จาก โพสต์ทูเดย์
สั่นสะเทือนไปทั้งภาคการเงินและธนาคารของสหรัฐ เมื่อสำนักงานกลางดูแลการเงินอสังหาริมทรัพย์ (เอฟเอชเอฟเอ)
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
สั่นสะเทือนไปทั้งภาคการเงินและธนาคารของสหรัฐ เมื่อสำนักงานกลางดูแลการเงินอสังหาริมทรัพย์ (เอฟเอชเอฟเอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ยื่นฟ้อง 17 ธนาคารใหญ่ ระบุว่า ได้หลอกขายอนุพันธ์ทางการเงินที่อิงกับหนี้อสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือที่รู้จักกันว่า “ซับไพรม์” อันเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินในปี 2551 ที่ผ่านมา
เป็นการเชือดที่เอฟเอชเอฟเอได้ประกาศลั่นว่า คนที่กระทำผิดจะต้องชดใช้และจะต้องถูกลงโทษ และการดำเนินการของเอฟเอชเอฟเอครั้งนี้ถือเป็นการทำงานในนามของประชาชนผู้ เสียภาษีชาวอเมริกันทุกคน หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐต้องยอมแบกเงินภาษีของประชาชนเข้าไปโอบอุ้มบริษัท แฟนนี เม แอนด์ เฟรดดี แมค บริษัทสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศให้พ้นจากการล้มละลาย หลังในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมาจากการถูก “หลอกขาย” อนุพันธ์การเงินด้อยคุณภาพเหล่านั้นจากสถาบันการเงินและธนาคารรายใหญ่ที่ว่า
ใหญ่ขนาดไหนก็ถือว่าล้วนแต่เป็น “ขาใหญ่” ชื่อดังของวอลสตรีตทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “แบงก์ ออฟ อเมริกา” ซิตี้ กรุ๊ป โกลด์แมน แซคส์ และเจ.พี.มอร์แกน เชส เป็นต้น
ย้อนกลับไปช่วงกลางทศวรรษ 2000 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐถึงขั้นบูมสุดๆ จนกลายเป็นฟองสบู่ โดยธนาคารและสถาบันการเงินได้ปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กันอย่างบ้าคลั่ง ไม่เว้นแม้แต่การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้ด้อยคุณภาพที่เรียกว่า “ซับไพรม์”
การปล่อยกู้ดำเนินไปอย่างร้อนแรง และส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยที่กระชากตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นฟองสบู่ในที่สุด
สภาวะดังกล่าวได้ทำให้เกิดการอุบัติขึ้นของการลงทุนในนวัตกรรมการเงินรูป แบบใหม่ในรูปแบบของ “อนุพันธ์” ที่อิงกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในภาคการเงินของสหรัฐที่ร้อนแรงและได้รับความ นิยมอย่างสุด เมื่อธนาคารและสถาบันรายใหญ่ต่างๆ ได้ออกอนุพันธ์ตราสารหนี้ที่หนุนอยู่กับลูกหนี้ด้อยคุณภาพออกขายกันอย่างเท น้ำเทท่า
แน่นอนว่า บริษัท แฟนนี เม แอนด์ เฟรดดี แมค ถือเป็นผู้รับซื้ออนุพันธ์ทางการเงินเหล่านี้เป็น “รายใหญ่” มีมูลค่าการถือครองไว้ถึง 1.96 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้การดำเนินงานส่วนหนึ่งของบริษัท แฟนนี เม แอนด์ เฟรดดี แมค คือการรับซื้อต่อการจำนองบ้านจากผู้ปล่อยกู้ หรือไม่ก็นำไปแปลงสภาพออกเป็นอนุพันธ์เช่นกัน และบริษัทยังรับซื้ออนุพันธ์ต่างๆ ที่อิงกับหนี้ซับไพรม์จากสถาบันการเงินต่างๆ ด้วย
ความร้อนแรงของอนุพันธ์ซับไพรม์นั้นร้อนแรงขนาดที่ว่า เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการแมนฮัตตันก็ได้ยื่นฟ้องธนาคารดอยช์แบงก์ โดยระบุว่าฝ่ายจัดการอนุพันธ์ของดอยช์แบงก์เคยหลอกให้เจ้าหน้าที่ของเอฟเอ ชเอฟเอ รับประกันอนุพันธ์ที่ธนาคารเสนอขายออกมา ซึ่งล้วนแต่อิงอยู่บนหนี้เสียมูลค่ามหาศาล
เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ฮิตกับการเปิดขายการลงทุนบนความว่างเปล่าที่แทบจะไม่มีมูลค่าใดๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกลูกหนี้ไม่มีเงินจ่ายหนี้มูลค่าของอนุพันธ์ เหล่านี้ จึงแทบจะกลายเป็นแค่เศษขยะที่ไม่มีมูลค่าใดๆ
ภาวะดังกล่าวส่งผลให้บริษัท แฟนนี เม แอนด์ เฟรดดี แมค ต้องประกาศหั่นมูลค่าสินทรัพย์ลงอย่างมหาศาล จนอยู่ในสภาวะใกล้ล้มละลาย ร้อนถึงรัฐบาลสหรัฐต้องกระโดดเข้ามาช่วยเหลือด้วยเม็ดเงินภาษีของประชาชน ชาวอเมริกันทุกคน
ในสำนวนยื่นฟ้องของสำนักงานเอฟเอชเอฟเอได้ยืนยันชัดเจนว่า สถาบันการเงินและธนาคารเหล่านี้เข้าข่ายหลอกลวง (Misrepresent) ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้สินเชื่อบ้านของสถาบันเหล่านี้มีความแตกต่างผิดปกติ และมีความเสี่ยงมากขึ้น
และที่สำคัญอย่างยิ่งการเสนอขายอนุพันธ์ของสถาบันการเงินเหล่านี้ได้ กล่าวไว้เกินเลย หรือเรียกได้ว่า “โม้เกินไป” ในข้อเท็จจริงถึงขีดความสามารถของลูกหนี้ที่จะจ่ายหนี้ได้ ตลอดไปจนถึงมูลหนี้ของราคาบ้านที่สูงมากเกินไปเมื่อเทียบกับตัวสินทรัพย์ จริงๆ
อย่างไรก็ตาม ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกา ได้พยายามโต้แย้งว่า บริษัท แฟนนี เม แอนด์ เฟรดดี แมค เองก็รู้ดี และรับรู้อยู่แล้วถึงความเสี่ยงของอนุพันธ์เหล่านี้ และทางบริษัทเองก็ยังรับซื้ออนุพันธ์เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคณะกำกับดูแลจะแจ้งแล้วว่าบริษัทเหล่านี้ไม่มีระบบการจัดการความ เสี่ยงที่ดีพอ
เข้าทำนองจึงไม่ใช่ความผิดของสถาบันการเงินแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะผู้ซื้อก็โลภพอๆ กัน..!
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐหลายแห่ง รวมไปถึงนักลงทุนเอกชนที่กำลังหาทางดำเนินการทางกฎหมายต่อสถาบันการเงินทั้ง หลายกันอย่างบ้าคลั่งทีเดียว
เช่น ในเดือน ก.ค. เอฟเอชเอฟเอก็เพิ่งยื่นฟ้องธนาคารยูบีเอสในข้อหาหลอกลวงขายอนุพันธ์ซับไพรม์
ขณะที่ อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) กลุ่มประกันภัยรายใหญ่ของสหรัฐ ก็ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา ในกรณีเดียวกัน
เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา ก็เพิ่งจะยอมจ่ายเงิน 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับกลุ่มนักลงทุนกลุ่มหนึ่งไปแล้ว เพื่อยุติคดีการขายอนุพันธ์ด้อยคุณภาพเหล่านี้ไป
ส่วนสำนักงานอัยการแมนฮัตตันก็ได้ยื่นฟ้องธนาคารดอยช์แบงก์ ระบุว่า ฝ่ายอนุพันธ์ทางการเงินของธนาคารได้ออกอนุพันธ์ที่อิงอยู่บนหนี้เสียออกขาย เป็นจำนวนมาก และได้หลอกลวงให้สำนักงานอสังหาริมทรัพย์กลางให้การรับประกันอนุพันธ์เหล่า นี้
การดำเนินการทางกฎหมายในครั้งนี้ของเอฟเอชเอฟเอ ภายใต้การดูแลของเฟดนั้น ถือว่าเป็นศึกที่ใหญ่อย่างยิ่งยวด และกำลังจุดประเด็นการฟ้องร้องให้นักลงทุนอื่นๆ เอาคืนสถาบันการเงินเหล่านี้บ้าง
เพราะว่าได้เริ่มมีการถามถึงกันมากขึ้นว่า ไม่ใช่เพียงแต่ที่แฟนนี แม แอนด์ เฟรดดี แมค เท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังมีนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยอื่นๆ อีกหลายรายที่ถูกหลอกขายอนุพันธ์เหล่านี้ในช่วงนั้น ซึ่งอาจจะเข้าข่ายว่าละเมิดกฎหมายการซื้อขายอนุพันธ์และตราสารของสหรัฐเสีย ด้วย
แม้ว่าการฟ้องร้องของเฟดในครั้งนี้ จะขึ้นชื่อว่าเป็นการปกป้องเงินภาษีของประชาชนชาวอเมริกันเป็นเดิมพัน ที่ผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษและต้องชดใช้ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
แต่แน่นอนนักวิเคราะห์มองว่า ถ้าถึงที่สุดแล้วศาลได้ตัดสินว่าสถาบันการเงินและธนาคารรายใหญ่เหล่านี้ผิด จริง และจะต้องชดใช้เป็นมูลค่ามหาศาลนั้น ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินเหล่านี้อย่างรุนแรง ระลอกใหญ่ทีเดียว
ถือเป็นศึกครั้งสำคัญระหว่างศักดิ์ศรีแห่ง “เงินของผู้เสียภาษี” และ “สถานภาพแห่งวอลสตรีต” ที่โลกต้องลุ้นว่าจะสั่นสะเทือนระบบการเงินสหรัฐกันอีกกี่ริกเตอร์