จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เตือนรัฐบาลไทยรับมือ 3 เสาหลักเศรษฐกิจโลก "สหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น" เข้าสู่ภาวะถดถอยรอบ 2 หวั่นนโยบายประชานิยมรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ดันภาระรายจ่ายพุ่ง รัฐบาลหมดกระสุนติดกับดักเพดานขาดดุลไม่เกิน 4.5% ของจีดีพี จับตาวิกฤตหนี้ยูโรโซนถึงจุดจบใน 1-2 เดือน ลุ้นสหรัฐได้ข้อสรุปแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พฤศจิกายนนี้ กระทบตลาดส่งออกไทย ฉุดจีดีพีหด 20% ชี้ชะตากรรมเศรษฐกิจโลกล้มลุกคลุกคลานยาว
นาย ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของ 3 ประเทศเสาหลักเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีปัญหาหนี้สาธารณะในขั้นวิกฤตพร้อมกัน ทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และไทยมากน้อยแค่ไหน
"เพราะไม่เคยปรากฏว่า 3 เสาหลักเศรษฐกิจโลกที่ยึดครอง 50% ของจีดีพีโลกจะมีปัญหาหนักพร้อมกันแบบนี้ คาดว่าจะมีวิกฤตอีกรอบใน 2-3 ปี"
เมื่อ เกิดปัญหากับ 3 เสาหลักของเศรษฐกิจโลก และอย่าหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วเหมือนเมื่อครั้งที่สหรัฐเจอวิกฤตเล แมนห์ฯในช่วงปี 2550 เพราะครั้งนี้เป็นปัญหาหนี้ของประเทศซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำไปเป็น 10 ปี สำหรับปัญหาของยุโรปนั้นคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ก็จะเห็นว่ามีทางออกหรือไม่ ขณะที่ปัญหาหนี้ของสหรัฐนั้นก็ต้องรอลุ้นผลการประชุมที่จะมีขึ้นในช่วงปลาย เดือน พ.ย. ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการลดรายจ่ายอย่างไร ซึ่งอาจทำให้สหรัฐซื้อเวลาต่อไปได้
ขณะที่ญี่ปุ่นก็ยังมีความเสี่ยง เรื่องหนี้สาธารณะท่วมสูงถึง 230% ของจีดีพี การจะกู้เพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ยากลำบาก ขณะที่รัฐบาลที่เพิ่งเข้ามาก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ในรอบ 5 ปี หากไม่มีเสถียรภาพก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีก
"สิ่งที่ประเทศไทยจะ ต้องเผชิญคือ เศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศที่เคยเป็น ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอาจจะล้มลุกคลุกคลานไปอีกเป็น 10 ปี ทำให้จีดีพีของไทยโตได้ยากลำบาก เพราะตอนที่เศรษฐกิจโลกโต 4-5% จีดีพีไทย ก็โตเท่ากัน แต่เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นโตเฉลี่ย 2% การที่จีดีพีไทย จะโต 4% อาจไม่ง่าย"
โดยไทยจะได้รับผลกระทบจากที่มีการส่งออกไปทั้ง 3 ประเทศประมาณ 30% ของมูลค่าส่งออกรวม หรือเท่ากับ 20% ของจีดีพีไทย
นาย ศุภวุฒิกล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ต่างประเทศที่ไม่ปกติ รัฐบาลควรตั้งงบประมาณสำรองขึ้นมา เพื่อที่จะสามารถนำออกมาช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจเมื่อมีปัญหาต่างประเทศเข้า มากระทบ แต่ปัญหาขณะนี้คือ รัฐบาลยังไม่สามารถปิดงบประมาณ ปี 2555 ได้ แสดงให้เห็นสัญญาณว่า งบประมาณค่อนข้างตึงตัว รายจ่ายสูงกว่ารายได้
โดย แม้ฐานะการคลังของประเทศไทยไม่มีปัญหา เพราะหนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ของจีดีพี แต่ปัญหาคือ รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลได้ไม่เกิน 4.5% ของ จีดีพี แต่จากที่รัฐบาลทำงบประมาณปี 2555 ขาดดุล 4 แสนล้านบาท เท่ากับ 4% ของจีดีพี ทำให้เหลือช่องไว้ให้กู้เพิ่มได้ไม่มาก ซึ่งจะทำให้รัฐบาลขาดความยืดหยุ่นในการรับมือหากเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่รัฐบาลเหมือนยังไม่รับรู้ถึงความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้น และไม่มีการวางแผนรองรับ
"ที่สำคัญคือ รัฐบาลไทยต้องเหลือกระสุนเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน แต่นโยบายของรัฐบาลที่ออกมาเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อระยะสั้น ไม่ยั่งยืน 1-2 ปีก็จะหมดแรง แต่ยังไม่เห็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตใน ระยะยาวและยั่งยืน เช่น โครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งโครงการประเภทนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพิ่มการจ้าง งาน แล้วยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนการขนส่งจาก 20% อาจเหลือ 10% ได้"
นอก จากนี้รัฐบาลยังติดปัญหาเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2555 ซึ่งความจริงควรจะผ่านได้แล้ว เพราะเริ่มปีงบประมาณ 1 ต.ค.แต่ตอนนี้ยัง ไม่จบ
นายศุภวุฒิกล่าวว่า สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการและน่าเป็นห่วงที่สุดคือ นโยบายรับจำนำข้าว เพราะการตั้งราคา 15,000 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาตลาดมาก ปัญหาคือต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการรับซื้อข้าวทุกเม็ด ซึ่งคาดว่าจะมีข้าวออกมาถึง 24 ล้านตัน ขณะที่ปัญหาสำคัญคือ การบริหารจัดการที่จะขายข้าวออกมาว่าจะทำอย่างไร
การที่รัฐบาล ดำเนินนโยบายนี้เพราะตั้งสมมติฐานว่าจะสามารถกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกทำให้ ราคาสูงได้ และมองว่ารัฐบาลมีประสิทธิภาพในการที่จะเข้ามาบริหารจัดการในการค้าข้าวได้ ดีกว่าภาคเอกชน แต่หากไม่เป็นไปตามสมมติฐานดังกล่าวก็จะเกิดผลอีกด้าน ประเทศไทยจะมีปัญหาคือ มีต้นทุนราคาข้าวสูง รวมทั้งอาจเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวให้คู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนาม