จาก โพสต์ทูเดย์
การบริหารทุนสำรองทางการระหว่างประเทศที่อยู่ในมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โดย...ทีมข่าวการเงิน
การบริหารทุนสำรองทางการระหว่างประเทศที่อยู่ในมือของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) มาตั้งแต่มีการตั้งธนาคารกลางแห่งนี้ จากอดีตถึงปัจจุบัน ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ ณ วันที่ 26 ส.ค. ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ซึ่งรวมทุนสำรองระหว่างประเทศและฐานะสุทธิการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วง หน้าในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.157 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
เงินมหาศาลจำนวนนี้ไม่ได้เป็นสินทรัพย์แต่อย่างเดียว ส่วนหนึ่งจะเป็นหนี้สิน คือเงินที่จะต้องเตรียมไว้เพื่อชำระเงินกู้ต่างประเทศที่รัฐบาลกู้สะสมมา มีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีบางส่วนที่จะต้องชำระบัญชีที่ซื้อขายเงินตราต่างประเทศในการบริหาร จัดการค่าเงินบาท
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เงินทุนสำรองของไทยนั้นเป็นเงินที่มีเจ้าของหรือมีเจ้าหนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศของนักลงทุนต่างชาติที่มา ลงทุนในพันธบัตร หุ้น ฯลฯ เงินนี้ต้องเก็บไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในยามที่เงินทุนไหลออกด้วย อีกส่วนเป็นหนี้ต่างประเทศน่าจะมีประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐเศษๆ หักเงินส่วนนี้แล้วจะเหลือเงินทุนสำรองเพียงพอจะนำไปลงทุนตั้งกองทุนหรือไม่ ก็ต้องดูให้ดี
ทันทีที่ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว ธีระชัยภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ก็ชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ธปท.บริหารทุนสำรองมีผลขาดทุนจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 117,473 ล้านบาท และยังมีขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์อีก 260,211 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนที่จะต้องมีการแก้ไข
และ รมว.คลัง อดีตลูกหม้อ ธปท. ก็ยังแฉต่อไปอีกว่า ณ สิ้นปี 2553 ธปท. มีส่วนของทุนติดลบเป็นจำนวนเงินมหาศาล ซึ่งสูงติดลบ 431,829 ล้านบาท ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนก็จะต้องปิดกิจการไปแล้ว
และแม้ ธปท.จะไม่ได้ให้รัฐบาลตั้งงบประมาณมาช่วยแก้ขาดทุน แต่ทรัพย์สินของ ธปท. ก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินของชาติ จะปล่อยให้มีการบริหารจัดการไม่ดีคงไม่ได้
ธีระชัยโยงภาพให้เห็นว่า การขาดทุนมหาศาลของ ธปท. ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายคืนเงินหนี้ของกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่มีอยู่ 1 ล้านล้านบาทได้ ซึ่งหนี้จำนวนนี้กระทรวงการคลังต้องเจียดงบประมาณมาให้ปีละ 56 หมื่นล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยให้ โดยที่ ธปท.ไม่เคยจ่ายคืนเงินต้นเลย จะปล่อยไว้อย่างนี้คงไม่ได้
ฟังจากสิ่งที่ธีระชัยกล่าวแล้ว จะเห็นภาพการไร้ประสิทธิภาพ ในการบริหารทุนสำรองฯ ที่ในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง ธปท.เคยนำเงินนี้ไปต่อสู้ค่าเงินบาทกับกองทุนเก็งกำไรต่างชาติพ่ายแพ้จนเงิน ทุนสำรองลดเหลือเพียง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คนที่เคยร่วมสมัยคงคล้อยตามสิ่งที่ รมว.คลัง กล่าว
น่าคิดว่า ธปท.บริหารทุนสำรองได้ย่ำแย่ตามที่ รมว.คลัง อดีตลูกหม้อ ธปท.ผู้น่าจะรู้ไส้ในของ ธปท.ดีออกมากล่าวหรือไม่ เรื่องนี้ ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. เคยกล่าวไว้ว่า การขาดทุนทางบัญชีที่นำเงินไปใช้ในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เป็นการขาดทุนที่อธิบายได้ และเป็นการขาดทุนเพื่อชาติ
ธปท.ไม่ได้กังวลใจเรื่องการขาดทุนที่เกิดขึ้น เพราะไม่ต้องการให้ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะการส่งออก หากค่าเงินบาทผันผวนก็จะปรับตัวไม่ทัน ซึ่งผู้ส่งออกผู้ผลิตเสียหายใครจะรับภาระ สุดท้ายจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน การบริโภค นี่เป็นต้นทุนที่อธิบายได้
และอีกประการที่ไม่มีใครพูดถึงก็คือ ธนาคารกลางเกือบทั่วโลก ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น เพราะล้วนถือเงินสกุลเหรียญสหรัฐเป็นเงินสกุลหลักในทุนสำรองฯ เนื่องจากเงินสกุลนี้เป็นเงินสกุลหลักในการค้าขายของโลก
แหล่งข่าวจาก ธปท. เปิดเผยว่า การที่ทุนสำรองขาดทุนมากนั้น เป็นเพราะค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทอยู่ที่ 43 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะนี้ขึ้นมาแข็งค่าที่ 3031 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
การแข็งค่าของเงินบาทเป็นการแข็งค่ามาจากการที่ภาคเศรษฐกิจเริ่มปรับตัว ดีขึ้น ไทยอาจจะขาดดุลงบประมาณ แต่เราได้ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลการค้า และดุลชำระเงิน
“การแข็งค่าของเงินบาทสะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นประเทศที่ร่ำรวยธนาคารกลางจะขาดทุนทั้งนั้น จากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะธนาคารกลางไม่ได้ถูกตั้งมาให้แสวงหากำไร แต่ตั้งมาเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ” แหล่งข่าวเปิดเผย
อย่างไรก็ดี ในอีกมิติหนึ่งต้องยอมรับว่า การบริหารทุนสำรองของ ธปท.นั้น ก็ไม่เคยเปิดเผยว่าทำอะไร อย่างไร แต่เรื่องนี้ ธปท.ถือเป็นความลับ เพราะจะมีคนได้เสียจากการรู้ไส้ของทุนสำรองว่าธนาคารกลางลงทุนอะไรบ้าง สามารถนำไปเก็งกำไรค่าเงินได้
และก็เป็นไปได้ว่า ธปท.คงเคยบริหารผิดพลาด แต่ไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่โดยภาพรวมออกมาดูดี และไม่ได้เสียหายอะไร แต่ต้องยอมรับว่า ธปท.ลงทุนแบบนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะความอนุรักษนิยมของคนธปท. การลงทุนจึงจำกัดอยู่ไม่กี่ประเภท
ข้อดีของการบริหารแบบอนุรักษนิยม ก็ทำให้ประเทศปลอดภัยเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก และหลายครั้งก็พิสูจน์ว่าการอนุรักษนิยมของ ธปท.นั้นถูก ตัวอย่างที่เห็นในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤตการเงินของสหรัฐ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกพันธบัตรที่เรียกว่าซัพไพร์มก็สร้างความเสียหาย ให้สถาบันการเงินทั่วโลก แต่ไทยได้รับผลกระทบน้อย เพราะธปท.เข้มงวดในการที่สถาบันการเงินจะไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งตัวธปท.เองก็ระมัดระวังเช่นกัน
เรื่องนี้มองได้สองทาง อาจจะเป็นโชคดี หรือฝีมือของ ธปท.ก็ได้
แต่ รมว.คลัง ยืนยันว่าระบุว่า ธปท. นำเงินทุนสำรองไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและยุโรปดังที่ปฏิบัติก็เจอความ เสี่ยงในด้านราคาที่ขึ้นๆลงๆ และในด้านค่าเงินต่างประเทศที่อ่อนตัวเพราะมีการพิมพ์เงินออกมามากเกินไป
เพื่อการมีประสิทธิภาพในการบริหาร รมว.คลัง จึงอยากให้นำเงินทุนสำรองมาตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds) แต่นำเอาส่วนที่ปัจจุบัน ธปท. เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเปลี่ยนไปลงทุนในโครงการในภูมิภาคแทน ซึ่งทางทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยแสดงความเห็นว่าต้องไปลงทุนในธุรกิจพลังงาน เพื่อความมั่นคงของชาติ ทำให้เกิดคำถามตามมาเช่นกัน ว่าทำไมต้องเป็นธุรกิจพลังงานเท่านั้น
ชัดเจนว่า รมว.คลัง มีธงในการที่จะต้องตั้งกองทุนมั่งคั่งให้ได้ แต่คำถามที่จะตามมาก็คือ ทำไมจะต้องรีบตั้งในขณะนี้ การตั้งกองทุนควรจะตั้งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศแข็ง แรง จะเหมาะสมกว่า และจะไม่มีคำครหาใดๆ ต่อรัฐบาล
ด้วยเหตุผลนานาประการที่ รมว.คลัง และ ธปท. จะนำออกมาต่อสู้กันเพื่อสร้างประสิทธิภาพของเงินทุนสำรองทางการ ต่างก็อ้างว่าทำเพื่อชาติ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำให้ประชาชนเชื่อถือได้มากกว่ากัน
แต่ที่แน่นอนก็คือ ประสารนั้นไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลังและไม่ได้ทำงานตามใบสั่งของใคร ส่วนธีระชัยเป็นข้าราชการการเมืองและเส้นทางการนั่งเก้าอี้ขุนคลังก็รู้อยู่ ว่ามาอย่างไร
ศึกกองทุนมั่งคั่งนี้ ไม่ได้อยู่ที่ 2 ฝ่ายจะซดกัน แต่สุดท้ายเรื่องนี้จะอยู่ที่การตัดสินของประชาชนเจ้าของเงินตัวจริง ที่จะเป็นคนตัดสินว่ายินดีที่จะนำเงินคลังหลวงไปเสี่ยงสนองความต้องการทาง การเมืองหรือไม่