สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ดีอย่างไรต่อผู้ลงทุน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


จารุพรรณ อินทรรุ่ง
ก.ล.ต. คู่คิดนักลงทุน สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

โดย : ก.ล.ต.คู่คิดนักลงทุน : info@sec.or.th


ครั้งนี้เนื้อหาเกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์การออกเสนอ ขายหลักทรัพย์ที่ ก.ล.ต. เตรียมออกประกาศปีนี้ โดยใช้แนวทางเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

 จะน่าสนใจและดีต่อผู้ลงทุนอย่างไร “แนวทางการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น” คืออะไร?
ทั่วไปการกำกับดูแลตลาดทุน แบ่งเป็น 2 แนว แนวแรก เป็นแบบที่มีทางการคอยดูความเหมาะสมโดยใช้ดุลพินิจของหน่วยงานกำกับดูแล พิจารณาอนุญาตการออกเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเรียกว่า merit based system

อีกแนวหนึ่ง คือ การเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบอย่างเพียงพอ หน่วยงานกำกับดูแลเพียงดูว่า บริษัทที่จะออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ เปิดเผยข้อมูลเพียงพอหรือไม่ แต่ไม่เข้าไปตัดสินความเหมาะสมของบริษัท ที่จะออกเสนอขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ผู้ลงทุนจะดูข้อมูลที่บริษัทเปิดเผย และใช้วิจารณญาณของตนในการตัดสินใจลงทุนเอง แนวคิดนี้เรียกว่า disclosure based system ซึ่งเป็นแนวกำกับตลาดทุนที่ใช้แพร่หลาย โดยเฉพาะในตลาดทุนที่มีการพัฒนาก้าวหน้า ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนตลาดทุนไทย ที่ผ่านมาเป็นแบบผสมผสาน 2 แนวทาง คือ ใช้ดุลพินิจดูความเหมาะสมให้ผู้ลงทุน และเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอของผู้ออกผลิตภัณฑ์ด้วย เรียกว่า เป็น disclosure บวก merit

ตั้งแต่ปี 2553 นี้ ก.ล.ต. กำลังเดินไปในแนวที่เป็น disclosure based มากขึ้นและ merit based น้อยลง จึงเป็นที่มาของ “แนวทางการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น” และจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมกัน

ทำไมต้องปรับเป็น “แนวทางการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น”?

ตลาดทุนที่มีระดับการพัฒนาสูงๆ มักจะใช้แนวทาง disclosure based เพราะกระแสการเชื่อมโยงตลาดทุน ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก จึงต้องปรับตัวในทุกๆ ด้าน รวมถึงเกณฑ์การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ เพื่อเอื้อแก่ทั้งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จากการศึกษาของตลาดทุนต่างประเทศหลายแห่งก่อนปรับเป็น disclosure based มองว่า merit based อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในสภาพตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งมีข้อวิจารณ์ว่า การใช้ดุลพินิจของทางการนั้นเหมาะสมหรือไม่

จากตลาดทุนสหรัฐอเมริกา ที่เป็นต้นแบบแนวทาง disclosure based เดิมก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในทศวรรษ 1930 ก็กำกับดูแลด้วยแนวทาง merit based เพื่อปกป้องผู้ลงทุนจากการฉ้อโกงของบริษัทที่ออกเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แต่พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตลาดวอลล์สตรีทล่ม รัฐบาลกลางเข้ามาดูแล เห็นว่า แนวทาง merit based ไม่อาจแก้ปัญหาการฉ้อโกงได้ รวมถึงการใช้ดุลพินิจของทางการที่ว่าช่วยดูบริษัทที่ดี ๆ ก็ไม่ได้รับประกันว่าบริษัทที่อนุญาตให้เข้ามา จะไม่มีความเสี่ยง จึงเป็นประเทศแรกที่นำแนวทาง disclosure based มาใช้ โดยให้ผู้ลงทุนเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจเลือกลงทุน ส่วนทางการจะดูแลมาตรการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งจัดให้มีกลไกต่างๆ เช่น มีกฎหมายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแบบกลุ่ม เป็นต้น

เกณฑ์ใหม่จะต่างจากเดิมอย่างไร?

เกณฑ์ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ของ ก.ล.ต. ที่จะปรับปรุงครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การอนุญาตการออกเสนอขายหลักทรัพย์ ปัจจุบัน ก.ล.ต. จะดูความเหมาะสมของบริษัทที่จะออกเสนอขายหลักทรัพย์ เช่น ดูว่าธุรกิจของบริษัทนั้น เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหรือไม่ ความสามารถประกอบธุรกิจในระยะยาวเป็นอย่างไร ถ้า ก.ล.ต. มองว่าธุรกิจมีความเสี่ยงมาก อาจไม่สามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่องในอนาคต จะไม่อนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ เป็นต้น

จากการทบทวนเกณฑ์เรื่องนี้ ก.ล.ต. มองว่า การเข้าไปใช้ดุลพินิจตัดสินใจลักษณะดังกล่าว อาจเป็นการปิดกั้นทางเลือกของผู้ลงทุนบางกลุ่ม ที่ต้องการลงทุนในบริษัทที่มีความเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนที่สูง จึงเห็นควรปรับเกณฑ์ โดยเน้นให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ให้เพียงพอ และให้ผู้ลงทุนเป็นผู้ตัดสินใจเอง

การปรับเกณฑ์ส่วนที่สอง คือ การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) จะปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาโดยบริษัทและที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท ที่จัดทำข้อมูลเปิดเผยในแบบไฟลิ่งไว้เพียงพอ จะเสนอขายหลักทรัพย์ได้รวดเร็วขึ้น ถ้า เห็นว่าในแบบไฟลิ่งมีประเด็นที่ไม่ชัดเจนหรือไม่เพียงพอ จะตั้งคำถามให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์และที่ปรึกษาทางการเงินตอบ และนำคำถามคำตอบเหล่านี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ควบคู่กับแบบไฟลิ่ง เพื่อให้ ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนเอง

การปรับเกณฑ์ทั้งสองส่วนนี้ จะช่วยให้บริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนสะดวกขึ้น ผู้ลงทุนก็จะมีสินค้าให้เลือกลงทุนสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ มากขึ้น และมีข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะรับฟังความคิดเห็นในการปรับเกณฑ์ต่างๆ ก่อนออกใช้บังคับ

view