กกต.แจงปมคุณสมบัติ"จตุพร" โต้ข้อหาหักดิบกฎหมาย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กกต.ร่อนเอกสารแจงปมคุณสมบัติ "จตุพร พรหมพันธุ์" โต้บรรทัดต่อบรรทัดบทความ "คมสัน โพธิ์คง" ยันไม่ได้หักดิบกฎหมาย
นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยสำนักประชาสัมพันธ์ ชี้แจงกรณี หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (เว็บไซต์) ประจำวันที่ 19 กันยายน 2554 ตีพิมพ์บทความของ นายคมสัน โพธิ์คง ในคอลัมน์การเมือง : บทวิเคราะห์ กล่าวอ้างว่า กกต. ทำให้ซับซ้อน ซ้ำซาก เข้าใจยาก สองมาตรฐาน และหักดิบกฎหมาย โดยได้กล่าวพาดพิงถึง กกต.บางท่าน (นายสมชัย จึงประเสริฐ) ในทำนองว่า ตีความกฎหมายในลักษณะหักดิบ ตั้งกรรมการขึ้นซ้ำซ้อน พิจารณาประเด็นต่างๆ ซ้ำซาก บทวิเคราะห์ดังกล่าวอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน เข้าใจ กกต.คลาดเคลื่อนได้ จึงขอชี้แจง ดังต่อไปนี้
กรณีผู้วิเคราะห์ข่าวอ้างว่าเคยเสนอบทความในสื่อต่างๆ เรื่อง “จตุพรยังเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554” โดยสรุปว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่ด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 และ กกต.มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติให้เสร็จสิ้นเสียก่อนวันเลือกตั้ง นั้น
ขอเรียนว่าผู้วิเคราะห์ข่าวอาจมีความเข้าใจในข้อกฎหมายไม่ตรงกับ กกต. เพราะคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นั้น ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 และมาตรา 102 โดยเฉพาะมาตรา 102(3) บัญญัติไว้สรุปได้ว่า “บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 100(1) (2) หรือ (4) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร..”
จะเห็นว่ากฎหมายมิได้ห้ามผู้ถูกขังระหว่างสอบสวนตามหมายขังของศาลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) ระบุว่าบุคคลซึ่งต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งเท่านั้น แม้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 19 และ มาตรา 8 จะระบุว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ขาดจากสมาชิกพรรคการเมืองด้วยก็มีผลตั้งแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้นายจตุพรย่อมมีคุณสมบัติครบถ้วนจนถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่ กกต.จะหยิบยกปัญหาเรื่องคุณสมบัติขึ้นมาพิจารณาก่อนวันเลือกตั้งตามที่ผู้วิเคราะห์ข่าวกล่าวอ้างมาได้
นอกจากนี้ การพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 40 กำหนดให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัย และเมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าไม่มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาหรือมีการยื่นคำร้องแล้วแต่ศาลฎีกายังไม่มีคำวินิจฉัย ให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศการรับสมัครที่มีผลอยู่ในวันเลือกตั้ง
ดังนั้นนับแต่วันรับสมัครจนถึงวันเลือกตั้งเมื่อยังไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติดังกล่าว กกต.ก็ต้องประกาศผลการเลือกตั้งไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 8 และมาตรา 92 เพราะนายจตุพรยังคงเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่จนถึงวันเลือกตั้ง อันเป็นคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 101(3)
ขอเรียนว่าภายหลังที่ กกต.ประกาศรายชื่อพรรคการเมืองและรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อแล้ว การวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.เป็นอำนาจของศาลฎีกา ไม่อยู่ในอำนาจ กกต. การที่ผู้วิเคราะห์ข่าวกล่าวอ้างเช่นนั้น เป็นการชี้นำให้สังคมเกิดความสับสนและเข้าใจ กกต.คลาดเคลื่อน
กรณีที่ผู้วิเคราะห์ข่าวอ้างว่า กกต.พิจารณาเรื่องนายจตุพร กับนายสุรทิน พิจารณ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่ เป็นแบบสองมาตรฐาน เพราะกรณีของบุคคลทั้งสองเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเช่นเดียวกัน มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามเหมือนกันนั้น ขอเรียนว่าการกล่าวเช่นนั้นเข้าใจว่าผู้วิเคราะห์ข่าวคงไม่ทราบข้อเท็จจริงในกรณีของนายสุรทินและนายจตุพรแตกต่างกัน กล่าวคือนายสุรทินถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง และเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (2) ซึ่ง กกต.ได้ตรวจพบในชั้นตรวจสอบหลักฐานประกอบการสมัคร กกต. จึงไม่ประกาศให้นายสุรทินเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นอันยุติ
จะเห็นได้ว่าปัญหาของนายสุรทินเป็นคนละประเด็นกับนายจตุพร แม้ประชาชนทั่วไปซึ่งมิใช่นักกฎหมายก็สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นคนละประเด็นกัน มิใช่เป็นการพิจารณาแบบสองมาตรฐานอย่างที่ผู้วิเคราะห์ข่าวกล่าวอ้าง
กรณีกล่าวหาว่า กกต.หยิบยกข้อกฎหมายซึ่งไม่มีประเด็นที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายมาพิจารณา โดยผู้วิเคราะห์เรียกว่า กกต.กระทำการในลักษณะ “หักดิบ” ข้อกฎหมายนั้น ขอเรียนว่า กกต.ได้พิจารณาและวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริง ตามตัวบทกฎหมาย และครอบคลุมทุกประเด็นโดยเฉพาะประเด็นสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามมาตรา 106 หรือไม่ ยังไม่มีการวินิจฉัยมาก่อน การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นพิจารณาจึงมิใช่เป็นการหักดิบในข้อกฎหมาย ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาในเรื่องนี้ เพื่อความรอบคอบในการพิจารณาวินิจฉัย ไม่ได้แต่งตั้งซ้ำซากแต่ประการใด
การที่ผู้วิเคราะห์ข่าวยกเรื่องนี้มาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเข้าใจข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน จึงทำให้ข้อวิเคราะห์คลาดเคลื่อนตามไปด้วย อย่างไรก็ตามหากผู้วิเคราะห์ข่าวเห็นว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติเป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งแตกต่างไปจากความเห็นของ กกต. หรือเห็นว่าจะเป็นการล่าช้า ผู้วิเคราะห์ข่าวสามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคหนึ่ง โดยไม่จำต้องรอฟังคำวินิจฉัยจาก กกต.ก่อนก็สามารถกระทำได้
ส่วนการที่ผู้วิเคราะห์ข่าวลงบทความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ ทำให้ทราบว่ายังมีผู้ไม่เข้าใจในข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการทำงานของ กกต. จึงทำให้สำนักงานต้องชี้แจงสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง นับว่าได้สร้างคุณงามความดีอยู่บ้าง จึงขอขอบคุณผู้วิเคราะห์ข่าวไว้ ณ โอกาสนี้
อย่างไรก็ตาม หากผู้วิเคราะห์ข่าวจงใจหรือมีเจตนาที่จะสร้างความสับสนทำให้เกิดความเสียหายต่อ กกต. อาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาด้วย