้องมีคนจัดการ แค่ในเมืองไทยก็หาคนมาจัดการยากแล้ว ยิ่งถ้าไปทำต่างประเทศ สถาบันการเงินไทยไปไม่ถึง แม้กระทั่งจีน ผมก็เชื่อว่านอกจากธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยแล้วก็ยังไม่มีธนาคารไหน ไป เพราะโจทย์มันวิ่งหนีไปทุกวัน ไล่ไม่ทัน เราเล็กนิดเดียว แต่เรามีรูปแบบด้วยการไปปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีจีนที่สาขาเสิ่นเจิ้น เป็นการเริ่มต้นก้าวแรกก็ดูดี ถ้าสำเร็จก็จะแตกหน่อเป็นสาขาที่สองและสาม ชีวิตการทำงานของผมคงอยู่แค่ที่จีน ที่อื่นมันมองไม่เห็นคือมันไม่มีแรงไม่มีเวลา และดวงไม่ให้ด้วย ให้อาจารย์ดูให้แล้ว ดวงผมดีที่จีนที่เดียว ถ้าไปอินเดียมีแต่เจ๊ง เลยไม่ต้องไปคิดอะไรมาก
@ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไร
อย่าง ที่ได้พูดไปแล้ว การเมืองมันเป็นโจทย์ของคนไทย มันไม่สามารถแก้โดยนักการเมือง แต่มันแก้ด้วยคนไทย จะทำอย่างไรให้เกิดรูปแบบการจัดการที่ต่อเนื่อง ไม่ลุกขึ้นมาฆ่าฟัน ผมไม่มีคำตอบ แต่มีจินตภาพว่าการเมืองประเทศที่ดีเป็นอย่างไร คือมีกฎกติกาที่ชัดเจน มีพลังของประชาชนที่ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปตามกติกา ซึ่งตอนนี้เมืองไทยไม่มี หนึ่งไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจนแล้ว แต่จะอ้างกติกาอันไหน รัฐธรรมนูญฉบับไหน
อีกอย่างต่อให้มีกติกาชัดก็ไม่มีการบังคับให้เป็นไปตามกติกา มันถึงวุ่น เลยไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่รู้ว่าใครทำถูกทำผิด ผิดแล้วต้องรับผิดไหม คนหนึ่งก็บอกว่าคนหนึ่งผิด คนผิดก็บอกว่าฉันไม่ผิด มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะอ้างกติกาข้อไหน ประเทศอื่นที่เขาพัฒนาแล้ว กติกาเขาจะแม่น ถ้าไม่ชัดก็จะแก้ให้ชัดเจนโดยสันติ ที่ที่กติกาไม่ชัดเจนไม่สอดคล้องกับโลกความเป็นจริงของมนุษย์ การบังคับใช้ก็ไม่เด็ดขาด มันก็ไม่มีโครงสร้างให้มนุษย์ทำงานกันอย่างจริงจังได้ ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่อยากได้ อันนี้แหละคือสิ่งที่อยากได้ แต่ไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหน แต่ที่แน่ ๆ ไม่มีอัศวินม้าขาวมาหยิบยื่นให้
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากเห็นคือการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของการศึกษา เพราะมันแข่งกันเหลือเกิน ทุกที่ที่ผมไปดูมาที่มีการพัฒนาที่ดี การศึกษาเขาต่อเนื่องมาก อย่างประเทศจีนเราคิดว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์จน ๆ แต่ไปดูจริง ๆ สิ่งที่ไม่เคยไม่ดีเลยของจีนคือโครงสร้างการศึกษา ทุกคนอ่านออกเขียนได้ มีเกณฑ์ชัดว่าเรียนระดับใดต้องอ่านออกเขียนได้ระดับไหน และเมื่อได้เวลาที่จีนต้องพัฒนาก็อยู่บนโครงสร้างความรู้ของประชากร ซึ่งมันก็สามารถทำงานได้เก่ง มีประสิทธิภาพ โครงสร้างการศึกษาของไทยก็ไม่แน่ใจว่าทำยังไง ไม่เช่นนั้นความสามารถของคนก็จะถอยหลัง
ระบบโทรคมนาคมก็เป็นอีกประเด็น มนุษย์เราต้องใช้ระบบการขนส่ง การสื่อสาร แต่ประเทศไทยเราต่อไม่ติด รถไฟประเทศอื่นมีไปถึงทุกจังหวัด แต่ประเทศไทยก็มีอยู่แค่นี้มาแต่ไหนแต่ไร รถไปเมืองก็ไม่ต่อกัน ลงจากรถไฟฟ้าก็ไม่มีรถต่อ เมืองไทยก็ไม่เก่งเรื่องนี้ โทรคมนาคมอย่างเรื่อง 3G ก็ไม่รู้จะจบอย่างไร โจทย์ที่คนอื่นเขาทำไม่กี่ปี เมืองไทยทำไม่เป็น และไม่มีใครตอบได้ว่าที่ถูกที่ผิดนี่คืออะไร รู้อยู่อย่างเดียวคือมันไม่เสร็จ หรือเสร็จก็เสร็จช้า
สรุปแล้วคือของเรานี่ ระบบกติกาที่ไม่ชัด ระบบการศึกษาก็ไม่แน่ว่าได้เอื้อให้คนมีความคิด และระบบสื่อสารโทรคมนาคมไม่ปะติดปะต่อ ทำให้ระบบมันอืด และก็สู้คนอื่นไม่ได้ แต่พอพูดแล้วเมืองไทยนี่มันก็แปลกนะ ทำกันเฮง ๆ ซวย ๆ ยังไงคนก็อยากมาเที่ยว ตราบใดที่ไม่ได้ลุกขึ้นมาตีกันในถนนเกินไป คนก็ยังเอาเงินมาลงทุน มากินมาใช้ มาเที่ยว ประเทศนี้ก็มีทั้งดีและไม่ดี