อินไซด์วงใน QE3
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ boontham.r@ku.ac.th
สัปดาห์ที่แล้ว ผมทิ้งท้ายในบทความว่าด้วยสุนทรพจน์ที่ แจ๊กสัน โฮวล์ 2011 ไว้ว่าการที่ ดร. เบน เบอร์นันเก้ ได้ขยายระยะเวลาการประชุม
ธนาคารกลางสหรัฐในครั้งต่อไป จากหนึ่งเป็นสองวันถือเป็นการส่งสัญญาณบอกตลาดว่า ในช่วงเวลานี้ นโยบายการเงินที่จะประกาศในครั้งต่อไปจะได้รับการพิจารณาแบบถี่ถ้วนมากๆ แล้วจากสมาชิกทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางที่ค้านการดำรงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่งจนถึงกลางปี 2013 ทั้งสามท่านหรือ Gang of Three อันประกอบด้วย ประธานธนาคารกลางของเมืองมินิเอโพลิส ฟิลาเดลเฟีย และดัลลัส ซึ่งทำให้ตลาดอาจจะคาดการณ์เรื่องการมีนโยบายการเงินแปลกใหม่ได้ยากกว่าเดิม และอาจจะส่งผลให้การประกาศนโยบายการเงินในครั้งถัดไปมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น
เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถติดตามและคาดการณ์ผลลัพธ์ของการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าได้อย่างมีอรรถรส ผมจึงขอนำเกร็ดเบื้องหลังของสมาชิกสองคนสำคัญในคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ มาเล่าสู่กันฟัง และจะพยายามประเมินว่าท่านเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีความเห็นเป็นอย่างไรต่อการทำ QE3 ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นไคลแมกซ์หนึ่งสำหรับการประชุมที่จะมีขึ้นในครั้งนี้
ขอเริ่มจากสมาชิก Gang of Three ท่านแรก นามว่า ดร. นารายานา โคเชอลาโคต้า ประธานธนาคารกลาง สาขามินิเอโพลิส จากผลงานและการสัมภาษณ์ที่ผ่านมา หลายคนมองว่านายโคเชอลาโคต้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐที่ให้ความสนใจกับเรื่องการว่างงานค่อนข้างมากกว่าสมาชิกท่านอื่น โดยเขาเห็นว่านโยบายการเงินผ่อนคลายมิได้ช่วยให้การว่างงานของสหรัฐ ที่มีอัตราสูงถึงร้อยละ 9.1 ในขณะนี้ลดลงได้เสมอไป
ทั้งนี้ นายโคเชอลาโคต้าย้ำว่านโยบายดังกล่าวจะมีส่วนช่วยลดระดับการว่างงานได้ก็ต่อเมื่อระดับอุปสงค์รวมของเศรษฐกิจยังมีไม่เพียงพอ กล่าวคือ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว การขยายปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินผ่อนคลาย มิได้ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นในทันทีมากนัก ซึ่งเท่ากับว่าเม็ดเงินที่ใส่เข้าไปในเศรษฐกิจสามารถที่จะขยายผลผลิตทางเศรษฐกิจได้ จากการที่อัตราส่วนปริมาณเงินต่อระดับราคาหรือที่เรียกกันว่าปริมาณเงินที่แท้จริงมีระดับที่สูงขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะสามารถไปกระตุ้นอุปสงค์รวม และผลผลิตของเศรษฐกิจให้มีปริมาณมากขึ้นด้วยอย่างน้อยก็ในช่วงแรก
หรืออีกนัยหนึ่ง นายโคเชอลาโคต้าอาจประเมินว่าตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่สูงมาก นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายก็น่าจะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก ซึ่งล่าสุด นายโคเชอลาโคต้าค้านการดำรงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่งจนถึงกลางปี 2013 สำหรับการประชุมเฟดเมื่อต้นเดือนที่แล้ว ด้วยเหตุผลหลัก คือ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงนั้นยังไม่ลดลงอย่างแน่ชัด อย่างไรก็ดี หากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนล่าสุดลดลงได้พอสมควร ก็มีความเป็นไปได้ว่าเขาอาจเปลี่ยนจุดยืนสำหรับทิศทางนโยบายการเงินในการประชุมคราวหน้า
ทีนี้ลองมารู้จักนายโคเชอลาโคต้าให้มากขึ้นอีกสักนิด หากจะถามว่าสมาชิกคนใดในคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐชุดปัจจุบัน มีความสามารถในการนำแบบจำลองเศรษฐศาสตร์มาใช้วิเคราะห์เศรษฐกิจได้ดีที่สุด หลายคนอาจตอบว่าคือ นายเบอร์นันเก้ ทว่าสำหรับผมแล้ว ขอฟันธงไปที่นายโคเชอลาโคต้า หากใครได้อ่านผลงานทางด้านนี้ของทั้งคู่ในช่วงที่ยังอยู่ในช่วงที่ดีที่สุดของชีวิตนักวิจัย ก็น่าจะเห็นด้วยกับผมว่า แบบจำลองทางเศรษฐกิจของนายโคเชอลาโคต้า มีรูปแบบที่ละเอียดและใกล้เคียงกับเศรษฐกิจจริงค่อนข้างมาก รวมถึงการใช้คณิตศาสตร์ในการหาคำตอบของโจทย์ทางเศรษฐกิจก็ทำได้แทบจะไม่มีที่ติ โดยส่วนตัว ผมคิดว่าดูเนียนกว่าของนายเบอร์นันเก้อยู่นิดๆ (แม้นายเบอร์นันเก้ จะมีความอัจฉริยะถึงขนาดที่สอบได้คะแนน SAT เกือบเต็มก็ตามที)
ทว่าจุดด้อยสำหรับผลงานของนายโคเชอลาโคต้า คือ มักจะให้ความสำคัญกับภาคการเงินในการวิเคราะห์ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับนายเบอร์นันเก้ ซึ่งมองภาคการเงินเป็นพระเอกในการวิเคราะห์เศรษฐกิจโดยตลอด สอดคล้องกับช่วงวิกฤติครั้งล่าสุดที่ภาคการเงินเป็นต้นเหตุหลัก จึงทำให้ดูเหมือนกับว่า จากวิกฤติที่ผ่านมา นายเบอร์นันเก้สามารถทำนายเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจได้ถูกทางกว่านายโคเชอลาโคต้า
แล้วก็มาถึงคนที่น่าจะเป็นคีย์แมนของงานนี้ ดร. ชาร์ลส โพลเซอร์ นักเศรษฐมิติรุ่นลายคราม ประธานธนาคารกลาง สาขาฟิลาเดลเฟีย ผู้ที่ผ่านงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์กว่าหลายสิบปี โดยส่วนตัว ผมถือว่านายโพลเซอร์เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนละสำนักกับนายเบอร์นันเก้และนายโคเชอลาโคต้า โดยในขณะที่สองรายหลังมองระบบเศรษฐกิจเป็นแบบจำลองเชิงพลวัต นายโพลเซอร์ยังค่อนข้างติดอยู่กับสมการเศรษฐมิติที่ใช้ข้อมูลในอดีตเป็นหลัก รวมถึงยังคงฝังใจกับแนวคิดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบเคร่งครัด ซึ่งนายเบอร์นันเก้ก็เคยเป็นเช่นนี้ตอนก่อนวิกฤติ 2008 นอกจากนี้ ในมุมมองส่วนตัว ข้อด้อยของนายโพลเซอร์ คือ ขาดประสบการณ์จริงในตลาดเงินและตลาดทุนจนมองเศรษฐกิจเพียงในมิติของทฤษฎีและตัวเลขทางเศรษฐกิจ จนหลายๆ ครั้งประเมินเศรษฐกิจไว้ในแง่ดีจนเกินไป ดังเช่นในตอนนี้
ผมคาดว่าในความคิดของนายเบอร์นันเก้ ผู้ที่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทำ QE3 ในครั้งนี้ที่สุด ได้แก่ นายโพลเซอร์ เนื่องจากเขาเป็นผู้มีอาวุโสและทำงานวิจัยมานานจนได้รับความนับถือในวงวิชาการเป็นอย่างสูง นอกจากนี้นายโพลเซอร์ยังมีความเห็นแบบตรงไปตรงมาโดยแทบไม่มีอะไรแอบแฝงเป็นนัยซ่อนเร้น จนแม้แต่นายเบอร์นันเก้ยังต้องรับฟังแม้เขาจะเป็นถึงประธานเฟดก็ตาม ส่วนนายโคเชอลาโคต้านั้น ต้องถือว่าเป็นน้องใหม่ในวงการ ถ้ามีการล็อบบี้หนักๆ ท้ายที่สุด ก็คงต้องเห็นพ้องตามเสียงส่วนใหญ่ ส่วนนายริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานธนาคารกลาง สาขาดัลลัส นั้น ต้องบอกว่าเขาได้รับความเชื่อถือในวงการน้อยกว่าสองรายแรกนับตั้งแต่วิกฤติเป็นต้นมา เนื่องจากมองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจพลาดเสียเป็นส่วนใหญ่
ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า หากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐในเดือนนี้ออกมาลดลงค่อนข้างมาก นายโคเชอลาโคต้าอาจจะเปลี่ยนจุดยืนสำหรับทิศทางนโยบายการเงินในการประชุมคราวหน้า ในขณะเดียวกัน ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญในเดือนนี้ นายโพลเซอร์ซึ่งน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในงานนี้ ก็คงจะเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุน QE3 อย่างไรก็ดี สำหรับนายฟิชเชอร์นั้น ผมคาดว่าเขาน่าจะเป็นเสียงหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อปฏิบัติการนโยบายการเงินในครั้งนี้ค่อนข้างแน่ เนื่องจากเขาจัดว่าเป็นขาประจำของการโหวตคัดค้านอยู่แล้วครับ
หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติมและแสดงความเห็นได้ที่ “Blog ดร.ธรรม” ที่ http://facebook.com/MacroView และ http://www.econbizview.com ครับ