จับตานโยบายธปท.ภายใต้ร่มเงารัฐบาลใหม่
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ศรัณย์ กิจวศิน
จับตานโยบายแบงก์ชาติภายใต้ร่มเงารัฐบาลใหม่ บีบปรับเป้าหมายเงินเฟ้อ-โยกทุนสำรองตั้งกองทุนความมั่งคั่งลงทุนแหล่งปิโตรเลี่ยม
ยังไม่ทันที่รัฐบาลชุดใหม่จะได้เริ่มแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการ แต่ทว่า "แรงกดดัน" ที่สัมผัสได้จาก "วังบางขุนพรหม" กลับชัดเจนยิ่ง เพราะถ้าจับคำพูดไล่เรียงมาตั้งแต่ระดับ นายกรัฐมนตรี ลงไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่กระทรวงพลังงาน ล้วนแล้วแต่พาดพิงหมิ่นเหม่ไปในทาง "แทรกแซง"การทำงานของ "แบงก์ชาติ" แทบทั้งสิ้น
สัญญาณที่จับได้ว่า ส่อเสียดในทางแทรกแซง เริ่มจากคำสั่งของ ธีระชัย ภูวนาทนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่สั่งให้ทีมนักวิชาการกระทรวงการคลังไปศึกษา ปัญหาในแง่การดำเนินนโยบายการเงินของแบงก์ชาติว่ายึดติดอยู่กับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมากเกินไป จนบีบรัดให้ต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ซึ่งก็เป็นที่มาที่ถูกตีความกันว่ากระทรวงการคลังจะรื้อกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่
ถัดมาคือความเห็นของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มองว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงเครื่องมือเดียว พร้อมกับส่งผ่านความเห็นนี้มายังแบงก์ชาติว่าควรชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้แก่ภาคเอกชน
แต่เหนืออื่นใด ข่าวที่น่าจะทำให้คน "แบงก์ชาติ" กระอักกระอ่วมใจมากสุด คงเป็นกรณีที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล หารือกับแบงก์ชาติในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Sovereign Wealth Fund (SWF) โดยนำทุนสำรองระหว่างประเทศ ในส่วนที่เหลือจากที่ต้องสำรองไว้ ไปลงทุนในแหล่งปิโตรเลียม
ข้อความถึง "แบงก์ชาติ" ที่ส่งมาจากระดับบิ๊กของกระทรวงต่างๆ นั้น ล้วนแต่เป็นความท้าทายที่คนแบงก์ชาติ ต้องเผชิญ โดยเฉพาะ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน ที่เพิ่งสอบผ่านการประเมินผลงานจากคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานมาหมาดๆ ...ซึ่งเรื่องนี้ "ประสาร" เองได้ออกมาให้สัมภาษณ์ไปบ้างแล้วว่า ทั้งหมดนี้ยังต้องหารือกับ รมว.คลังก่อน
"ผมได้โทรศัพท์คุยกับท่านบ้างแล้ว ท่านก็บอกว่าไว้จะนัดมาคุย แต่ยังไม่ได้นัดวันมา ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องรอไว้ก่อน เพราะปกติเวลาทำงานก็ควรที่จะได้หารือกันก่อน หากต่างฝ่ายต่างแสดงความเห็นกันในที่สาธารณะเดี๋ยวมันจะหาข้อสรุปได้ยาก"ผู้ว่าการแบงก์ชาติบอกกับผู้สื่อข่าว
พร้อมกันนี้ เขายังตอบผู้สื่อข่าวถึงคำถามที่ว่าหากการหารือร่วมกันแล้วมีความเห็นที่แตกต่างกันจะตัดสินใจอย่างไร โดย "ประสาร" ตอบอย่างชัดเจนว่า "ปกติแล้วแบงก์ชาติก็ต้องดูว่า อะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากสุด ซึ่งก็ต้องเลือกทางนั้น"
ว่าไปแล้วการหารือระหว่าง "ประสาร" กับ "ธีระชัย" น่าจะหาข้อสรุปที่ดีร่วมกันได้ เพราะทั้งคู่ล้วนเกิดและโตในสายอาชีพการงานมาจากรั้ว "วังบางขุนพรหม" พร้อมๆ กัน โดยเฉพาะในยุคที่เรียกว่าการเมืองครองงำแบงก์ชาติอย่างรุนแรง
มีเรื่องเล่าซึ่งเป็นตำนานของ "แบงก์ชาติ" อยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกิดในยุคของ ผู้ว่าการฯ กำจร สถิรกุล ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14 กันยายน 2527 ถึง 5 มีนาคม 2533
ยุคนั้นเป็นยุคที่ "แบงก์ชาติ" ถูกถล่มอย่างหนักโดยฝากการเมือง เป็นประเด็นเรื่องดอกเบี้ยเช่นเดียวกับทุกวันนี้ และท้ายสุดผู้ว่าการฯ "กำจร" ถูกสั่งปลด จนเกิดการรวมตัวของคนแบงก์ชาติขึ้น ...เป็นที่มาที่ทำให้กลุ่ม "ยังเติร์ก" ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนทุน เป็นคนรุ่นใหม่ที่วงการการเงินต่างฝากความหวังไว้กับคนเหล่านี้ ต้องออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารแบงก์ชาติในขณะนั้น ยืนหยัดยึดมั่นในหลักนโยบายการเงิน และการทำงานที่ไม่ยี่หระต่อการเมือง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นยังเป็นที่มาของการก่อกำเหนิด 10 ทหารเสือ อันเป็นอีกหนึ่งตำนานของแบงก์ชาติด้วย
ที่สำคัญ "หนึ่งในกลุ่มยังเติร์ก" ซึ่งเคยโด่งดังในอดีต มีชื่อ ธีระชัย ภูวนาทนรานุบาล รวมอยู่ด้วย ...โดย "ธีระชัย" ถือเป็นนักเรียนทุนของ "แบงก์ชาติ" ซึ่งทุนเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นโดย อาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไอด้อลของคนแบงก์ชาติในทุกยุค ...นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ใครหลายคนยังมีความเชื่อว่าระหว่าง "ประสาร" กับ "ธีระชัย" น่าจะพอเจรจากันได้
แต่สำหรับประเด็นอันใหญ่ยิ่ง และยิ่งใหญ่เพียงพอที่คนทั้งประเทศสมควรได้รับรู้ คือ การนำทุนสำรองระหว่างประเทศ ไปลงทุนในแหล่งพลังงานหรือบ่อน้ำมันตามแรงบีบของกระทรวงพลังงานนั้น มีความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ "แบงก์ชาติ" ควรต้องคิดให้หนักยิ่ง ที่สำคัญต้องมีคำตอบอันชัดเจนให้กับสังคมได้รับทราบ
ว่าไปแล้ว "พิชัย" ในฐานะ รมว.กระทรวงพลังงาน เปิดเกมนี้อย่างหนักหน่วงด้วยการยัดข้อหา "เล่นการเมือง" ให้กับคนแบงก์ชาติ โดยอ้างว่า "ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติยังเห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งอยู่เลย แต่พอพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลกลับไม่เห็นด้วย หากลองพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลก็คงเห็นด้วยกับแนวคิดนี้"
ได้ฟังแบบนี้ เชื่อว่าคนแบงก์ชาติคงสะดุ้งโหยงกันเป็นแถว จึงต้องติดตามดูต่อไปว่า "แบงก์ชาติ" จะปัดข้อกล่าวหานี้อย่างไร เพราะความจริงแล้วแบงก์ชาติยังแบ่งรับแบ่งสู้กับกรณีการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาโดยตลอด โดยยกเหตุผลว่าทุนสำรองที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้มีมากอย่างที่คิด เพียงแต่ประเด็นที่แบงก์ชาติปฎิเสธเสียงแข็งมาตลอดมีเรื่องเดียว คือ การนำทุนสำรองไปลงทุนในแหล่งพลังงาน เช่น บ่อน้ำมัน โดยอ้างเหตุผลว่าขัดกับหลักการและวัตถุประสงค์การลงทุนของทุนสำรองฯ
ความจริงแล้ว เรื่องการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ธปท. ได้เขียวเอาไว้ชัดเจน โดยระบุว่าให้ยึดหลักสำคัญ 3 ประการ คือ 1.รักษามูลค่าของเงินสำรองทางการในรูปเงินตราต่างประเทศ 2.ต้องมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และ 3.ได้รับผลตอบแทนสูงสุดภายในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
เพียงหลัก 3 ข้อนี้ "คำตอบ" ก็น่าจะชัดเจนพออยู่แล้วว่าการนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในแหล่งพลังงาน หรือ บ่อน้ำมัน ทำได้หรือไม่!
ทั้งหมดนี้จึงต้องติดตามดูว่าการเจรจาระหว่าง "แบงก์ชาติ" กับ "หน่วยงานภาครัฐ" ที่มีต่อนโยบายด้านต่างๆ จะออกมาในรูปแบบใด นโยบายของแบงก์ชาติจะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ ที่สำคัญแบงก์ชาติจะยังคงความเป็น "เขตปลอดการเมือง" ได้อยู่รึเปล่า เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรต้องเฝ้าติดตาม เพราะทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ!!!!