สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

SCG ลุยกรีนโลจิสติกส์เต็มตัว ปีนี้ตั้งเป้าลดปล่อยคาร์บอนมหาศาล

จากประชาชาติธุรกิจ


จากกระแส การต่อต้านมลพิษ ของประชาชนในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด จนถึงขั้นฟ้องร้องและศาลปกครองสูงสุดได้มี คำสั่งระงับการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงถือโอกาส จัดสัมมนา Logistics Showcase ขึ้น ในหัวข้อ กุญแจสำคัญสู่การพัฒนาด้าน โลจิสติกส์ที่ยั่งยืน และเชิญ นายชลัช วงศ์สงวน ผู้จัดการพัฒนาและบริหารผู้ขนส่ง บริษัท เครือซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) : SCG มาเป็นวิทยากร

โดย นายชลัช วงศ์สงวน ผู้จัดการพัฒนาและบริหารผู้ขนส่ง บริษัท เครือ ซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) : SCG ได้กล่าวถึงแนวทางพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและกระแส green supply chain & logistics ในทศวรรษหน้าของ SCG ว่า ทางเครือได้เตรียมความพร้อมของบุคลากรตามนโยบาย SD (sustainable development) หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว ทั้งนี้ บุคลากรต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กร 3 ส่วนด้วยกันคือ 1.ใส่ใจชุมชน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เราอยู่ในพื้นที่จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจกับสิ่งที่มากระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจอยู่ไม่ได้ หากสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้ ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนก็มีชาวบ้านยกขบวนเผาโรงงานที่ภาคใต้มาแล้ว หรือปัจจุบันมีการบัญญัติมาตรา 67 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมา ให้การลงทุนต่าง ๆ ที่เข้าข่าย ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น การลงทุนต่าง ๆ ทำอย่างไรจะไม่สูญเสีย หรือทำไปครึ่ง ๆ กลาง ๆ ต้องพับฐาน

ปัจจุบัน เวลาทำแผนโลจิสติกส์ จะรวมกิจการ จะตั้งโรงงาน หากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องทำแผนบริหารความเสี่ยงไว้รองรับ เพราะจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น โรงงานอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ต้องระวังเรื่องการปล่อยน้ำเสีย เพราะต่อไปการทำธุรกิจ ลูกค้าจะดูว่าธุรกิจนั้นมีความประพฤติปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมเป็น "green" ไหม ? สินค้าสื่อแค่ไหน อาทิ การประหยัดน้ำ การขนส่ง การนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น

2.ด้านการดำเนินธุรกิจ SCG ยังมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบทุกขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจและควบคุมผลกระทบต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตให้ดีกว่ามาตรฐานที่หน่วยงานรัฐกำหนด เช่น การทำ TQM (total quality management) ที่เป็นแนวทางในการบริหารขององค์กรที่มุ่งเน้นคุณภาพร่วมกับญี่ปุ่น

3.ด้าน green logistics ต้องเริ่มต้นจากการบริหารจัดการโลจิสติกส์ การบริหารจัดการพลังงานทางเลือก และสุดท้ายคือ การปรับปรุงเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับงาน ซึ่งการดำเนินการลดการใช้ทรัพยากรของ SCG ที่ผ่านมา จะใช้พาหนะที่ใช้อัตราการบริโภคน้ำมันน้อย เช่น รถไฟหรือเรือในการขนส่งร่วมกับรถบรรทุก ที่ส่วนใหญ่จะใช้รถบรรทุก 18 ล้อที่บรรทุกครั้งละ 30 ตัน ซึ่งการใช้รถไฟ 1 ขบวนจะบรรทุกได้ 900 ตัน ประหยัดน้ำมัน 1.49 ลิตร/ตัน เรือไลเตอร์ 1 ลำบรรทุกได้ 1,800 ตัน ประหยัดน้ำมันได้ 1.28 ลิตร/ตัน บรรทุกสินค้าส่งออกปีละ 7-10 ล้านตัน และขาเข้ามีการบริหารไม่ให้เกิดเที่ยวเปล่า (back hual) ก็จะบรรทุกถ่านหินปีละ 4-5 ล้านตัน

เรื่อง dead head reduction management คือ การบริหารให้รถบรรทุกขนสินค้าทั้งขาไปและกลับ ทำให้ลดการบรรทุกเดินทางโดยไม่ได้บรรทุกสินค้า เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำมัน

SCG มีวัตถุดิบและสินค้าที่ต้องขนส่ง ปีละ 30 ล้านตัน ต้องใช้รถวิ่งวันละ 5,000-6,000 เที่ยว ต้องวางแผนตั้งเป้าใช้รถไฟให้มากขึ้น

เรื่อง consolidate management คือ การบริหารการจัดส่งสินค้าย่อย โดยรวบรวมสินค้าของลูกค้าหลายราย ไปรวมกัน ณ ศูนย์กระจายสินค้า ก่อนรวมเที่ยวส่งสินค้าไปยังปลายทาง โดยใช้แนวคิดของ hub and spoke concept และ cross docking concept สามารถช่วยให้จำนวนรถที่ใช้ลดลง รถบรรทุกทำรอบการขนส่งได้มากขึ้น ลดการใช้พลังงานและมลพิษ

ค่าขนส่ง ที่ลดได้ เฉพาะการรับขนส่งสินค้าให้บริษัทนอกเครือ SCG ปีละไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ประหยัดได้ 5% คิดเป็นเงินไม่ใช่น้อย หากรวมสินค้าในเครือไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ลดได้ 5% ก็มากพอสมควร

สำหรับ การบริหารจัดการใช้พลังงานทางเลือก เช่น ก๊าซ NGV อาจกลับมาฮิตอีกรอบ SCG กำลังศึกษาใช้ NGV และทยอยเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับการขยายตัวของสถานีบริการ NGV

ส่วน เรื่องการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงใช้ในงานให้เหมาะสม เช่น การใช้ GPS ตรวจสอบการวิ่งของรถบรรทุกหนัก ห้ามวิ่งเกิน 60 ก.ม./ช.ม. ห้ามวิ่งออกนอกเส้นทาง คิดดูว่าวิ่งวันละ 5,000 เที่ยว ประหยัดน้ำมันได้วันละนิดวันละหน่อย รวมหลายเดือนหลายปีก็มาก

การใช้ RFID ที่ยังไม่แพร่หลาย เพราะราคาต่อชิ้นยังแพง แต่ SCG เอามาติดกับรถบรรทุกวิ่งเข้าเหมืองถ่านหิน เหมืองหินปูน มาเข้าโรงงาน ข้อมูลมีอยู่ทั้งหมด ข้อมูลรับจ่าย ไม่ต้องเสียเวลาทำเอกสารที่อาจผิดพลาดง่าย และไม่ต้องเสียเวลารอคิวรับสินค้าจากโรงงาน

ภาพโดยรวมของการบริหาร จัดการ ปีที่ผ่านมาเปรียบเทียบกับปี 2548-2549 SCG ลดการปล่อยคาร์บอนได้ 3,200 กว่าตัน เท่ากับปลูกต้นไม้ได้ 1 แสนกว่าต้นต่อปี ปีนี้เราตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน ที่เท่ากับการปลูกต้นไม้ได้ปีละ 1.5-2 แสนต้น

view