จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอเอฟพี - สำนักข่าวเอเอฟพีเสนอรายงานสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงใกล้วันที่ศาลฎีกาจะ ตัดสินคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ” ชี้นักวิเคราะห์ต่างชาติหลายรายมีความวิตกเรื่องที่ฝ่ายทหารอาจจะทำปฏิวัติ รัฐประหารอีก ขณะที่เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังต้องการรักษาเก้าอี้ และไม่บีบให้ “อภิสิทธิ์” พ้นตำแหน่ง
รายงานของเอเอฟพีบอกว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองระยะใหม่ ก่อนที่ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 26 เดือนนี้ เพื่อตัดสินว่าจะยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่
เอเอฟพีพูดถึงเหตุการณ์ยิงลูกระเบิดใส่กองบัญชาการกองทัพบกในเดือน มกราคม และ “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งเป็นผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าพบตำรวจในวันจันทร์(1) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาว่ามีอาวุธผิดกฎหมายในครอบครอง โดยที่ตำรวจยืนยันว่า พล.ต.ขัตติยะเป็นผู้ต้องสงสัยสำคัญในการก่อเหตุโจมตีกองบัญชาการกองทัพบกดัง กล่าว จากนั้นเอเอฟพีบอกว่า เหตุการณ์คราวนี้ทำให้มีข่าวลือแพร่สะพัดในสื่อมวลชนไทย เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์แห่งหายนะในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การก่อความรุนแรงของพวกเสื้อแดง, การแตกแยกในกองทัพ และกระทั่งการทำปฏิวัติรัฐประหารของฝ่ายทหาร
รายงานของเอเอฟพีอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกผู้หนึ่งที่ ขอให้สงวนนาม ซึ่งกล่าวว่า “ชีวิตการเมืองในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่” แต่เขาก็ไม่ให้น้ำหนักแก่ข่าวลือที่ว่ากำลังจะเกิดการรัฐประหาร “ผมไม่เห็นมีอะไรที่บ่งชี้ว่ากองทัพไทยเกิดการแตกแยกกัน นี่เป็นกองทัพที่เชื่อฟังคำสั่งนะ” นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวและชี้ว่า “ในกองทัพมีพวกเสื้อแดงแน่ๆ แต่เมื่อปี 2006 พวกเขาก็เข้าร่วมในการทำปฏิวัติรัฐประหาร (โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ) ด้วย เพราะมันเป็นคำสั่ง”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกผู้หนึ่ง คือ พอล แชมเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทย แห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ในเยอรมนี ตั้งข้อสังเกตกับเอเอฟพีว่า การที่เกิดข่าวลือเรื่องรัฐประหารเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นความยากลำบากของการเมืองไทยภายหลังการโค่นทักษิณคราวนั้น “ประเทศไทยได้เคลื่อนเข้าสู่ระยะใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ภายหลังรัฐประหารปี 2006” แชมเบอร์สบอก “ทหารในฐานะสถาบันได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มมากขึ้น และในเวลาเดียวกันก็เริ่มแสดงอำนาจบารมีอย่างไม่เป็นทางการเพิ่มขึ้นด้วย”
ฌาคส์ อีวานอฟฟ์ นักมานุษยวิทยาแห่ง สถาบันวิจัยว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย ก็มีทัศนะในทำนองเดียวกัน โดยเขาพูดกับเอเอฟพีว่า เขาคิดว่าประชาธิปไตยของไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันนั้น ได้มาถึงขีดจำกัดของตัวมันเองแล้ว
“มันเป็นภาพของสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดการระเบิด โดยที่มีความตึงเครียดจำนวนมากในทุกทิศทุกทาง และรัฐบาลก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรหรือไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวอะไรได้” อีวานอฟฟ์กล่าว “และเมื่อประเทศไทยตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเองมากจนเกินไป และไม่ทราบจะหาทางออกจะเดินไปทางไหน สถาบันเพียงสถาบันเดียวที่ยังทำงานได้ก็คือฝ่ายทหาร”
รายงานของเอเอฟพียังพูดถึงรัฐบาลผสม 6 พรรคของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เต็มไปด้วยความง่อนแง่น แต่แชมเบอร์สแห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กมองว่า ถ้าหากรัฐบาลผสมชุดนี้ล้มลง ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นมาโดยเร็ว ซึ่งพวกพรรคร่วมรัฐบาลต่างไม่ต้องการ “พวกพรรคร่วมรัฐบาลจึงน่าที่จะรวมตัวอยู่ด้วยกันมากกว่าที่จะทำให้รัฐบาลพัง ลงไป” เขาวิเคราะห์ “อันตรายที่จะเกิดกับนายอภิสิทธิ์ในปัจจุบันนั้น เรื่องที่ตัวเขาเองจะถูกทำร้ายโจมตีด้วยความรุนแรง จะมีโอกาสสูงกว่าเรื่องที่เขาจะถูกบีบบังคับให้ลุกขึ้นจากเก้าอี้นายก รัฐมนตรีเสียอีก”