จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์: |
จากการวิจัยในต่างประเทศนั้นพบว่า ธุรกิจครอบครัวที่มีอยู่ใน 3 รุ่นนั้น ปรากฏว่าธุรกิจครอบครัวที่มีอายุกว่า 60 ปี มีแค่ประมาณ 20% มีธุรกิจประมาณ 2 ใน 3 ของธุรกิจครอบครัวที่ยังคงอยู่ ก็มิได้เจริญเติบโตหรือพัฒนาขึ้น
ข้อคิดจากต่างประเทศ : เหตุผลที่ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ในหนังสือชื่อ Perpetuating the Family Business ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์ John Ward จาก IMD และมหาวิทยาลัย Northwestern ที่มีชื่อเสียงในการวางกลยุทธ์ธุรกิจครอบครัวระดับโลก ได้กล่าวสรุปถึงสาเหตุหลายประการว่าเหตุใดธุรกิจของครอบครัวจึงไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เช่น
(1) บริษัทครอบครัวไม่สามารถจะพัฒนาในการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือด้านความเปลี่ยนแปลงทางการตลาดหรืออื่นๆ (ซึ่งจะตรงกับประเด็นที่ผมได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงหรือกฎกติกาการค้า การลงทุนที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวไทยทั้งในด้านบวกและลบอันเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง)
(2) ปัญหาภาษีมรดกหรือทรัพย์สิน (ซึ่งมิใช่ปัญหาของประเทศไทยในอดีต แต่กำลังจะมีกฎหมายนี้ในอนาคต ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องเตรียมความพร้อม)
(3) เมื่อมีการโอนถ่ายอำนาจสมาชิกในครอบครัวขาดแรงจูงใจ และขาดความสนใจของธุรกิจของสมาชิกในครอบครัวนั้นน้อยกว่าบรรพบุรุษหรือของพ่อแม่ (ตรงกับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวต่างจังหวัดที่ลูกหลานมักไม่ค่อยอยากสืบทอดธุรกิจการค้าของพ่อแม่)
(4) ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ในแต่ละรุ่นก็มีความสนใจที่แตกต่างกัน ความแตกต่างในมูลค่าหรือของคุณค่าทางธุรกิจ ความแตกต่างในเรื่องเป้าหมาย ความคาดหวัง และแรงจูงใจในการทำธุรกิจของครอบครัวลดน้อยลง (ในยุคปัจจุบันกติกาการค้าการลงทุนที่มีการเปิดเสรี ยิ่งต้องทำให้เจ้าของธุรกิจต้องเปลี่ยนแนวคิด)
(5) สิ่งแวดล้อมหรือการจัดโครงสร้างของสมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 1 อาจจะสร้างความยุ่งยากให้กับครอบครัวรุ่นที่ตามมา (ผมคิดว่าการจัดโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมได้สร้างปัญหากับครอบครัวรุ่นต่อมา โดยเฉพาะประเทศไทยที่ผู้ประกอบการในอดีตส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจถึงความสำคัญของโครงสร้าง เพราะเป็นเรื่องกฎหมายที่นักธุรกิจมักจะไม่สนใจ)
ควรทำอย่างไรจึงจะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
จากหนังสือของศาสตราจารย์ Ward ดังกล่าว ท่านได้สรุปหลักการของธุรกิจครอบครัวในโลกที่จะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสรุปเป็นหลักว่าเรื่อง Five Insights และ The Four P’s เป็นโครงสร้างสำหรับการประกอบธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืนดังนี้ คือ
1.การนำธุรกิจกับครอบครัวมารวมกันเป็นเรื่องท้าทาย โดยจะต้องถือว่าธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นความท้าทาย เป็นโอกาส ไม่ถือว่าเป็นปัญหา สมาชิกในครอบครัวจะต้องค่อยๆ เรียนรู้และทำงาน ด้วยกัน ความเจริญของธุรกิจครอบครัวไม่ใช่แต่ “โชคดี” แต่เกิด จากการตั้งใจทำธุรกิจอย่างจริงจัง (ผมเห็นว่าธุรกิจครอบครัว ก็จะสามารถใช้ประโยชน์ความเป็นธุรกิจครอบครัวในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้อาศัยจากความคล่องตัว ความ รวดเร็ว และความสามารถของผู้บริหารได้ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีกฎเกณฑ์มาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่จะมาถึง ย่อมตัดสินใจได้เร็วกว่า)
2.ประเด็นปัญหาของธุรกิจครอบครัวจะเหมือนกัน แต่วิธีการแก้ไขปัญหาจะแตกต่างกัน สิ่งที่จะเหมือนกันทั่วไปจะได้แก่ เรื่องของการถ่ายโอนอำนาจว่าใครควรจะเป็นผู้นำ ใครควรจะสนับสนุนทางการเงิน ปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตทางการเงินและสภาพคล่อง ปัญหาว่าจะทำให้สมาชิกในครอบครัวเป็นอิสระและสมาชิกผู้บริหารที่มีความสามารถอยู่กับธุรกิจครอบครัวที่ให้ความเห็นหรือความช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวเจริญเติบโตอยู่ได้ ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัวและปัญหาเรื่องของการว่าจ้างของสมาชิกในครอบครัว ส่วนการแก้ไขของครอบครัวแต่ละครอบครัวก็ย่อมแตกต่างกันออกไป
3.การสื่อสาร การแลกเปลี่ยนข้อมูลของสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม ระเบียบการประชุม โครงสร้างของสมาชิกในครอบครัว สภาที่ปรึกษาครอบครัว หรือคณะกรรมการที่จะทำให้สมาชิกในครอบครัวมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดโอกาสที่จะนำปัญหาข้อข้องใจต่างๆ มาปรึกษากัน
4.การวางแผนให้ธุรกิจครอบครัวมีความเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยรวมถึงการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ การวางแผนการเลือกผู้นำและการถ่ายโอนอำนาจ การวางแผนการเงินของสมาชิกครอบครัวของแต่ละคน (ซึ่งก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการจัดสรรความเป็นเจ้าของ)
5.ความตั้งใจที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ความตั้งใจในการวางแผนเพื่ออนาคต ความตั้งใจที่จะทำงานที่มีคุณค่าในการประชุมครอบครัวและความตั้งใจต่อธุรกิจและความต่อเนื่องของครอบครัว