จาก โพสต์ทูเดย์
น่าสนใจไม่น้อยกับแนวทางรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
โดย...ทีมข่าวการเมือง
น่าสนใจไม่น้อยกับแนวทางรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอนธ.) ขึ้นมาโดยให้ “อุกฤษมงคลนาวิน” อดีตประธานรัฐสภา เป็นประธาน การเดินเกมของรัฐบาลครั้งนี้ถือว่าล้ำลึกยิ่ง ในการที่จะใช้กลไกอันนี้เพื่อจัดระบบศาล กระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระเสียใหม่
ทั้งนี้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้เหตุผลของการตั้ง คอนธ. ว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย จึงควรมีคณะกรรมการที่จะมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประเทศมีหลักนิติธรรมเพื่อให้ เป็นที่พึ่งพาของสังคมได้
จากแนวคิดในการเสนอตั้ง คอนธ. จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงหนีไม่พ้นการตอกย้ำวาทกรรม “สองมาตรฐาน” ซึ่งเป็นวาทกรรมหลักที่พรรคเพื่อไทยได้พยายามผลิตซ้ำเพื่อสร้างความรับรู้ ของคนในสังคมมาตลอดตั้งแต่ผ่านกลไกมวลชนคนเสื้อแดง
โดยพุ่งเป้าไปที่กระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องมากลายเป็นผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมือง จำคุก 2 ปีในคดีการซื้อขายที่ดินรัชดาฯ
ที่ผ่านมาในพรรคเพื่อไทยมีความพยายามในการจะเข้าไปปฏิรูปโครงสร้าง ของกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอดผ่านการเสนอกฎหมายเข้าสภาซึ่งมองว่าถึงเวลา แล้วที่กลไกฝ่ายตุลาการควรยุติบทบาทในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะการเสนอกฎหมายเป็นความชอบธรรมเพียงสิ่งเดียวที่พรรคเพื่อไทยสามารถ ดำเนินการได้แบบที่จะลดแรงเสียดทานได้มากที่สุด
ทว่า ใจยังไม่ถึงพอที่จะดำเนินการให้สิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากการเข้าไปแตะของร้อนนี้ไม่ต่างอะไรกับการเอามือไปซุกในหีบ และสร้างความเสี่ยงทางการเมืองโดยไม่จำเป็น
เพียงแค่เสนอแนวคิดพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ปรากฏว่ามีความไม่พอใจพุ่งตรงมาที่รัฐบาลในระดับหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลควรเอาเวลาไปแก้ไขปัญหาปากท้อง และปัญหาการเมือง
มาในครั้งนี้จึงเป็นความพยายามอีกครั้งของพรรคเพื่อไทยในการหาช่องทาง เข้าไปแก้ไขโครงสร้างกระบวนยุติธรรมโดยผ่านคณะทำงานของ “อุกฤษ มงคลนาวิน”
เรื่องนี้กลายมาเป็นประเด็นร้อน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มี “คณิต ณ นคร” เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และอยู่ในระหว่างการทำงาน ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เพราะดูจากชื่อและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองชุดแล้ว ดูเสมือนหนึ่งว่ามีภารกิจที่ทับซ้อนกันอยู่พอสมควร
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตั้ง คอนธ. มีภารกิจสำคัญ คือ กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ ข้อเสนอแนะและกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อเป็นหลักประกันการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม สุจริต ภายใต้มาตรฐานเดียวกันตามหลักนิติธรรม จัดทำรายงานความคืบหน้าของการทำงานทุก 6 เดือนให้ ครม.ได้รับทราบ
ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีหน้าที่สำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ทางวิชาการ รวมตลอดทั้งวิจัยและสนับสนุนการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการวางเป้าหมาย นโยบาย และจัดทำแผนโครงการและมาตรการต่างๆ เสนอแนะต่อ ครม. เกี่ยวกับแผนการให้มีกฎหมายหรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยพิจารณาภาพรวมของ กฎหมายในเรื่องนั้น หรือกลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีความสัมพันธ์กันในเรื่องนั้น
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญการมาของ “อุกฤษ มงคลนาวิน” ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ซึ่งที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ เคยตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการอิสระอำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมความ ยุติธรรม และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอยส.)
อีกทั้งในช่วงการต่อสู้คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ว่าจ้าง ฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ แห่งสำนักกฎหมายนิติพีรฉัตร ที่เป็นลูกศิษย์ อุกฤษ เป็นทนายว่าความให้
เหนือสิ่งอื่นใดการเลือกบุคคลเข้ามาพิจารณาเรื่องความขัดแย้งท่ามกลาง สถานการณ์ที่กำลังเปราะบางเช่นนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นโมเดลเดียวกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ตั้ง “คณิต ณ นคร” เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง แห่งชาติ (คอป.) เพื่อเข้ามาชำระเหตุการณ์คนเสื้อแดง
โดยจะเห็นได้ว่าช่วงแรกการทำงานของ คอป. ต้องยอมรับว่าคนเสื้อแดงยังไม่ยอมรับนักวิชาการอาวุโสท่านนี้มากนัก เพราะยังมีอคติว่าเป็นคณะทำงานที่ตั้งมาจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะคู่ขัดแย้งคนสำคัญ แต่เมื่อเข้ามาทำงานสักระยะก็สามารถสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นในกลุ่มคน เสื้อแดงได้ และทำให้ คอป.ยังไม่ได้ปิดตัวไปภายหลังมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อรัฐบาลเลือกที่จะแตะของร้อน ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องให้บุคคลที่มีต้นทุนทางสังคมสูงทั้งในด้านคุณวุฒิ และวัยวุฒิเข้ามาทำงานสำคัญในครั้งนี้ ซึ่งอดีตประธานรัฐสภาท่านนี้มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งหมด เพราะเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในแวดวงกฎหมาย การเมือง และวิชาการอย่างสูง
ประกอบกับผลงานการทำงานที่ผ่านมาก็สร้างความยอมรับให้กับสังคมมากมาย ตรงนี้จะกลายเป็นเกราะคุ้มกันสำคัญที่จะทำให้ความพยายามของพรรคเพื่อไทย สำเร็จผล แม้ว่าจะเจอแรงเสียดทานที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคตก็ตาม
พรรคเพื่อไทยตั้งความหวังว่าด้วยต้นทุนของอาจารย์อุกฤษ จะสามารถฝ่าแรงเสียดทานได้ โดยสามารถมีกระบวนการอธิบายในทางวิชาการให้เป็นที่ยอมรับแก่สังคมว่ากระบวน การยุติธรรมมีปัญหารูปธรรมในทางโครงสร้างอย่างไร
ทั้งหมดเพื่อให้เป็นฐานรองรับความชอบของฝ่ายการเมืองในการกรุยทางสู่การ แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยลดและจำกัดบทบาทฝ่ายตุลาการไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองผ่านการ ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
จากนี้ต้องติดตามดูว่าคณะกรรมการชุดนี้ที่มีภารกิจยุ่งของร้อนนี้จะ สามารถฝ่ากระแสได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแค่การหยั่งกระแสเพื่อสร้างความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้กับพรรคเพื่อไทยเท่านั้น