ไม่ต้องสู้ถึงฎีกา?
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : รักษ์ มนตรี mo_tri@hotmail.com
ปิดคดีแบบไม่สู้กันถึงฎีกา สำหรับความ อาญา ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด
โจทก์ บรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำเลยที่ 1 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน หรือหงส์เหิน จำเลยที่ 3
เรื่อง ความผิดต่อประมวลรัษฎากร
24 สิงหาคม 2554 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 รอการลงโทษจำคุก
เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ เห็นควร "รอการลงโทษจำคุก" บรรณพจน์ นั้น องค์คณะให้เหตุผลว่า "ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายที่มีเจตนาเพื่อให้การจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่สรรพากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งหวังให้รัฐได้รับการชำระหนี้ ซึ่งความรับผิดทางอาญาที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ จึงเป็นเพียงมาตรการเสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่านั้น
อีกทั้งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงนักธุรกิจ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อถูกตรวจสอบเรื่องการรับโอนหุ้นก็ยอมรับว่าได้มาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือมีชื่อเสียงเป็นผู้อิทธิพล ผู้ประกอบอาชีพในทางไม่สุจริต โดยจำเลยที่ 1 เคยรับราชการมาก่อน และสร้างคุณงามความดีให้กับสังคมด้วยการบริจาคเงินจำนวนมากให้กับมูลนิธิไทยคม เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส"
ประธานศาลอุทธรณ์ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ได้ทำความเห็นแย้งองค์คณะผู้พิพากษา ก่อนตัดสินคดีดังกล่าว
โดยความเห็นแย้ง ลงวันที่ 3 มิ.ย.2554 ความว่า
"ข้าพเจ้าได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว ที่ผู้พิพากษาองค์คณะทั้งสามคนพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิให้กักขังเกินกว่า 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น
ข้าพเจ้าเห็นว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273,060,000 บาท ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1
อาศัยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (1) จึงขอทำความเห็นแย้งว่า
'พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น'"
ลงชื่อ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม
ประธานศาลอุทธรณ์
ตามขั้นตอนอัยการสูงสุด มีเวลาพิจารณาจะยื่นฎีกา หรือไม่ภายใน 30 วัน
และในศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาเจ้าของคดีเรื่องโทษ "จำคุก" บรรณพจน์
กระทั่ง จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฎีกาทั้งในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน นางกาญจนาภา และที่ให้รอลงอาญา บรรณพจน์ โดยอัยการสูงสุด เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทุกประเด็น
เฉพาะประเด็นความผิดของ "บรรณพจน์" จำเลยที่ 1 ข้อหาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) นั้น อัยการสูงสุด เห็นว่า
"ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแล้ว เพียงแต่ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษใหม่ซึ่งให้รอการลงโทษไว้นั้น อัยการเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว เนื่องจากความรับผิดในทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร เป็นเพียงมาตรการที่ใช้เสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษจำคุกผู้ที่ไม่ยอมชำระภาษี หรือชำระไว้ไม่ถูกต้องอันมีพื้นฐานมาจากความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด จึงเห็นว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะฎีกาในประเด็นนี้อีก"
ดุลยพินิจทางกฎหมาย สิ้นสุดได้ก็เฉพาะกรณีนี้ แต่ความจริงไม่มีวันสิ้นสุดและไม่นานจะพิสูจน์เรื่องนี้