จากประชาชาติธุรกิจ
ถ้า ปัญหา "โลกร้อน" กระแสหลักที่ได้รับการพูดถึงตั้งแต่ในเวทีระหว่างประเทศ วงสนทนาทางธุรกิจ กระทั่งในวงกาแฟหน้าปากซอย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ว่าแรงแล้ว ในปีนี้กำลังมีคำใหม่...เรื่องใหม่ ในชื่อที่เรียกว่า "low carbon society" หรือ "สังคมคาร์บอนต่ำ" ที่คาดการณ์กันว่าจะได้รับการพูดถึงไม่แพ้กัน
เป็นการพูดถึงที่ถูกจัดเป็น "วิธีการในการแก้ไขปัญหา" หลังจากที่เราพูดถึง "ปัญหาโลกร้อน" กันมาพักใหญ่
และ จะไม่ใช่เพียงคำพูดที่กล่าวกันแบบเลื่อนลอย แต่ในปีนี้มีการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญว่า "low carbon society" หรือ "สังคมคาร์บอนต่ำ" จะถูกภาคธุรกิจหยิบนำไปใช้และกลายเป็นหนึ่งในการวางเป้าหมาย กำหนดวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคต
ในหนังสือเล่ม ใหม่ "Our Choice" ของ "อัล กอร์" อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้มีบทบาทสำคัญในการปลุกกระแสวิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือภาวะ โลกร้อน (climate change) ก็ให้ความสำคัญกับ "สังคมคาร์บอนต่ำ" ว่านี่เป็นทางเลือกและทางรอดของโลก
ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิ อากาศเชื่อว่า ปัญหาทุกอย่างยังสามารถเยียวยาได้ ด้วยวิธีนี้เพียงวิธีเดียว ในการกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกมาให้มากที่สุด พร้อมไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปให้มากที่สุด ด้วยการใช้สารพัดวิธี ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มาก ที่สุด ฯลฯ
กระทั่งในการประชุมระดับโลก อย่างในเวทีการประชุมของกลุ่มนักธุรกิจเพื่อ สิ่งแวดล้อม หรือ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) เมื่อ 2 เดือนก่อน ซึ่งมีผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำหลายร้อยแห่งจากทั่วโลกมาเข้าร่วมประชุม
ทุกบริษัท ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า "การเดินสู่สังคมคาร์บอนต่ำถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้" และไม่ว่าจะมีมาตรการใด ๆ ที่จะออกมาควบคุมหรือไม่ก็ตาม
และนั่นถือเป็น "ข่าวดี" ท่ามกลาง "ข่าวร้าย" ที่หลายคนกำลังหมดหวังในการที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อน
"ถึง การประชุมโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผมว่าวันนี้คนตื่นตัวกับเรื่องนี้กันทุกประเทศ ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกก็ออกมาพูดชัดว่า สิ่งที่เราทำวันนี้ไม่ใช่สำหรับคนในรุ่นของเรา แต่การตัดสินใจวันนี้จะส่งผลไปถึงรุ่นลูกหลาน ถ้าเราไม่ทำอะไรอุณหภูมิอาจจะเพิ่มขึ้น 4 องศา แต่ถ้าเราช่วยกันอาจจะเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1-2 องศา" "อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล" ในฐานะประธานคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (TBCSD) ให้ความเห็นในมุมของเขา
แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทในไทย จำนวนหนึ่ง อาทิ ปูนซิเมนต์ไทย โคคา-โคลา ธนาคารกรุงไทย บางจากปิโตรเลียม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มิตรผล ฯลฯ ต่างก็มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในระดับที่วัดผลและประเมินผลได้ โดยเฉพาะความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต แต่ทิศทางนับจากนี้ก็คือไม่เพียงแต่การลดการปล่อยก๊าซเฉพาะในกระบวนการผลิต เท่านั้น แต่การจะก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ ต้องทำในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางในการดำเนินธุรกิจ นับตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบไปจนหลังการบริโภคของผู้บริโภค
ในปีที่ ผ่านมาเฉพาะสมาชิกในคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (TBCSD) กว่า 34 องค์กร ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันได้ถึง 1.3 ล้านตัน
"การทำอย่างนี้ไม่ได้เป็นแต่เพียงแค่ภารกิจขององค์กรอย่างเดียว แต่สิ่งที่ได้ คือภารกิจระดับชาติและระดับโลก" อนุสรณ์กล่าว
การ ตัดสินใจกำหนดทิศทางในปี 2553 ของ TBCSD ให้เรื่อง "low carbon society" เป็นเรื่องหลักในปี 2553 จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีทิศ ทางที่ชัดเจน เพราะลำพังเพียงนโยบายรัฐไม่อาจจะเพียงพอ
อย่างที่ "อนุสรณ์" อธิบายว่า "วันนี้ถ้า ดูจากตัวเลขประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 350 ล้านตัน ครึ่งหนึ่งมาจากภาคพลังงาน 190 ล้านตัน แต่เรายังไม่เห็นโรดแมป (road map) ของไทยว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไร เราอาจจะแค่เคยได้ยินว่ากระทรวงพลังงานมีแผน 15 ปีที่จะต้องใช้พลังงานทดแทน ซึ่งก็อาจจะสามารถลดการใช้พลังงานไปได้ประมาณ 77 ล้านตัน ถ้าคำนวณต่อประชากรต่อคนก็จะอยู่ที่ประมาณ 15 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งแต่ละคนก็ต้องพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซของตนเอง"
"ที่ผ่านมาสมา ชิกแต่ละคนก็มีเป้าหมายของตัวเอง แต่วันนี้สิ่งที่เราทำถือเป็นทิศทางของกลุ่ม ที่มีแผนและมีเป้าหมาย เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งและผลักดันเรื่องต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น"
ความร่วมมือจึงเป็นเหมือนพลังสำคัญที่สำหรับ TBCSD แล้วตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลดการปล่อยก๊าซให้ได้ 2 ล้านตันในปี 2553
"เรา หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจอื่น ๆ เห็นเป็นตัวอย่าง ตลอดจนความร่วมมือจากภาครัฐในแง่ของการกำหนดนโยบายในการสนับสนุน เพราะการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องทำอย่างมีทิศทางและจะต้องเดินไปด้วยกัน" อนุสรณ์กล่าวในที่สุด