สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อยากได้คณะกรรมการแบบไหน (ต่อ)

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ยุทธ วรฉัตรธาร:


ในเมื่อคณะ กรรมการมีความสำคัญ และเป็นเสาหลักในการกำกับดูแลกิจการให้ดี มีกำไร เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน คณะกรรมการต้องมีหน้าตาแบบไหน อย่างไร จึงจะเป็นคณะกรรมการในความคาดหวังของทุกฝ่าย ซึ่งได้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมด และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย
ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรษัทภิบาลให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับแนวหรือหลักปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ของคณะกรรมการไว้ ดังนี้

1.คณะกรรมการควรมีสมาชิกหรือขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ในไทยส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 9-11 คน ต่างประเทศบอกว่าจำนวนที่เหมาะสมน่าจะอยู่ระหว่าง 10-12 คน ไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับขนาด โครงสร้าง และความซับซ้อนของธุรกิจ มีบางสำนักแนะนำว่า ขนาดคณะกรรมการควรมีขนาดเล็กพอที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.สมาชิกในคณะควรมีความรู้ ประสบการณ์หลากหลาย สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจ และลักษณะงานของบริษัทที่คณะกรรมการสามารถให้คำแนะนำหรือสร้างคุณค่า ประโยชน์ให้บริษัทได้

3.มีกรรมการอิสระในคณะเพียงพอที่จะคานอำนาจหรือ ผลักดันให้คณะกรรมการทำหน้าที่อย่างอิสระ โปร่งใส ในไทยกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ในต่างประเทศบางประเทศแนะนำว่าไม่ควรต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง

4.มีกรรมการที่เป็นผู้บริหารไม่ควรเกิน 2 คน

5.ควรแต่งตั้งให้มีคณะกรรมการชุดย่อยให้ช่วยสอบทานและกลั่นกรอง เรื่องราวต่างๆ แทนคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการสรรหา เป็นต้น โดยสมาชิกในคณะต่างๆ เหล่านี้ควรเป็นกรรมการอิสระทั้งหมด ในประเทศไทยแนะนำให้ส่วนใหญ่เป็นกรรมการอิสระ และประธานของคณะควรเป็นกรรมการอิสระ

6.ในบางประเทศกำหนดให้กรรมการมีอายุไม่เกิน 70 เมื่ออายุครบ 70 กรรมการท่านนั้นต้องยื่นใบลาออกโดยไม่ต้องให้เชิญออก ประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดเรื่องนี้

7.กำหนดจำนวนบริษัทที่กรรมการแต่ละท่านไปรับตำแหน่งกรรมการใน บริษัทอื่นๆ เพื่อไม่ให้กรรมการแต่ละท่านเป็นกรรมการมากบริษัทเกินไปจนทำหน้าที่ไม่ได้ เต็มที่ หลายประเทศกำหนดไว้ไม่ควรเกิน 5 บริษัท เช่นเดียวกับไทย

8.กำหนดไม่ให้กรรมการรับค่าตอบแทนที่อยู่ในรูปแบบของค่าที่ปรึกษา ค่าทนาย หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ

9.กำหนดไม่ให้เป็นกรรมการสลับบริษัท (Interlocking Directorships) เช่น ตกลงกันโดยให้นาย ก. ไปนั่งเป็น กรรมการของบริษัทนาย ข. และให้นาย ข. ไปนั่งเป็นกรรมการบริษัท นาย ก.

10.ต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการทุกปี ในประเทศไทยแนะนำให้ประเมินการปฏิบัติงานทั้งคณะ ไม่ประเมินเป็นรายบุคคล รัฐวิสาหกิจไทยและในต่างประเทศประเมินเป็นรายบุคคลด้วย

11.คณะกรรมการต้องทำหน้าที่พิจารณา สอบทาน และอนุมัติ กลยุทธ์ธุรกิจ และแผนงานทั้งระยะยาวและระยะสั้น

12.ต้องเชื่อมโยงค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงสุด (CEO) กับผลประกอบการ

13.ต้องมีการประเมินผลงานของ CEO โดยคณะกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารทุกปี

14.ควรกำหนดจำนวนวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการแต่ละคน เพื่อไม่ให้อยู่นานเกินควรจนอาจทำหน้าที่โดยไม่อิสระ บางประเทศกำหนดไว้ไม่เกิน 10-15 ปี ในต่างประเทศมีการแนะนำว่าไม่ควรเกิน 3 วาระ โดยเป็นเฉพาะกรรมการอิสระ

ทั้งหมดข้างต้นคือแนวทางหรือหลักปฏิบัติที่ดีหลักๆ ที่ใช้ในการประเมินคุณภาพของคณะกรรมการ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อยเองก็ควรให้ความสนใจและให้ความสำคัญ เพื่อจะได้ช่วยผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนทั้งหลายมีคณะกรรมการที่มีคุณภาพ ซึ่งเท่ากับช่วยผลักดันให้สามารถยกระดับบรรษัทภิบาลของไทยโดยรวมด้วย เพราะในบรรดา 5 หมวดหลักของบรรษัทภิบาลที่แนะนำโดย OECD ที่เคยกล่าวถึงแล้ว หมวดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นหมวดที่ได้คะแนนต่ำที่สุดทั้งจากการ ประเมินของหน่วยงานของธนาคารโลก ของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ และวารสารทางการเงินของต่างประเทศ

ท้ายสุดนี้ขอเรียนย้ำว่า การเลือกกรรมการเป็นบทบาท และหน้าที่ที่สำคัญของผู้ถือหุ้น นอกจากการใช้แนวทางข้างต้นในการพิจารณาแล้ว ยังอาจใช้แนวทางง่ายๆ ประกอบคือ เลือกกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและรู้จักทำหน้าที่ที่พึงกระทำ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น เลือกกรรมการที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ รู้จักใช้วิจารณญาณในเรื่องถูกผิด หรือความถูกต้องเป็นหลักสำคัญในการตัดสินใจ มีความสามารถรู้ถึงสัญญาณของปัญหา

ในประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพทั้ง กรรมการเป็นรายบุคคล และทั้งคณะ กล่าวคือ นอกจากจะเป็นสถาบันหลักในการให้ความรู้แก่กรรมการแล้ว ยังมีการคัดเลือกคณะกรรมการดีเลิศและดีเด่นทุกๆ 2 ปี ผลการคัดเลือกล่าสุดทราบผลไปแล้วใน เดือนพ.ย. 2552 ท่านนักลงทุนทั้งหลายสามารถอาศัยแนวทางคัดเลือกของสถาบันประกอบการตัดสินใจ ทั้งลงทุนและใช้สิทธิในการเลือกกรรมการ (เฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับเรื่องของคณะกรรมการนะครับ)

view