สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จ่อยื่นคำสั่งศาลปกครองต่อยูเนสโกล้มปราสาทพระวิหารมรดกโลก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


"วัลย์วิภา"เผย อังคาร10.00น.ยื่นคำร้องพร้อมคำสั่งศาลปกครองชี้ขาดลงนามร่วมไทย-กัมพูชา-ยู เนสโกมิชอบ กลุ่มทวงแผ่นดิน7พันคนยึดที่ตะเข็บ3จังหวัด

หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ได้แก่ กลุ่มประชาชนชาวไทยผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย, ชมรมใจภักดิ์รักไทย, ป.ป.ช.ภาคประชาชน, เครือข่ายปัญญาสยาม, ชมรมร่วมใจไทยกู้ชาติ, กลุ่มรณรงค์สื่อต้านคอร์รัปชัน, ขบวนประชาธิปไตยยาตรา Democracy Move, เครือข่ายพันธมิตรอุดรธานี, ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย, สมาชิกเครือข่ายวิทยุชุมชน 7 ภูมิภาค, สมาคมเครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน(ค.อสช.), สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง(สxส), ชมรมแท็กซี่พันธมิตร, กลุ่มสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย, กลุ่มพิทักษ์ราชันย์และแผ่นดินสยาม, เครือข่ายพันธมิตรประจวบคีรีขันธ์, ชมรมศรีสะเกษรักในหลวงหวงแผ่นดิน, เครือข่ายพลังร่วมพิทักษ์แผ่นดิน, สภาเครือข่ายประชาชนอีสาน(สอส.), กลุ่มคนไทยผู้รักชาติ

โดยกำหนดจะส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือต่อ องค์การยูเนสโก ผ่านตัวแทนสำนักงานยูเนสโกประเทศไทย (ซอยสุขุมวิท 40-42) ใกล้ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ วันอังคารที่ 26 มกราคม 2553 เวลา 10.00 น. โดยหนังสือมีสาระดังต่อไปนี้

เรื่อง  ร้องขอให้องค์การยูเนสโกพิจารณาทางเลือกในการดำเนินการโดยยกเลิกการขึ้นทะเบียนหรือปล่อยให้คำร้องของกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก พับไป
เรียน  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก (ผ่านตัวแทนยูเนสโก กรุงเทพฯ)
สิ่งที่ส่งมาด้วย  1.สำเนาคำพิพากษาศาลปกครองกลาง 30 ธันวาคม 2552
                    2.สำเนาจดหมายของประชาชนไทยถึงนายกรัฐมนตรี  14 มกราคม 2553

          ตามที่ประชาชนไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 มีความเห็นคัดค้านเรื่องที่รัฐบาลไทยสนับสนุนองค์การยูเนสโกและประเทศ กัมพูชาดำเนินการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็น มรดกโลก โดยไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงขออำนาจศาลปกครองพิจารณาแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ปกครองในกรณีดังกล่าว ในที่สุดศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ได้พิพากษาว่า นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ(พ.ศ.2551) กระทำการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา-ยูเนสโก (18 มิถุนายน 2551) โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
        ด้วยเหตุนี้ ภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ผู้เป็นประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยไทย  จึงขอแจ้งเรื่องคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าว มายังองค์การยูเนสโกโดยตรงอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการที่ได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยปัจจุบันในฐานะผู้ใช้อำนาจอธิปไตย แทนปวงชนชาวไทย แจ้งเรื่องนี้ต่อองค์การยูเนสโกเพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการ ดำเนินการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยขอให้องค์การยูเนสโกยึดถือหลักการเรื่องความมีเหตุผล ความสงบสุข และสันติภาพ ในการอยู่ร่วมกันของพลโลก
        อนึ่ง เพื่อความชัดเจน ประชาชนไทยขอย้ำเน้นในข้อเท็จจริงอีกด้วยว่า เรื่องปราสาทพระวิหารนั้น ประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนไว้ตามหนังสือของ ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ลงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2505 จึงยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาโดยมีการยื่นคำคัดค้านไว้  ดังนั้น องค์การยูเนสโกจึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนเป็นมรดกโลกตามการเสนอของกัมพูชา
        นอกจากนั้น คำพิพากษาของศาลโลกยังไม่มีผลผูกพันประเทศที่สามหรือองค์การระหว่างประเทศ ที่สาม อย่างองค์การยูเนสโก  องค์การยูเนสโกจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ขึ้นทะเบียนโดยมิได้รับความยินยอมจาก ประเทศไทย และคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ก็เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นความไม่ถูกต้องของการดำเนินการ รวมทั้งการใช้อำนาจในการดำเนินการ  
        ประเทศไทยในนาม ภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ได้ประท้วงและคัดค้านการดำเนินการของยูเนสโกในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตลอดจนขอร้องให้องค์การยูเนสโกคำนึงถึงปรัชญาขององค์การและหลักการดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาลมาหลายครั้งแล้ว
        จึง ขอวิงวอนอีกครั้งให้องค์การยูเนสโปรดดำเนินการโดยยึดหลักการมีธรรมาภิบาล และพิจารณาความเดือดร้อนของประชาชนไทย ทางเลือกขององค์การยูเนสโกคือยกเลิกการขึ้นทะเบียน หรือปล่อยให้คำร้องของกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็น มรดกโลก พับไป ประชาชนไทยขอส่งสำเนาคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และสำเนาหนังสือกราบเรียน ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรีไทย  มาประกอบการพิจารณาตัดสินใจดำเนินการขององค์การยูเนสโกในครั้งนี้ด้วย
ขอแสดงความนับถือ

ภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาท เขา พระวิหาร
(The Organization Network for Monitoring  The Situation on the Case of  Pra Viharn Temple on Site)

ทั้งนี้ ในเอกสารแถลการณ์ระบุด้วยว่า เพื่อเร่งดำเนินการก่อนจะถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ที่กัมพูชาจะต้องส่งเอกสารและแผนที่เขตกันชนเขตพัฒนาร่วมแผนบริหารจัดการ และข้อตกลงร่วมกัน ให้ยูเนสโก

สถานที่ติดต่อ
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โทรศัพท์ 02 6133201-5 ต่อ 21,  081 9140505
E-mail address     walwipha2000@hotmail.com

กลุ่มทวงคืนแผ่นดินฯยึดที่ดินกันชน3จังหวัดอังคารนี้

นายวีรพล โสภา ที่ปรึกษาเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่(คดม.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้(26 ม.ค.) ทางสมาชิกเครือข่ายฯ ประมาณ 7,000-10,000 คน จะเข้าไปจับจองที่ดินตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา 3 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ แบ่งเป็น 7 พื้นที่ เป็นการแสดงสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 4 มาตรา 71 ในการปกป้องดินแดนของชาวบ้าน เพื่อป้องกันอธิปไตยเหนือดินแดนที่ยังมีข้อพิพาท แต่เราเชื่อว่าเป็นดินแดนของประเทศไทย

"ขณะนี้เราก็รู้ว่าทางการกัมพูชาได้นำ ชาวเขมรมาตั้งบ้านเรือนตามตะเข็บชายแดนมานานแล้ว เราก็ต้องมีสิทธิดำเนินการได้เช่นกัน เพราะเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบ จึงอยากวิงวอนให้ฝ่ายอำนาจรัฐไทย ได้ผ่อนปรนกฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ แต่ให้ถือเอารัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุด ที่เอื้อให้พลเมืองทำหน้าที่ปกป้องรักษาแผ่นดินไทย เพื่อให้ได้หลักประกันว่า แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่ทางกัมพูชาได้สอดไส้เข้ามาผ่านคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาปักปันเขตแดนไทย กัมพูชา และรัฐสภาให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 จะส่งผลอย่างไรต่ออธิปไตยเหนือดินแดนประเทศไทย"

นายวีรพล กล่าวด้วยว่าชาวบ้านเครือข่ายทวงแผ่นดินแม่ พร้อมจะเข้าไปจับจองพื้นที่ตามตะเข็บชายแดน 3 จังหวัดตั้งแต่เช้ามืดเป็นต้นไป และพร้อมจะปักหลักยืดเยื้อได้เป็นเดือน อีกทั้งพร้อมจะลงมือเพาะปลูกเมื่อฤดูกาลมาถึงในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของแผ่นดิน

ผู้สื่อข่าวระบุว่า พื้นที่จับจองที่เครือข่ายทวงแผ่นดินแม่(คดม.) เล็งไว้ เช่น ต.พนมไพร อ.ภูสิงห์, ช่องสะงำ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กาบเชิง, พนมดงรัก, ปราสาทตาวาย จ.สุรินทร์ และ ต.หนองแวง อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น

view