จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ การเงินปฏิวัติ
โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org
ถ้า ถามคนไทยว่า "บทบาท" ของผู้ถือหุ้นคืออะไร คนส่วนใหญ่อาจจะงงว่าผู้ถือหุ้นทำอะไรอื่นอีกหรือ นอกจากซื้อขายหุ้นด้วยความหวังว่าจะได้กำไร ไม่วันนี้ก็วันหน้า
ที่ ผ่านมา บทบาทของผู้ถือหุ้นไทยนอกเหนือจากนี้จำกัดอยู่แค่การรวมตัวกันฟ้องกรรมการ บริษัทหรือผู้บริหารที่หลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้ถือหุ้น ซึ่งหลายครั้งก็เป็นการกระทำที่สายเกินแก้ เพราะไม่ได้ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม มารู้ตัวอีกทีคนโกงก็หนีไปแล้ว ถ้าโชคดีก็ต้องร้องเพลงรอนานหลายปีกว่าตำรวจจะเอาตัวกลับมาขึ้นศาลได้ ถ้าโชคร้ายคนโกงก็จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในต่างแดนจนหมดอายุความ แถมบางคนยังกลับมามีหน้ามีตาในสังคมความจำสั้นได้ด้วย
สังคมเราคุ้น เคยกับบทบาทของผู้ถือหุ้นแต่เพียงเท่านี้ คือทวงผลประโยชน์ทางการเงินที่ตัวเองควรจะได้แต่ไม่ได้ ทั้งที่ผู้ถือหุ้นทำอะไร ๆ ได้มากกว่านั้นมากในฐานะ "เจ้าของ" บริษัท ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ถ้าผู้ถือหุ้นอยากเห็นบริษัททำประโยชน์ส่วนรวม
ในสหรัฐอเมริกา การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 1970 คึกคักขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของตลาดหุ้นและนักลงทุนสถาบัน อาทิ กองทุนบำนาญ กองทุนรวม รวมถึงองค์กรไม่แสวงกำไรหลายรูปแบบที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ มหาวิทยาลัย โบสถ์คริสต์ และมูลนิธิต่าง ๆ ประกอบกับการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เพิ่มอำนาจให้กับผู้ถือหุ้นมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง
ศตวรรษที่ 21 เปิดฉากด้วยตลาดหุ้นแนสแดคดิ่งเหวในปี 2001 ปีต่อมาเกิดกรณีอื้อฉาวที่ผู้บริหารระดับสูง หรือกรรมการบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น เอ็นรอน ไทโค และเวิรลด์คอม ตกแต่งบัญชี ยักยอกเงิน หรือฉ้อโกงวิธีอื่น ปะทุขึ้นติด ๆ กัน ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจขนาดใหญ่ในสายตาประชาชนตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมา ก่อน นักลงทุน นักเคลื่อนไหวในอเมริกา จึงผนึกกำลังกันทำงานอย่างเป็นระบบและติดตามสอดส่องการทำงานของกรรมการและ ผู้บริหารอย่างใกล้ชิดกว่าในอดีต โดยเฉพาะประเด็นการได้โบนัสสูงลิบ สวนทางกับผลขาดทุนของบริษัท
"การเคลื่อนไหว" ของผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่ถือหุ้นจำนวนมากพอที่จะส่งผลกระทบกับราคาหุ้นได้ ถ้าขายทิ้ง (อย่างน้อยร้อยละ 0.5) มีมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่การ "แสดงออกด้วยเงิน" (ขายหุ้นทิ้ง) นัดหารือกับกรรมการหรือผู้บริหารเป็นการส่วนตัว ทำแคมเปญรณรงค์ผ่านสื่อเพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมให้กรรมการหรือผู้บริหาร รู้สึกอับอายจนเปลี่ยนพฤติกรรม ไปจนถึงการฉวยใช้ช่องทางตามกฎหมายให้เป็นประโยชน์ เช่น ผนึกกำลังกับผู้ถือหุ้นรายอื่นเพื่อเพิ่มวาระในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (ตามมาตรฐานสากล การเพิ่มวาระต้องใช้หุ้นที่มีสิทธิออกเสียงรวมกันร้อยละ 1 กฎหมายไทยให้ใช้ร้อยละ 5) และรณรงค์ให้ผู้ถือหุ้นร่วมกันลงมติในประเด็นสำคัญ ๆ เช่น ถอดถอนกรรมการหรือผู้บริหารที่มีพฤติกรรมมิชอบ เสนอวิธีปรับปรุงแผนธุรกิจ สนับสนุนหรือคัดค้านแผนการซื้อกิจการ หรือคัดค้านแผนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ชอบมาพากล (เช่น สุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการผ่องถ่ายผลประโยชน์จากบริษัทไปสู่ตระกูลผู้ก่อตั้ง)
ใน วรรณกรรมบริหารธุรกิจ ผู้เขียนยังไม่เห็นผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นคนไหนมอง ว่าเรื่องนี้ดีอย่างไร้เงื่อนไข แต่ก็มีความเห็นที่เห็นพ้องต้องกันแล้วระดับหนึ่งว่า บริษัทที่ผู้ถือหุ้นคอยสอดส่องดูแลการทำงานของคณะกรรมการและผู้บริหารน่าจะ มีโอกาสประสบความสำเร็จในระยะยาวมากกว่าบริษัทที่ผู้ถือหุ้นปล่อยปละละเลย ไว้วางใจคณะกรรมการเกินไป หรือสนใจแต่ราคาหุ้นระยะสั้น
ในภาวะปกติ บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวเปรียบเสมือนตึกที่มีสัญญาณเตือนไฟไหม้ ที่ครอบคลุมทั่วทั้งบริเวณ เพราะลำพังการมีอยู่ของผู้ถือหุ้นแบบนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้กรรมการและผู้ บริหารตื่นตัว ไม่ลุแก่อำนาจหรือเคยตัวจนถลุงเงินบริษัทไปใช้อย่างสิ้นเปลืองหรือสูญเปล่า ในภาวะที่บริษัทมีผลประกอบการย่ำแย่ ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวก็เปรียบเสมือนบุรุษดับเพลิงที่จะวิ่งมาดับไฟไหม้ และกอบกู้บริษัทให้ฟื้นคืนชีพได้เร็วกว่าถ้าไม่มี ดังนั้นถ้าผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวทำงานอย่างแข็งขันและรู้เท่าทัน ผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ก็จะพลอยได้ประโยชน์ไปด้วยจากราคาหุ้นและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นจากผลกำไรที่ สูงขึ้นด้วยความพยายามของกรรมการและผู้บริหารที่ตั้งใจทำงาน หรืออย่างน้อยราคาหุ้นหรือเงินปันผลก็จะไม่ลดลงมากเท่ากับกรณีที่บริษัทถูก กรรมการหรือผู้บริหารตกแต่งบัญชีจนไม่มีใครรู้ มารู้ทีหลังก็ต่อเมื่อสายเกินแก้แล้ว
อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของ ผู้ถือหุ้นอาจไม่ทำให้บริษัทดีขึ้นในระยะยาวเสมอไป บางครั้งผู้ถือหุ้นที่เคลื่อนไหวอาจเป็นคนโลภมากสายตาสั้นที่อยากฉวยโอกาส ถลุงเงินจากบริษัทด้วยการกดดันคณะกรรมการ โดยไม่ยอมเข้าใจเหตุผลของบริษัทในการไม่จ่ายเงินปันผลมากกว่าที่จ่ายจริง เช่น บริษัทต้องกันเงินไว้สำหรับลงทุนขยายกิจการ เตรียมซื้อกิจการของบริษัทคู่แข่ง หรือดำเนินโครงการอื่น ๆ ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทในระยะยาว นอกจากนี้ในบางประเทศโดยเฉพาะในยุโรป บางครั้งสหภาพแรงงานที่ถือหุ้นบริษัทก็ฉวยโอกาสเคลื่อนไหวในฐานะผู้ถือหุ้น เพื่อต่อสู้เรียกร้องผลประโยชน์แทนคนงาน ในทางที่เกินเลยขอบเขตของผลประโยชน์ที่คนงานพึงได้รับ
ปัจจุบันการ เคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นในอเมริกา อาจแบ่งได้เป็น 2 แนวทางหลัก แนวทางแรกมุ่ง "รีด" มูลค่าจากบริษัท ด้วยการเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเพิ่มผลกำไรหรือปรับปรุงธรรมา ภิบาล เช่น ถอดถอนกรรมการทั้งชุดเพราะมีผลงานแย่ ผูกโยงผลตอบแทนของผู้บริหารเข้ากับผลกำไรของบริษัท ลดจำนวนปีของวาระกรรมการลง ตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่ากรรมการอิสระเป็นอิสระจริงหรือไม่ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทใหม่ทุกปี เรียกร้องให้บริษัทจ้างบุคคลภายนอกมาตรวจสอบกรณีที่สงสัยว่ามีการฉ้อฉลหรือ ผิดจริยธรรม เสนอแนวทางลดต้นทุน เสนอแผนซื้อกิจการของคู่แข่ง ฯลฯ
แนว ทางที่สองของการเคลื่อนไหวมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ถือหุ้นนอกเหนือจาก การดำเนินธุรกิจปกติของบริษัท โดยเฉพาะในประเด็นด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ถือหุ้นให้ความสนใจหรือ เป็นนโยบายในการลงทุน เช่น เรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรียกร้องให้บริษัทขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คัดค้านโครงการขยายกิจการเพราะจะทำลายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ผู้ถือหุ้นที่เคลื่อนไหวในแนวทางนี้มักเป็นนักลงทุนสถาบันที่มีประเด็นด้าน สังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นสาระสำคัญของนโยบายลงทุน อาทิ องค์กรทางศาสนาที่คัดค้านการทำแท้งและทดลองในสัตว์ กองทุนที่ "รับผิดชอบต่อสังคม" (Socially Responsible Investment : SRI) กองทุนที่ "ลงทุนอย่างมีศีลธรรม" (ethical) เป็นต้น
กฎหมายหลักทรัพย์ ของอเมริการะบุว่า ผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายที่ถือหุ้นรวมกันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 เหรียญ มีสิทธิร่างและส่งข้อเสนอให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ พิจารณา การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นหลายครั้งประสบความสำเร็จเพราะจับมือกับนักลงทุน สถาบันหลายแห่งเพื่อรวบรวมสิทธิออกเสียงให้มากพอที่จะเป็นเสียงข้างมาก ถ้าเป็นประเด็นทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวมักจะจับมือเป็นพันธมิตรกับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้น ๆ และรณรงค์มายาวนาน ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ถือหุ้นประสบความสำเร็จในการลงมติเสียงข้างมากให้บริษัท ไทโค อินเตอร์แนชั่นแนล ยอมตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กดดันให้บริษัท เป๊ปซี่ ยอมสนับสนุนงานวิจัยเรื่องผลกระทบของโรคเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนา
สถิติ ที่ผ่านมาบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นสูงขึ้นและส่งผลกระทบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง Investor Responsibility Research Center สถาบันวิจัยที่ติดตามวงการนี้ในอเมริการายงานว่า ในปี 2002 ปีที่เกิดกรณีอื้อฉาวของเอ็นรอนและอีกหลายบริษัท มีผู้ถือหุ้นเสนอเพิ่มวาระเพื่อการลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสูงถึง 802 เรื่อง สูงเป็นประวัติการณ์ ในปีต่อมาคือ 2003 ตัวเลขนี้ก็พุ่งเป็น 1,082 เรื่อง และใน 5 เดือนแรกของปี 2004 ก็เพิ่มเป็น 1,147 เรื่อง ประเด็นที่น่าสนใจคือวาระที่ผู้ถือหุ้นเสนอนี้ไม่ได้เพิ่มแต่จำนวนอย่าง เดียว แต่เสียงสนับสนุน (คือผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่ได้เสนอลงมติเห็นชอบ) ก็เพิ่มขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว ยกตัวอย่าง เช่น ในปี 2003 มีข้อเสนอของผู้ถือหุ้นถึง 161 เรื่อง (ร้อยละ 15) ที่ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุม (แปลว่าบริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องทำตามข้อเสนอดังกล่าวตามกฎหมาย)
ดา เนียล โรซาน ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุขของเครือข่ายผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวที่โด่งดังที่ สุดในอเมริกา คือ Interfaith Center on Corporate Responsibility (ICCR) กล่าวว่า ข้อเสนอของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวนั้นมีประโยชน์และช่วยขับเคลื่อนประเด็น เสมอ แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายอื่นมากพอที่จะ บังคับให้บริษัททำตาม เนื่องจากลำพังการเสนอวาระก็เท่ากับเป็นการ "ประจาน" กรรมการและผู้บริหารบริษัทต่อหน้าสื่อและสาธารณชน
โรซานบอกว่า บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเริ่มเข้าใจแล้วว่าความกังวลของผู้ถือ หุ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาควรกริ่งเกรงหรือรังเกียจ เพราะมันเป็นปฏิกิริยาที่เป็นประโยชน์ต่อตัวบริษัทเอง เนื่องจากชี้ให้เห็นความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดที่บริษัทอาจยังมองไม่เห็นหรือ คิดว่าไม่สำคัญพอที่จะต้องลงมือแก้ไข เช่น ความเสี่ยงจากการปล่อยมลพิษหรือทำลายสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากการเสนอ เพิ่มวาระในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นมาตรการ "ทางการ" ที่ผู้ถือหุ้นจะต้องออกเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ (ถ้าเป็นประเด็นที่ต้องมีการออกเสียง) และผลการลงมติจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวหลายแห่งจึงมองว่ามันเป็นมาตรการ "ไม้ตาย" ที่ควรใช้ก็ต่อเมื่อลองวิธีอื่นมาหมดแล้ว เพราะมันแบ่งแยกผู้ถือหุ้นให้เป็นปฏิปักษ์กับคณะกรรมการ (และ/หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่) อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนสถาบันหลายแห่งจึงชอบใช้วิธีอื่นมากกว่า โดยเฉพาะการหารือตัวต่อตัวกับผู้บริหาร
อินเทอร์เน็ตช่วยให้ผู้ถือ หุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้ทำความรู้จักกันและรวมพลังกันเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ ยกตัวอย่าง เช่น บนเว็บไซต์ของเครือข่ายนักลงทุนชื่อ Advocacy and Public Policy Program (www.shareholderaction.org) ทุกคนสามารถค้นหาว่าผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ รวมทั้งนักลงทุนสถาบันรายใหญ่อย่างเช่น คาลเปอร์ส์ (Calpers กองทุนบำนาญที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา) มีแผนที่จะออกเสียงในวาระต่าง ๆ ในการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างไร และใครเป็นผู้เสนอแต่ละวาระ ผู้ถือหุ้นสามารถลงนามออกเสียงในเว็บนี้ (ผ่านการมอบอำนาจ) และจองที่นั่งในการร่วมหารือกับทีมผู้บริหารของบริษัทด้วย
ดูตัวอย่างการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นในอเมริกาไปแล้ว ตอนต่อไปลองมาดูประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกัน