สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลานีญา-อากาศผิดปกติ กระหน่ำ หนุนฝนตกทุบสถิติ

'ลานีญา-อากาศผิดปกติ'กระหน่ำ!หนุนฝนตกทุบสถิติ

สภาพอากาศแปรปรวน ลานีญาผิดปกติส่งผลให้ปริมาณฝนมากผิดปกติ ทุบสถิติ นักวิชาการยอมรับเหนือการคาดการณ์ ทำให้การจัดการน้ำล้มเหลว
   สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  พายุโซนร้อน ไหหม่า และพายุนกเตน รวมทั้งร่องมรสุมกำลังแรง และลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง  ที่พาดผ่านพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่เกือบ 30 จังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่ภาคเหนือ และภาคกลางในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเกิดภาวะน้ำท่วมขังนานกว่า 2 เดือนเศษ

  ปริมาณน้ำฝนและความแปรปรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลก คือ ปัจจัยที่ซ้ำเติมอุทกภัยในประเทศ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิจัยโลกร้อน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุความแปรปรวนดังกล่าวเกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย จากเดิมที่เห็นว่าปรากฏการณ์ลานีญา น่าจะสิ้นสุดแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าในช่วงเดือนนี้ ลานีญากลับผงกหัวขึ้นมาอีกครั้ง ประจวบกับพบว่าร่องมรสุมที่เดิมเคยพัดผ่าน และคลี่คลายอย่างรวดเร็ว กลับแช่นิ่งและนานขึ้น ทำให้ปริมาณมากฝนตกหนักต่อเนื่อง

"คาดว่าในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เดิมมักจะมีพายุเข้ามาจะทำให้ฝนตกมากขึ้น และภาคใต้ น่าจะหนักอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ลาดชัน เช่น เขาหลวง อาจจะเกิดดินถล่มได้"

  ขณะที่ นายบุญจง จรัสดำรงนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (ทส.) บอกเช่นกันว่า ที่ผ่านมา แม้กรมอุตุนิยมจะมีการคาดการณ์ว่าฝนของปี 2554 จะมีมากกว่าค่าปกติเฉลี่ย 10% จากปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1,300-1,400 มิลลิเมตร (มม.) เท่านั้น แต่ปรากฏว่าจากสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน  มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร เผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็น จากอิทธิพลความกดอากาศต่ำจากจีนที่มีกำลังแรงมาก


ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช กลับมีฝนตกหนักและเกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้หลายหมู่บ้านประสบภัยพิบัติ โดยพบว่าในช่วงหน้าฝนของไทยปีนี้ฝนมาเร็วกว่า 1 เดือน โดยได้รับอิทธิพลจากพายุ 2 ลูก คือ ไหหม่า  นกเตน และร่องมรสุมที่พาดผ่าน ทำให้ฝนตกกระจายทั่วประเทศ และมีปริมาณน้ำฝนเยอะผิดปกติ จนเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำมากกว่า 80-90% แล้ว ทั้งที่ยังเหลือช่วงหน้าฝนของปีนี้อีกราวเดือนครึ่งของเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมนี้

ขณะที่ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ขณะนี้ เกินจะบริหารจัดการได้แล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าฝนจะตกลงมามาก เห็นได้จากช่วงต้นปีหน่วยงานส่วนใหญ่จะพยากรณ์ว่าปีนี้น้ำจะแล้ง

 ขณะที่ในช่วงฤดูฝนก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีฝนมากกว่านี้หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา แต่ฝนที่ตกมากในช่วงนี้ เกิดจากปรากฏการณ์ลมสินค้า ซึ่งไม่ได้เกิดในภาวะปกติ โดยจะมีอิทธิพลมากในช่วงกลางของฤดูฝน แต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นนานเท่าไร ต้องเฝ้าสังเกตและติดตามการพยากรณ์

"ตอนนี้พายุยังไม่หมด ตามสถิติพายุมีอยู่ 20 กว่าลูก ผมไม่เชื่อในสถิติ เพราะคำว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมันย่อมไม่เหมือนเดิม ขนาดฤดูยังไม่มาตามที่เคยมา ดังนั้น สถิติก็ใช้ไม่ได้ ซึ่งตัวการที่ทำให้เกิดพายุ คือ ความแตกต่างของอุณหภูมิในมหาสมุทร ทั้งมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีคลื่นลมทะเลขนาดใหญ่พัดเข้ามาเกิดสหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างการไหลเวียนของอากาศกับรูปแบบของการนำพาความชื้น และการกระจายของไอโซโทปในภูมิภาคมรสุมฤดูร้อนของเอเชีย ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่อง และไม่มีเว้นระยะฝนทิ้งช่วง ที่ปกติจะทิ้งช่วงประมาณ 1 เดือน แต่ปีนี้ฝนตกต่อเนื่อง" ดร.รอยลกล่าว

สิ่งที่น่าห่วง ดร.รอยล บอกว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยฝนจะตกเกินฤดูไปถึงปลายเดือนตุลาคม มีโอกาสเกิดฝนตกสลับหนาวเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะอิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้ กับลมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นตัวพาอากาศหนาวลงมา ส่วนลมตะวันตกเฉียงใต้เป็นตัวพาฝนลงมา ขณะที่ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ระดับน้ำทะเลที่จะเริ่มหนุนสูงขึ้น และจะเริ่มสูงเรื่อยๆ ในเดือนตุลาคม

"ที่กลัวตอนนี้ คือ ถ้าถึงเดือนตุลาคมแล้วยังปล่อยน้ำไม่ออก น้ำท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน เพราะเมื่อปีที่แล้วน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาทเพียง 3,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เวลานี้ปล่อยน้ำมากกว่าแต่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังอยู่ได้ตอนนี้ ในช่วงนี้ต้องเร่งระบายน้ำออกให้ได้มากที่สุด" ดร.รอยลกล่าว

"น้ำมาก" เกินบริหารจัดการ
 lสำหรับ การบริหารจัดการน้ำท่วมในปีนี้ อาจจะเรียกได้ว่าล้มเหลวเพราะในหลายพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน  นายบุญจง จรัสดำรงนิตย์  อำนวยการศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ ยอมรับว่าปัจจัยเรื่องฝนมาเร็วและมีปริมาณน้ำมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำล้มเหลว เนื่องจากฝนที่ตกลงมาทางภาคเหนือ สุดท้ายก็จะไหลลงมารวมกันในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่พื้นที่นครสวรรค์ เรื่อยลงมายังพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ลุ่มตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา
 

เดิมพื้นที่ทุ่งเคยใช้เป็นแหล่งรับน้ำนอง แต่ในปัจจุบันพบว่า เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีการทำนา 2 ปีถึง 5 รอบ ส่งผลให้การจัดจราจรทางน้ำที่เคยตัดน้ำจากทางเหนือไหลท่วมเข้าทุ่งรับน้ำในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างแถวจังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ในช่วงที่ไม่ได้ทำนาในฤดูน้ำหลากหายไป

 เรื่องนี้ทำให้ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เสนอพื้นที่ผันน้ำหลาก พื้นที่แก้มลิง และพื้นที่การเกษตรเพื่อรองรับน้ำนอง  ล่าสุดมีการสำรวจว่าจะมีพื้นที่ 20 ทุ่ง รวม 1.15 ล้านไร่ เป็นแหล่งรับน้ำหลากได้มากกว่า 3.6 ล้าน ลบ.ม. โดยจะเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (20 ก.ย.) พร้อมกับเสนอเจ้าภาพในการคิดอัตราค่าชดเชยผันน้ำเข้าทุ่งด้วย

ในภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ถือว่ายังไม่วิกฤติเท่ากับช่วงเดือนสิงหาคมปี 2549 และปี 2553  ที่เคยเกิดน้ำท่วมในเขตชุมชนเมืองเศรษฐกิจของภาคเหนือ อาทิเช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง และพื้นที่ภาคใต้ เช่น  ภูเก็ต สงขลา

 ส่วนปี 2553 หลายจังหวัดในภาคเหนือมีน้ำท่วมถึง 3 ครั้ง เช่น เชียงราย เชียงใหม่ และมี 29 จังหวัดที่ประสบน้ำท่วมในเขตชุมชนเมือง และที่ลุ่มภาคกลางของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจนเกิดภาวะน้ำท่วมขังหลายเดือน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาน้ำป่าไหลหลากอีก 35 จังหวัด  ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ล่าสุดมีรายงานน้ำท่วมรวมทั้งหมด 31 จังหวัดแล้ว

ขณะที่ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  อีกปัจจัยที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำไม่ดีพอ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น เนื่องจากที่ผ่านมา มีการถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ปี 2546 ระบบก็เกิดช่องว่าง เพราะไม่มีระบบพี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่นในการที่จะไปดูแลแหล่งน้ำของตัวเอง ขาดการประสานงานร่วมกัน ท้องถิ่นไม่รู้ว่าต้องทำยังไงทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่รับผิดชอบ

 "ทุกหน่ายงานมีหน้าที่ระบุชัดเจน อย่างกรมชลประทานมีหน้าที่ดูแลน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ 27 ล้านไร่ จากพื้นที่กว่า 150 ล้านไร่ แต่ที่ผ่านมาถูกเอาเรื่องน้ำท่วมไปอยู่ในความรับผิดชอบด้วย ส่วนกรมทรัพยากรน้ำมีหน้าที่ดูแลเรื่องพื้นที่ต้นน้ำ ดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำ ดูแลเรื่องประปาชุมชน ดังนั้น ปัญหาเรื่องน้ำท่วมตอนนี้ ไม่ต้องไปมองอะไรทั้งนั้น อยากถามว่าวันนี้ได้ทำตามหรือยัง หน้าที่กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ การประสานงานจากส่วนกลางมาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

 ดร.รอยล ระบุว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี แต่ถ้าจะแก้โครงสร้างขนาดใหญ่กว่าจะสร้างเขื่อนได้เป็น 10 ปี ดังนั้น สิ่งที่จะทำได้ คือ การบริหารจัดการน้ำและการฟื้นฟูธรรมชาติในแต่ละท้องถิ่นให้ได้ เช่น ต้องปรับเรื่องการบริหารจัดการน้ำของ อปท.  สิ่งที่ต้องทำมากที่สุด คือ "ผังน้ำ" ซึ่งจะบอกว่าแหล่งน้ำอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะการจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำเสีย ต้องมีผังน้ำก่อน ไม่ทำอย่างไรจะระบายน้ำออกไปได้ จะเชื่อมเป็นจุดๆ ยังไง

 "ถ้าวันนี้เราไม่แก้ต่อไปมันจะต้องพังแน่ๆ ถ้าถามว่ารัฐบาลการตัดสินใจเองได้ไหม ต้องดูว่าท้องถิ่นจะยอมไหม ถ้าท้องถิ่นไม่ยอม วันนี้เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจแล้ว อย่าคิดว่าป่าข้างบนจะรอด มันไม่รอด แล้วข้างล่างก็จะตายหนักยิ่งกว่าเดิม ก็คือตายทั้งคู่" ดร.รอยลย้ำ

Tags : ลานีญา อากาศผิดปกติ กระหน่ำ หนุนฝนตก ทุบสถิติ

view