เงินยูโร ระเบิดเวลาลูกเก่า (2)
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ผมทิ้งประเด็นไว้ว่า ถ้าประเทศในกลุ่มที่มีการใช้เงินสกุลเดียวกัน มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน
ใครจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
Robert Mundell นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกทฤษฎี optimal currency area บอกไว้ว่าต้องมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ข้อที่จะทำให้เขตการใช้เงินสกุลเดียวประสบความสำเร็จ
1. ต้องมีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรแรงงานแบบเสรี คือถ้ามีประเทศไหนเริ่มมีการว่างงานสูง แรงงานต้องสามารถย้ายไปอีกประเทศที่มีการว่างงานต่ำ เพื่อลดการว่างงานในแต่ละประเทศได้
2. ต้องมีการเปิดกว้างของการไหลของเงินทุน การกำหนดราคาสินค้าและค่าจ้างต้องมีความยืดหยุ่น การไหลของทรัพยากรต้องสามารถลดความไม่สม่ำเสมอของเขตเศรษฐกิจลงไปได้
3. ต้องมีระบบชดเชยทางการคลังด้วย คือประเทศที่มีเศรษฐกิจดีมากๆ มีการเกินดุลการคลังมากๆ ต้องเข้าไปอุดหนุนประเทศที่มีเศรษฐกิจไม่ดี เพื่อไม่ให้ช่องว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีสูงเกินไป
และ 4.สำคัญที่สุด ประเทศในกลุ่มเงินสกุลเดียวกัน ต้องมีวงจรทางธุรกิจที่สอดคล้องกัน คือถ้าจะรุ่ง ต้องรุ่งด้วยกัน ถ้าจะแย่ต้องแย่ด้วยกัน เพื่อไม่เกิดความขัดแย้งกันในความต้องการแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน
ผมอยากยกกรณีสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มเศรษฐกิจที่ใช้เงินสกุลเดียวกัน ด้วยขนาดทางเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกา มีขนาดไม่ต่างจากสหภาพยุโรปเท่าไร และรัฐใหญ่ๆ อย่างแคลิฟอร์เนีย มีขนาดพอๆ กับประเทศอันดับเจ็ดของโลกเลยทีเดียว แต่ทำไมแคลิฟอร์เนียจึงไม่จำเป็นต้องมีเงินสกุลของตัวเอง และสามารถอยู่ร่วมได้กับรัฐอื่นๆ ของสหรัฐ
ปัจจัยสำคัญก็คือ การมีวงจรทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน การไหลของทรัพยากรทั้งทุนและแรงงานในสหรัฐเป็นไปอย่างเสรีพอสมควร การย้ายของแรงงานจากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่งเป็นเรื่องปกติ และนโยบายการคลังและการเงิน แบบ federal ที่มีการอุดหนุนทางการคลัง และพิจารณาวงจรธุรกิจในแต่ละเขตของประเทศ ทำให้ทุกวันนี้ ยังไม่มีรัฐไหนอยากแยกตัวออกจากระบบดอลลาร์สักที
ย้อนกลับมาประเทศในยุโรป เมื่อมีการเริ่มใช้เงินสกุลยูโร พบว่าข้อดีที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือต้นทุนในการค้าขายลดลง การไม่มีอัตราแลกเปลี่ยน ลดอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนเงินไปเยอะ และต้นทุนในการกู้ยืมก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะ risk premium ที่ตลาดเคยให้กับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หายไปอย่างรวดเร็ว แต่ตลาดดูเหมือนจะให้ค่าของการเป็นส่วนหนึ่งของยูโรมากไปหน่อย จน risk premium สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ (default risk) หายไปด้วย จนเพิ่งจะมากระแทกเมื่อปีสองปีนี้
ว่ากันว่า ตอนแรกที่มีการคิดว่าจะใช้เงินสกุลยูโร กะว่าจะใช้กันแต่เฉพาะประเทศยุโรป “ตอนเหนือ” ที่มีการพัฒนาและความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูงกว่า จึงตั้งกฎเหล็กกันไว้ไม่ให้ประเทศเล็กๆ “ตอนใต้” เข้า แต่พอทำไปทำมา ทางการเมืองเริ่มมีการตอบรับดี จนต้องขยายรวมประเทศที่ยังไม่พร้อมเข้ามาด้วย (เช่น กรีซ ที่ต้องใช้เวลากว่าสองปี จึงแหกกฎเหล็กเข้ามาได้ แต่ก็ต้องผ่อนปรนกันแทบแย่)
ต่อมาภายหลังที่มีประเทศเกิดใหม่ในยุโรปมากขึ้น เริ่มมีความพยายามที่จะขยายเงินสกุลยูโรออกไป โดยใช้เงื่อนไขคล้ายๆ กัน จนประเทศอย่าง Slovenia, Cyprus, Malta, Slovak Republic และ Estonia ก็ได้ใช้เงินสกุลยูโรเมื่อไม่นานมานี้และมีอีกหลายประเทศเข้าคิวรอใช้เงินยูโร ทั้งๆ ที่ ถ้าดูกันทางทฤษฎีแล้ว บางประเทศอาจจะไม่เหมาะที่จะใช้เงินยูโร เพราะมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง
ทีนี้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้จริงๆ เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้น ขณะที่มีความไม่สม่ำเสมอของวงจรธุรกิจ บางประเทศในกลุ่มประเทศยูโร มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ไม่มีการเจริญเติบโตมาหลายปี การว่างงานสูงถึง 20% ในสเปน และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพราะค่าเงินที่แข็งขึ้นอย่างมาก และมีการขาดดุลเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ประเทศเหล่านี้ต้องการในขณะนี้ คือค่าเงินที่อ่อนลง เพื่อกระตุ้นการส่งออก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
จำเมืองไทยตอนมีวิกฤติได้ไหมครับ ค่าเงินเราลดไปกว่าครึ่ง แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงแค่ปีเดียว และการส่งออกกลับมาช่วยเราไว้ได้
แต่ประเทศใหญ่ และมีเสียงในการกำหนดนโยบายการเงินในยุโรป อย่างเยอรมัน ไม่ได้ประสบปัญหาไปด้วย และยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการว่างงานที่ค่อนข้างต่ำ เยอรมันจึงไม่ต้องการนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพราะกลัวจะเกิดเงินเฟ้อในประเทศตัวเอง และไม่ได้ต้องการค่าเงินที่อ่อน เพราะยังเกินดุลประเทศอื่นๆ อยู่เลย และด้วยปัญหาในเงินสกุลหลักอื่นๆ ค่าเงินยูโร เลยแข็งปึ๋งปั๋งเอาการ
ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ในระยะแรกที่เริ่มมีปัญหาทางเศรษฐกิจจึงเป็นไปแบบ “เหยี่ยว” สุดๆ คือไม่ลดดอกเบี้ยในทันที และเพิ่งจะมาลดและมีบทบาทในการแก้ไขวิกฤติการเงิน เมื่อดูเหมือนว่าปัญหาอาจจะลามไปในวงกว้าง
นอกจากนี้ ยังขาดการช่วยเหลือทางการคลังระหว่างกันที่เพียงพอ และขาดแรงสนับสนุนในทางการเมืองที่จะช่วยเหลือประเทศอื่น ทำให้ปัญหาลุกลามไปไม่หยุด
สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นข้อด้อยของการมีเงินสกุลร่วม ที่เป็นระเบิดเวลาที่หลายๆ คนได้วิเคราะห์ไว้ และปัจจุบันเริ่มมีคนพูดถึงการแตกสลายของเงินสกุลยูโรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ประเทศที่มีปัญหา เอาตัวรอดด้วยการลดค่าเงินตัวเอง เพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับมา ดีกว่าเตะปัญหาไปเรื่อยๆ
น่าสนใจจริงๆ ครับ ว่าปัญหาพวกนี้จะจบอย่างไร