จาก ประชาชาติธุรกิจ
อิลลา อิลลาช : เรื่อง เรื่องและภาพจาก LIPS และหนังสือดวงแก้วพระมงกุฎเกล้าฯ
เจ้าฟ้าหญิง 4 แผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ พระมรดก (จบ) 2ปีหลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ทางราชสำนักได้เปิดพระราชพินัยกรรม เพื่อจัดสรรปันส่วนพระราชมรดกของรัชกาลที่ 6 ดังนั้นพระราชทรัพย์ รัชกาลที่ 6 ทั้งหมด จึงส่งเข้าพระคลังข้างที่ ด้วยเหตุนี้ เจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนฯ จึงกลายเป็น "พระธิดาตกยาก"ไร้ซึ่งพระทรัพย์สมบัติทั้งปวง ถึงกระนั้นก็ตาม พระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 ตามระเบียบของราชสำนัก พระองค์ทรงได้รับเงินรายปี ตามที่พระบรมวงศานุวงศ์ ในชั้นเจ้าฟ้า ทรงได้รับปีละ 800 บาท และเงินพระดำรงพระเกียรติ ปีละ 40,000 บาท กระทั่งถึงวาระสุดท้ายของทั้งสองพระองค์ หลังจากพระนางเจ้าสุวัทนาฯ สิ้นพระชนม์ ถัดมาอีกเกือบ 26 ปี เจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนฯ ก็เสด็จสู่สวรรคาลัยตามพระราชชนนี
ปรากฏว่า ในพระราชพินัยกรรม ไม่ได้ทรงระบุว่า พระราชทานสิ่งใดให้แก่พระราชธิดาพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในพระราชพินัยกรรมทรงระบุจะยกให้พระราชโอรส แต่ไม่ได้ระบุถึงพระราชธิดา
พระราชพินัยกรรมฉบับนั้น ทรงเขียนขึ้นระหว่างที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพระครรภ์ ไม่ทรงทราบว่าจะได้พระราชโอรสหรือพระราชธิดา
นับ ว่าเป็นโชค ที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 พระราชชนนีเจ้าฟ้าหญิง ทรงได้รับพระทรัพย์สินพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ยังทรงมีพระชนมชีพ ได้แก่ ที่ดินผืนใหญ่บริเวณท่าวาสุกรี ที่ดินมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัย กับตึกแถวบางแห่งบนถนนศรีอยุธยา และย่านวัดมหรรณพ์ รวมทั้งเครื่องเพชร เครื่องประดับอื่น ๆ ประกอบกับมรดกที่ได้รับจากพระบิดา ได้แก่ ตึกแถวบนถนนเยาวราช จึงพอมีทรัพย์สินส่วนพระองค์อยู่บ้าง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายผดุงพระเกียรติสำหรับพระองค์เองและพระธิดา
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงใช้พระราชทรัพย์ที่มีอยู่ ทรงประคับประคองดูแลพระหน่อเนื้อเชื้อไขของรัชกาลที่ 6
ทรง ข้ามผ่านวิกฤตการณ์ฝืดเคืองทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยพระองค์เอง แม้ในยามที่ขัดสนมาก พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็ทรงขายเครื่องเพชรแลกกับเงินในการดำรงพระชนมชีพ เมื่อครั้งที่ประทับในประเทศอังกฤษในยามเกิดศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ขัดสนยิ่งนัก
สำหรับเครื่องเพชรที่ทรงนำออกไปขายนั้น ส่วนใหญ่จะเลือกชิ้นที่ไม่สำคัญ เพราะส่วนใหญ่เป็นของพระราชทานจากพระสวามี และทรงหาซื้อเพิ่มเติมอีก อีกทั้งยังทรงเก็บหอมรอมริบซื้อสะสมไว้ เพื่อความมั่นคงของทั้งสองพระองค์
เพื่อในวันข้างหน้าที่เจ้าฟ้าหญิง ทรงอยู่ตามลำพัง จะได้ทรงหยิบฉวยติดตัวไปง่ายและแลกเป็นเงินได้ไม่ยาก
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงทรงนำเครื่องประดับล้ำค่าติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง
โดยเฉพาะเครื่องเพชรอันทรงคุณค่าและมูลค่าชุดที่พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงได้ครอบครอง เป็นเครื่องเพชรพระราชทานนั้น งดงามมากและอลังการมาก มีขนาดที่ใหญ่ระดับ โคตรเพชร กันเลยทีเดียว ส่วนเครื่องเพชรที่ทรงซื้อสะสมก็น้ำงาม มีคุณภาพดีเยี่ยม ทรงไม่คำนึงว่าจะต้องเป็นเม็ดโต แต่ขอให้มีความสวยงาม ละเอียด และมียี่ห้อโด่งดัง เช่น คาเทียร์, เจอราด, แวนคลีฟแอนด์อาร์เพลส์, ทิฟฟานี ฯลฯ
ความงามของเครื่องประดับอัญมณีที่พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงครอบครองนั้น มีเรื่องเล่าจากข้าราชบริพารในพระองค์ เล่าถึงเหตุการณ์ในร้านขายเพชรและเครื่องประดับในสหรัฐอเมริกาว่า เครื่องเพชรส่วนพระองค์ทำฝรั่งตกตะลึงจนตาค้างมาแล้ว
...วันหนึ่ง ทั้งสองพระองค์ทรงพระดำเนินผ่านร้านทิฟฟานี เสด็จทอดพระเนตรเห็นสร้อยทับทิมในตู้กระจกหน้าร้านก็เสด็จเข้าไปทอดพระ เนตรพนักงานขายชาวอเมริกัน แสดงอาการเหยียดสตรีผิวเหลืองผู้นี้ แทนที่จะกล่าวต้อนรับกลับบอกว่า Oh..Its very expensive. (ของชิ้นนั้นแพงมากนะ) สาวชาวอเมริกันผู้นั้นแสดงท่าทาง
ดูหมิ่นดูแคลน อย่างไร้เหตุผล ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงยอมให้ใครมาลบหลู่พระเกียรติได้ง่าย ๆ จึงรับสั่งให้ข้าในพระองค์ เปิดกระเป๋าเครื่องเพชรออกให้พนักงานขายคนนั้นดู พนักงานคนนั้นถึงกับผงะ เปลี่ยนอากัปกิริยามานอบน้อม ทูลเชิญเสด็จให้เข้าไปทอดพระเนตรข้างใน แต่ก็สายไปแล้ว
เมื่อพระองค์ทรงปฏิเสธและประทานบทเรียนแก่พนักงานผู้จองหองกลายเป็น แมวเชื่อง ๆ ทรงหยิบสร้อยทับทิมที่ทรงมี ออกมาเทียบกับของทิฟฟานี แล้วปรารภเป็นภาษาอังกฤษ แปลได้ว่า ของฉันงามกว่า ก็อยากรู้เท่านี้แหละ รับสั่งแล้วก็เสด็จออกจากร้านนั้นไปนี่คือเรื่องเล่าถึงอัญมณีอันทรงคุณค่า ที่ประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้
20 ปีผ่านไปนับตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต มีการผลัดเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน 3 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีพระประสงค์ให้แบ่งพระราชมรดกจำพวกเครื่องเพชร เครื่องประดับและอัญมณีสูงค่า ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แก่พระกุลทายาทสายต่าง ๆ ที่ทรงมีสิทธิ์ในพระราชมรดก ซึ่งพระคลังข้างที่ดูแลรักษา ก่อนหน้านั้นนายกรัฐมนตรีในยุคเผด็จการ ไม่ยอมให้นำออกมาแบ่ง ระหว่างพระทายาท จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้พระคลังข้างที่ นำออกมาแบ่ง โดยพระองค์ทรงเป็นประธานในการแบ่งมี 5 สาย พระทายาท
จากบทสัมภาษณ์ ม.ร.ว.ทิพยลาวัณ วรวรรณ (พระนัดดา) ที่ได้ติดตามเสด็จพระนางเธอลักษมีลาวัณ ไปจับสลากแบ่งเครื่องเพชร เคยลงตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉัน ฉบับ 14 ก.พ. 2537 บอกเล่าบรรยากาศการแบ่งพระราชมรดกครั้งนี้ว่า
...เราเข้าไปที่วังหลวง เขาจะแบ่งสมบัติไว้เป็นโต๊ะ ๆ ใหญ่ประมาณโต๊ะกินข้าว แล้วปูผ้าแดง มี 5 โต๊ะ สำหรับเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระสุจริตสุดา และเสด็จป้า (พระนางเธอลักษมีลาวัณ) บนโต๊ะมีของเยอะแยะเลย ทั้งพวกทอง เพชร สังวาล กระโถนทอง พานทอง เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมา ก็มีการจับสลากว่าใครจะได้โต๊ะไหน
ทรัพย์สินที่ได้มาก็ทยอยขาย เพราะต้องเอาเงินก้อนมาซื้อตำหนักใหม่ แต่ไม่ได้เร่ขาย ส่วนใหญ่มีเจ้าของร้านเข้ามาหา ส่วนใหญ่จะเป็นของโบราณ อย่างสังวาลมีทั้งเพชรเม็ดใหญ่ และเม็ดเล็กเป็นดอก ๆ ติดกัน ถ้าเผื่อท่านจะขายทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ ท่านจะแกะออกบางส่วน ถ้าเป็นมรกตชิ้นใหญ่ก็จะเป็นชิ้นแบบนั้น
เจ้าฟ้าหญิงกับพระชนนีทรงมีสิทธิ์ในฐานะพระทายาท สายที่ 1 ทรงได้รับพระราชทานที่ดินบางส่วน และเครื่องประดับชุดใหญ่ ได้แก่ชุดเพชร ประกอบด้วย เพชรลูกกลมขนาดเขื่องเรียงกันรอบพระศอ ชาววังเรียกกันว่า สร้อยเพชรแม่เศรษฐี ในชุดเพชรยังมีศิราภรณ์เพชรแบบเปล่งประกายรัศมี เป็นแฉกแหลมตลอดองค์ ที่เรียกกันว่า "Fringe Tiara"ฝีมือช่างราชสำนักฝรั่ง
พระปั้นเหน่ง หรือหัวเข็มขัดฝังเพชรลูกขนาดใหญ่นับ 10 เม็ด แต่ละเม็ดสามารถถอดเกลียวออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมรัดพระองค์ทองคำฝังเพชรเป็นระยะ ตลอดเส้นจี้เพชรเม็ดใหญ่ 10 กะรัต ประดับด้วยรูปจักรี ภายใต้อุณาโลมและพระชฎาห้ายอด แต่ละส่วนสามารถถอดได้เป็นชิ้น ๆ ใครได้ดูแล้วอดทึ่งไม่ได้ในกลไกอันวิเศษ ส่วนจี้เพชรน้ำงามสีขาวเลิศใสอีกองค์ฝังบนเรือนรูปดอกไม้ ฉลุโปร่ง ดูงดงามน่ารัก
รัดเกล้าแบบไทย ประดับเพชรลูกสีออกเหลืองนวล น้ำงามระยับ สามารถคลี่ออก เพื่อคาดไปตามโค้งพระเศียร เหมือนศิราภรณ์แบบตะวันตก
ชุดมรกต ประกอบด้วยเข็มกลัดมรกตเขียวสดใส มีระย้าตุ้งติ้งเป็นมรกตและเพชรรูปหยดน้ำ ล้อมด้วยดอกไม้ริบบิ้นเพชร สร้อยพระศอมรกตคั่นด้วยเพชรเหลือง ถอดแยกส่วนกันได้
สร้อยพระกรแบบอาร์ตเดโก หลายเส้น ฉลุลวดลายเป็นเส้นสาย และรูปทรงเรขาคณิตขัดไขว้กันอย่างละเอียด สลับด้วยไพลินบ้าง มรกตบ้าง งดงามแปลกตา และเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ อีกหลายองค์ ที่ไม่ได้สูงส่งแต่มีเพียงมูลค่าเท่านั้น
เครื่องประดับอันเป็นพระราชมรดกทั้งหมดนี้ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงถือเป็นของสูงของพระบรมราชจักรี ไม่ทรงนำมาทรงเด็ดขาด เพราะพระองค์มีพระกำเนิดเป็นสามัญชนมาแต่เดิม แต่ทรงจัดให้เจ้าฟ้าหญิง ในฐานะพระราชนัดดาของสมเด็จพระพันปีฯ ทรงประดับในโอกาสอันสมควร แต่เจ้าฟ้าหญิง ไม่โปรดจะทรงเครื่องประดับชิ้นใหญ่ ๆ ที่หรูหราอลังการเกินไป ส่วนมากทรงแค่สร้อยพระศอ มุกเส้นเล็ก ๆ กับเข็มกลัดเท่านั้น
พระทรัพย์สมบัติที่ได้รับพระราชทานในครั้งนั้น พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงกราบบังคมทูลให้คำมั่นกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระราชมรดกที่ได้รับพระราชทานมานี้ทั้งหมด จะไม่ทรงยักย้ายถ่ายเท หรือขายให้ใครเด็ดขาด ถึงจะทรงต้องการเงินแค่ไหน ก็จะทรงขายสมบัติใหม่ของพระองค์เท่านั้น จะไม่ทรงขายเครื่องเพชรของสมเด็จพระพันปีฯ ให้ไปตกอยู่ในมือผู้ใด
ทรงตั้งพระทัยว่า ในที่สุดวันข้างหน้า เมื่อถึงเวลา พระราชมรดกส่วนนี้จะต้องกลับเป็นของพระราชวงศ์จักรีอีกครั้งหนึ่ง...
ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระพินัยกรรมที่ทรงเขียนไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ ตามที่ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระพินัยกรรม แต่ไม่ใช่เรื่องที่ข้าราชบริพารจะเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของเจ้านาย แต่เท่าที่ทราบ คือ พระทรัพย์ที่เป็นอัญมณีล้ำค่า ทรงเก็บไว้อย่างปลอดภัยในเซฟของธนาคาร
แม้อัญมณีที่ว่าล้ำค่าเพียงใด ยังเทียบมิได้กับพระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ พระธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงถือปฏิบัติมาตลอดพระชนมชีพ ประดับไว้ในแผ่นดินอย่างหาที่เปรียบไม่ได้
เปรียบดั่ง"เพชรแท้อันหาค่ามิได้แห่งราชวงศ์จักรี"