จากประชาชาติธุรกิจ
26 กุมภาพันธ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้กำหนดพิพากษา คดีร่ำรวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลายคนสนใจว่าผลจะออกมาอย่างไร? “ประชาชาติธุรกิจ”เปิดแนวฎีกาที่อาจเทียบเคียงกันได้
26 กุมภาพันธ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้กำหนดพิพากษา คดีร่ำรวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลายคนสนใจว่าผลจะออกมาอย่างไร? "ประชาชาติธุรกิจ"เปิดแนวฎีกาที่อาจเทียบเคียงกันได้ ...แน่นอนว่า ผลคำพิพากษามีอยู่ 3 แนวทางเท่านั้น คือ 1.ยกฟ้อง 2.ยึดทรัพย์ทั้งหมด และ 3. ยึดทรัพย์บางส่วน
ถ้าเป็นแนวทางแรกอาจมีเหตุผลรองรับ 2 ข้อคือ
1. "ที่มา"ของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มาจากการทำรัฐประหาร ไม่ชอบด้วย กฎหมาย ทำนอง "ผลไม้พิษ จากตนไม้ที่เป็นพิษ" จึงยกคำร้องและไม่ต้องพิจารณาในประเด็นอื่น
2. พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความผิด ไม่ได้ออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและครอบครัว
ถ้าเป็นแนวทางที่สอง "ยึดทรัพย์ทั้งหมด"
อาจมีฐานคิดจากทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ทั้งหมดเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณจริง และได้มาโดยมิชอบ แม้ว่าทรัพย์สินส่วนหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณมีอยู่ก่อนเล่นการเมืองก็ตาม
ดังนั้นเมื่อทรัพย์สินส่วนหนึ่งถูกใช้เพื่อกระทำความผิดจึงต้องยึดทั้งก้อน มิใช่คืนในส่วนต้นทุนเป็นทรัพย์สินเดิม หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง
ยกตัวอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณไปซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณตัดถนนผ่านที่ติดของตนเอง เมื่อมีความผิดก็ต้องยึดที่ดินทั้งแปลง มิใช่แค่บางส่วน
ถ้าเป็นแนวทางที่สาม "ยึดทรัพย์บางส่วน"
อาจมีฐานคิดจากใช้จำนวนทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีอยู่ในช่วงปี 2543-2544 เป็นพื้นฐานแล้วหักด้วยจำนวนทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นหลังถูกประหารในช่วงปี 2549 ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร เพราะต้องไปดูในข้อเท็จจริงว่าหุ้นในกลุ่มชินคอร์ป ตอนต้นปี 2543 ก่อน พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ และ ตอนต้นปี 2549 ก่อนขายให้กลุ่มเทมาเส็กในระยะเวลาช่วง 6 ปีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่?
ผิดปกติหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดว่าจะต้องยึดทรัพย์ทั้งก้อน หรือบางส่วน หากนำคำพิพากษาของศาลฎีกาเคยตัดสินคดีเจ้าหน้ารัฐก่อนหน้านี้ก็จะพบข้อมูล ที่น่าสนใจ
ในช่วงที่ผ่านมามีคดีร่ำรวยผิดปกติที่ศาลฎีกาตัดสินแล้ว 2 คดี ได้แก่
คดีพลเอกชำนาญ นิลวิเศษ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ 69.1 ล้าน
คดีนายเมธี บริสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ป.มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 16.8 ล้านบาท
และคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว 1 คดี ได้แก่ คดีนายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) มีมติว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ 233.8 ล้านบาท
2 คดีแรกศาลฎีกาตัดสิน "ยึดทรัพย์บางส่วน"
คดีพลเอกชำนาญ นิลวิเศษ พฤติกรรมคือเอาทรัพย์สินที่ได้รับมาในช่วงรับราชการ ได้แก่ บ้าน ที่ดิน เงินฝาก และหุ้นเอาไว้กับตัวเองเพียง 6.6 ล้านบาท ที่เหลือยักย้ายถ่ายเทไปให้นางประนอม นิลวิเศษ และ บุตรชาย
มีคนร้องเรียนว่า พลเอกชำนาญได้ลงทุนก่อสร้างหมู่บ้านพรสวรรค์ที่ปากน้ำชุมพร มูลค่า 40 ล้านบาทบาท ลงทุนในบริษัท ทรานส์โอเชียนไลน์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เดินเรือทางทะเล) เป็นหุ้นส่วนประมาณ 15-16 ล้านบาท สร้างบ้านพักในเนื้อที่ 4-5 ไร่ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ราคาหลายล้านบาท ลงทุนเปิดร้านอาหารในต่างประเทศ ลงทุนในโรงแรมปอยหลวง จังหวัดเชียงใหม่
คดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าทรัพย์สินบางรายการ อาทิ ที่ดิน หุ้น พันธบัตร และเงินฝากในธนาคารมูลค่า 6,628,425.22 บาท ที่อยู่ในชื่อของพลเอกชำนาญ และโฉนดที่ดินเลขที่ 20772 แขวงบางประกอบเขตราษฎร์บูรณะ และบ้านเลขที่ 137/1 ซอย 27 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงบางประกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ ราคา 650,000 บาท ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนางประนอม ไม่มีลักษณะปิดบังอำพราง และมีมูลค่าพอสมควรกับรายได้
ศาลฎีกาตัดสินให้ที่ดินตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร จำนวน 3 แปลงที่ดินตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จำนวน 5 แปลง ,บ้าน 3 หลัง ได้แก่ บ้านเลขที่ 23/2 ซอยวิพัชร ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม บ้านเลขที่ 336 และ 317 ซอย 27 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงบางประกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ และ เงินฝากธนาคารกรุงเทพ สาขาสามพราน 1 บัญชี ,บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพระประแดง 1 บัญชี ,บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ สาขาบุคคโล 2 บัญชี ,บัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาราษฎร์บูรณะ 2 บัญชี ,บัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาสามพราน 1 บัญชี ตกเป็นของแผ่นดิน
คดีนายเมธี บริสุทธิ์ ป.ป.ป. เห็นว่านายเมธีไม่สามารถแสดงการได้ทรัพย์สินมาโดยชอบ 3 รายการ รวมเป็นเงิน 16.8 ล้านบาท
1. เงินจากการซื้อขายหุ้นผ่านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ซึ่งนายเมธีอ้างว่าได้กำไร 4,826,077 บาท แต่จากการคำนวณโดยเฉลี่ยราคาซื้อขายต่อหุ้นแล้ว นายเมธีซื้อขายหุ้นผ่านบริษัทดังกล่าวขาดทุนเป็นเงิน 8,969,628.50 บาท
2. เงินปันผลจากห้างหุ้นส่วนจำกัด สามย่านรามา จำนวน7,000,000 บาท ซึ่งนายเมธีไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานว่า ห้างดังกล่าวมีกำไรและจ่ายเงินปันผลแก่นายเมธีในระหว่างที่ยังถือหุ้นอยู่ ได้
ทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวนายเมธีมีเงินฝากเพียงเล็กน้อย เงินฝากจำนวนสูงผิดปกติเริ่มต้นขึ้นในระหว่างที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน พิจารณากลั่นกรองการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
3. เงินจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องเงินกู้ยืมจากนายมนูญ บริสุทธิ์ บิดาจำนวน 5,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่นายเมธีอ้างว่า นายประพันธ์ แพทย์เจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท โรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด กู้ยืมจากบิดา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการกู้ยืมเงินระหว่างนายมนูญกับนายประพันธ์ และ หลักฐานการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนายมนูญกับนายเมธี ทั้งพินัยกรรมของนายมนูญยังระบุให้สิทธิเรียกร้องต่างๆ ตกเป็นของคุณหญิงโกสุม บริสุทธิ์ มารดานายเมธีแต่ผู้เดียว ประกอบกับการดำเนินกิจการของบริษัท โรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด ขาดทุนตลอดมา
ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทดังกล่าวล้มละลาย ส่วนนายประพันธ์ก็มีหนี้สินมากจนต้องหลบหนีคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตามพระ ราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
คดีนี้ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยึดทรัพย์ 12 ล้านบาท
และศาลฎีกาพิพากษา วันที่ 30 มิถุนายน 2541 เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ ให้ยึดทรัพย์ 12 ล้านบาท
ส่วนคดีนายรักเกียรติ สุขธนะ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่าหลังจากนายรักเกียรติรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข มีเงินเข้าฝากในธนาคารหลายแห่งเพิ่มขึ้น ทั้งบัญชีในชื่อของนางสุรกัญญา สุขธนะ ภรรยา และในชื่อบุคคลอื่นได้แก่ นายจิรายุ จรัสเสถียร อดีตคนสนิทและอดีตที่ปรึกษา, น้องภรรยา,น้องเพื่อนภรรยาโดยใช้ชื่อและใช้เช็คในชื่อบุคคลดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้ยักย้ายถ่ายเทโอนไปยังบุคคลใกล้ชิดอีกหลายคน
นายรักเกียรติอ้างว่าเงินส่วนหนึ่งมาจากการเล่นการพนันในต่างประเทศ แต่ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเมื่อ วันที่ 30 กันยายน 2546 ยึดทรัพย์ทั้งก้อน 233.8 ล้านบาท
ทั้ง 3 คดีแตกต่างจากคดี 7.6 หมื่นล้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตรงที่ พ.ต.ท.ทักษิณออกนโยบายเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง หรือ มีผลประโยชน์ทับซ้อน และเงินที่ถูกอายัดอยู่ นอกบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินที่ได้แสดงไว้ต่อ ป.ป.ช.
ขณะที่พฤติการณ์การกระทำความผิดของ พล.อ.ชำนาญ นายเมธี และ นายรักเกียรติ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ แต่ไม่สามารถบอก "ที่มา-ที่ไป"ได้ชัดเจน
วันตัดสิน 26 กุมภาพันธ์ จะรู้ว่าศาลฎีกาฯจะออกแนวทางไหน?