สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จาก สื่อเก่า ถึงสื่อใหม่ ต้องยึด จรรยาบรรณ

จากประชาชาติธุรกิจ


บท บรรณาธิการ



5 มีนาคมของทุกปี เป็นวันนักข่าว ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของสื่อที่ชัดเจนที่สุด คือการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ สื่อดิจิทัล บ้างก็ว่าเป็นสื่อยุค 3.0 ที่รวดเร็วและเปลี่ยนโฉมหน้าการสื่อสารไปอย่างสิ้นเชิง สื่อใหม่กำลังเข้ามาแทนที่สื่อเก่า หรือสื่อกระดาษ ที่ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป ดังเห็นตัวอย่างได้จากสื่อหนังสือพิมพ์ในโลกตะวันตกที่ปิดตัวเอง หรือเปลี่ยนตัวเองจากสื่อกระดาษไปสู่สื่อออนไลน์ในชั่วข้ามคืน อาจเนื่องด้วยคนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านโลกออนไลน์ และสื่อรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น นี่คือจุดเปลี่ยนในวงการสื่อมวลชน ดังเห็นได้จากหนังสือวันนักข่าวปีนี้ก็ใช้ หัวเรื่องหน้าปกว่า "นักข่าว 3.0 โจทย์หินสื่อไทย"

"พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร" ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นครูใหญ่ ในวงการนักหนังสือพิมพ์ กล่าวเตือนไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์หรือสื่อดิจิทัล ความดีก็คือความดี ความเลวก็คือความเลว ความถูกก็คือความถูก ผิดก็คือผิดจรรยาบรรณ จริยธรรม ต้องอยู่บนพื้นฐานจิตใจคนไม่ใช่ว่ายุคดิจิทัลแล้ว จะต้องมีจรรยาบรรณสำหรับนักข่าวดิจิทัล หรือนักหนังสือพิมพ์ดิจิทัล ขึ้นมาอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นเราคงตามไม่ทัน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หลักของความดีงาม ความถูกต้องชัดเจน ที่ต้องอยู่ในตัวนักข่าว

นักหนังสือพิมพ์อาวุโสเล่าว่า สมัยก่อนสื่อมีแค่สื่อเขียนหรือสื่อวิทยุ แต่ปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่ง นักข่าวจะเป็นนักอะไรก็ได้ จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ก็ได้ นักวิทยุก็ได้ มีสถานีโทรทัศน์เองก็ได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นนักข่าวประชาสังคมนักข่าวพลเมือง แต่ไม่ได้หมายความ จะเพิกเฉยต่อจรรยาบรรณวิชาชีพได้ เพราะจรรยาบรรณของวิชาชีพ ก็คือจรรยาบรรณของมนุษย์ สื่อดิจิทัลเองที่เน้นความรวดเร็วมากกว่าความถูกต้องก็ต้องกลับมาทบทวนตัว เอง เมื่อผิดแล้วยอมรับและแก้ไข ไม่ใช่ตะแบง เหล่านี้จะส่งผลถึงความน่าเชื่อถือ ทั้งความน่าเชื่อถือบุคคล หรือของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เมื่อมีมากเข้า ก็ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นน่าเชื่อถือ คนที่ให้ข่าว เขาก็ให้ความน่าเชื่อถือ ข่าวที่ได้มาก็น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ จรรยาบรรณเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์หรือ สื่อยุคใหม่ 3.0 ที่กำลังเฟื่องฟู ต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด

คำเตือนของนายพงษ์ ศักดิ์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส มีคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะห้วงเวลาที่สังคมไทยตกอยู่ในสงครามการเมืองแห่งความขัดแย้งแบ่งขั้ว ทางการเมือง เป็นสีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน และสีอื่น ๆ ถ้านักข่าวทำหน้าที่แค่ขยายความขัดแย้ง เสี้ยมให้เกิดการเผชิญหน้า หรือยอมตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคู่ขัดแย้ง สังคมย่อมตกอยู่ในอันตราย และไม่มีทางออก แล้วที่สุด สังคมไทยจะเดินหน้าไปสู่ความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้ง ๆ ที่สังคมไทยผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาคม 2535 และล่าสุดเมษายน 2552 วันนี้ หากต้องการให้สังคมก้าวข้ามความขัดแย้ง สื่อควรกลับมาทบทวนตัวเองในหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ เพราะความจริงแล้ว หลักของความ ดีงาม ความถูกต้องชัดเจน ต้องอยู่ในตัวนักข่าวอยู่แล้ว

view