Crap&Cake บ้านเล็กในป่าใหญ่
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : บิเบวา
“ฝนตั้งเค้าอีกแล้ว...” ถ้าใส่เมโลดี้เสียหน่อย คำรำพึงเบาๆ คงกลายเป็นเพลงรัก "ฤดูอกหัก" ของแคลอรี่ส์ บลาบลา แต่แท้จริงแล้วมันคือความกังวลมากกว่า ...กังวลว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และเราจะไปถึงที่หมายเมื่อไหร่กัน
เกือบสี่ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ “หยาดฝนโปรยปราย...” ไม่ขาดสาย รถตู้สมรรถนะสมตัวเพิ่งผ่านตัวอำเภอทองผาภูมิมาได้ไม่นาน แม้จะเหลือระยะทางอีกไม่กี่สิบกิโลเมตร แต่ทางขึ้นเขาที่แคบโค้งและเปียกลื่น ทำให้เราได้ใช้ชีวิตเนิบช้ากันอย่างเต็มที่ ละเลียดชมวิวสองข้างทางกันอย่างเต็มอิ่ม ทว่า มันกลับไม่สามารถยับยั้งความรู้สึกหิวที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น พร้อมกับเวลานัดหมายที่กระชั้นเข้ามาทุกที
“5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” เสียงหนึ่งดังขึ้นด้วยความสงสัย ส่วนฉันพอจะรู้วิบากกรรมที่รออยู่เบื้องหน้า ได้แต่ควานหาอะไรรองท้อง ซึ่งเวลานี้มีแต่น้ำเปล่าเท่านั้น
ป้าย "เหมืองสมศักดิ์" ยืนต้อนรับอยู่หน้าทางเข้า ใครที่เคยผ่านตามาบ้างคงรู้ว่า คุณสมศักดิ์ เสตะพันธุ เจ้าของเหมืองแร่แห่งนี้ คือสามีผู้ล่วงลับของ คุณเกล็นนิส เจอร์เมนไวท์ เสตะพันธุ หรือ "ป้าเกลน" แหม่มชาวออสเตรเลีย ซึ่งดัดแปลงเหมืองร้างให้กลายเป็นบ้านอันอบอุ่นของนักเดินทาง จนกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ใครต่อใครดั้นด้นมาถึงที่นี่
นิยายรักของป้าเกล็นเริ่มต้นเมื่อครั้งที่คุณสมศักดิ์ไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย และยังเบ่งบานอยู่ท่ามกลางหุบเขาแห่งทองผาภูมิแม้ว่าผู้เป็นที่รักจะจากไปแล้ว
ด้วยความตั้งมั่นในความรักและคำสัญญา ป้าเกล็นเลือกใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนที่ห่างไกลกับคนงานเก่าๆ โดยการแปรสภาพเหมืองแร่ให้กลายมาเป็น "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ที่พักในฝันที่ฉันและผองเพื่อนขอไปเก็บความทรงจำดีๆ
จากปากทางยังไม่ทันได้โหมโรง ถนนที่เฉอะแฉะเป็นหลุมเป็นบ่อเพราะรองรับน้ำฝนมาหลายวัน มีของแถมเป็นหินก้อนเล็กเท่ากำปั้นไปจนถึงก้อนใหญ่กว่าลูกมะพร้าว รถปิกอัพดัดแปลงต้องเปลี่ยนระบบเกียร์เป็นขับเคลื่อนสี่ล้อเพื่อจะพาเราฝ่าไปให้ถึงจุดหมาย
แต่ละนาทีผ่านไปอย่างช้าๆ ไม่มีเสียงพูดคุยหยอกล้อให้ได้ยิน นอกจากเสียงถอนใจในบางจังหวะ สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่ถนนซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากผิวดวงจันทร์ สองมือยึดส่วนใดส่วนหนึ่งของรถไว้ตามความถนัดของแต่ละคน ส่วนหัวใจนั้น..คงเต้นแรงไม่ต่างกัน
อันที่จริงทางสู่เหมืองสมศักดิ์จะไม่ยากลำบากเช่นนี้เลย หากเราเดินทางมาในหน้าร้อนหรือหน้าหนาว แต่ด้วยเพราะเป็นหน้าฝน อุปสรรคจึงเป็นบททดสอบของผู้รักการผจญภัย
ผ่านมาค่อนทาง แม้ว่าความตื่นเต้นจะช่วยให้ลืมหิวได้บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายก็ส่งสัญญาณเตือนอีก โชคดีที่โชเฟอร์ส่งภาษาไทยสำเนียงพม่าให้รู้ว่า “ใกล้ถึงแล้ว” ก่อนจะหักพวงมาลัยผ่านลำธารเล็กๆ เข้าสู่บริเวณที่พักซึ่งปลูกดอกไม้ไว้ตลอดสองข้างทาง
ป้าเกล็น ยืนรอรับเราอยู่ที่โรงเก็บพัสดุเก่าของเหมืองแร่ ซึ่งเวลานี้ถูกใช้เป็นห้องรับรอง หลังจากทักทายกันพอสมควร ป้าเกลนก็ชวนให้เข้าไปทานกลางวัน แต่ยังไม่ทันที่จะหย่อนก้นลงเก้าอี้ สิ่งที่ทำให้หลายคนตาโต กลับเป็นเค้กหน้าตาดีที่ส่งกลิ่นหอมมาเชิญชวนจนยากจะห้ามใจ
เค้กส้ม เค้กแครอท เค้กช็อกโกแลต เค้กกาแฟ และเค้กกล้วยน้ำว้า ทั้งหมดนี้ป้าเกลนลงมือทำเองตามสูตรคุณแม่ มีไว้บริการคนที่มาพักแบบไม่จำกัด พร้อมน้ำชากาแฟ ฉันถือคติใครมาก่อนมีสิทธิก่อน ลงมือตัดเค้กแครอทของโปรดมาชิมเป็นอันดับแรก
เนื้อเค้กหอมนุ่มรสชาติกำลังดี จิบชาร้อนๆ เพิ่มความชุ่มคออีกนิด ความเหนื่อยล้าแทบจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง ยิ่งเมื่อมองไปรอบๆ สีเขียวของใบไม้ใบหญ้าที่ชุ่มด้วยน้ำฝนตัดกับดอกดาหลาสีแดงสด ช่วยเติมความสดชื่นได้อย่างดี ...ที่แห่งนี้คือบ้านเล็กในป่าใหญ่อย่างที่ป้าเกลนฝันไว้จริงๆ
อิ่มหนำสำราญกันแล้ว ก็ถึงเวลาออกไปชมรอบๆ เหมือง แม้จะมีอุปสรรคสำคัญคือฝนที่ยังไม่ขาดเม็ดและเส้นทางที่เสียหายรถไม่สามารถผ่านไปได้ แต่เราก็ยังมุ่งมั่นที่จะไป ...อย่างน้อยก็ขอให้ได้เห็น น้ำตกผาแปร จุดหมายที่ใครไม่รู้บอกว่าต้องไปให้ถึง
สภาพถนนไม่ต่างจากตอนที่เข้ามา จริงๆ ออกจะดูโหดหินกว่าด้วยซ้ำ โขยกเขยกไปได้สักพัก รถก็มาสิ้นสุดตรงพงหญ้าสูงท่วมหัว นั่นหมายถึงไปต่อไม่ได้แล้วต้องเดินเท้าฝ่าเข้าไปแทน
เราจัดแจงใส่เสื้อกันฝนหลากสีที่เตรียมมา เดินลัดเลาะไปตามทางที่ทั้งลื่นและชัน ระหว่างความทุลักทุเลนั้นมีดอกไม้ป่าสีสวยให้ได้ชื่นชม ไม่นานนักก็ถึงจุดชมน้ำตกผาแปรที่สามารถมองเห็นมวลน้ำมหาศาลกระโจนสู่เบื้องล่างได้อย่างเต็มตา
เพราะเป็นหน้าฝนน้ำจึงค่อนข้างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับป่าเขาที่คลอเคลียด้วยไอหมอกไม่ห่างหาย กลิ่นดินหอมสดชื่นก็คงมีเฉพาะฤดูนี้เท่านั้น
ใช้เวลากันพอสมควร คนหลากสี (หมายถึงสีของเสื้อกันฝน) ก็พาตัวเองกลับสู่บ้านพัก โดยมีเจ้าของบ้านออกมายืนรอด้วยความเป็นห่วง ก่อนจะแจ้งเวลาสำหรับมื้อเย็น ที่ได้ยินแล้วอยากจะเร่งให้ถึงไวๆ
“เย็นนี้ก็จะมีบาร์บีคิวไก่ หมู ปลาทอด ผัดถั่วลันเตา...นะฮะนะ” ภาษาไทยสำเนียงออสเตรเลียของป้าเกลนเรียกน้ำย่อยได้อย่างไม่ต้องสงสัย
จะว่าไปแล้วเสน่ห์ของที่นี่ นอกจากความเป็นเหมืองเก่ากับวิถีเรียบง่ายของเมืองชายแดนที่ถูกนำมาตกแต่งด้วยกลิ่นอายแบบชนบทอังกฤษแล้ว ต้องยกให้ "อาหาร" ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานบ้านป่า ทว่ามาจากความใส่ใจของป้าเกลนที่ทำให้ใครต่อใครต้องย้อนกลับมาอีก
'ปู' บ้านอีต่อง
ถ้าเป็นเมื่อก่อนมีใครชวนมากินปูที่ทองผาภูมิ คงต้องหันกลับไปมองหน้าคนพูดอีกทีว่า พูดเล่นเป็นมุก หรือพูดจริงๆ
แต่ตอนนี้ เมนูปูที่บ้านอีต่อง ชายแดนไทยพม่า กลายเป็นของขึ้นชื่อที่ทำให้ร้านอาหารในตลาดเก่า มีป้ายบอกไว้ให้เห็นกันชัดๆ ว่าร้านนี้มีอาหารทะเลสดๆ โดยเฉพาะกุ้งกับปูจากฝั่งพม่า
ออกจากบ้านป้าเกลน เราแวะไปที่จุดชมวิวเนินช้างศึก ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการช้างศึกของตำรวจตระเวนชายแดน เวลานั้นหมอกลงจัดจนมองไม่เห็นทิวทัศน์ใดๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ในยามฟ้าเปิดอาจมองไปไกลถึงชายทะเล รถคันเดิมจึงเปลี่ยนทิศมุ่งหน้าสู่บ้านอีต่อง ชุมชนเหมืองแร่ที่ในอดีตถือเป็นเมืองชายแดนที่คึกคักอย่างยิ่ง
ตามประวัติระบุว่าเหมืองแร่ในตำบลปิล๊อก บ้านอีต่อง มีมากมายหลายเหมืองทั้งของเอกชนและขององค์การอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แหล่งแร่ในปิล๊อกนี้มีมากถึง 10 ชนิด แต่ที่มากที่สุดคือ แร่ดีบุก บ้านอีต่องเมื่อหลายสิบปีก่อนจึงเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติภาษา ทั้งไทย พม่า กะเหรี่ยง ทวาย มอญ และลาว ที่เข้ามาเป็นลูกจ้างขุดแร่
ยามนี้แม้เหมืองจะร้างแล้ว แต่ลูกหลานของชาวเหมืองก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนหลังคาสังกะสีที่เป็นเอกลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมสะท้อนผ่านชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึง 'อาหาร' ที่ทุกวันนี้กลายเป็นแม่เหล็กอย่างดีสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักการ 'ชิม'พอๆ กับการ'ชม' โดยเฉพาะอาหารทะเลที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าจะได้ลิ้มลอง
ดูเหมือนว่ากาลเวลาได้เปลี่ยนชุมชนเหมืองที่เคยรุ่งเรืองให้เงียบเชียบลง ก่อนจะกลับฟื้นขึ้นมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการเป็นหมุดหมายทางการท่องเที่ยว ทั้งโฮมสเตย์ เกสต์เฮ้าส์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านโปสการ์ดของที่ระลึก ผุดขึ้นมาเพื่อรองรับผู้มาเยือน โรงแรมเก่าและโรงหนังร้างได้รับการปัดฝุ่นอีกครั้ง ขณะที่ชายแดนที่เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ อย่างเนินเสาธงและช่องเขาขาด กลายเป็นจุดชมวิวประเทศเพื่อนบ้านที่ได้บรรยากาศไปอีกแบบ
นี่อาจจะถือเป็นอิทธิฤทธิ์ของการท่องเที่ยวก็ได้ ส่วนผลลัพธ์จะดีหรือร้าย คงต้องฝากไว้ที่การบริหารจัดการและความเข้มแข็งของชุมชน เพราะในเขตอำเภอทองผาภูมิ นอกจากทรัพยากรทางการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องดูแลรักษาเช่นเดียวกัน
"ฟ้ายามที่มีฝนพรำ คงจะช้ำจึงได้พรำฝนมา..." เสียงร้องเพลงของใครบางคนดังขัดอารมณ์ จนต้องพูดสวนกลับไปว่า "เก่ามาก..."
มองออกไปนอกร้าน ฝนกระหน่ำลงมาอีกหลังจากที่ลดความแรงลงเมื่อชั่วโมงที่แล้ว
"นี่เราจะไปน้ำตกไหวมั้ยเนี่ย" เสียงอีกคนรำพึง
น้ำตกจ็อกกะดิ่น เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ตั้งใจไว้แต่แรก เพราะคำร่ำลือถึงความสวยงามเป็นธรรมชาติ แต่ถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าจะหมดสิทธิ ข่าวว่าน้ำล้นขึ้นมามากส่วนทางก็พังไม่เหมาะที่จะเข้าไปเล่นสนุก
ไม่นานคนจากป่าคอนกรีตก็หอบสังขารพร้อมสัมภาระปีนบันไดไปแขวนชีวิตอยู่บนต้นไม้ ภาพเบื้องหน้าคือหมอกฝนที่ฟุ้งกระจายในราวป่า บางครั้งก็หนาทึบจนบดบังสรรพสิ่งที่อยู่ไกลออกไป บางคราก็เผยให้เห็นแสงสว่างที่ทาบทอขุนเขาทะมึน เป็นการติดกระท่อมที่โรแมนติกไม่น้อย หากใครคนนั้นไม่เปล่งเสียงร้องราวกับเห็นผี
"ทาก..." เจ้าของเสียงชี้ให้ดูเจ้าตัวยึกยือสีดำที่อยู่ในง่ามนิ้วเท้าของตัวเอง ตอนนี้มันกลมเป่งไปด้วยเลือด
"แสดงว่าป่านี้อุดมสมบูรณ์มาก" คนที่รอดพ้นจากปากคมๆ ของมันลงความเห็น
ทุกคนหันไปสาละวนอยู่กับการเช็คซอกหลืบของตัวเอง บางคนถึงขั้นเข้าห้องน้ำไปเปลื้องผ้าดูให้รู้แน่ ก่อนจะกลับมาตั้งวง (สนทนา) กันอีกครั้ง ท่ามกลางสายฝนที่ยังไม่ขาดเม็ด
"อย่ากลัวฝน เพราะฝนนั้นเย็นฉ่ำ อย่ามัวทำตามความคิดเดิม ลองคิดดู ลองหาทางสู้กับฝน..." อยู่ดีๆ เพลงรักรุ่นคลาสสิกก็แวบเข้ามาในความคิด ...ทำไงได้ล่ะ ก็มาเที่ยวหน้าฝนนี่นา
การเดินทาง
ถ้าขับรถมาเอง จากกรุงเทพฯ ถึงตัวเมืองกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร จากตัวเมืองกาญจนบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 สายกาญจนบุรี - ทองผาภูมิ ถึงตลาดอำเภอทองผาภูมิระยะทางประมาณ 141 กิโลเมตร จากตัวอำเภอทองผาภูมิ ใช้เส้นทางหมายเลข 3272 สายทองผาภูมิ - บ้านไร่-ปิล๊อก ถึงสามแยกบ้านไร่เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางคดเคี้ยวบนเขา ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิซึ่งจะตั้งอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 21 - 22 เป็นเส้นทางลาดยางตลอดสาย
สำหรับรถประจำทาง ขึ้นรถจากสถานีขนส่งสายใต้ลงที่สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรีและต่อรถประจำทางสายกาญจนบุรี - ทองผาภูมิ ลงที่ตลาดอำเภอทองผาภูมิ จากนั้นต่อรถประจำทางสายทองผาภูมิ - บ้านอีต่อง ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิมี ที่พักทั้งในส่วนของจุดกางเต็นท์และบ้านต้นไม้ (บ้านทาร์ซาน) นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารไว้คอยบริการ สามารถจองบ้านพักผ่านเว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาติ http://www.dnp.go.th หรือโทร. 08 1382 0359 อีเมล reserve@dnp.go.th
ส่วนใครที่ต้องการไปพักที่บ้านป้าเกลน-เหมืองสมศักดิ์ ถ้านำรถมาเองและไม่ใช่โฟว์วิลให้จอดรถไว้ที่ สภ.ปิล๊อก แล้วใช้บริการรถของบ้านป้าเกลน รายละเอียดสอบถามได้ที่คุณชาลี 08 1325 9471 หรือเข้าไปดูที่ http://www.parglen.com