การเมืองไทยกับรัฐประหาร 2549
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
เราจะเข้าใจการเมืองไทยก่อนและหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ได้อย่างไรบ้าง
สภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาร่วมสิบปีจาก พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่สำคัญยิ่ง เราไม่อาจจะพุ่งเป้าการอธิบายสาเหตุความขัดแย้งนี้ไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งได้ เพราะในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางอำนาจนั้นมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อน แต่ละกลุ่มการเมืองก็ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยง/ใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยที่ไม่สามารถที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถที่จะกำหนดความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดได้
ขณะเดียวกัน การอธิบายความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองนี้ก็ควรที่จะมีจุดเริ่มต้นการมองในส่วนที่มีความสัมพันธ์โดยตรง ไม่อย่างนั้นแล้วการอธิบายก็จะขยายออกไปไกลเกินกว่าความเป็นจริง เช่น การโยงไปไกลถึงมรดกรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อศตวรรษก่อน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้ว่าเราจะไม่สามารถตัดตอนประวัติศาสตร์ได้อย่างเด็ดขาด แต่การมองไกลเกินไปก็จะทำให้ไม่เห็นเงื่อนไขของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเพียงพอ
การต่อสู้ทางการเมืองในช่วงสิบปีที่มีการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ขั้นอยู่ตรงกลางนั้นเป็นกระบวนการต่อสู้เพื่อเคลื่อนเข้าสู่สังคมประชาธิปไตย อันเป็นการยื้อทางอำนาจระหว่างโครงสร้างอำนาจการเมือง "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" กับประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเต็มใบ โดยเป็นการยื้อทางอำนาจของการเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยถือว่าฝ่ายตนได้ถอยออกมามากแล้ว (ถอยไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว) ขณะเดียวกัน เป็นการรุกทางอำนาจของระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง โดยถือว่าความชอบธรรมต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้น พ.ศ. 2552-2553 จึงเป็นผลผลิตของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ยังไม่ลงตัวนี้
มรดกที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการยื้อทางอำนาจนี้ ได้แก่ การสถาปนาการเมืองประชาธิปไตยแบบครึ่งใบที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2520 การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพราะสภาวะทางการเมืองหลัง พ.ศ. 2516 การปกครองด้วยอำนาจเด็ดขาดด้วยรัฐระบบราชการอยู่ไม่ได้อีกต่อไป แต่ขณะเดียวกัน การปล่อยให้การเมืองประชาธิปไตยเต็มรูปแบบเกิดขึ้นก็อาจจะกระทบกระเทือนฐานทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองของกลุ่มเครือข่ายทุนนิยมที่อิงแอบอยู่กับรัฐระบบราชการ จึงทำให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ
การเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบจึงมีลักษณะเด่น ได้แก่ การเมืองแบบเลือกตั้งมีความสำคัญมากขึ้น แต่อำนาจตัดสินใจสูงสุดยังอยู่ในผู้นำสูงสุดของระบบราชการ (แต่ยอมให้ "เสียง" จากการเมืองแบบเลือกตั้งต่อรองได้มากขึ้น)
การเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบมีความชอบธรรมไม่มากนักจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเดียวกันกับรัฐบาลเผด็จการในสมัย พ.ศ. 2500 ด้วยการอ้างอิงกับสถาบันสูงสุด (โดยธรรมชาติของพลเอกเปรมก็เป็นคนเช่นนั้นด้วย) ความขัดแย้งทางการเมืองจึงเป็นความขัดแย้งในระบบราชการเพื่อแย่งชิงอำนาจซึ่งปะทุขึ้นเป็นระยะๆ การประคับประคองระบบ "ครึ่งราชการ/ครึ่งเลือกตั้ง" จึงต้องใช้อำนาจนอกระบบเป็นครั้งคราว
การเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นการสร้างช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองช่วงแรกหลัง พ.ศ. 2516 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปรับตัวของชนชั้นนำ (หลัง พ.ศ. 2516-2519) อันเป็นการปรับตัวเพื่อสร้าง "ดุลทางอำนาจ" โดยมีพื้นฐานความไม่ไว้วางใจนักเมืองเลือกตั้ง (ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ กรณีเทเลกซ์น้ำตาล) ขณะเดียวกัน ก็เป็นการปรับตัวเพื่อรักษา "สถานะเดิมทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุน" รวมทั้งการเริ่มต้นสร้างนโยบาย "ประชานิยม" โดยเริ่มจากบุญชู โรจนเสถียร พรรคกิจสังคม ในปี พ.ศ. 2518 และถูกดึงกลับไปเป็นโครงการของรัฐในสมัยพลเอกเปรม
โครงสร้างอำนาจในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบถูกสั่นคลอนครั้งแรกจากการรุกคืบหน้าทางอำนาจของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยรุกเข้าไปในพื้นที่อำนาจของระบบราชการในทุกเรื่อง กลุ่มที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก (ซึ่งมีพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธาน) ได้พยายามเปิดพื้นที่การเมืองแบบใหม่ๆ ขึ้น จนในที่สุด อำนาจในการเมืองประชาธิปไตยก็ตีโต้กลับเพื่อรักษาอำนาจระบบราชการที่เหลืออยู่ ด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2535 (รสช.)
ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ครองอำนาจในช่วงหลังไต่ลวดเส้นแบ่งอำนาจระหว่างระบบราชการกับการเมืองแบบเลือกตั้ง อดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ทั้งสองสมัย (2535-2538,2540-2544) ได้นั่งเก้าอี้ควบรัฐมนตรีกลาโหมและนายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะทำให้ไม่เกิดการปีนเกลียวและการก้าวข้าม "ดุลอำนาจ" ที่ดำรงอยู่
นายกรัฐมนตรีที่พยายามแก้ไขปัญหาโครงสร้างอำนาจการเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบ ได้แก่ บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งพยายามปลดล็อกอำนาจในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 (รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นจุดเริ่มต้นการดึงประชาชนเข้าร่วมทางการเมือง)
แต่ด้วยหลักการของรัฐธรรมนูญ 2540 จึงทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าไปจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างระบบราชการใน "ส่วนที่เหลืออยู่" ของประชาธิปไตยครึ่งใบกับการเมืองระบอบประชาธิปไตย ด้วยการควบคุมอำนาจของระบบราชการ โดยเฉพาะทหารผ่านพี่ เพื่อน น้องและเครือข่ายของตนเอง พร้อมทั้งการปรับเปลี่ยนการบริหารระบบราชการ และทำให้ความชอบธรรมทางการเมืองทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง
การรุกเข้าไปสู่พื้นที่ทางการเมืองของโครงสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบ ประกอบกับความอหังการที่คิดว่าตนเองคุมพื้นที่การเมืองได้ทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่าดำเนินการเมืองแบบไม่แยแสอำนาจในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งในการปรับโครงสร้างอำนาจจนนำไปสู่การรัฐประหาร 2549
หลังการรัฐประหาร 2549 จึงเห็นได้ว่ามีความพยายามจรรโลงหลักการบางส่วนของประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อรักษาอำนาจของระบบราชการในการตัดสินใจในการแบ่งสรรทรัพยากรกลาง เห็นได้ชัดเจนจากรัฐธรรมนูญ 2550 และการสร้างกฎเกณฑ์ในการโยกย้ายข้าราชการทหาร พร้อมทั้งพยายามสร้างและใช้ความชอบธรรมลักษณะเดิม (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์)
การต่อสู้ทางการเมืองในสิบปีที่ผ่านมาจึงเป็นการยื้อทางอำนาจระหว่างประชาธิปไตยครึ่งใบกับประชาธิปไตยเต็มใบผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งการต่อสู้นี้ไม่ทำให้เกิดผลดีต่อสังคมไทยโดยรวมแต่อย่างไร จึง จำเป็นต้องคิดหาทางออกให้ได้ ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในการปรับเปลี่ยนการต่อสู้ทางการเมืองนี้ให้เข้าระบบประชาธิปไตย ได้แก่
การสร้างกติกาใหม่เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการร่วมถกเถียงในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่สมดุล ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยกลไกลักษณะเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หลังจากร่างเสร็จ ให้ลงประชามติ จากนั้นขอให้รัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่
ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องสร้างแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเฉพาะเรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยโยนในสังคมเป็นผู้ตัดสิน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการอ้างเหตุรัฐประหารอีก ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองทุกกลุ่มต้องใจเย็นและมองการณ์ไกล เพราะการรัฐประหารครั้งต่อไปนั้น ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นทหารกลุ่มของตนเป็นผู้กระทำก็ได้ไม่ใช่ทหารจากฝั่งประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเดิม