จากประชาชาติธุรกิจ
ปัญหา สภาพภูมิอากาศแปรปรวนไม่เป็นตามฤดูกาลและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นรุนแรงบ่อย ครั้ง ทั้งน้ำท่วม พายุ ปัญหาปะการังฟอกขาว การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตชองมนุษย์โลก ล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดจาก "ปัญหาโลกร้อน" (Global Warming) หรือ "ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" (Climate Change) ทั้งนี้เป็นฝีมือของมนุษย์ที่เพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การ แก้ไขปัญหาและลดผลกระทบโลกร้อน ในปัจจุบันถือเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ แต่การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือระดับประชาคมโลก ซึ่งล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2552 ได้มีการประชุมของกลุ่มประเทศภาคีที่จัดทำกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เป็นการประชุมภาคีสมาชิกของ UNFCCC ครั้งที่ 15 (COP 15) และการประชุมภาคีสมาชิกของพิธีสารเกียวโตครั้งที่ 5 (CMP 5)
ในการประชุมครั้งนี้เป็นที่จับตามองของประชาคมโลก เพราะคาดหวังว่าจะได้ข้อสรุปการเร่งรัดแก้ไขปัญหาโลกร้อนใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) พันธกรณีของประเทศภาคผนวกที่ 1 หรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วบวกกับยุโรปตะวันออก รวมทั้งหมด 37 ประเทศ ซึ่งกำหนดไว้ในพิธีสารเกียวโตจะสิ้นสุดลงในปี 2012 ดังนั้นจึงต้องมีการเจรจาเพื่อกำหนด "ตัวเลข" ของการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหม่ 2) ประเทศภาคผนวกที่ 1 ควรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 25-40 ของการปล่อยในปี ค.ศ. 1990 ภายในปี ค.ศ. 2020 และประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจากกรณีธุรกิจปกติ และ 3) ประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ภายใต้กลไกสนับสนุนทั้งการเงินและทางเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว
แต่ ปรากฏว่าผลการประชุมครั้งนี้กลับไม่คืบหน้า ไม่มีข้อยุติ หรือพันธกรณีที่ชัดเจน เนื่องจากแต่ละกลุ่มประเทศมีจุดยืนในการเจรจาแตกต่างกันมาก ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีบทบาทในการเจรจาหรือไม่มีจุดยืนที่ ชัดเจน
อย่างไรก็ตามจะมีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ในครั้งต่อไป ประมาณเดือนธันวาคมปีนี้ ที่ประเทศเม็กซิโก ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับประเทศไทย ทาง "กลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล" (Policy Watch) ซึ่งมีนักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ ดร.นิรมล สุธรรมกิจ และ ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล ได้ไปร่วมการประชุมในครั้งนี้ในฐานะตัวแทนประเทศไทยร่วมกับภาครัฐและภาค เอกชน
จึงได้แถลงข่าวในหัวข้อ "ไทยควรทำอะไรหลัง Copenhagen Climate Change Talks" เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนจะเสนอแนะจุดยืนสำหรับประเทศไทยในการประชุมครั้งต่อไป ดร.นิรมลได้ชี้ให้เห็นถึงจุดยืนที่แตกต่างกันมากของประเทศสมาชิกภาคี จนทำให้การประชุมครั้งนี้ล้มเหลว ไม่เป็นตามที่คาดหวัง
โดย ทางกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) เห็นด้วยที่จะรับรองพันธกรณีของพิธีสารเกียวโต แต่สหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยที่จะรับรองพันธกรณี ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (G-77 + จีน) มีจุดยืนแตกต่างกันถึง 4 กลุ่ม
โดยกลุ่ม แรก ได้แก่ ประเทศบราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย และจีน เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอันดับต้น ๆ พยายามผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วรับภาระหลัก กลุ่มที่สอง ประเทศที่เป็นเกาะซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและระดับน้ำ ทะเลโดยตรง ต้องการให้ทุกฝ่ายเพิ่มตัวเลขที่จะผูกพันในการลดให้มากขึ้น
กลุ่ม ที่สาม ได้แก่ กลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งกังวลว่า ผลกระทบของการใช้มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจะกระทบอุปสงค์การใช้น้ำมันของโลก เพราะจะมีการหันไปใช้พลังงานทดแทนกันหมด จึงไม่ค่อยเห็นด้วย และกลุ่มสุดท้าย ประเทศกำลังพัฒนาที่เหลือรวมทั้งประเทศไทยยังไม่มีจุดยืนชัดเจน รวมกลุ่มกันเพื่อให้มีอำนาจ ต่อรองกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนหรือไม่
"ประเทศ ไทยอยู่ในกลุ่มมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ไม่ค่อยมีบทบาทในการเจรจา กล่าวคือ ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน อยู่ที่ว่ากลุ่มใดให้ประโยชน์กับเรา เราก็ให้ความเห็นเป็นเรื่อง ๆ ไป" ดร.นิรมลกล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ การเจรจาอย่างเป็นทางการไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใด ๆ ได้ตามที่คาดหวัง แต่ก็มีข้อสรุปของกลุ่มย่อยออกมาเป็นร่าง "Copenhagen Accord" ซึ่งที่ประชุมใหญ่ไม่สามารถบรรลุมติ "รับรอง" ทำเพียงแค่ "รับทราบ" ถึงข้อตกลง Copenhagen Accord ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
1.การตระหนักถึงเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่เกิน 1.5-2 องศา แต่ไม่มีข้อผูกพันใด ๆ
2.ให้ประเทศกำลังพัฒนาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและบัญชีก๊าซเรือนกระจกซึ่งจัดส่งทุก 2 ปี
3.มาตรการ ลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนาที่รับการสนับสนุนช่วยเหลือทางการเงิน จากนานาชาติ จะต้องมีการประเมินผ่านการตรวจวัด รายงาน และตรวจสอบในระดับสากล
4.มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศกำลัง พัฒนาจัดทำเอง จะใช้การตรวจวัด รายงาน และตรวจสอบภายในประเทศ แต่ต้องมีการรายงานในรายงานแห่งชาติ พร้อมกับข้อกำหนดสำหรับการปรึกษาและวิเคราะห์ในระดับสากล ภายใต้แนวทางที่กำหนดอย่างชัดเจนโดยยึดถือหลักอธิปไตยของชาติ
5.ประเทศ กำลังพัฒนาจะได้รับเงินช่วยเหลือในการปรับตัวและลดก๊าซเรือนกระจกจากประเทศ พัฒนาแล้ว ผ่านองค์กรระหว่างประเทศ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2010-2012 และเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2020
6.จัด ตั้ง "กองทุนภูมิอากาศสีเขียว" เพื่อสนับสนุนโครงการของประเทศกำลังพัฒนาที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อน การปรับตัว และถ่ายโอนเทคโนโลยี ทั้งนี้เงื่อนไขการจะได้เงินมาตั้งกองทุนฯยังไม่ชัดเจน
7.การยอมรับความสำคัญของกลไกการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า (REDD)
สำหรับ จุดยืนของไทยต่อ Copenhagen Accord นั้น ทางกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาลเห็นว่า การที่ทางการไทยจะยอมรับข้อตกลงนี้หรือไม่นั้น ควรมีการศึกษาและพิจารณารายละเอียดของข้อตกลงให้ชัดเจนก่อน
"อย่าง ไรก็ตามเห็นด้วยในหลักการที่ไทยควรรับ Copenhagen Accord กล่าวคือ ประเทศพัฒนาแล้วควรรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อนที่ตนได้ก่อขึ้นอย่างยาวนาน โดยให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในด้านการเงินและเทคโนโลยี เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ดร.ชยันต์ระบุ
ส่วนใน การประชุมครั้งต่อไปที่เม็กซิโก ดร.ชยันต์ระบุว่า รัฐบาลควรมีการเตรียมพร้อมในการเจรจา เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีอะไรอยู่ในกระเป๋า ซึ่งเราไม่จำเป็นถึงกับต้องมีแผนแม่บทอย่างที่บางประเทศเขาทำ แต่เราควรมีอะไรในกระเป๋าบ้าง เวลาเจรจาจะได้มีจุดยืนว่า อะไรรับได้หรือรับไม่ได้ และรับไหวหรือไม่ ซึ่งคำตอบตรงนี้เราไม่เคยมีเลย เพราะเราไม่เคยทำแผนอะไรเลย
ดังนั้นก่อนที่จะถึงการประชุมที่ เม็กซิโกในเดือนธันวาคม 2553 นี้ ทางกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาลจึงมีข้อเสนอแนะรัฐบาลใน 6 ประเด็นที่ควรทำ คือ
1.ภาครัฐต้องเร่งศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการแก้ไขและรับมือกับปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องต้นทุนและศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลของภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเราควรรู้ว่าเรามีศักยภาพที่จะลดก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ หากต้องทำใช้เงินเท่าไร ถ้าเงินไม่พอต้องการเงินเพิ่มเท่าไร ค่อยทำเรื่องขอความช่วยเหลือให้ชัดเจน
2.ภาครัฐควรให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน ทั้งสาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางการลดปัญหาโลกร้อน
3.ภาคธุรกิจและภาครัฐควรร่วมกันลดปัญหาโลกร้อน เช่น ใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้พลังงานและเทคโนโลยีสะอาด รวมถึง การปลูกป่า
4.ไทย ไม่ควรละเลยปัญหาโลกร้อน เพราะอาจถูกกดดันทางอ้อมจากพันธกรณีและการค้าระหว่างประเทศ เช่น ภาษีคาร์บอนเมื่อสินค้าผ่านแดน การออกใบอนุญาตและการซื้อขายใบอนุญาตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีเงื่อนไข
5.ประชาชนควรเปลี่ยน รูปแบบการบริโภคใหม่ โดยใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าที่ติดฉลากคาร์บอน รถยนต์ Hybrid และจัดทำ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์
6.มาตรการที่รัฐบาลอาจนำมาใช้แก้ปัญหาข้างต้นได้ คือ รัฐบาลควรมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่เก็บจากพลังงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำแทน รวมทั้งรัฐยังมีรายได้นำไปแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโลกร้อนได้
"ถ้าเรา ไม่ทำอะไรเลย เราจะมีปัญหาเรื่องการส่งออกที่อาจถูกกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะในยุโรปและ สหรัฐ เช่น จากภาษีคาร์บอนเมื่อสินค้าผ่านแดน ซึ่งข้อเสนอให้รัฐจัดเก็บภาษีคาร์บอนมีเหตุผลสำคัญ คือ เราจะได้มีเงินทุนของเราเองในการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ ปกติ และยังเป็นข้ออ้างได้ว่า เรามีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว จะมาเก็บภาษีซ้ำซ้อนไม่ได้ เมื่อส่งออกสินค้าไปประเทศที่มีการเก็บภาษีคาร์บอนผ่านแดน" ดร.นิรมลกล่าว
(หมาย เหตุ : รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในคอลัมน์ เศรษฐ"ธรรมศาสตร์ ตลาดวิชา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 เม.ย.2552 ในหัวเรื่อง "ค่าธรรมเนียมคาร์บอนกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและ ประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน")